×

‘อเบอร์ดีน’ มองวิกฤตหนี้อสังหายังกดดันเศรษฐกิจจีนหนัก แต่เชื่อภาคส่วนอื่นๆ เติบโตได้ พร้อมย้ำไม่ควรมองข้ามตลาดทุนเบอร์ 2 ของโลก

31.08.2022
  • LOADING...
อเบอร์ดีน

‘อเบอร์ดีน เอเชีย แปซิฟิค’ คาดการณ์ว่าในปีหน้ารัฐบาลจีนจะผ่อนคลายนโยบาย Zero COVID และลดแรงกดดันในการจัดระเบียบภาคธุรกิจต่างๆ เพื่อผลักดันการเติบโตของ GDP หลังจากที่ปีนี้ GDP จีนเติบโตไม่ถึงเป้า 5.5% พร้อมแนะลุยหุ้นจีนขนาดกลาง-เล็กใน 4 กลุ่มอุตสาหกรรมที่จะได้รับประโยชน์จากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจระยะยาว 

 

รายการ WEALTH IN DEPTH เมื่อวันอังคารที่ 30 สิงหาคมที่ผ่านมา ได้พูดคยกับ เรเน่ บิวล์แมนน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก abrdn ในหัวข้อ วิกฤตหนี้อสังหา ฝันร้ายที่ยังไม่จบ ส่อง ‘ตลาดหุ้นจีน’ เอาอย่างไรต่อดี? 

 

บิวล์แมนน์กล่าวว่า ความท้าทายทางด้านเศรษฐกิจของจีนในปีนี้ยังมีอยู่อีกมาก จึงประเมินว่า GDP ของจีนในปีนี้ไม่น่าจะเติบโตถึงระดับ 5.5% ตามเป้าหมายของรัฐบาล ซึ่งหลายสำนักวิจัยเศรษฐกิจต่างเห็นในไปทิศทางเดียวกันและได้ลดประมาณการ GDP ของจีนในปีนี้ลดลง ส่วนของ abrdn นั้น ได้รับลดประมาณการ GDP จีนในปีนี้ลงมาเป็น 3-3.5% 

 

โดยแรงขับเคลื่อน GDP ในปีนี้ยังมาจากฝั่งการบริโภคภายในประเทศ หลังจากที่หลายเมืองในประเทศเริ่มฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิดทำให้กำลังซื้อเริ่มเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ปัจจัยกดดันหรือความท้าทายหลักๆ ยังมาจากวิกฤตหนี้อสังหาริมทรัพย์ ซึ่งลากยาวมาตั้งแต่ปีที่แล้ว และส่งผลกระทบถึงหลายภาคส่วน 

 

บิวล์แมนน์กล่าวว่า ภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนนั้นมีขนาดใหญ่ คิดเป็น 20-30% ของ GDP ดังนั้นเมื่อเกิดวิกฤตขึ้นจึงส่งผลกระทบต่อ GDP อย่างมีนัยสำคัญ และแม้ที่ผ่านมาทางการจีนจะเข้ามาแก้ปัญหาเพื่อบรรเทาความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับภาคประชาชน แต่ก็ต้องยอมรับว่าแก้ไขปัญหาได้เพียงบางจุดเท่านั้น 

 

เขากล่าวว่า ตอนนี้เรียกได้ว่าภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนอยู่ท่ามกลางวิกฤต โดยวิกฤตแรกคือวิกฤตความเชื่อมั่น และวิกฤตที่สองคือวิกฤตสภาพคล่อง ซึ่งคำถามก็คือ ทางการจีนจะเข้ามาช่วยสนับสนุนอย่างไรบ้าง

 

“ตอนนี้ต้องบอกว่ายังไกลเกินจะบอกว่าวิกฤตนี้ได้รับการแก้ปัญหา แม้ว่าทางการจะมีการเข้ามาช่วยเหลือ เช่น การลดอัตราดอกเบี้ย การกระตุ้นให้ธนาคารอัดฉีดสภาพคล่องหรือปล่อยกู้เข้าสู่ระบบ เพื่อให้บริษัทอสังหามีเงินทุนหมุนเวียน และเพื่อไม่ให้ปัญหาลุกลามไปสู่ฝั่งผู้บริโภค เพราะทางการไม่อยากเห็นความวุ่นวายในสังคมจะเรียกว่าวิกฤติครั้งนี้ Too Big Too Fail ก็ได้” บิวล์แมนน์กล่าว 

 

เขากล่าวเพิ่มว่า ในระยะสั้น ยังคงมองว่าภาคอสังหาของจีนค่อนข้างอ่อนแอ โดยยอดขายปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และอาจจะลุกลามไปสู่ภาคธนาคาร โดยเฉพาะผู้ที่ปล่อยกู้ให้กับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ขณะเดียวกัน ประเมินว่าแนวโน้มการผิดนัดชำระหนี้ (Default) ของภาคอสังหานั้นยังคงมีอยู่ ฉะนั้น ตอนนี้จึงยังไม่ใช่เวลาลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ เพราะสถานการณ์เปลี่ยนตลอดเวลา และยังห่างไกลจากการได้รับการแก้ไข

 

อย่างไรก็ตาม บิวล์แมนน์เชื่อว่าแม้วิกฤตหนี้อสังหาจะกดดันเศรษฐกิจอย่างหนัก แต่ในภาคส่วนอื่นๆ ของจีนก็ยังเติบโตได้และจะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ดีในระยะยาว 

 

สำหรับแนวโน้มปี 2566 บิวล์แมนน์เชื่อว่า จีนจะผ่อนคลายนโยบาย Zero COVID เพื่อกระตุ้นให้การบริโภคภายในประเทศเติบโตขึ้น รวมถึงการจัดระเบียบธุรกิจต่างๆ ที่สร้างความปั่นป่วนในหลายอุตสาหกรรมก็จะเริ่มลดแรงกดดันลงในปี 2566 เช่นกัน 

 

“เรื่อง Regulatory Risk น่าจะลดแรงกดดันไปพอสมควรในปีหน้า แต่ก็อยากให้มองในมุมว่าการจัดระเบียบในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมต่างๆ เป็นการลดการผูกขาดของผู้เล่นรายใหญ่ และเพิ่มการแข่งขัน ซึ่งเป็นโอกาสำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก” บิวล์แมนน์กล่าว 

 

นอกจากผ่อนคลายนโยบายเชิงสังคมแล้ว บิวล์แมนน์เชื่อว่า จีนจะยังใช้นโยบายการเงินเชิงผ่อนคลายไปเรื่อยๆ จนกว่าสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจของจีนจะลงตัว หรือคลี่คลายในทิศทางที่ดีขึ้น แม้ว่าจะเป็นนโยบายการเงินที่สวนทางกับประเทศใหญ่ๆ ทั่วโลกก็ตาม 

 

บิวล์แมนน์กล่าวถึงมุมมองต่อการลงทุนในจีนว่า แม้ว่าการลงทุนในจีนจะมีความท้าทาย แต่หากประเมินจากตัวชี้วัดหลายๆ ส่วน ก็พบว่ามีความน่าสนใจในการลงทุนโดยเฉพาะการลงทุนในตลาดหุ้น ทั้งนี้ อุตสาหกรรมที่น่าสนใจเข้าลงทุนคืออุตสาหกรรมที่จะได้รับอานิสงส์จากนโยบายระยะยาวของจีน ดังนี้ 

 

  1. กลุ่มที่ได้อานิสงส์จากกำลังซื้อในประเทศที่ฟื้นตัว โดยเฉพาะสินค้าหรูต่างๆ ที่จะมีการเติบโตขึ้นตามความมั่งคั่งของชาวจีน 

 

  1. กลุ่มที่ได้อานิสงส์จากนโยบาย Green ของจีน เช่นธุรกิจ Low Carbon และ Green Technology โดยปัจจุบันนี้ จีนนับว่าเป็นผู้เล่นรายใหญ่มากๆ ในตลาด Green ระดับโลก เช่น 90% ของตลาดโซลาร์และอุปกรณ์เกี่ยวเนื่องอยู่ที่จีน, 75% ของตลาดแบตเตอรี่อยู่ที่จีน ดังนั้น ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับนโยบายนี้จึงสามารถคาดหวังได้ว่าจะมีการเติบโตที่แข็งแกร่งไปด้วย 

 

  1. กลุ่มธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับสุขภาพ เพราะคนจีนมั่งคั่งขึ้นก็ย่อมมองหาการดูแลสุขภาพของตัวเองให้ดียิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน ข้อมูลเชิงประชากรศาสตร์ยังระบุว่าอายุเฉลี่ยคนจีนจะเพิ่มขึ้นเป็น 46 ปีภายในปี 2050 จากอายุเฉลี่ยปัจจุบันอยู่ที่ 38 ปี 

 

  1. กลุ่มเทคโนโลยีที่สอดรับกับนโยบายพึ่งพาเทคโนโลยีของตนเอง โดยตอนนี้จีนนำเข้าเซมิคอนดักเตอร์ราว 3 แสนล้านดอลลาร์ต่อปี เพื่อพัฒนาด้านสินค้าและบริการด้านเทคโนโลยี ซึ่งดีมานด์ตรงนี้ถือว่ามหาศาล 

 

“แม้ตลาดหุ้นจีนจะมีความท้าทายอยู่อีกมาก แต่ด้วยความที่ตลาดหุ้นจีนเป็นตลาดทุนที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก นักลงทุนจึงควรมองหาโอกาสเข้าลงทุนในหุ้นจีน โดยที่ผ่านมาอาจจะมุ่งมองเพียงหุ้นขนาดใหญ่ แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือ 88% ของหุ้นจีน เป็นหุ้นขนาดกลางและเล็ก ซึ่งจะเป็นกลุ่มที่ได้อานิสงส์จากการจัดระเบียบภาคธุรกิจต่างๆ ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา” 

 

สำหรับการลงทุนในตราสารหนี้นั้นยังคงเฝ้าระวังอยู่ เนื่องจากอาจจะมีความเสี่ยงเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ทั้งนี้ แนะนำให้ลงทุนพันธบัตรรัฐบาลเป็นหลัก เนื่องจากมีความเสี่ยงต่ำกว่า โดยเน้นตราสารระยะยาว 

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising