×

“มิวมันคงไม่หยุดแค่โต้งหรอก” 10 ปี ‘รักแห่งสยาม’ ในทัศนะ และละครเวทีเรื่องใหม่ของ ‘พิช วิชญ์วิสิฐ’

12.11.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins read
  • ‘Private Conversation: A Farewell To Love of Siam’ คือละครเวที Solo Performance ที่ ‘พิช-วิชญ์วิสิฐ หิรัญวงษ์กุล’ บอกกับเราว่านี่คือการ ‘ทิ้งทวน’ ครั้งสุดท้ายหลังจากทุกคนติดภาพจำของเขาจากบท ‘มิว’ หนุ่มมัธยมขี้เหงามาตลอดทศวรรษ
  • แวบแรกที่พิชได้ยินโปรดิวเซอร์ของเขาบอกว่า “ทำอะไรเกี่ยวกับ รักแห่งสยาม กันเถอะ” เขาตอบทันควันว่า “เบื่อ” เพราะหากินกับชื่อนี้มานานแล้ว
  • “มิวมันคงไม่หยุดแค่โต้งหรอก” คือทัศนะของพิชหลังจากถูกถามถึงความเป็นไปของมิวในปี 2560 ซึ่งทำเอาผู้สัมภาษณ์และผู้ให้สัมภาษณ์หัวเราะลั่นออกมาจนเสียจริต

     สารภาพตรงๆ ว่าตื่นเต้นมากหลังจากที่ได้เห็นภาพโปสเตอร์ละครเวที ‘Private Conversation: A Farewell To Love of Siam’ ที่เป็นภาพมือถือจมูกตุ๊กตาไม้สีแดงในตำนานจาก ‘รักแห่งสยาม’ หนังดราม่า-คัมมิ่งออฟเอจที่ออกฉายครบรอบ 10 ปีเต็มในปีนี้ ผลงานการกำกับของ มะเดี่ยว-ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล ซึ่งหลังจากออกฉาย หนังก็ขึ้นแท่นเป็นหนังในดวงใจของแฟนหนังจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว

     ที่เราบอกว่าตื่นเต้นนั่นก็เพราะว่า หนึ่ง รักแห่งสยาม เป็นหนังไทยที่เรารักมากๆ เรื่องหนึ่ง และสอง การแสดงครั้งนี้จะเป็นการกลับไปทบทวนความทรงจำของผู้ชมและหนังรักเรื่องดังกล่าว หากแต่จะออกมาในรูปแบบของละครเวที Solo Performance ที่มีหนึ่งในนักแสดงนำของเรื่องอย่าง พิช-วิชญ์วิสิฐ หิรัญวงษ์กุล รับบทเล่นเดี่ยวคนเดียวแบบไม่มีผู้ใดมากวนใจ การแสดงที่พิชบอกกับเราว่านี่คือการ ‘ทิ้งทวน’ ครั้งสุดท้ายหลังจากทุกคนติดภาพจำของเขาจากบท ‘มิว’ หนุ่มมัธยมขี้เหงามาตลอดทศวรรษ

 

 

     THE STANDARD ได้รับเกียรติจากพิชในวันที่เขาเปิดห้องซ้อมละครเวทีเรื่องล่าสุดของเขาให้เราได้ไปนั่งชมและสัมภาษณ์แบบเอ็กซ์คลูซีฟที่สุด และเรากลับพบว่าขณะกำลังซ้อม เรารู้สึกเหมือนพิชกำลังคุยกับแม่ซื้อ… ซึ่งนั่นก็เพราะเขาเล่นคนเดียวจริงๆ! เราถือโอกาสพูดคุยกับพิชในวันที่ชีวิตผ่านร้อนผ่านหนาวมา 10 ปี เราคุยกับเขาไม่ใช่แค่ในฐานะของนักแสดงคนหนึ่ง แต่ในฐานะของคนที่ผ่านผลงานและบทบาทมาหลากหลาย…

     และสิ่งที่คุณจะได้อ่านต่อไปนี้คือถ้อยความสารภาพของคนที่มีตัวละคร ‘มิว’ เป็นชนักติดหลังมาตลอดระยะเวลาที่คนในสังคมรู้จักเขาในชื่อ พิช-วิชญ์วิสิฐ หิรัญวงษ์กุล

 

 

“ตลอดเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ถ้าถามเราเหรอ… เราขอใช้ความเป็นพิชในความเป็นคนที่ทำงานที่ชื่อพิชพูดถึงมันก็แล้วกัน”

     ผมเริ่มถามพิชถึงมุมมองของคำ 4 คำ รัก โลภ โกรธ หลง ว่าตลอดระยะเวลาที่ใช้ชีวิตอยู่ในวงการนี้มา ไอ้คำ 4 คำนี้มันมีบทบาทในชีวิตของพิชอย่างไรบ้าง? พิชนิ่งคิดไปสักครู่ก่อนจะค่อยๆ ทำท่าทีสบายๆ นั่งคุยกับเรา

     “ความโกรธเหรอ ก็มีบ้าง เรารู้สึกอึดอัด เพราะเราไม่สามารถไปตบใครกลางตลาดได้ ไม่สามารถไปวีนใคร ทึ้งหัวเป็นกิ๊ก สุวัจนี เราไม่สามารถทำได้ (หัวเราะ) ซึ่งจริงๆ เราก็ไม่ใช่คนแบบนั้นอยู่แล้ว จริงๆ มิวมันมีผลกระทบทางอ้อมนะ เพราะมันทำให้เราเป็นที่รู้จักและเส้นทางการเดินทางต่อมาอะไรต่างๆ ก็ทำให้เราต้องทำในแบบที่ควรจะทำ

     “ส่วนเรื่องความโลภหรอ มันเคยมีห้วงหนึ่งที่เรารู้สึกว่า พอแล้วกับทุกอย่าง ไม่ใช่รู้สึกอยากได้ แต่มันเป็นความรู้สึกว่าเราไปเอาของคนอื่นมาเยอะแล้ว เป็นความรู้สึกแบบนี้มากกว่า เพราะทุกอย่างที่เราได้มันเกินกว่าที่เราคิดไว้เยอะมาก จนเราไม่รู้จะจัดการกับมันยังไง มันเป็นเหมือนทุกขลาภ (หัวเราะ) เข้าใจไหม?”

 

“แล้วอย่างเรื่องความหลงล่ะ พิชเคยหลงทาง ลุ่มหลง หรือหลงผิดอะไรไปบ้างหรือไม่” ผมถามพิช

     “เราไม่ค่อยลุ่มหลงกับอะไรนะ แต่ถ้าให้พูดถึงคงเป็นในแง่ของการหลงทางมากกว่า เช่น เรารู้สึกว่าเรากำลังติดอยู่ในคาแรกเตอร์แบบนี้หรือเปล่า เราจะต้องเป็นแบบนี้ไปตลอดเลยเหรอ มันไม่ใช่ความหลงมัวเมา เป็นความหลงแบบหลงทาง

     “แต่อย่างเรื่องความรัก กระทบนะ เพราะเราอยู่ในแสงไฟ เรามีกรอบบางอย่าง เราจะชอบคนที่ไม่รู้จักเรา เพราะอยากให้เราสองคนเป็นศูนย์เท่ากัน ไม่ชอบให้คนที่มีคอนเซปต์อะไรเกี่ยวกับเรามาก่อนแล้วมาคุยกับเรา เพราะนั่นคือเราไม่รู้จักเขาเลย”

 

 

“ละครเวทีเรื่องนี้ที่ตั้งโจทย์ว่าอยากจะทิ้งทวนความเป็น ‘มิว’ คือการอยากจะบอกว่า ‘พิช’ ถึงเวลาต้องก้าวต่อไปแล้ว?” ผมถามพิชถึงโปรเจกต์ล่าสุดกับ Solo Performance ที่ตั้งโจทย์ง่ายๆ ว่า ‘ครบรอบ 10 ปี รักแห่งสยาม

     “จุดเริ่มต้นของละครเรื่องนี้ มีเพื่อนคนหนึ่งชักชวนให้ไปร่วมทำงานที่ Freeform Festival เราก็เลยเอาเรื่องนี้ไปบอกกับพี่ณฐ (ณฐ ทองศรีพงศ์ โปรดิวเซอร์ของละครเรื่องนี้) ว่ามันมีกิจกรรมฟรีฟอร์มอันนี้นะ เราไปทำอันนี้กันเถอะ คุยกันไปมา พี่ณฐก็เสนอว่าอยากให้ทำอะไรเกี่ยวกับ รักแห่งสยาม

 

“แวบแรกที่ได้ยินว่า ‘ทำอะไรเกี่ยวกับ รักแห่งสยาม’ พิชรู้สึกอย่างไร” ผมถามคั่น

     “เบื่อ เราก็เบื่อแล้วอะจริงๆ (หัวเราะ) หากินกับชื่อนี้มานานแล้วอะ เราไม่อยากทำแล้ว ไปทำอย่างอื่นกันเถอะ แต่ก็มีแวบหนึ่งขึ้นมาว่า เฮ้ยมันครบรอบ 10 ปีแล้วนี่ และถ้าเกิดพิชจะทำ พิชจะทำทิ้งทวน พิชจะถามตัวเองในฐานะมิวว่ามันไปเจออะไรมาบ้าง อะไรประมาณนี้

     “เราก็เลยดีไซน์มิวว่า 10 ปีที่ผ่านมามันจะเป็นยังไงบ้าง แต่เราไม่ได้คิดแทนมิว เพราะตัวละครมิวมันจะมีเงื่อนไขของมัน มันจะรู้เท่าที่มันรู้ เรารู้สึกว่าพอหนังมันจบ ตัวละครมันก็จะอยู่ตรงนั้นของมันไป เขาจะไม่รู้อะไรมากกว่านั้น ซึ่งในโชว์จะมีเงื่อนไขของมันว่ามันทำอันนี้ได้ ทำอันนี้ไม่ได้ มีตัวตนของใครหลายๆ คนอยู่ในนั้น”

 

 

“แล้วถ้าในความคิดของพิชเองที่ไม่เกี่ยวกับละครเวที พิชว่ามิวจะเป็นอย่างไรในวันนี้” ผมถามพิชถึงความคิดเห็นส่วนตัวของเขาต่อตัวละครแจ้งเกิดของเขา

     “ถ้ามิวอยู่ในปี 2560 เหรอ มิวมันคงไม่หยุดแค่โต้งหรอก (หัวเราะ)”

จบคำตอบนั้นผมหัวเราะลั่นออกมา เพราะมันคล้ายๆ กับคำตอบที่ผมเคยแอบคิดไว้นานมากแล้ว ขณะตั้งคำถามถึงความเป็นไปของตัวละคร

     “เอาจริงๆ คงจะแรดเหมือนกัน (หัวเราะ) มันก็ไม่ใช่คนหน้าตาขี้ริ้วขี้เหร่นะ”

 

 

“ดูเหมือนชีวิตที่ผ่านมา 10 ปี พิชทำอะไรเยอะมาก ซึ่งเป็นช่วงเวลาของการค้นหาตัวเองไปพร้อมๆ กันด้วยหรือไม่ จากวัย 18 ถึง 28”

     ผมถามพิชถึงบทบาทที่ผ่านมาของเขา ผมอยากทบทวนให้คุณได้รู้ว่า เขาทำงานแทบจะทุกอย่างในวงการบันเทิงนี้แบบ 360 องศามาแล้ว ทั้งเล่นหนัง เล่นละคร ร้องเพลง ทำอัลบั้ม แต่งเพลง หรือแม้แต่เป็นนักเขียน ซึ่งต้องยอมรับว่าพิชเป็นคนเขียนหนังสือสนุกมากคนหนึ่ง

     “ทั้งหมดที่เราทำ เราแค่คิดว่ามันอาจจะมีอะไรที่เราทำแล้วสนุกและทำได้ดีกว่านี้ก็ได้ เราอยากแบ่งช่วงชีวิตที่ผ่านมาเป็น Pre-25 กับ Post-25 อย่างช่วงก่อน 25 ก็ตั้งแต่หนัง รักแห่งสยาม ตั้งแต่ตอนนั้นเหมือนเราถูกผลักดันจากอะไรก็ตามที่เราไม่ได้เลือก มีโอกาสหล่นใส่เราเสมอๆ มีอะไรมาให้ลองทำ แล้วเราก็เป็นคนแบบ Yes Man (หัวเราะ) ก็ลองดูไม่เสียหาย อย่างน้อยทำแล้วไม่เวิร์ก จะได้รู้ว่ามันไม่ดี”

 

“ซึ่งค่อนข้างแตกต่างจากวัยหลัง 25 มากน้อยแค่ไหน” ผมถาม

     “พอหลัง 25 เราตระหนักได้ว่าการรับงานทุกอย่างมันส่งผลกระทบกับชีวิต การไม่เลือกแล้วมันไม่ดี เราเริ่มมองเห็นแล้วว่าอันนี้เหมาะกับเรา อันนั้นไม่เหมาะกับเรา เริ่มมองเห็นน้ำหนักของสิ่งต่างๆ รอบตัว และเริ่มชัดเจนทางของตัวเองมากขึ้น ที่ผ่านมาเราปล่อยให้คนอื่นผลักดันเราเกินไป ถึงเวลาที่เราต้องพาตัวเองไปต่อได้แล้ว”

 

 

“ถ้าวันนั้นไม่ได้เป็นมิว วันนี้พิชจะทำอะไรอยู่” ผมถามคำถามสุดท้ายทิ้งไว้ให้พิชตอบเพื่อทบทวนระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมาของเขาอีกครั้ง

     “สมมติไม่รับ เราก็คงเรียนอยู่แมสคอมที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำงานอยู่กรมประชาสัมพันธ์ มันจะมีอะไรไปได้มากกว่านั้นวะอยู่เชียงใหม่ในตอนนั้น เราคงอ่านข่าวต้นชั่วโมงอยู่ที่คลื่นวิทยุท้องถิ่นสักคลื่น หรือช่อง 11 (หัวเราะ)”

     พิชกลั้วหัวเราะตอบคำถามสุดท้ายซึ่งนั้นก็ช่างเป็นคาแรกเตอร์จริงๆ ที่ใครๆ ควรได้เห็นพิชในมุมแบบนี้ ในมุมของมนุษย์คนหนึ่งที่เก่งกาจมากพอที่จะกล้าลองทำอะไรหลายๆ อย่าง และผู้ชมก็ค้นพบว่าเขาทำได้ดี

     และวันนี้พิชแทบจะทิ้งความเป็นมิวในตัวไปจนหมดสิ้นแล้ว

 

 

Photo: ณฐ ทองศรีพงษ์

FYI
  • ‘Private Conversation: A Farewell To Love of Siam จัดแสดงทั้งหมด 9 รอบ ตั้งแต่วันที่ 17 พฤศจิกายน ถึง 3 ธันวาคม 2560 ภายในงาน Free Form Festival 2017 ซึ่งจัดขึ้นที่ Acmen Ekamai อยู่ระหว่างซอยเอกมัย 13-15 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและจองบัตรได้ที่ www.ticketmelon.com/event/farewelltoloveofsiam
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X