×

อัครเดชมองปดิพัทธ์ไม่เป็นกลาง หลังถูกเบรกระหว่างถามกระทู้ ปดิพัทธ์แจง อภิปรายวนเวียน เรื่องไม่อยู่ในกระทู้

โดย THE STANDARD TEAM
22.02.2024
  • LOADING...
อัครเดช ปดิพัทธ์

วันนี้ (22 กุมภาพันธ์) อัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส. ราชบุรี เขต 4 พรรครวมไทยสร้างชาติ ได้ตั้งกระทู้ถามนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับการจัดระเบียบสายไฟฟ้าและสายสื่อสาร และการบริหารการจัดการไฟฟ้าส่องสว่างอย่างทั่วถึงทั่วประเทศ เนื่องจากเป็นญัตติที่มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาเรื่องดังกล่าวมาตั้งแต่สมัยประชุมที่ผ่านมา มีผลการศึกษาไปถึงรัฐบาลอย่างชัดเจน 

 

เมื่อกลับมาเป็น สส. อีกครั้ง ก็ขอถามนายกรัฐมนตรีว่า เรื่องดังกล่าวคืบหน้าไปถึงไหน เนื่องจากสายสื่อสารที่ยุ่งเหยิงเป็นปัญหาของประเทศ เป็นหน้าตาของประเทศ เวลานักท่องเที่ยวเดินทางมาประเทศไทยมักจะถ่ายรูปสายสื่อสารที่เกาะเกี่ยว นำไปโพสต์ในโซเชียลว่าเป็นอันซีนของประเทศไทย เสียหายต่อภาพลักษณ์ของประเทศ ตนจึงเสนอญัตติให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญมาศึกษา การที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้ ทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย มาชี้แจงแทน ก็ถือว่าได้เห็นความสำคัญของปัญหาของประชาชน สละเวลามาตอบกระทู้นี้ที่เป็นปัญหาระดับประเทศ

 

อัครเดชกล่าวว่า วัตถุประสงค์ในการถามกระทู้ครั้งนี้ อยากถามความคืบหน้าของผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญในสมัยการประชุมที่แล้ว ดำเนินการไปถึงไหน เพราะมีการศึกษาเรื่องสายสื่อสารที่ยุ่งเหยิงบนเสาไฟฟ้า ความจริงความยุ่งเหยิงที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากสายไฟฟ้า แต่เกิดจากสายสื่อสารที่เกาะเกี่ยวอยู่บนเสาไฟฟ้า ประชาชนจะไม่ค่อยทราบ จึงขอเรียนว่าสายที่ยุ่งเหยิงบนเสาไฟฟ้าไม่ใช่สายไฟ แต่เป็นสายสื่อสาร ตนเคยลงพื้นที่ทำโครงการร่วมกับนายกเทศมนตรีเมืองบ้านโป่งเมื่อปี 2563 เป็นโครงการบ้านโป่งโมเดล ลงพื้นที่จัดระเบียบ เอาสายตายหรือสายสื่อสารที่ไม่ใช้แล้ว แต่ยังเกาะเกี่ยวอยู่บนเสาไฟฟ้า รื้อถอนออกจากหอนาฬิกาเทศบาลเมืองบ้านโป่งถึงสี่แยกบ้านโป่ง จากหอนาฬิกาไปจนถึงวงเวียนช้าง จากหอนาฬิกาไปยังหน้าวัดดอนตูม และจากหอนาฬิกาไปยังหน้าที่ว่าการอำเภอบ้านโป่ง จำนวน 4 สายทาง 4.8 กิโลเมตร

 

ทั้งนี้ มีการนำสายตายออกแล้วนำไปผูกรัดมัดให้เป็นระเบียบมากขึ้น หลังจากนั้นตนได้ถามกระทู้ในสมัยที่ พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ เป็นอดีตรัฐมนตรีดีอีเอส มาทำโครงการบ้านโป่งโมเดล งบประมาณ 48 ล้านบาท ระยะทาง 4.8 กิโลเมตร โดยได้นำสายสื่อสารลงใต้ดิน สายสื่อสารในปัจจุบันมีทั้งของรัฐวิสาหกิจคือ NT ที่เกิดจากการควบรวมของ TOT กับ CAT

 

ปัจจุบัน NT ดำเนินโครงการโดยเจาะสายท่อลอดใต้พื้นที่ของเทศบาลเมืองบ้านโป่งทั้ง 4 สาย ระยะทาง 4.8 กิโลเมตร เป็นโครงการนำสายสื่อสารลงใต้ดิน หลังจากเปิดโครงการใช้เวลา 2 ปี เจาะท่อร้อยสาย ปัจจุบันท่อเสร็จแล้ว แต่ Operator เอกชนยังไม่ยอมนำลงใต้ดิน เพราะติดเรื่องงบประมาณ ตรงนี้เป็นปัญหาระดับประเทศที่ต้องใช้บ้านโป่งโมเดล เพราะที่อื่นยังทำไม่สำเร็จ แต่จะทำที่บ้านโป่งให้สำเร็จ

 

สำหรับพื้นที่อื่นที่ทำสำเร็จคือการนำสายไฟฟ้าลงใต้ดิน แต่การนำสายไฟฟ้าลงใต้ดิน 1 กิโลเมตร ใช้งบ 80 ล้านบาท ค่าสาย 40 ล้านบาท ค่าก่อสร้างใต้ดิน 40 ล้านบาท แต่การนำสายสื่อสารลงใต้ดิน 1 กิโลเมตร ใช้งบ 10 ล้านบาท แตกต่างกันมาก 80 ล้านบาทกับ 10 ล้านบาท ที่เป็นบ้านโป่งโมเดลเพราะตนเสนอโครงการนี้เองว่า ที่มีปัญหาไม่ใช่เป็นปัญหาจากสายไฟฟ้า แต่เป็นปัญหาจากสายสื่อสาร เราไม่ต้องไปยุ่งกับสายไฟฟ้า ให้สายไฟฟ้าอยู่เหมือนเดิม แต่เอาสายที่ยุ่งเหยิงลงใต้ดิน จาก 80 ล้านบาทเหลือ 10 ล้านบาท ประหยัดงบประมาณให้ประเทศมหาศาล โครงการของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคที่ทำโครงการ 4 เมืองใหญ่คือ เชียงใหม่ โคราช หาดใหญ่ และพัทยา ใช้งบประมาณหมื่นกว่าล้านบาท ระยะเวลาดำเนินโครงการ 5 ปี ตั้งแต่ปี 2549-2554 นำสายไฟฟ้าลงใต้ดินได้ไม่กี่กิโลเมตร เขาศึกษาว่า สายไฟฟ้าที่เมืองไทยสามารถพันรอบโลกได้ 8 รอบ กว่าจะเอาลงใต้ดินหมดต้องใช้เวลา 800 ปี ตนจึงเสนอไอเดียให้เอาเฉพาะสายสื่อสารลง ประหยัดงบประมาณได้มาก

 

อัครเดชอภิปรายว่า ตนเคยไปตรวจราชการที่หาดใหญ่ ชาวบ้านร้องเรียนว่า เมื่อเอาสายไฟฟ้าและสายสื่อสารลงใต้ดิน กลางคืนมืดทั้งเมือง ในเส้นทางที่ถนนโดนล้มเสา เพราะกลางคืนไม่มีไฟฟ้า เทศบาลนครหาดใหญ่จึงตั้งงบประมาณเพื่อมาตั้งเสาไฟฟ้าส่องสว่างกลางคืนอีก แต่ถ้าเราเอาเสาไฟฟ้าไว้ก็ยังสามารถเกาะไฟกลางคืนได้ ประหยัดงบประมาณด้วย 

 

ส่วนถ้าจะเอาสายไฟฟ้าลงใต้ดินด้วย ให้เอาลงเฉพาะเส้นทางที่เป็นแลนด์มาร์กด้านการท่องเที่ยว เป็นหน้าเป็นตาของประเทศ เช่น ย่านสีลม ถ้าต่างจังหวัด เช่น อนุสาวรีย์สามกษัตริย์ จังหวัดเชียงใหม่ อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา หรือพระบรมธาตุเจดีย์ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช สถานที่เหล่านี้ควรเอาสายไฟฟ้าลงด้วย จะได้ไม่บดบังทัศนียภาพของแหล่งท่องเที่ยว

 

อย่างไรก็ตาม เมื่ออภิปรายถึงช่วงนี้ ปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ได้ทักท้วงว่า อัครเดชใช้เวลาอภิปรายมา 10 นาที จึงขอให้เป็นกระทู้ถาม ไม่ใช่การอภิปราย ซึ่งอัครเดชตอบกลับว่า ตนรู้ข้อบังคับดี ปดิพัทธ์ก็ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับข้อ 9 อย่าทำตัวเอียง ต้องทำตัวตรง วินิจฉัยอะไรต้องรับผิดชอบด้วย ขณะที่ปดิพัทธ์ชี้แจงว่า การอภิปรายของอัครเดชวนเวียน พูดเรื่องเดิมซ้ำหลายรอบ

 

ต่อมาอัครเดชได้ชี้แจงต่อว่า กระทู้ทั่วไปมีเวลาถาม 15 นาที รัฐมนตรีตอบ 15 นาที แต่ตนเพิ่งจะถามได้ 10 นาทีแต่ถูกเบรก ปดิพัทธ์มีอะไรกับตนหรือเปล่า และตนจำเป็นต้องชี้แจงเพื่อให้ประชาชนเข้าใจข้อบังคับ และเป็นสิทธิของ สส. มีเวลาที่จะถาม ตนบริหารเวลาที่ได้สิทธิ ถ้าประธานไปดูข้อบังคับ กระทู้ถามทั่วไปไม่ได้ระบุระยะเวลา ตนเคารพเวลาของสภา ใช้เวลาที่มีอยู่ใน 15 นาที การอภิปรายจะเป็นประโยชน์ต่อรัฐมนตรี เพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการบริหารประเทศ ประหยัดงบประมาณของแผ่นดินที่เป็นเงินภาษีของประชาชน ถึงบอกว่า 80 ล้านบาทกับ 10 ล้านบาทต่างกัน เซฟเงินภาษีของประชาชนได้ปีละเป็นหมื่นล้านบาท สิ่งที่ตนอภิปรายเป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั้งประเทศชาติ ดีกว่าอภิปรายเรื่องทะเลาะกันไปมาแล้วไปวินิจฉัย กลายเป็นประเด็นทำให้สภาวุ่นวาย อันนั้นเสียเวลามากกว่า จึงขอให้ประธานทำตามข้อบังคับ เคารพสิทธิของ สส. ด้วย

 

อย่างไรก็ตาม อัครเดชพยายามชี้แจง แต่ถูกปดิพัทธ์ทักท้วงว่าใช้เวลาอภิปรายมากเกินไปในเรื่องที่ไม่อยู่ในกระทู้ ทำให้อัครเดชโต้กลับอีกว่า การเป็นประธานจะใช้อำนาจหรือดุลพินิจอะไร วินิจฉัยอะไร ขอให้อยู่ในข้อบังคับ อยากให้รักษาผลประโยชน์ของประชาชน เพราะตนได้ถามกระทู้มาเป็น 100 กระทู้ ไม่เคยมีปัญหาแบบนี้ เพราะทำตามข้อบังคับ และเอาเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนมาพูด แต่ถ้าประธานวินิจฉัยแบบนี้ก็อยากให้สภาบันทึกไว้ว่า สส. ได้นำปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนมาอภิปรายตามข้อบังคับ เพื่อถามรัฐมนตรีตามระเบียบ เป็นสิทธิของสมาชิก แต่ถูกประธานใช้ดุลพินิจให้สมาชิกหยุดการอภิปราย จึงขอเรียนให้สภาบันทึกไว้ว่า ตนตั้งใจมาถามกระทู้นี้เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประชาชน ประเทศชาติ ถ้าเกิดการวินิจฉัยแบบนี้ ตนไม่ขอถามกระทู้นี้ต่อ

 

อัครเดชพยายามชี้แจงต่อ แต่ปดิพัทธ์ไม่อนุญาตให้พูด อัครเดชจึงได้ขอใช้สิทธิประท้วงตามข้อ 9 ข้อบังคับการประชุมสภา ให้ประธานวางตัวเป็นกลาง อย่าใช้อารมณ์กับสมาชิก เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง การเป็นประธาน ตนให้ความเคารพ สมาชิกให้ความเคารพเพราะตำแหน่ง แต่การวินิจฉัยตัดการอภิปรายเป็นสิ่งที่ประธานไม่ควรทำและไม่สร้างสรรค์อย่างยิ่ง 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising