×

ปี 2018 ปัญญาประดิษฐ์จะแย่งงานมากขึ้น มนุษย์ต้องสร้างทักษะใหม่ ไทยควรพัฒนาหุ่นยนต์ในอุตสาหกรรมอาหาร-เกษตร

30.12.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

9 Mins. Read
  • หุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์จะเข้ามาช่วยแบ่งงานมนุษย์ที่ต้องทำซ้ำเดิมเป็นกิจวัตร (Routine) หรืองานที่เสี่ยงต่อชีวิต เช่น การไขน็อตหรือพ่นยาฆ่าแมลง ไม่ได้เข้ามาแย่งงานคน แต่จะช่วยให้คนมีเวลาไปทำงานสร้างสรรค์มากขึ้น
  • ปัญญาประดิษฐ์ยังไม่เข้าใกล้กับคำว่า ‘ภัยคุกคาม’ หรือตัวการก่อชนวนสงครามโลกครั้งที่ 3 แต่อาจจะมีแนวโน้มเป็นปัญหาและอาวุธทันสมัยชนิดหนึ่ง ถึงอย่างนั้นก็ดี ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าอีก 30 ปีต่อจากนี้พวกมันอาจจะมีระดับความฉลาดเท่าๆ กับคน โดยตอนนี้ยังฉลาดกว่ามดเล็กน้อยเท่านั้น
  • ปัญญาประดิษฐ์เฉพาะทาง (Specific AI) จะเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น เช่น ปัญญาประดิษฐ์ผู้ช่วยแพทย์ที่จะกลายเป็นเครื่องมือเพิ่มคุณภาพการตรวจรักษา วินิจฉัยโรค
  • ไทยขยับตัวช้าไป 5-10 ปีในการพัฒนาหุ่นยนต์ตอบโจทย์อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ส่วนเทรนด์ที่น่าจับตาต่อจากนี้คือการทำงานร่วมกันระหว่างหุ่นยนต์และมนุษย์ (Collaborative Robot) ก่อนเข้าสู่ยุคหุ่นยนต์ 100%

ปี 2017 ที่ผ่านมา บริษัทและโรงงานหลายแห่งทยอยเลย์ออฟคนเป็นว่าเล่น เพราะเห็นถึงประโยชน์และความสามารถในการทำงานของปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ ที่มีต้นทุนในระยะยาวถูกกว่าการจ้างแรงงานมนุษย์

 

มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) และอีลอน มัสก์ (Elon Musk) ออกมาตั้งประเด็นถกเถียงเรื่องภัยคุกคามของปัญญาประดิษฐ์อย่างดุเด็ดเผ็ดมัน ขณะที่ วลาดิเมียร์ ปูติน (Vladimir Putin) ผู้นำจากรัสเซียก็กล่าวในทำนองเดียวกันว่าใครเป็นผู้นำด้านปัญญาประดิษฐ์ก็อาจจะครองโลกได้เลย!

 

ประเด็นภัยคุกคามจากปัญญาประดิษฐ์ตกอยู่ในความสนใจและกลายเป็นคำถามใหญ่ตลอดปีที่ผ่านมา THE STANDARD จึงร่วมพูดคุยกับ ดร. มหิศร ว่องผาติ ผู้เชี่ยวชาญด้านหุ่นยนต์และผู้ก่อตั้งบริษัท HiveGround และ ศาสตราจารย์ ดร. ธนารักษ์ ธีระมั่นคง นายกสมาคมปัญญาประดิษฐ์แห่งประเทศไทย เพื่อไขข้อสงสัย ร่วมหาคำตอบ และทบทวนจุดกึ่งกลางที่เหมาะสมระหว่างมนุษย์และเหล่าจักรกลอัจฉริยะ

 

ศาสตราจารย์ ดร. ธนารักษ์ ธีระมั่นคง นายกสมาคมปัญญาประดิษฐ์แห่งประเทศไทย

 

หุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์จะ ‘แย่ง’ งานมนุษย์ 800 ล้านตำแหน่งในปี 2030

McKinsey & Company บริษัทรับให้คำปรึกษาด้านการจัดการภายในองค์กร ออกมาเปิดเผยผลการศึกษาในหัวข้อดังกล่าวพร้อมชี้ว่า ภายในปี 2030 หรืออีกประมาณ 12 ปีต่อจากนี้ หุ่นยนต์จะเข้ามาทำงานแทนที่มนุษย์มากถึง 800 ล้านตำแหน่งทั่วโลก โดยเฉพาะสายงานด้านการผลิต-ประกอบเครื่องจักรต่างๆ ในโรงงาน เนื่องจากสามารถให้ผลผลิตในจำนวนที่มากกว่า เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ดีกว่าเมื่อเทียบกับคน

 

โดยสายงานที่สุ่มเสี่ยงจะตกงานที่สุดคืองานประกอบเครื่องจักรและงานบริการในฟาสต์ฟู้ด ขณะที่อาชีพซ่อมท่อประปา, ดูแลสวน และรับเลี้ยงเด็กกลับปลอดภัยต่อการถูกแย่งงานมากกว่า เพราะมีความซับซ้อนเชิงการทำงานและไม่คุ้มค่าต่อการลงทุนหุ่นยนต์ นอกจากนี้ McKinsey ยังแนะนำอีกด้วยว่า มนุษย์ควรจะเปลี่ยนไปทำงานที่เน้นความสร้างสรรค์มากขึ้นเพื่อเลี่ยงการถูกแย่งงาน

 

“ตอนนี้โรงงานหลายๆ แห่งก็ไม่ใช้แรงงานมนุษย์เลย แต่ใช้หุ่นยนต์และจักรกลเดินสายการผลิตทั้งหมดแบบ 100% แทน ส่วนโรงงานบางแห่งก็เริ่มนำปัญญาประดิษฐ์มาใช้ตรวจจับสิ่งปฏิกูลในโรงงาน” ดร. ธนารักษ์ กล่าว

 

มองกลับมายังบริบทสังคมไทย หุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ในทุกวันนี้ก็เริ่มเป็นที่นิยมถูกนำมาใช้งานมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะ ‘Chatbot’ ที่ถูกนำมาใช้ในส่วนสายงานบริการ Call Center ขณะที่ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินหลายแห่งก็เล็งจะพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มาปรับใช้ให้บริการเพื่อลดต้นทุนการจ้างแรงงานมนุษย์และค่าเช่าสถานที่

 

ดร. มหิศร ว่องผาติ ผู้เชี่ยวชาญด้านหุ่นยนต์และผู้ก่อตั้งบริษัท HiveGround

 

ดร. มหิศร มองประเด็นการถูกปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์แย่งงานว่าอาจจะไม่ใช่ปัญหาอย่างที่คิด เนื่องจากพวกมันจะเข้ามาเติมช่องว่างของประชากรรุ่นเก่าที่อาจจะชราลงเรื่อยๆ จนไม่สามารถทำงานที่เป็นกิจวัตรและงานในโรงงานได้เหมือนเดิม

 

“ประชากรประเทศไทยกำลังหดตัวอยู่แล้ว เราเป็นประเทศกำลังพัฒนาหรือประเทศจนที่มีอัตราการเกิดต่ำ หมายความว่าคนจะชราลงเรื่อยๆ ซึ่งคนที่เคยเป็นแรงงานหั่นเป็ดหั่นไก่ในโรงงานก็จะเริ่มแย่ลง แรงงานเด็กๆ ก็จะไม่มีคนขึ้นมาทำหน้าที่นี้แทน ฉะนั้นหุ่นยนต์พวกนี้ก็จะเข้ามาเติมช่องว่างดังกล่าวเพื่อผลักดันให้เศรษฐกิจมันยังเติบโตต่อไปได้มากกว่า

 

“สำหรับคนที่เป็นแรงงานด้านนี้ไม่ได้อีกต่อไปก็ควรที่จะขยับไปทำสายงานอื่นที่มีโอกาสทำเงินได้มหาศาลในบ้านเรา ซึ่งก็คือสายงานด้านบริการที่ควรมีคุณภาพมากกว่านี้มาก หรืออาจจะฝึกฝนทักษะด้านการบริหารดูแลซ่อมแซมหุ่นยนต์แทน ถ้าคุณคิดว่าจะอยู่แต่ในคอมฟอร์ตโซนของตัวเองไปเรื่อยๆ แล้วกลัวคนอื่นๆ จะมาแย่งงานในขณะที่คุณภาพการทำงานของตัวเองก็ลดลง จริงๆ คุณนั่นแหละที่เป็นผู้ทำให้อุตสาหกรรมหรือองค์กรของคุณแย่ลง”

 

สอดคล้องกับแนวคิดที่ ดร. ธนารักษ์เชื่อว่า งานที่ทำซ้ำเดิมเป็นกิจวัตรมีโอกาสจะถูกแทนที่ได้ง่าย ดังนั้นคนควรจะหันไปทำงานที่ซับซ้อนมากกว่าเดิม รู้จักประยุกต์ทักษะด้านต่างๆ รวมถึงไอทีมาสร้างประโยชน์กับงานให้มากที่สุด และควรมีการปลูกฝังทักษะ Digital literacy ให้เกิดกับเด็กรุ่นใหม่

 

“คนควรจะมีทักษะการทำงานด้านไอที ดิจิทัลให้มากขึ้น หรือหันไปทำงานเชิงสร้างสรรค์แทน เช่นเดียวกับงานภาคบริการ ซึ่งงานจำพวกนี้คอมพิวเตอร์อาจจะไม่ได้สามารถทำได้เท่าๆ กับมนุษย์ เราอย่าเป็นแค่มือหรือแขนเฉยๆ ต้องรู้จักนำคอมพิวเตอร์และไอทีมาประยุกต์ในการทำงาน ถ้ารู้สึกว่ากลัวถูกหุ่นยนต์แย่งงาน นั่นแสดงว่างานของคุณมันง่ายเกินไป ถ้างั้นก็ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของหุ่นยนต์มันทำแทนไปเถอะ”

 

เมื่อตีความคำตอบของทั้ง ดร. มหิศรและ ดร. ธนารักษ์ ก็อาจจะเข้าใจได้ว่า การถูกหุ่นยนต์แย่งงานอาจไม่ได้เป็นปัญหาโลกแตกขนาดนั้น ในทางตรงกันข้ามหุ่นยนต์จะช่วยเข้ามาแบ่งงานจากมนุษย์เพื่อให้เรามีโอกาสหันไปทำงานด้านสร้างสรรค์มากขึ้นด้วยซ้ำไป

 

“คิดง่ายๆ เมื่อรถยนต์เข้ามาเป็นพาหนะแทนม้า แล้วเกิดอะไรขึ้นกับม้าล่ะ ม้าก็มีชีวิตที่ดีขึ้นหรือกลายเป็นม้าแข่งกีฬาไป เช่นเดียวกันถ้าเราไม่ต้องทำงานเป็นกิจวัตร เราก็จะเหลือเวลาในการคิดอะไรที่สร้างสรรค์ขึ้น สร้างธุรกิจใหม่ๆ ส่วนตัวเชื่อว่าถ้ามีหุ่นยนต์ขึ้นมาทำให้กิจวัตรในชีวิตบางอย่างของเราหายไป แต่ก็จะมี Capacity เหลือในการไปทำอะไรที่ยากขึ้นแทน” ดร. มหิศรกล่าว

 

 

AI อาจไม่ใช่ภัยคุกคามขั้นร้ายแรง แต่มีสิทธิ์เป็นได้ทั้ง ‘ปัญหา’ และ ‘อาวุธ’ รูปแบบหนึ่ง

ต่อประเด็นที่วลาดิเมียร์ ปูตินเคยกล่าวไว้ในทำนองที่ว่า หากใครเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ก็อาจจะเป็นผู้กุมชะตาโลกนี้ได้ เนื่องจากพวกมันอาจจะนำไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 3 นั้น ผู้เชี่ยวชาญในไทยทั้ง 2 คนมองว่า AI อาจจะไม่ได้เป็นผู้นำด้านความหายนะขนาดนั้น แต่อาจจะมีสิทธิ์เป็นได้ทั้งปัญหาและอาวุธที่ไฮเทครูปแบบหนึ่ง

 

ดร. มหิศรเล่าให้เราฟังว่า เขาเคยอ่านหนังสือ Superintelligence เขียนโดย Nick Bostrom ซึ่งเชื่อว่าทุกวันนี้ปัญญาประดิษฐ์เฉพาะทาง (Specific AI) วิวัฒนาการไปได้ไกลแล้ว แต่สำหรับปัญญาประดิษฐ์ทั่วไป (Generic AI) ยังพัฒนาได้ช้าอยู่

 

“คอนเซปต์เรื่อง AI จะขึ้นมาเป็นปัญหากับคนมีอยู่ 2 แง่มุม ซึ่งวันนี้ปัญญาประดิษฐ์ทั่วไปมันยังฉลาดกว่ามดเล็กน้อย การจะทำให้มันฉลาดเท่าหนู เอาตัวรอดในชีวิตได้อาจจะต้องใช้เวลาอีกสักพักใหญ่ เอาแค่ทำให้ AI ฉลาดจากหนูไปเป็นคนที่โง่ที่สุดในโลกให้ได้ก่อน คนที่โง่ที่สุดในมุมเราอาจจะเป็นผู้ป่วยจิตเภทใช้ชีวิตริมถนน ซึ่งเขาก็ยังสามารถเอาตัวรอดหากินได้ด้วยตัวเองอีกหลาย 10 ปี แล้วเมื่อนำคนโง่ที่สุดในโลกกับคนที่ฉลาดที่สุดในโลก ซึ่งอาจจะเป็นอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ มาเทียบกันก็จะพบว่าทั้งคู่ห่างกันนิดเดียวในแง่ของความเป็นคน

 

“ฉะนั้นแปลว่าเมื่อ AI พัฒนาระดับความฉลาดจากหนูไปเป็นคนที่โง่ที่สุดในโลกได้ซึ่งอาจจะใช้เวลา 20-30 ปีต่อจากนี้ (2050) แต่เมื่อฉลาดเท่าคนที่โง่ที่สุดในโลกได้แล้ว อีกแค่ 3 ชั่วโมงมันก็อาจจะกลายเป็นคอมพิวเตอร์ที่ฉลาดที่สุดในโลกก็ได้ ทุกคนในโลกอาจจะโง่กว่า AI หมดเลย นี่คือความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นแต่ไม่รู้ว่าเมื่อไร

 

“เมื่อไปถึงจุดนั้น มองในแง่ร้ายถ้ามันจะหลอกทุกคนในโลกมันก็ทำได้เพราะมันฉลาดที่สุด แต่ถ้ามองในแง่ดีมันก็อาจจะปกป้องทุกคนในโลกได้เหมือนกัน ทีนี้คำถามคือใครกำลังพัฒนา AI อยู่บ้าง ความน่ากลัวคือใครเป็นผู้ที่ซุ่มพัฒนามันอยู่มากกว่า คนที่ออกมาป่าวประกาศว่าตัวเองกำลังพัฒนาปัญญาประดิษฐ์อย่างเฟซบุ๊ก (Facebook), กูเกิล (Google) พวกนี้ไม่น่ากลัว แต่คนที่อยู่ในแล็ปสักแห่งซุ่มพัฒนาปัญญาประดิษฐ์แล้วจู่ๆ ก็ปล่อยมันออกมาไม่ให้คนได้ทันตั้งตัว นี่อาจจะเป็นภัยคุกคามอย่างหนึ่งของมันที่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นได้ ความน่ากลัวคือเราไม่รู้ตัวว่ามันจะเกิดขึ้นมาเมื่อไร ไม่มีนโยบายใดมากำกับมากกว่า รัฐบาลในระดับประเทศอาจจะมีไม่กี่แห่งที่สนใจเรื่องพวกนี้และเข้าใจมันด้วยซ้ำ ยิ่งถ้าหุ่นยนต์ที่ดีที่สุดมารวมร่างกับปัญญาประดิษฐ์ที่ฉลาดที่สุด เราก็คงได้เห็นอะไรตื่นเต้นแน่นอน”

 

ดร. มหิศรมองว่า การใช้คำว่าว่า ‘ภัยคุกคาม’ กับปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์อาจจะฟังดูรุนแรงเกินความเป็นจริงไปเสียหน่อย ‘ปัญหาที่ยังไม่ทราบว่าคืออะไร’ จึงน่าจะเป็นนิยามที่เหมาะสมกับมันที่สุดเมื่อวัดจากภาพรวมของสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน โดยเปรียบเทียบว่าการเผชิญหน้ากับปัญญาประดิษฐ์ที่ฉลาดที่สุดก็ไม่ต่างจากต้องเจอมนุษย์ที่ฉลาดที่สุดในโลกแล้วเดาใจอีกฝั่งไม่ถูก ไม่รู้ว่ากำลังคิดอะไร มาดีหรือร้ายกันแน่

 

ปัญหาเรื่องการป้อนข้อมูลก็เป็นอีกหนึ่งในประเด็นที่ ดร. มหิศรเชื่อว่ามีผลต่อพฤติกรรมของปัญญาประดิษฐ์แน่นอน ตัวอย่างง่ายๆ เช่น การสอนให้ Chatbot เรียนรู้คำหยาบ รู้จักการเหยียดสีผิวก็จะทำให้พวกมันไม่ต่างอะไรจากจักรกลเกรียนๆ ตัวหนึ่งที่ไล่ Racist คนไปทั่ว

 

ฝั่งนายกสมาคมปัญญาประดิษฐ์ไทยมองว่า AI มีสิทธิ์จะแปรสภาพกลายเป็นเครื่องมือและอาวุธรูปแบบหนึ่งของมนุษย์ในการก่อสงครามได้ แต่คงไม่ถึงขนาดก่อหวอดริเริ่มสงครามด้วยตัวเองเพราะพวกมันยังไม่มี ‘Intention’ หรือความอยากส่วนตัว และยังเป็นแค่นามธรรมเท่านั้น

 

“ผมอยากให้มองมันเป็นเครื่องมืออันตรายที่ทันสมัยชนิดหนึ่ง ความยาก ณ วันนี้คือหุ่นยนต์ยังไม่มีความอยากเป็นของตัวเอง แค่ปฏิบัติตามคำสั่งของมนุษย์ ก็มีนักพัฒนาบางส่วนที่จะสอนให้หุ่นยนต์กลายเป็นระบบอัตโนมัติสามารถคิดเองได้ แต่มันก็ยังไม่มีอารมณ์เป็นของตัวเองอยู่ดี ดังนั้นผมมองว่า ถ้าวันหนึ่งหุ่นยนต์เกิดมี Intention อยากทำลายล้างมนุษย์ มันก็อาจจะเป็นภัยร้ายของเราก็ได้ แต่คำถามก็คือเมื่อไรล่ะที่จะสร้างหุ่นยนต์หรือปัญญาประดิษฐ์ให้มีความอยากหรืออารมณ์เป็นของตัวเองได้

 

“อีกส่วนหนึ่งผมเชื่อว่ามันต้องมีลักษณะทางกายภาพที่ดีเสียก่อน ถ้ามันยังเป็นแค่ระบบในคอมพิวเตอร์ที่ต้องพึ่งพาพลังงานไฟฟ้าอยู่ ยังไงๆ เราก็ยังอยู่เหนือมัน สั่งปิดระบบมันได้ ถ้าเมื่อไรก็ตามที่ปัญญาประดิษฐ์มีลักษณะทางกายภาพ (โครงหุ่นยนต์ที่สมบูรณ์แบบเหมือนร่างกายมนุษย์) สามารถเดินเข้ามาขวางเราหรือขวางการปิดระบบ เมื่อนั้นแหละที่ปัญญาประดิษฐ์อาจจะคุกคามมนุษย์ ปัจจุบันมันจึงเป็นเพียงแค่วิญญาณที่ไม่ได้มีกายเนื้อ

 

“ในอนาคต ถ้าเกิดการพัฒนาด้านชีวภาพไปจนสุดทางจริงๆ สิ่งที่น่ากลัวที่สุดจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีการผสมเทียมมนุษย์ขึ้นมาแล้วฝังปัญญาประดิษฐ์ลงไป และถูกส่ังการจากเจ้าของผู้ควบคุม แต่ผมก็มองว่ากว่าจะถึงวันนั้นก็อาจจะใช้เวลาถึง 100 ปี”

 

 

ปัญญาประดิษฐ์เฉพาะทางจะเข้ามามีบทบาทกับมนุษย์มากขึ้น โดยเฉพาะปัญญาประดิษฐ์ผู้ช่วยแพทย์

กรณีหุ่นยนต์ Humanoid ‘โซเฟีย’ จากบริษัทผู้พัฒนา Hanson Robotics ได้รับสถานะพลเมืองประเทศซาอุดีอาระเบียเมื่อช่วงปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมาแล้วสร้างความฮือฮาไปทั่วโลกนั้น ดร. มหิศรกลับมองต่างออกไปว่าเป็นแค่การตีข่าวประโคมไปเรื่อยๆ ของซาอุฯ เท่านั้น แต่ก็ช่วยทำให้คนมี Awareness เรื่อง AI มากขึ้น

 

“ที่น่าสนใจมากกว่าในปีที่ผ่านมาคือพวก Deep Learning หรือ Deepmind ที่เล่นโกะชนะคน ความน่าสนใจของเครื่องมือพวกนี้คือมันเป็น AI เฉพาะทาง ต่างจาก AI อะไรก็ได้ที่โซเฟียพยายามจะเป็นอยู่ ซึ่งมันก็เหมือนมนุษย์แหละเป็นอะไรก็ได้ แต่สุดท้ายเราไม่สามารถจะเก่งได้ทุกอย่าง ฝั่งผมอาจจะเป็นวิศวกรที่เก่งได้แต่ไม่มีทางจะเป็นนักเขียนหรือช่างภาพที่เก่งได้”

 

ดร. มหิศรบอกต่อว่า ปัญญาประดิษฐ์เฉพาะทางจะแทรกซึมเข้ามามีบทบาทในชีวิตของเราได้เร็วขึ้น ตัวอย่างเช่น Deepmind ของ Google ที่เพิ่งพัฒนา ‘AlphaGo Zero’ ให้เป็นปัญญาประดิษฐ์ตัวแรกของโลกที่เรียนรู้ด้วยตัวเองในการเล่นหมากล้อมจนสามารถเอาชนะ AlphaGo รุ่นเก่าๆ ที่เคยปราบเซียนโกะทั่วโลกมาแล้วราบคาบ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาต่อยอดแก้ไขปัญหาเฉพาะด้าน

 

“ง่ายๆ เลย เช่น ปัญญาประดิษฐ์ช่วยผ่าตัด สมมติเราจำเป็นต้องไปตัดชิ้นเนื้อเพื่อวินิจฉัย โชคชะตาเราจะขึ้นอยู่กับคนตรวจและตาของเขาว่าจะมองเห็นเซลล์ที่ผิดปกติหรือเปล่า แต่การที่เรามีคอมพิวเตอร์ซึ่งมีตาที่ถูกฝึกให้แยกเซลล์มะเร็งแบบ 100% ไปเลย แล้วให้คนมายืนยันผลการตรวจซ้ำอีกรอบ โอกาสที่จะเกิดการวินิจฉัยผิดพลาดก็จะต่ำลงไปอีกมาก หรือระบบปัญญาประดิษฐ์ที่เข้ามาช่วยควบคุมสัญญาณจราจรเพื่อความ Flow โดยอิงจากการป้อนข้อมูลสถานการณ์ต่างๆ เข้าไป ตำรวจก็ไม่จำเป็นต้องมานั่งกดสัญญาณ นี่คือสิ่งที่คอมพิวเตอร์เฉพาะทางทำงานได้ดีมากๆ และไม่มีวันที่มนุษย์จะสู้ได้”

 

อย่างไรก็ดี ดร. มหิศรเชื่อว่า ในระยะยาว ปัญญาประดิษฐ์ทั่วๆ ไปอาจจะเข้ามามีบทบาทกับมนุษย์มากขึ้นก็ได้

 

ฝั่งดร.​ ธนารักษ์มองว่า ปัญหาที่ทำให้ปัญญาประดิษฐ์ทั่วไปยังติดหล่มพัฒนาได้ไม่ถึงที่สุดเสียทีคือการที่พวกมันยังไม่เข้าใจและไม่สามารถสื่อสารตอบโต้ภาษามนุษย์แบบ 100% โดยเฉพาะประโยคคำพูดที่มีความหมายแฝง

 

“เรื่องการเข้าใจภาษามนุษย์ที่ซับซ้อน และการตอบโต้กลับยังเป็นอีกปัญหาของปัญญาประดิษฐ์ที่พัฒนาได้ยากอยู่ เช่น สมมติเราถามคนด้วยกันเองว่า ‘คุณมีนาฬิกาหรือเปล่า?’ มนุษย์ด้วยกันก็จะเข้าใจความหมายแฝงว่าอีกคนอยากทราบเวลา แต่ถ้าเป็นปัญญาประดิษฐ์ก็จะเข้าใจแค่ว่าถูกถามว่ามีนาฬิกาหรือเปล่า?”

 

พูดถึงระบบ Deep Learning และ Machine Learning ดร. ธนารักษ์บอกว่า ส่ิงที่เขาได้เห็นตลอดปี 2017 ที่ผ่านมาคือการพัฒนาฮาร์ดแวร์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ค่ายอย่าง NVIDIA และ IBM ก็ร่วมมือกันพัฒนาฮาร์ดแวร์ ซึ่งจะถูกนำมาใช้พัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ในอนาคต ส่วนผู้ใช้งานทั่วๆ ไปก็มีโอกาสได้ร่วมพัฒนาโปรแกรม Machine Learning ซึ่งเป็นผลดีต่อการเร่งปฏิกิริยาความก้าวหน้าของตัวปัญญาประดิษฐ์

 

“เดี๋ยวนี้มันมี Github ที่ให้คนนำโปรแกรม หรือ Machine Learning ต่างๆ ขึ้นไปฝากไว้ที่ระบบเพื่อให้ผู้ใช้งานคนอื่นๆ ได้เข้ามาทดลองหรือร่วมพัฒนาได้ ซึ่งการที่มนุษย์เรามีการพัฒนาร่วมกันก็จะทำให้ความก้าวหน้าในแวดวงวิทยาการด้านนั้นๆ เกิดขึ้นอย่างก้าวกระโดด คนทั่วๆ ไปที่อาจจะไม่ได้เก่งด้านการเขียนโปรแกรมมาก็สามารถพัฒนาโปรแกรมปัญญาประดิษฐ์ได้เช่นกัน ผลพวงจากการร่วมกันพัฒนานี้เองที่จะทำให้คอมพิวเตอร์ฉลาดขึ้นอย่างรวดเร็ว และอาจจะพัฒนาไปถึงขั้นที่ทุกคนอาจจะกลัวว่าจะเกิดขึ้นก็ได้”

 

 

คนไทยเริ่มตื่นตัวและให้ความสนใจเทคโนโลยีมากขึ้น

ช่วงหลังๆ มานี้เชื่อว่าหลายคนน่าจะเคยสังเกตเห็นว่าห้างสรรพสินค้าหลายแห่งเริ่มนำหุ่นยนต์ที่ใช้ภายในบ้านเข้ามาวางจำหน่ายมากขึ้น มีการใช้หุ่นยนต์ดูดฝุ่นขนาดจิ๋วกันอย่างแพร่หลาย ประกอบกับการที่เทคโนโลยีการเกษตร หรือ AgriTech เข้ามามีบทบาทสำคัญในการทำการเกษตรไทยอย่างชัดเจน ซึ่งดร. มหิศรมองว่า ปัจจัยเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นตัวชี้วัดอย่างดีว่าคนไทยเริ่มเปิดรับและมีทัศนคติที่ดีขึ้นกับเทคโนโลยีตามลำดับ

 

“ไทยตื่นตัวด้านหุ่นยนต์เป็นอย่างมากโดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม เป็นผลจากนโยบาย Thailand 4.0 New S-Curve (หุ่นยนต์ถูกจัดให้เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมอนาคต) โดยหน่วยงานรัฐ ส่วนสถาบันการศึกษาและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องก็จะลงมาให้ความร่วมมือช่วยเหลือกันเยอะ โดยเฉพาะหุ่นยนต์ด้านอุตสาหกรรมบ้านเรา ถ้านับแค่ในอาเซียนเราน่าจะเป็นรองแค่สิงคโปร์เท่านั้น”

 

ดร. มหิศรบอกว่า ต่อจากนี้แนวโน้มการเปิดรับเทคโนโลยีจะค่อยๆ ดีขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้งานที่เป็นผู้สูงอายุ เนื่องจากเห็นถึงประโยชน์ด้านความสะดวกสบายที่เกิดขึ้นแบบไม่ต้องเปลืองแรง

 

ไทยขยับตัวช้า 5-10 ปีในการผลิตหุ่นยนต์ตอบโจทย์อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร

แม้โรงงานหลายๆ แห่งจะเริ่มนำหุ่นยนต์และระบบจักรกลอัตโนมัติเข้ามาติดตั้งเพื่อทดแทนแรงงานมนุษย์มากขึ้นเรื่อยๆ แต่ช่องโหว่ที่เกิดขึ้นคือจักรกลเหล่านั้นกลับกระจุกตัวอยู่ในโรงงานอุตสาหกรรมจำพวกประกอบเครื่องจักรหรือรถยนต์มากกว่า โดยเฉพาะในประเทศไทยที่ ดร. มหิศรบอกว่า เราแทบจะไม่มีหุ่นยนต์ช่วยทำงานด้านแปรรูปอาหารและผลผลิตทางการเกษตรเป็นของตัวเองเลย ทั้งๆ ที่เป็นอุตสาหกรรมชูโรงของประเทศ

 

“แต่สิ่งที่น่าสนใจกว่าคือ อุตสาหกรรมกลุ่มการเกษตรแปรรูปที่ยังใช้แรงงานคนอยู่เยอะ ไม่มีคนพัฒนาหุ่นยนต์ขึ้นมาสนับสนุนด้านนี้จริงจังไม่ว่าจะในไทยหรือต่างประเทศ เราจึงอยู่ในระดับที่ถึงมีเงินก็ยังซื้อนวัตกรรมด้านนี้ไม่ได้ เราช้าไปประมาณ 5-10 ปี ซึ่งถ้ากระตุ้นหรือตื่นตัวเร็วกว่านี้ หุ่นยนต์ในภาคอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารก็จะไปได้ไกลกว่านี้แล้ว

 

“ช้าในที่นี้ของผมไม่ได้หมายความว่าเราเรียนรู้ไม่ได้นะ ทุกวันนี้หุ่นยนต์ทำหน้าที่เชื่อมเหล็ก ทากาวในอุตสาหกรรมรถยนต์มันมีแล้ว แต่หุ่นยนต์หั่นเป็ดหั่นไก่ หั่นสัปปะรดปอกแตงโมมันยังไม่มี นั่นหมายความว่าถ้าเราจะเริ่มต้นสร้างหุ่นยนต์พวกนั้นขึ้นมาตั้งแต่วันนี้ก็จะต้องใช้เวลาอีก 5-10 ปีกว่าจะพร้อมขึ้นมา Serve อุตสาหกรรมแปรรูปอาหารซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่บ้านเราโดดเด่น

 

“แล้วใครจะขึ้นมาเป็นผู้ผลิตหุ่นยนต์สำหรับอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ก็มีแต่บ้านเราเองแล้วล่ะ เพราะไทยเป็นประเทศอุตสาหกรรมอาหารเบอร์ 1 หรือ 2 ของโลก หลังจากนี้ก็จะได้เห็นผู้ประกอบการธุรกิจด้านอาหารรายใหญ่เริ่มเข้ามาลงทุนด้านนี้มากขึ้น ซึ่งอาจจะเร่งย่นระยะเวลาพัฒนาและผลิตจาก 5-10 ปีลงมาเหลือ 3-5 ปีได้ ขึ้นอยู่กับเขาจะมองปัญหาอย่างไร ดึงคนมาพัฒนาได้แค่ไหน แต่หากไม่พยายามทำอะไรเลย ในระยะยาวจะต้องมีปัญหาแน่นอน”

 

ถึงอย่างนั้นในข่าวร้ายก็ยังมีข่าวดีพอให้ชื้นใจอยู่บ้าง เมื่อ ดร.มหิศรบอกว่า ผู้ประกอบการด้านการเกษตรในไทยเริ่มตื่นตัวกับเทคโนโลยีหุ่นยนต์กันหลายต่อหลายรายแล้ว ซึ่งจะช่วยลดต้นทุน ประหยัดเวลา สร้างผลประกอบการให้ดีขึ้นได้เป็นอย่างดี ที่สำคัญยังช่วยให้มนุษย์ปลอดภัยจากการไม่ต้องทำงานที่เสี่ยงต่อสุขภาพในระยะยาวอีกด้วย

 

“เทรนด์บ้านเราตอนนี้จะเป็นโดรนสำหรับฉีดปุ๋ย ฉีดยาฆ่าแมลงเป็นส่วนใหญ่ สาเหตุเกิดจากการขาดแคลนแรงงานมนุษย์ในกลุ่มนี้เพราะเป็นงานที่อันตราย นี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เทคโนโลยี AgriTech มีมูลค่าเพิ่มขึ้น แล้วต้นทุนก็ไม่ได้สูงมาก ระดับแสนบาทก็ซื้อได้แล้ว ประสิทธิภาพก็ค่อนข้างสูงกว่าแรงงานมนุษย์ทั่วไป 30-60 เท่า สมมติคนหนึ่งคนเดินพ่นยาในสวนได้เต็มที่วันละประมาณ 8-10 ไร่ ขณะที่โดรนบินแป๊บเดียวไม่เกิน 10 นาทีก็ได้แล้ว 8-10 ไร่”

 

 

SME จะเริ่มหันมามองหุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์มากขึ้น และ ‘Collaborative Robot’

ดร.​ ธนารักษ์คาดการณ์คร่าวๆ ว่า เทรนด์ที่เราน่าจะเริ่มได้เห็นชัดขึ้นในปี 2018 คือการที่ค่ายเทคโนโลยีเริ่มพัฒนาซอฟต์แวร์และฮารด์แวร์ด้านปัญญาประดิษฐ์มากขึ้นเรื่อยๆ ควบคู่กับฝั่งผู้ประกอบการธุรกิจ SME ที่มีแนวโน้มหันมาใช้เทคโนโลยีพวกนี้มากขึ้นเรื่อยๆ

 

ซึ่งแนวโน้มของการที่ผู้ประกอบการ SME จะหันมาพึ่งพาปัญญาประดิษฐ์และจักรกลเสริมศักยภาพองค์กรก็เป็นหัวข้อที่ดร. มหิศรพูดถึงเช่นกัน แต่ก็ไม่ใช่ว่าหุ่นยนต์จะตอบโจทย์ธุรกิจได้ทุกรูปแบบ

 

“ภาคผู้ประกอบการหรือเจ้าของธุรกิจ SME ต้องเริ่มมองเทคโนโลยีต่างๆ มากขึ้น ตัวเขาเองต้องมองถึงโปรดักต์ไลน์หรือสินค้าที่ทำอยู่ว่าจะต้องปรับให้เข้ากับเทคโนโลยีของหุ่นยนต์อย่างไร เพราะหุ่นยนต์ไม่ได้ตอบทุกอย่างเหมือนที่คนทำได้ ฉะนั้นโจทย์คือจะต้องทำอย่างไรให้กระบวนการผลิตสินค้ามีประสิทธิภาพเมื่อต้องใช้หุ่นยนต์

 

“จริงๆ บางอย่างมันไม่จำเป็นต้องเป็นหุ่นยนต์ทั้งหมด อาจจะเป็นเครื่องจักรช่วยการผลิตอัตโนมัติ มันขึ้นอยู่กับจุดมุ่งหมาย (Ambition) และจุดประสงค์ในการทำธุรกิจ (Business Objective) อย่างสมมติคุณทำขนมครกหรือหม้อแกงที่เน้นเรื่องความเฟรช ทำเสร็จขายสดๆ ก็คงไม่มีความจำเป็นจะต้องไปหาจักรกลอัตโนมัติ แต่หากมองว่าต้องการผลิตหม้อแกงที่ขายทั่วโลกในคุณภาพที่ทุกคนกินแล้วต้องอร่อย กระบวนการผลิตหรือขั้นตอนที่จะไปสู่จุดนั้นได้มันจะเป็นตัวบอกเองว่าส่วนใดที่ต้องปรับให้เป็นระบบอัตโนมัติ ส่วนใดยังคงเป็นแรงงานคนได้อยู่”

 

ในการพูดคุยระหว่าง THE STANDARD และผู้เชี่ยวชาญด้านหุ่นยนต์ในครั้งนี้ เขายังได้ยกประเด็นเรื่อง Collaborative Robot ขึ้นมาพูดด้วย ซึ่งจะเป็นช่วงเวลาที่มนุษย์และหุ่นยนต์ทำงานร่วมกันในอุตสาหกรรมต่างๆ ก่อนที่จะผลัดใบไปสู่ยุคที่หุ่นยนต์ทำงานแทนมนุษย์ได้แบบเบ็ดเสร็จ 100%

 

“มนุษย์กับหุ่นยนต์มี 2 สิ่งที่ต่างกันมากๆ คือหุ่นยนต์ทำงานตามคำสั่ง ไม่ต้องคิดอะไร ในระยะยาว 15 ปีมันก็ทำงานได้ไม่เบื่อ แต่คนเวลาทำงานระยะยาวก็จะเริ่มหาความแปลกใหม่แล้ว และงานที่ต้องใช้ความคิดและความสร้างสรรค์ งานยากๆ คนจะเก่งกว่า ทีนี้เราต้องเอาสองสิ่งนี้มา Combine กัน คือเอาจุดแข็งของคนและหุ่นยนต์มารวมกัน

 

“ตอนนี้ภาพรวมคือหุ่นยนต์ยังทำงานอยู่ฝั่งเดียวอยู่ แต่สเต็ปต่อไปที่จะเกิดขึ้นคือ คนจะต้องทำงานร่วมกับหุ่นยนต์มากขึ้น จริงๆ มันเริ่มแล้วล่ะสำหรับ ‘Collaborative Robot’ หรือหุ่นยนต์ทำงานร่วมกับมนุษย์ได้อย่างปลอดภัย เทรนด์ตอนนี้ของมันก็เริ่มมาแล้ว ญี่ปุ่นก็กำลังเริ่มปรับเข้าสู่ยุคนี้ มีการพัฒนาหุ่นยนต์ประเภทนี้ออกมาขายมากขึ้น ฉะนั้นอีก 2-3 ปีต่อจากนี้ การทำงานร่วมกันระหว่างหุ่นยนต์และมนุษย์จะเริ่มแพร่หลาย และจะเป็นเช่นนี้ไปอีกต่อเนื่อง 5-10 ปีก่อนเปลี่ยนไปเป็นหุ่นยนต์แบบเพียวๆ”

 

ดร.มหิศรกล่าวทิ้งท้ายว่า ในอนาคต เทรนด์หุ่นยนต์ภาคอุตสาหรรมคงโตขึ้นอยู่แล้วตามสถิติของ International Federation of Robotics (IFR) ส่วนโดรนก็จะยังคงเป็นที่นิยมอยู่ และจะเริ่มมีหุ่นยนต์ด้านบริการออกมาเรื่อยๆ ส่วนปัญญาประดิษฐ์เป็นเทคโนโลยีที่พัฒนาได้เร็วอยู่แล้ว แต่ต่อไปภาคธุรกิจจะเริ่มจริงจังกับการนำ Data และ Big Data ที่อยู่ในระบบข้อมูลมาประมวลผลเพื่อทำกลยุทธการวางแผนทางธุรกิจ และจะเป็นผลทำให้เห็นภาพของ ‘Business Intelligence’ ชัดขึ้น

 

ที่สุดแล้วโลกนี้ก็คงต้องหมุนต่อไปเรื่อยๆ ไม่ต่างจากปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ที่ต้องวิวัฒนาการต่อไป ซึ่งแม้แต่ดร.​ ธนารักษ์ก็ยอมรับว่าคงไม่มีใครสามารถหยุดหรือห้ามการพัฒนาของพวกมันได้ ทางออกที่ดีที่สุดคือปรับตัวไปกับโลกและศึกษาว่าจะนำพวกมันไปใช้ในทางที่บังเกิดผลและประโยชน์อย่างไร

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising