×

Aged Society: ความท้าทายด้านแรงงานของภาคธุรกิจไทย

12.10.2023
  • LOADING...
Aged Society

ปัจจุบันแม้เทคโนโลยีในโลกธุรกิจจะก้าวไปไกลขนาดไหน แต่แรงงานยังคงเป็นปัจจัยการผลิตที่เปรียบเสมือนฟันเฟืองเพื่อช่วยขับเคลื่อนองค์ประกอบอื่นๆ ของธุรกิจด้วย ในขณะที่ประเทศไทยเผชิญกับข้อจำกัดทางด้านแรงงานตั้งแต่ปี 2548 โดยเฉพาะการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) และมีแนวโน้มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) ภายในปี 2566 ซึ่งสถานการณ์ด้านแรงงานเช่นนี้มีแนวโน้มดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นสิ่งที่ภาคธุรกิจต้องมีการเตรียมพร้อมเพื่อปรับตัวรองรับและรักษาความสามารถในการแข่งขันของโลกธุรกิจยุคใหม่

 

กำลังแรงงานของไทย ณ ปัจจุบันอยู่ที่ 40 ล้านคน คิดเป็น 69% ของประชากรวัยแรงงาน

ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2565 ประเทศไทยมีประชากรทั้งหมด 66.09 ล้านคน เป็นประชากรวัยแรงงาน (อายุ 15 ปีขึ้นไป) ถึง 58.6 ล้านคน แต่เป็นกำลังแรงงานได้จริง 39.9 ล้านคน เมื่อหักผู้ว่างงานอีก 0.53 ล้านคน เหลือเป็นผู้มีงานทำจริงราว 39.37 ล้านคนเท่านั้น สำหรับในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2566 ประชากรวัยแรงงาน เพิ่มขึ้นเป็น 58.9 ล้านคน แต่เป็นกำลังแรงงานได้จริง 40.59 ล้านคน หรือคิดเป็น 68.9% หักผู้ว่างงาน 0.47 ล้านคน เหลือเป็นผู้มีงานทำจริง 40.12 ล้านคน ขณะที่ในมุมสถานประกอบการยังคงเพิ่มขึ้น โดยปี 2562 มีสถานประกอบการ 4.2 แสนแห่ง และในปี 2565 มีผู้ประกอบการเพิ่มเป็น 4.8 แสนแห่ง หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 4% แม้จะผ่านช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดก็ไม่ได้ทำให้มีจำนวนในภาพรวมลดลง โจทย์ท้าทายด้านแรงงานที่สำคัญ ณ ขณะนี้คือ กำลังแรงงานจะมีเพียงพอกับภาคธุรกิจที่มีแนวโน้มโตต่อเนื่องหรือไม่ และทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อแข่งขันในธุรกิจมากพอหรือไม่

 

ไทยจะก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) ภายในปี 2566 และเป็นสังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด (Hyper Aged Society) ในปี 2577   

สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) คือสังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป เท่ากับหรือมากกว่า 10% ของประชากรทั้งหมดเป็นสิ่งที่เริ่มเกิดขึ้นกับไทยมาตั้งแต่ปี 2548 และข้อมูล ณ เดือนมิถุนายน 2566 พบว่าสัดส่วนผู้สูงอายุอยู่ที่ร้อยละ 19.7 ของประชากรรวม ขณะที่สัดส่วนวัยทำงานอยู่ที่ร้อยละ 64.8 ส่งผลให้คาดว่าในปี 2566 ไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) ตามนิยามการมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปเท่ากับหรือมากกว่า 20% โดยเป็นสัดส่วนที่มากเป็นอันดับ 2 ในกลุ่มประเทศอาเซียน รองจากสิงคโปร์ ทั้งนี้ อาจกล่าวได้ว่าอาเซียนเป็นภูมิภาคสังคมผู้สูงอายุ เพราะมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากถึง 11% อีกทั้งในปี 2577 จากการคาดการณ์ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด (Hyper Aged Society) ซึ่งจะมีสัดส่วนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป เท่ากับหรือมากกว่า 30% สอดคล้องกับอัตราการเกิดและประชากรวัยแรงงานของไทยที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง 

 

ภาคธุรกิจเผชิญความท้าทายของตลาดแรงงานทั้งด้านปริมาณและผลิตภาพแรงงาน โดยในด้านปริมาณเกิดจากการเปลี่ยนโครงสร้างประชากรไปสู่สังคมสูงวัยดังที่กล่าวมาและอัตราการเกิดที่มีแนวโน้มชะลอลง ที่ทำให้ประชากรวัยทำงานมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2559 ส่งผลให้อัตราการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงาน (คำนวณจากกำลังแรงงานต่อประชากรวัยทำงาน) ใน 1 ทศวรรษที่ผ่านมาได้ปรับลดลงเช่นกัน จาก 72.29% ในปี 2555 เหลือ 68.07% ในปี 2565 สำหรับในด้านผลิตภาพแรงงาน (Labor Productivity) พบว่า เติบโตในระดับจำกัดและฟื้นตัวค่อนข้างช้าหลังวิกฤตโควิด โดยในช่วงปี 2557-2562 ผลิตภาพแรงงานไทยเติบโต 4.5% ต่อปี และในช่วงปี 2563-2564 ของสถานการณ์โควิดปรับลดลงที่ -1.3% และในปี 2565 อยู่ที่ -2.5% ขณะที่ในปี 2565 ผลิตภาพแรงงานของจีนฟื้นตัวได้เร็วที่ 4.8% เวียดนาม 8.8% และมาเลเซีย 5.4% นอกจากนี้ ตลาดแรงงานยังคงมีความท้าทายอีกหลายด้านที่ผู้ประกอบการธุรกิจต้องเตรียมพร้อมรองรับ เช่น

 

  • สาขาแรงงานที่มีแนวโน้มความต้องการสูงขึ้นมากในระยะยาว ได้แก่ แรงงานในภาคบริการ สะท้อนจากจำนวนผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมที่เพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่อยู่ในภาคบริการและแรงงานทักษะสูงในอุตสาหกรรมไฮเทคต่างๆ 
  • กระแสธุรกิจใหม่ทำให้ความต้องการแรงงานที่มีทักษะเฉพาะด้านเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น การยกระดับและเรียนรู้ทักษะใหม่ (Up-Skill & Re-Skill) จึงเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับแรงงานเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในอนาคต 
  • เทคโนโลยีทรานส์ฟอร์เมชัน รวมถึงความต้องการทักษะแรงงานใหม่ๆ และรูปแบบการทำงาน รวมถึงพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ภาคธุรกิจต้องวางแผนรับมือให้พร้อมทั้งในโลกการทำงานปัจจุบันและอนาคตที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา 
  • ผู้หญิงมีแนวโน้มสำคัญมากขึ้นในตลาดแรงงานไทย สะท้อนจากอัตราการมีส่วนร่วมในตลาดแรงงาน (Labor Force Participation Rate) ของผู้หญิงสูงราว 60% ซึ่งเป็นอัตราที่มากกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค เช่น สิงคโปร์ (54%) เกาหลี (50%) และมาเลเซีย (44%) และผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะมีบทบาทในการเป็นผู้บริหารมากขึ้นด้วย 
  • ภาคธุรกิจเผชิญกับการแข่งขันที่สูงขึ้นในการจัดหาทรัพยากรบุคคล นอกจากนั้นแล้วแรงงานที่มีอยู่เดิมยังอาจเกิดปัญหาทำงานไม่ตรงกับทักษะ (Mismatching) ซึ่งอาจเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้ผลิตภาพแรงงานอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ

แนะภาคธุรกิจรับมือกับความท้าทายด้านแรงงาน โดยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของพนักงานในภาพรวม เพื่อตอบโจทย์การใช้ทรัพยากรบุคคลที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น ทำอย่างไรจึงจะทำงานได้มากขึ้นในเวลาที่สั้นลงหรือเท่าเดิม ทำอย่างไรจะทำให้งานเดิมๆ ใช้เวลาทำให้สำเร็จได้เร็วขึ้น ทำอย่างไรจึงจะลดต้นทุนแต่ไม่ลดคุณภาพได้ อีกทั้ง ปัจจุบัน ความต้องการบุคลากรในตลาดแรงงานมีความซับซ้อนมากขึ้น อันมาจากการเปลี่ยนแปลงและปรับตัวของแต่ละองค์กรในการดำเนินธุรกิจ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์และแนวโน้มการทำงานในอนาคต ส่งผลให้ความต้องการทางด้านทักษะโดยเฉพาะทักษะใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์การทำงานในปัจจุบันและการจ้างงานยุคใหม่มากขึ้น ทุกองค์กรธุรกิจควรให้ความสำคัญเพื่อให้บุคลากรสามารถขับเคลื่อนองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลตามเป้าหมายที่วางไว้

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising