×

Taklee Genesis สำรวจเบื้องหลังหนังไซไฟ-ผจญภัย จากวิสัยทัศน์ มะเดี่ยว ชูเกียรติ

11.09.2024
  • LOADING...
Taklee Genesis

HIGHLIGHTS

  • สัตว์ประหลาด, การเดินทางข้ามกาลเวลา, เทคโนโลยีสุดล้ำ, สงครามสุดตื่นตา หลากหลายองค์ประกอบเหนือจินตนาการที่เราได้เห็นในตัวอย่างเหล่านี้ และน่าจะเป็นหลักฐานที่ทำให้เราเห็นว่า Taklee Genesis คือผลงานกำกับภาพยนตร์ที่ทะเยอทะยานที่สุดครั้งหนึ่งของ มะเดี่ยว ชูเกียรติ หนึ่งในผู้กำกับระดับแถวหน้าของเมืองไทยที่เคยฝากผลงานเรื่องเยี่ยมมาแล้วมากมายทั้ง 13 เกมสยอง (2549), รักแห่งสยาม (2550) และ ดิว ไปด้วยกันนะ (2562)
  • สถานที่สำคัญซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวทั้งหมดคือ ค่ายรามสูร อดีตสถานีตรวจจับสัญญาณที่กองทัพสหรัฐฯ สร้างขึ้นในปี 2507 ณ จังหวัดอุดรธานี ที่มะเดี่ยวบังเอิญเดินทางไปพบ โดยมีจุดเด่นคือสถานีเรดาร์ร้างขนาดใหญ่ที่ใช้สำหรับติดต่อสื่อสารพร้อมด้วยเสาสัญญาณล้อมรอบมากถึง 48 ต้น อีกทั้งยังมีอุโมงค์ใต้ดินที่ยาวถึง 300 เมตร
  • ที่มาของชื่อ ตาคลี มาจากอำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ อีกหนึ่งสถานที่ที่กองทัพสหรัฐฯ ตั้งฐานทัพช่วงสงครามเวียดนาม และมีเรื่องเล่าชวนพิศวงอยู่เช่นกัน หนึ่งในนั้นคือเรื่องราวที่ว่า ฐานทัพในอำเภอตาคลีแห่งนี้อาจมีมนุษย์ต่างดาวอาศัยอยู่

เรียกได้ว่าเป็นผลงานที่ผู้ชมต่างตั้งตารอสำหรับ Taklee Genesis ภาพยนตร์ไซไฟ-ผจญภัยสุดทะเยอทะยานจากวิสัยทัศน์ของผู้กำกับอย่าง มะเดี่ยว-ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล ที่จะพาคนดูออกเดินทางท่องกาลเวลาไปพร้อมกับทีมนักแสดงนำอย่าง พอลล่า เทเลอร์, ปีเตอร์ คอร์ป ไดเรนดัล, วอร์-วนรัตน์ รัศมีรัตน์, ทราย เจริญปุระ, นีน่า-ณัฐชา เจสสิก้า พาโดวัน และแน่นอนว่า Taklee Genesis เต็มไปด้วยเบื้องหลังน่าสนใจที่อยากพาสำรวจก่อนภาพยนตร์จะเข้าฉายเป็นทางการวันที่ 12 กันยายนนี้ ในโรงภาพยนตร์ระบบปกติ และ IMAX

 

ออกเดินทางท่องกาลเวลาในจักรวาลอันไร้ขอบเขต

 

Taklee Genesis พาผู้ชมไปติดตามเรื่องราวของ สเตลล่า (พอลล่า เทเลอร์) คุณแม่เลี้ยงเดี่ยวที่รู้ข่าวจาก อิษฐ์ (ปีเตอร์ คอร์ป ไดเรนดัล) เพื่อนสมัยเด็กว่า แม่ของเธอกำลังป่วยหนัก เธอจึงต้องพา วาเลน (นีน่า-ณัฐชา เจสสิก้า พาโดวัน) ลูกสาวของเธอเดินทางกลับบ้านเกิดที่หมู่บ้านดอนหาย สถานที่ที่พ่อของเธอหายตัวไปอย่างลึกลับเมื่อ 30 ปีก่อน

 

แต่หลังจากถึงบ้านได้ไม่นาน สเตลล่าได้รับสัญญาณติดต่อจากพ่ออีกครั้งผ่านวิทยุสื่อสารเครื่องเก่า แถมยังพบว่าระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมาสำหรับพ่อของเธอเพิ่งผ่านไปเพียง 30 นาทีเท่านั้น เธอจึงตัดสินใจออกเดินทางไปที่ค่ายรามสูร ซึ่งกองทัพสหรัฐฯ สร้างสถานีสื่อสารขนาดใหญ่เอาไว้ช่วงสงครามเวียดนาม เธอมาที่ค่ายแห่งนี้เพื่อเปิดเครื่อง Taklee Genesis ที่ว่ากันว่าเป็นอุปกรณ์เดินทางด้วยความเร็วเหนือแสง และเริ่มต้นเดินทางข้ามกาลเวลาเพื่อช่วยเหลือพ่อของเธอ

 

 

Science Fiction และนิตยสารต่วย’ตูน พิเศษ ชิ้นส่วนสำคัญที่จุดประกายให้ มะเดี่ยว ชูเกียรติ สรรค์สร้างโปรเจกต์ Taklee Genesis

 

สัตว์ประหลาด, การเดินทางข้ามกาลเวลา, เทคโนโลยีสุดล้ำ, สงครามสุดตื่นตา หลากหลายองค์ประกอบเหนือจินตนาการที่เราได้เห็นในตัวอย่างเหล่านี้ และน่าจะเป็นหลักฐานที่ทำให้เราเห็นว่า Taklee Genesis คือผลงานกำกับภาพยนตร์ที่ทะเยอทะยานที่สุดครั้งหนึ่งของ มะเดี่ยว ชูเกียรติ หนึ่งในผู้กำกับระดับแถวหน้าของเมืองไทยที่เคยฝากผลงานเรื่องเยี่ยมมาแล้วมากมายทั้ง 13 เกมสยอง (2549), รักแห่งสยาม (2550) และ ดิว ไปด้วยกันนะ (2562)

 

คำถามที่ชวนให้อยากรู้คือ อะไรเป็นสิ่งจุดประกายให้มะเดี่ยวเริ่มต้นโปรเจกต์นี้

 

มะเดี่ยวเป็นอีกหนึ่งผู้กำกับและผู้ชมที่ชื่นชอบภาพยนตร์แนวไซไฟมาอย่างยาวนาน ซึ่งจุดประกายให้เขาเริ่มสนใจศึกษาเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์หลายแขนง ทั้งชีววิทยา มิติเวลา อวกาศ ไปจนถึงควอนตัมฟิสิกส์ที่มีปริศนามากมายให้นักวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันได้ศึกษาหาคำตอบ

 

 

หนึ่งในสื่อที่พามะเดี่ยวเข้าไปสำรวจเรื่องราวเหล่านี้คือนิตยสารต่วย’ตูน พิเศษ ซึ่งรวบรวมบทความเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ สัตว์ดึกดำบรรพ์ ประวัติศาสตร์ และเรื่องลี้ลับ ขณะเดียวกัน ความสนใจเหล่านี้ก็ชวนให้มะเดี่ยวเริ่มตั้งคำถามต่อสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัว และจินตนาการถึงเรื่องราวเหนือจินตนาการที่เป็นไปได้ไม่สิ้นสุด ซึ่งเขาก็ค่อยๆ เก็บเกี่ยวข้อมูลและจดบันทึกไอเดียต่างๆ ไว้ ด้วยความหวังว่าเขาจะได้หยิบถ้อยคำบนหน้ากระดาษเหล่านี้มาร้อยเรียงและถ่ายทอดสู่จอภาพยนตร์ในสักวัน

 

จนในที่สุด มะเดี่ยวก็กำลังพาผู้ชมออกเดินทางข้ามกาลเวลาใน Taklee Genesis ที่ถือเป็นผลงานครบรอบ 20 ปีในการกำกับภาพยนตร์ของมะเดี่ยว หลังจากภาพยนตร์เรื่องแรกของเขาอย่าง คน ผี ปีศาจ เข้าฉายในปี 2547

 

 

อำเภอตาคลีและค่ายรามสูร สถานที่เริ่มต้นของเรื่องราวทั้งหมด

 

สถานที่สำคัญซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวทั้งหมดคือ ค่ายรามสูร อดีตสถานีตรวจจับสัญญาณที่กองทัพสหรัฐฯ สร้างขึ้นในปี 2507 ณ จังหวัดอุดรธานี ที่มะเดี่ยวบังเอิญเดินทางไปพบ โดยมีจุดเด่นคือสถานีเรดาร์ร้างขนาดใหญ่ที่ใช้สำหรับติดต่อสื่อสารพร้อมด้วยเสาสัญญาณล้อมรอบมากถึง 48 ต้น อีกทั้งยังมีอุโมงค์ใต้ดินที่ยาวถึง 300 เมตร

 

มะเดี่ยวและทีมสร้างจึงเริ่มต้นค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่แห่งนี้เพิ่มเติม จนพบว่าที่นี่เป็นหนึ่งใน 7 สถานีตรวจจับสัญญาณของกองทัพสหรัฐฯ หรือ 7th Radio Research Field Station (7th RRFS) ซึ่งมีทั้งหมด 7 แห่งในโลก และยังถือเป็นสถานีที่ใหญ่ที่สุดในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อสงครามเวียดนามสิ้นสุด กองทัพสหรัฐฯ จึงขนย้ายกำลังพลและอุปกรณ์ทั้งหมดกลับไปและปล่อยให้ที่นี่เป็นสถานีร้าง ซึ่งด้วยการออกแบบสถานที่ที่ลึกลับแปลกตาจึงทำให้มีเรื่องเล่าขานมากมาย

 

 

ส่วนที่มาของชื่อ ตาคลี มาจากอำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ อีกหนึ่งสถานที่ที่กองทัพสหรัฐฯ ตั้งฐานทัพช่วงสงครามเวียดนาม และมีเรื่องเล่าชวนพิศวงอยู่เช่นกัน หนึ่งในนั้นคือเรื่องราวที่ว่า ฐานทัพในอำเภอตาคลีแห่งนี้อาจมีมนุษย์ต่างดาวอาศัยอยู่

 

ทั้งหมดนี้จุดประกายให้มะเดี่ยวเริ่มต้นสร้างโปรเจกต์ Taklee Genesis โดยเริ่มต้นจากคำถามที่ว่า “จะเกิดอะไรขึ้นหากมีการทดลองสร้างเครื่องที่สามารถควบคุมเวลาได้ในค่ายรามสูร” โดยใช้อ้างอิงข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และประวัติศาสตร์ที่มะเดี่ยวและทีมสร้างช่วยกันสืบค้น ก่อนจะแต่งแต้มจินตนาการจนนำมาสู่เรื่องราวการเดินทางข้ามกาลเวลานับล้านปี

 

 

เบื้องหลังงานสร้างที่ถูกออกแบบมาเพื่อระบบ IMAX โดยเฉพาะ

 

สำหรับทีมสร้างผู้อยู่เบื้องหลังงานวิชวลเอฟเฟกต์ที่น่าตื่นตาครั้งนี้คือ Fatcat Studios ที่อยู่เบื้องหลังงานวิชวลเอฟเฟกต์ในภาพยนตร์ไทยหลายเรื่อง อาทิ นาคี ๒ (2561) และ ขุนแผน ฟ้าฟื้น (2562) นอกจากนี้ภาพยนตร์ยังได้ เอกสิทธิ์ ไทยรัตน์ นักวาดการ์ตูนที่เคยร่วมงานกับมะเดี่ยวมาแล้วใน 13 เกมสยอง เขากลับมารับหน้าที่ออกแบบสัตว์ประหลาดที่ถือเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญของเรื่อง

 

และเพื่อให้ผู้ชมได้รับประสบการณ์ชมภาพยนตร์เรื่องนี้อย่างเต็มประสิทธิภาพมากที่สุด มะเดี่ยวและทีมสร้างจึงตัดสินใจถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้เพื่อรองรับในระบบ IMAX มาตั้งแต่ต้น ทั้งสัดส่วนภาพที่ใหญ่ขึ้นและการออกแบบมิติของเสียงเพื่อรองรับระบบเสียง Dolby Atmos เพื่อให้ผู้ชมได้สัมผัสกับงานภาพและงานเสียงได้อย่างเต็มที่

 

 

มะเดี่ยวเล่าถึงความภูมิใจกับผลงานล่าสุดของตัวเองว่า “เป็นงานที่ไม่รู้ว่าในชีวิตนี้จะได้ทำอะไรแบบนี้อีกหรือเปล่า พอทำก็ไม่ง่าย มันเป็นอีกหนึ่งหมุดหมายของหนังไทยที่ไม่มีใครกล้าหาญและบ้าบิ่นให้เราทำอะไรแบบนี้ เต็มที่กับมันมากๆ แต่จะเรียกว่าเป็นจุดสูงสุดของเราคงไม่ใช่ เพราะอยากให้มันเป็นประตูที่เปิดให้เราทำอะไรที่ไปไกลกว่านี้ได้มากกว่า แล้วก็อยากให้มันเป็นใบเบิกทางให้กับคนที่ชอบงานไซไฟ ชอบหนังที่มีความท้าทายได้เติบโตต่อไปในอนาคต”

 

รับชมตัวอย่างได้ที่

 

 

 

ภาพ: เนรมิตรหนัง ฟิล์ม

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising