×

Abraham Accords: 4 เหตุผล ทำไม ‘ข้อตกลงสันติภาพ’ อาจทำลายสันติภาพในตะวันออกกลาง

22.09.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 mins. read
  • การปรับความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลกับ UAE และบาห์เรน อาจเรียกได้ว่าเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของการเมืองตะวันออกกลางได้ แต่หากจะบอกว่ามันเป็นการสร้าง ‘สันติภาพ’ ขึ้นในภูมิภาคตะวันออกกลางนั้นคงเป็นเรื่องที่ยังมีข้อสงสัยอยู่มากมาย
  • สันติภาพไม่มีทางเกิดขึ้นจนกว่าข้อตกลงดังกล่าวจะวางเงื่อนไขให้เกิดการยุติความรุนแรง การปลดปล่อยดินแดนภายใต้การยึดครอง (ปาเลสไตน์) และการละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่ดูเหมือนว่าข้อตกลงสันติภาพระหว่างรัฐอาหรับกับอิสราเอลที่เกิดขึ้นล่าสุดนี้ไม่ได้มีการกล่าวถึงประเด็นดังกล่าวเอาไว้เลย
  • ธุรกิจการขายอาวุธและการประสานงานด้านความมั่นคงระหว่างอิสราเอลกับรัฐอาหรับจะมีความเข้มข้นและเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้นจากผลของข้อตกลงความร่วมมือ เรื่องนี้ย่อมสร้างผลประโยชน์ให้กับบริษัทค้าอาวุธในตะวันออกกลางแน่นอน แต่คงไม่เป็นผลดีต่อสันติภาพในภูมิภาค เพราะวิกฤตสงครามและความรุนแรงจากปัญหาการสะสมและแพร่กระจายอาวุธเป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้ตะวันออกกลางกลายเป็นภูมิภาคทางการทหารที่เกิดความรุนแรงและความตึงเครียดตลอดมา
  • การทำข้อตกลงปรับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐอาหรับกับอิสราเอลนอกจากจะทำให้รัฐอาหรับแตกแยกขัดแย้งกันเองแล้ว ยังจะทำให้เกิดความตึงเครียดและการเผชิญหน้ากันมากยิ่งขึ้นระหว่างรัฐอาหรับที่เป็นพันธมิตรอิสราเอลกับรัฐที่ไม่ใช่อาหรับแต่เป็นประเทศมุสลิมในตะวันออกกลาง (ทั้งอิหร่านและตุรกี) ที่สนับสนุนปาเลสไตน์ และต่อต้านนโยบายของอิสราเอลในตะวันออกกลาง

วันที่ 13 กันยายน 2020 ถือเป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งของประวัติศาสตร์การเมืองตะวันออกกลาง เพราะเป็นวันที่อิสราเอล สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) และบาห์เรน ได้ลงนามข้อตกลงสันติภาพระหว่างกัน หรือที่เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ‘ข้อตกลงอับราฮัม’ (Abraham Accords) โดยมีประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ เป็นประธานในพิธี 

 

ข้อตกลงสันติภาพดังกล่าวนี้ก่อให้เกิดการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระดับปกติระหว่างอิสราเอลกับรัฐอาหรับทั้งสอง ตลอดจนเกิดการประสานความร่วมมือในด้านต่างๆ ระหว่างกัน โดยที่ UAE และบาห์เรนนับเป็นรัฐอาหรับชาติที่ 3 และ 4 แล้วที่ได้ลงนามข้อตกลงสันติภาพกับอิสราเอล โดยก่อนหน้านี้มีอียิปต์ (1979) และจอร์แดน (1994) ที่ได้ลงนามทำข้อตกลงสันติภาพกับอิสราเอลไปเรียบร้อยแล้ว

 

ในพิธีลงนามที่จัดขึ้น ณ ทำเนียบขาว กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ทรัมป์ได้กล่าวต่อหน้าฝูงชนนับร้อยที่เข้ามาร่วมเป็นสักขีพยานว่า “หลังความขัดแย้งแตกแยกมานานหลายทศวรรษ เราได้เห็นอรุณรุ่งของตะวันออกกลางยุคใหม่ เรามาอยู่ที่นี่ในบ่ายวันนี้เพื่อเปลี่ยนเส้นทางประวัติศาสตร์” และ “วันนี้เป็นวันสำคัญของสันติภาพ” 

 

 

นอกจากนั้น ทรัมป์ยังพยายามฉายภาพอธิบายให้ประชาคมโลกและประชาชนสหรัฐฯ เห็นว่า ตลอดประวัติศาสตร์แห่งความขัดแย้งระหว่างอาหรับกับอิสราเอลที่ยืดเยื้อยาวนานกว่า 72 ปี ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จากอดีตถึงปัจจุบันสามารถผลักดันให้เกิดข้อตกลงสันติภาพระหว่างอิสราเอลกับรัฐอาหรับได้แค่ 2 รัฐเท่านั้น แต่เขาสามารถทำเรื่องเดียวกันนี้ได้ภายในช่วงเวลาแค่ 1 เดือน ส่วน เบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล ได้กล่าวคล้ายๆ กับประธานาธิบดีทรัมป์ว่า “วันนี้คือจุดตั้งต้นของประวัติศาสตร์ มันคือการประกาศรุ่งอรุณใหม่แห่งสันติภาพ”

 

อันที่จริงการปรับความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลกับ UAE และบาห์เรนอาจเรียกได้ว่าเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของการเมืองตะวันออกกลางได้ แต่หากจะบอกว่ามันเป็นการสร้าง ‘สันติภาพ’ ขึ้นในภูมิภาคตะวันออกกลางนั้นคงเป็นเรื่องที่ยังมีข้อสงสัยอยู่มากมาย 

 

บทความชิ้นนี้ผู้เขียนอยากลองแลกเปลี่ยนมุมมองโดยอิงอยู่บนข้อถกเถียงสำคัญว่า ‘ข้อตกลงสันติภาพ’ ดังกล่าวไม่ได้ก่อให้เกิดสันติภาพในตะวันออกกลางอย่างแท้จริง ทว่าอาจเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดสภาวะไร้สันติภาพด้วยเหตุผล 4 ประการ

 

 

  1. ข้อตกลงสันติภาพที่สร้างช่องว่างระหว่างรัฐกับประชาชน

ข้อตกลงที่อิสราเอลทำกับ UAE มีขึ้นตั้งแต่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ส่วนบาห์เรนนั้นเพิ่งมีการเปิดเผยว่าจะร่วมวงปรับความสัมพันธ์กับอิสราเอลเมื่อวันที่ 11 กันยายน หรือก่อนที่จะมีการลงนามกันที่ทำเนียบขาวประมาณ 1 สัปดาห์ แม้การตัดสินใจของบาห์เรนจะไม่ได้รับความสนใจมากเท่ากับกรณีของ UAE แต่การแสดงตนของบาห์เรนในการปรับความสัมพันธ์กับอิสราเอลอย่างเปิดเผยนั้นย่อมมีนัยทางการเมืองที่สำคัญยิ่ง เพราะบาห์เรนเป็นประเทศที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่าเป็น ‘รัฐบริวาร’ ของซาอุดีอาระเบีย นั่นหมายความว่าหากซาอุดีอาระเบียไม่เปิดไฟเขียวให้ บาห์เรนย่อมไม่กล้าตัดสินใจทำในสิ่งที่เป็นเรื่องใหญ่อันจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงภายในภูมิภาคอย่างแน่นอน

 

ข้อน่าสังเกตสำคัญของพิธีลงนามปรับความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลกับสองรัฐอาหรับครั้งนี้คือตัวแทนของแต่ละประเทศ ในพิธีลงนามดังกล่าว นายกรัฐมนตรีอิสราเอลเป็นผู้ที่มาร่วมลงนามด้วยตนเอง แตกต่างจากรัฐอาหรับที่ส่งรัฐมนตรีต่างประเทศมาลงนามแทนประมุขของรัฐ อันที่จริงเรื่องนี้ก็ไม่ได้เหนือความคาดหมายแต่อย่างใดหากคำนึงถึงกระแสต่อต้านของมวลชนอาหรับ 

 

ผลการสำรวจล่าสุดในปี 2018 พบว่ามวลชนอาหรับร้อยละ 87 ไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐอาหรับจะยอมรับอิสราเอลหากปัญหาปาเลสไตน์ยังไม่ได้รับการแก้ไข (ดูรายละเอียดได้ใน ‘The 2017-2018 Arab Opinion Index’. July 10, 2018. http://arabcenterdc.org/survey/2017-2018-arab-opinion-index-executive-summary/) ด้วยเหตุนี้จึงไม่แปลกที่ผู้นำอาหรับเลือกที่จะไม่ร่วมในพิธี เพราะไม่ต้องการให้ภาพถ่ายของตนที่กำลังจับมือถือแขนหรือภาพถ่ายที่ตนเองกำลังสวมกอดกับผู้นำอิสราเอลถูกเผยแพร่ออกไป

 

ทั้งนี้ บรรดาผู้นำอาหรับต่างตระหนักดีว่าปัญหาปาเลสไตน์ยังคงอยู่ในจิตสำนึกของสาธารณชนชาวอาหรับอย่างไม่เสื่อมคลาย ดังจะเห็นได้จากปฏิกิริยาโกรธแค้นเดือดดาลของมวลชนอาหรับต่อการที่อิสราเอลเข้ามาทำสงครามกับกลุ่มฮิซบุลลอฮ์ในเลบานอนเมื่อปี 2006 และการที่อิสราเอลโจมตีทางอากาศในฉนวนกาซา ทั้งในปี 2008-2009, 2012 และ 2014 

 

 

ขณะเดียวกัน ในบริบทของสื่อสังคมออนไลน์และสื่ออาหรับที่มีอยู่หลากหลายประเภท ปรากฏการณ์อาหรับสปริงนับเป็นข้อพิสูจน์ที่เห็นได้ชัดว่ามวลชนคนอาหรับมีความใกล้ชิดเชื่อมกันทางวัฒนธรรมและสังคมมากขนาดไหน และนับวันความใกล้ชิดเชื่อมโยงดังกล่าวยิ่งมีแต่จะเพิ่มมากขึ้น แรงสนับสนุนปาเลสไตน์ของมวลชนอาหรับยังคงดำรงอยู่เช่นเดิมแม้จะมีการปรับเปลี่ยนท่าทีความเป็นพันธมิตรในระดับรัฐของโลกอาหรับกับประเทศอิสราเอลก็ตาม ลักษณะเช่นนี้อาจนำไปสู่ช่องว่างที่นับวันยิ่งจะถ่างกว้างออกจากกันมากขึ้นระหว่างรัฐอาหรับกับประชาชนของตนเอง ซึ่งจะส่งผลต่อความไร้เสถียรภาพและไร้สันติภาพของภูมิภาคตะวันออกกลางในอนาคต

 

  1. ข้อตกลงสันติภาพที่ไม่ยึดโยงกับการยุติสงครามความขัดแย้งและการยึดครองดินแดน

อย่างที่ได้กล่าวไปแล้ว การปรับความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลกับ UAE และบาห์เรนอาจเรียกได้ว่าเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของการเมืองตะวันออกกลางได้ แต่หากจะบอกว่ามันเป็นการทำ ‘ข้อตกลงสันติภาพ’ ระหว่างกันคงเป็นเรื่องที่ยังเป็นข้อสงสัย เพราะทั้ง UAE และบาห์เรนไม่เคยทำสงครามกับอิสราเอลเลยแม้แต่ครั้งเดียว ไม่เหมือนกับรัฐอาหรับเพื่อนบ้านของอิสราเอล (อียิปต์ จอร์แดน ซีเรีย และเลบานอน) ที่เคยมีส่วนทำสงครามกับอิสราเอลมาก่อน 

 

สิ่งเดียวที่อาจเป็นเรื่องผิดปกติในมิติการทูตและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสมัยใหม่คือ ทั้ง UAE และบาห์เรนไม่เคยมีการสถาปนาความสัมพันธ์กับอิสราเอลก็เท่านั้น และทั้ง 2 ฝ่ายก็ไม่ยอมรับซึ่งกันและกัน ซึ่งก็เหมือนกับความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มประเทศอาหรับและกลุ่มประเทศในโลกมุสลิมส่วนใหญ่

 

ด้วยเหตุนี้ การเปลี่ยนท่าทีมายอมรับปรับความสัมพันธ์ระหว่างกันก็ไม่ได้หมายความว่าตะวันออกกลางจะเกิดสันติภาพขึ้นจากข้อตกลงที่ทั้ง 2 ฝ่ายได้ลงนามร่วมกัน สันติภาพไม่มีทางเกิดขึ้นจนกว่าข้อตกลงดังกล่าวจะวางเงื่อนไขให้เกิดการยุติความรุนแรง การปลดปล่อยดินแดนภายใต้การยึดครอง และการละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่ดูเหมือนว่าข้อตกลงสันติภาพระหว่างรัฐอาหรับกับอิสราเอลที่เกิดขึ้นล่าสุดนี้มิได้มีการกล่าวถึงประเด็นดังกล่าวเอาไว้เลย ในทางกลับกัน อิสราเอลก็ยังคงยึดครองดินแดนและปฏิเสธสิทธิอันชอบธรรมของชาวปาเลสไตน์ต่อไป UAE และบาห์เรนยังคงเข้าไปแทรกแซงแสดงบทบาทในแทบทุกสงคราม ทั้งเยเมน ซีเรีย และลิเบีย พร้อมๆ ไปกับปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อประชาชนภายในประเทศของตน

 

แม้ UAE จะวางเงื่อนไขขอให้อิสราเอลเลิกล้มความตั้งใจที่จะผนวกเอาดินแดนเวสต์แบงก์มาเป็นส่วนหนึ่งของประเทศ แต่นายกรัฐมนตรีอิสราเอล เบนจามิน เนทันยาฮู ก็ออกมาแสดงท่าทีชัดเจนว่าแผนการผนวกดินแดนเวสต์แบงก์ยังคงต้องเดินหน้าต่อไป อาจจะระงับไว้ชั่วคราวเพื่อรอกำหนดวันเวลาที่จะผนวกดินแดนดังกล่าวในอนาคต (อ่านเพิ่มเติมได้จาก ‘Netanyahu insists hold on annexation of West Bank ‘temporary’ as Israel, UAE broker deal’. Global News. August 16, 2020. https://globalnews.ca/news/7279549/netanyahu-uae-israel-annexation/) ด้วยเหตุนี้ ในสายตาของชาวปาเลสไตน์ ข้อตกลงสันติภาพนี้จึงไม่ได้ทำให้อะไรเปลี่ยนแปลงไป การกดขี่ภายใต้การยึดครองดินแดนโดยอิสราเอลก็ยังคงดำเนินต่อไปเป็นปกติ แย่ยิ่งกว่านั้นคือข้อตกลงดังกล่าวได้ทำลายแผนสันติภาพที่เคยเสนอโดยรัฐอาหรับเมื่อปี 2002 (Arab Peace Initiative) อันเป็นแผนที่ระบุเงื่อนไขเอาไว้ชัดเจนว่ารัฐอาหรับจะยอมรับและสถาปนาความสัมพันธ์กับอิสราเอลก็ต่อเมื่ออิสราเอลคืนดินแดนที่ได้ยึดครองของอาหรับในสงคราม 6 วัน (ปี 1967) พร้อมทั้งมีการสร้างรัฐปาเลสไตน์เสียก่อน

 

ด้วยเหตุนี้การที่อิสราเอลประกาศเดินหน้าผนวกดินแดนเวสต์แบงก์ อันเป็นดินแดนที่เหลืออยู่น้อยนิดและคาดว่าจะเป็นรัฐปาเลสไตน์ในอนาคต จึงเท่ากับเป็นการทำลายแนวทางแก้ปัญหาที่เรียกว่า ‘Two States Solution’ หรือการดำรงอยู่ของ 2 รัฐเคียงคู่กัน อันเป็นแนวทางที่ประชาคมระหว่างประเทศให้การยอมรับ ภายใต้สภาพการณ์เช่นนี้สันติภาพเหนือดินแดนปาเลสไตน์จะเกิดขึ้นได้อย่างไร

 

  1. ข้อตกลงที่สร้างตะวันออกกลางให้เป็นภูมิภาคทางการทหาร

ที่ผ่านมาก่อนจะมีการทำข้อตกลงสันติภาพระหว่างกัน สหรัฐฯ ได้ให้คำมั่นกับพันธมิตรหลักของตนว่าอิสราเอลจะมีแสนยานุภาพทางทหารที่เหนือชั้น (Qualitative Military Edge) กว่าประเทศเพื่อนบ้านในตะวันออกกลาง พร้อมทั้งจำกัดการขายอาวุธทันสมัยให้แก่ UAE และบาห์เรน แต่ในเมื่อปัจจุบันอิสราเอลได้ลงนามปรับความสัมพันธ์กับทั้ง 2 ประเทศเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ข้อจำกัดดังกล่าวก็คงต้องผ่อนปรนตามไปด้วย อันเป็นการเปิดทางให้บริษัทของสหรัฐฯสามารถขยายตลาดเพิ่มการขายอาวุธได้มากขึ้น ทั้งนี้ ทันทีที่มีการทำข้อตกลงปรับความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลกับ UAE ประธานาธิบดีทรัมป์ก็ออกมาประกาศว่าสหรัฐฯ พร้อมที่จะขายเครื่องบินขับไล่ F-35 ให้ UAE และเต็มใจจะขายระบบอาวุธยุทโธปกรณ์ของสหรัฐฯ แบบเดียวกับที่อิสราเอลมีให้แก่ประเทศอื่นๆ ในตะวันออกกลาง เพราะประเทศเหล่านี้ส่วนใหญ่ร่ำรวยมาก การขายอาวุธจึงเป็นผลดีต่อสหรัฐฯ (อ่านเพิ่มเติม Joe Gould. ‘Trump: ‘No problem’ selling F-35 jets to UAE’. DefenseNews’ August 20, 2020. https://www.defensenews.com/congress/2020/09/15/trump-no-problem-selling-f-35-to-uae)

 

อันที่จริงก่อนหน้าที่จะมีการลงนามในข้อตกลงระหว่างกัน บริษัทสำคัญๆ ของอิสราเอลก็ได้เข้าไปทำธุรกิจใน UAE แล้ว โดยเฉพาะบริษัทด้านอุตสาหกรรมความมั่นคงรายใหญ่ที่สุดของอิสราเอลอย่างบริษัท Israel Aerospace Industries (IAI) และบริษัท Elbit Systems ที่ได้เข้ามาดูแลระบบซ่อมบำรุงให้เครื่องบินขับไล่ F-16 ของ UAE อีกทั้งยังขายอาวุธยุทโธปกรณ์อื่นๆ ให้กับรัฐอาหรับแห่งนี้ 

 

นอกจากนี้ยังมีบริษัทอื่นๆ ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอิสราเอล ได้ขายอาวุธและสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคงกับรัฐอาหรับอื่นๆ ในอ่าวเปอร์เซีย ลักษณะเช่นนี้จึงคาดเดาได้ว่าหลังจากมีการลงนามในข้อตกลงอย่างเป็นทางการ ธุรกิจการขายอาวุธและการประสานงานด้านความมั่นคงระหว่างอิสราเอลกับรัฐอาหรับจะมีความเข้มข้นและเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น

 

เรื่องอย่างนี้ย่อมสร้างผลประโยชน์ให้กับบริษัทค้าอาวุธในตะวันออกกลางแน่นอน แต่คงไม่เป็นผลดีต่อสันติภาพในภูมิภาค เพราะวิกฤตสงครามและความรุนแรงจากปัญหาการสะสมและแพร่กระจายของอาวุธเป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้ตะวันออกกลางกลายเป็นภูมิภาคทางการทหารที่เกิดความรุนแรงและความตึงเครียดตลอดมา

 

  1. ข้อตกลงที่สร้างความแตกแยกแบ่งฝ่ายในตะวันออกกลาง

ในอดีตแนวคิดความเป็นหนึ่งเดียวของโลกอาหรับที่มีแกนกลางอยู่ที่ประเด็นปัญหาปาเลสไตน์ถือเป็นเรื่องที่สะท้อนอารมณ์ความรู้สึกของสาธารณชนชาวอาหรับได้เป็นอย่างดี เราจึงเห็นการปรับนโยบายต่างประเทศของรัฐอาหรับให้เป็นไปในแนวทางการต่อต้านรัฐอิสราเอล ขณะเดียวกันรัฐอาหรับก็ได้สร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับชาวปาเลสไตน์ เรียกได้ว่าประเด็นปัญหาปาเลสไตน์คือปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดความเป็นเอกภาพในหมู่ชาติอาหรับทั้งหลาย แต่ความพ่ายแพ้ของกองทัพอาหรับต่ออิสราเอลในสงคราม 6 วันปี 1967 นับเป็นจุดเริ่มต้นของความเสื่อมคลายในกระแสชาตินิยมอาหรับ ตลอดจนเหตุการณ์หลายอย่างที่ตามมาภายหลัง ไม่ว่าจะเป็นการที่อียิปต์และจอร์แดนได้ลงนามทำข้อตกลงสันติภาพกับอิสราเอล และสงครามอ่าวเปอร์เซียครั้งแรกในปี 1990 ทั้งหมดล้วนเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงความล้มเหลวและการไม่ยึดมั่นต่อหลักการความเป็นเอกภาพอาหรับในหมู่รัฐต่างๆ

 

พัฒนาการเช่นนี้ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องจนโลกเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ซึ่งหลายรัฐอาหรับมิได้มองอิสราเอลว่าเป็นศัตรูตัวฉกาจอีกต่อไป ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือตอนที่อิสราเอลได้เข้ามาทำสงครามในเลบานอนเมื่อปี 2006 แทนที่รัฐอาหรับจะออกมาประณามอิสราเอลเหมือนแต่ก่อน กลับปรากฏว่า อียิปต์ จอร์แดน และซาอุดีอาระเบีย ได้กล่าวโทษกลุ่มฮิซบุลลอฮ์แห่งเลบานอนว่าเป็นต้นเหตุของสงคราม

 

อีกกรณีหนึ่งคือเมื่ออิสราเอลได้เข้ามาถล่มโจมตีหรือทำสงครามอย่างน้อย 3 ครั้งในฉนวนกาซ่าที่ถูกปิดล้อมมานานเป็นสิบๆ ปี อันส่งผลให้ชาวปาเลสไตน์ที่อยู่แออัดในพื้นที่แคบๆ ล้มตายและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก รัฐอาหรับอย่างอียิปต์และซาอุดีอาระเบียกลับกล่าวอ้างว่าฝ่ายฮามาสที่ลุกขึ้นทำศึกกับอิสราเอลต่างหากที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือของอิหร่าน โดยรัฐอาหรับไม่เคยออกมาตำหนิกล่าวโทษอิสราเอลเลยแม้แต่น้อย

 

แต่ในอีกด้านหนึ่ง นับตั้งแต่หลังสงคราม 6 วันระหว่างอาหรับกับอิสราเอลก็เกิดการก่อรูปรวมตัวระหว่างตัวแสดงที่เป็นรัฐและตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ เรียกตัวเองใหม่ว่าเป็นขบวนการต่อต้านการยึดครองของอิสราเอลเหนือดินแดนปาเลสไตน์ (Resistance Axis) แต่ฝ่ายมหาอำนาจตะวันตกมักเรียกพวกนี้ว่า ‘กลุ่มสุดโต่ง’ หรือ ‘รัฐสุดโต่ง’ อันประกอบไปด้วยอิหร่าน ซีเรีย กลุ่มฮิซบุลลอฮ์ กลุ่มฮามาส และอิสลามิกญิฮาด เป็นต้น หลังปรากฏการณ์อาหรับสปริง ความแตกแยกของระบบรัฐในโลกอาหรับและสำนึกในความเป็นเอกภาพของอาหรับที่ลดน้อยลงไปได้ปรากฏขึ้นอย่างต่อเนื่อง เห็นได้ชัดจากกรณีสงครามกลางเมืองซีเรีย และวิกฤตความสัมพันธ์ระหว่างซาอุดีอาระเบียกับกาตาร์ในปี 2017

 

ส่วนประเด็นปัญหาความขัดแย้งระหว่างอาหรับกับอิสราเอล หรือหากกล่าวให้ตรงจุดคือประเด็นปัญหาปาเลสไตน์ ซึ่งเคยเป็นปัญหาร่วมที่โลกอาหรับให้ความสำคัญมากที่สุดตลอดช่วงเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา กลับสูญเสียสถานะความสำคัญในการเมืองของตะวันออกกลางลงไป ประเด็นปัญหาปาเลสไตน์กลับเป็นปัจจัยสร้างความแตกแยกในหมู่รัฐอาหรับเสียเอง ดังจะเห็นได้ว่าหลายรัฐอาหรับต้องการปรับความสัมพันธ์กับอิสราเอลและไม่แยแสต่อชะตากรรมของชาวปาเลสไตน์ แต่ก็มีหลายรัฐอาหรับที่ยังพร้อมเดินเคียงข้างปาเลสไตน์และไม่ยอมปรับสัมพันธ์กับอิสราเอล 

 

ถึงอย่างนั้น ก็ใช่ว่าประเด็นปัญหาปาเลสไตน์จะถูกละเลยในการเมืองของตะวันออกกลางไปเสียทีเดียว Morten Valbjorn และ Andre Bank ได้ตั้งข้อสังเกตเอาไว้อย่างน่าสนใจว่าประเด็นปัญหาร่วมของโลกอาหรับ (โดยเฉพาะปัญหาปาเลสไตน์) ยังคงมีผลต่อผู้นำในรัฐอาหรับ ทั้งนี้ก็เนื่องจากเหตุผลหลายประการด้วยกัน ประการแรกคือการที่รัฐในตะวันออกกลางที่ไม่ใช่อาหรับ (อย่างอิหร่านและตุรกี) ได้เข้ามามีบทบาทในการเมืองของโลกอาหรับ โดยแสดงตนเป็นเสมือนผู้ปกป้องชาวปาเลสไตน์อย่างแท้จริง (อ่านเพิ่มเติมได้ใน Morten Valbjorn & Andre Bank. (2012). ‘The New Arab Cold War: Rediscovering the Arab Dimension of Middle East Regional Politics’. Review of International Studies. Vol. 38, No. 1 (January). p. 3-24 https://pure.au.dk/portal/files/39717123/Valbjorn_Bank_RIS_first_view.pdf)

 

ประการที่ 2 คือการที่กลุ่มตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐอย่างฮามาสและฮิซบุลลอฮ์ก็ออกมาประกาศตนที่จะต่อสู้เพื่อปลดปล่อยชาวปาเลสไตน์จากการกดขี่ของอิสราเอล 

 

ประการที่ 3 คือการขับเคลื่อนประเด็นการเมืองของโลกอาหรับไม่ได้ขึ้นอยู่กับแนวคิดการรวมอาหรับ (Pan-Arabism) เหมือนในอดีตช่วงยุคทศวรรษที่ 1950 และ 1960 อีกต่อไป แต่มาวันนี้การเมืองของโลกอาหรับกลับขับเคลื่อนโดยกลุ่มอุดมการณ์ที่นิยมแนวทางอิสลาม (Islamism) ซึ่งมีแนวทางความคิดที่ต่างจากพวกสังคมนิยมอาหรับ หรือพวกชาตินิยมอาหรับอย่างสิ้นเชิง

 

ลักษณะเช่นนี้ส่งผลให้การทำข้อตกลงปรับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐอาหรับกับอิสราเอลนอกจากจะทำให้รัฐอาหรับแตกแยกขัดแย้งกันเองแล้ว ยังจะทำให้เกิดความตึงเครียดและการเผชิญหน้ากันมากยิ่งขึ้นระหว่างรัฐอาหรับที่เป็นพันธมิตรอิสราเอลกับรัฐที่ไม่ใช่อาหรับแต่เป็นประเทศมุสลิมในตะวันออกกลาง (ทั้งอิหร่านและตุรกี) ที่สนับสนุนปาเลสไตน์ และต่อต้านนโยบายของอิสราเอลในตะวันออกกลาง

 

ด้วยเหตุผลทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้น ‘ข้อตกลงสันติภาพ’ ที่มีการลงนามกันระหว่างรัฐอาหรับกับอิสราเอลจึงไม่ได้ก่อให้เกิดสันติภาพในตะวันออกกลางอย่างแท้จริง ทว่าอาจเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดสภาวะไร้สันติภาพ หรืออาจกล่าวว่าเป็น ‘ข้อตกลงสันติภาพ’ ที่ส่งผลให้เกิดการทำลายสันติภาพด้านอื่นๆ ที่เหลือทั้งหมดของตะวันออกกลาง

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising