×

อังกฤษพัฒนา AI ช่วยวินิจฉัยโรคหัวใจและมะเร็งปอดสำเร็จ

03.01.2018
  • LOADING...

เปิดศักราชใหม่ วงการปัญญาประดิษฐ์ก็มีเรื่องให้น่ายินดีทันที โดยสำนักข่าว Telegraph และ BBC พร้อมใจกันรายงานข่าวกรณีนักวิจัยชาวอังกฤษสามารถพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ช่วยวินิจฉัยโรคหัวใจและมะเร็งปอดได้สำเร็จ ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าวจะเริ่มนำไปใช้งานตามโรงพยาบาลที่อยู่ในระบบดูแลสุขภาพแห่งชาติประเทศอังกฤษ ‘NHS (National Health Service)’ ช่วงฤดูร้อนที่จะถึงนี้เป็นต้นไปแบบฟรีๆ

 

วันพุธที่ 3 มกราคมที่ผ่านมา สำนักข่าวประเทศอังกฤษเปิดเผยว่า นักวิจัยจากโรงพยาบาลออกซ์ฟอร์ดสามารถพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์วินิจฉัยโรคหัวใจและโรคมะเร็งปอดขึ้นมาได้สำเร็จ ซึ่งจะช่วยให้ประหยัดค่ารักษาพยาบาลได้หลายพันล้านปอนด์ ส่วนตัวผู้ป่วยเองก็ยังรู้หนทางในการรักษาตั้งแต่ระยะแรกๆ อีกด้วย เพราะเชื่อกันว่าปัญญาประดิษฐ์ในปัจจุบันบางตัวสามารถวินิจฉัยโรคและเนื้อร้ายในร่างกายได้แม่นยำกว่าแพทย์ที่เป็นมนุษย์

 

แม้แต่คุณหมอที่เก่งกาจก็อาจวินิจฉัยโรคผิดพลาดได้ แต่เหตุการณ์นี้จะไม่มีวันเกิดขึ้นกับปัญญาประดิษฐ์ ศาสตราจารย์พอล ลีสัน (Prof Paul Leeson) แพทย์ด้านโรคหัวใจและหลอดเลือด ผู้พัฒนาปัญญาประดิษฐ์ดังกล่าวเผยว่า ระบบสุดล้ำนี้จะเป็นผลดีในการช่วยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจรักษาผู้ป่วย “ในฐานะแพทย์ด้านโรคหัวใจและหลอดเลือด พวกเรายอมรับว่าไม่สามารถวินิจฉัยได้ถูกต้องเสมอ แต่นับจากนี้เป็นต้นไปมันมีโอกาสที่ระบบนี้จะช่วยวินิจฉัยได้ดีกว่า”

 

ก่อนจะได้รับความไว้วางใจจนเตรียมพร้อมนำไปใช้งานจริง ปัญญาประดิษฐ์นี้ได้ถูกนำไปทดลองทางคลินิกในแผนกอายุรกรรมโรคหัวใจถึง 6 แห่ง ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้มาอย่างไม่เป็นทางการคือมันสามารถวินิจฉัยโรคหัวใจและมะเร็งปอดได้ละเอียดและแม่นยำกว่าแพทย์ทั่วๆ ไป ซึ่งจากสถิติของการรักษาโรคแบบเดิมระบุว่า ในแต่ละปีการตรวจสแกนหัวใจจำนวน 60,000 ครั้ง จะมีผู้ป่วยจำนวนกว่า 12,000 คนที่ถูกวินิจฉัยผิดพลาด

 

ดร. มหิศร ว่องผาติ ผู้เชี่ยวชาญด้านหุ่นยนต์และผู้ก่อตั้งบริษัท HiveGround เคยให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD ต่อประเด็นปัญญาประดิษฐ์ช่วยตรวจโรคร้ายไว้ว่า “สมมติเราจำเป็นต้องไปตัดชิ้นเนื้อเพื่อวินิจฉัย โชคชะตาเราจะขึ้นอยู่กับคนตรวจและตาของเขาว่าจะมองเห็นเซลล์ที่ผิดปกติหรือเปล่า แต่การที่เรามีคอมพิวเตอร์ซึ่งมีตาที่ถูกฝึกให้แยกเซลล์มะเร็งแบบ 100% ไปเลย แล้วให้คนมายืนยันผลการตรวจซ้ำอีกรอบ โอกาสที่จะเกิดการวินิจฉัยผิดพลาดก็จะต่ำลงไปอีกมาก”

 

ไม่แน่ว่าหากระบบปัญญาประดิษฐ์ช่วยวินิจฉัยโรคในอังกฤษนี้สามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ ช่วยลดค่ารักษาพยาบาลได้มหาศาล โรงพยาบาลในไทยเองก็อาจจะเริ่มเห็นความเป็นไปได้ในการพัฒนาระบบนี้ขึ้นมาใช้งานกับเขาบ้าง

 

* หมายเหตุ: ภาพที่ใช้เป็นเพียงภาพประกอบบทความเท่านั้น ไม่ใช่ภาพจากโครงการพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์จริงแต่อย่างใด

ภาพประกอบ Staticflickr

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X