×

A Brighter Summer Day ภาพยนตร์ยาว 247 นาที หนึ่งในลิสต์ #สมควรดูก่อนตาย

18.01.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 Mins read
  • A Brighter Summer Day เป็นผลงานภาพยนตร์ลำดับที่ 5 จากทั้งหมด 9 เรื่องของ เอ็ดเวิร์ด หยาง โดยผลงานเรื่องสุดท้ายของเขาคือ Yi Yi (2000) ที่ทำให้เอ็ดเวิร์ดได้รับรางวัลผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ในปี 2000
  • ตลอดเวลา 4 ชั่วโมง ไม่นานเลยเมื่อเราได้เข้าไปอยู่ในงานศิลปะที่เคลื่อนไหวได้ และเมื่อดูจบแล้วในระยะเวลาหนึ่ง เรื่องราวของหนังจะทำหน้าที่ของมันในการรื้อฟื้นความจำแต่หนหลังของผู้ดู เชื่อมโยงไปถึงวัยเด็ก ความรักครั้งแรก ซึ่งแตกต่างกันไปตามประสบการณ์ชีวิตของแต่ละคน

 

หนึ่งในหนัง 8 เรื่องที่เข้าฉายช่วงเทศกาลภาพยนตร์ไต้หวัน หรือ Taiwan Film Festival in Bangkok 2018 มีหนังเรื่องหนึ่งที่ว่ากันว่าเป็นภาพยนตร์คลาสสิกตลอดกาล ทั้งยังติดในลิสต์ #สมควรดูก่อนตาย ของนักดูหนังหลายคน นั่นคือ A Brighter Summer Day (1991) ของผู้กำกับ เอ็ดเวิร์ด หยาง (Edward Yang) ที่เพิ่งได้รับการบูรณะขึ้นมาใหม่ พร้อมเข้าฉายให้เราได้ย้อนกลับไปทำความรู้จักโลกวัยรุ่นในยุค 60s กันอีกครั้ง


A Brighter Summer Day เป็นผลงานภาพยนตร์ลำดับที่ 5 จากทั้งหมด 9 เรื่องของเอ็ดเวิร์ด โดยผลงานเรื่องสุดท้ายของเขาคือ Yi Yi (2000) ที่ทำให้เอ็ดเวิร์ดได้รับรางวัลผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ในปี 2000

 

 

247 นาที หรือราว 4 ชั่วโมง คือความยาวของหนังเรื่อง A Brighter Summer Day ถ่ายทอดจากประสบการณ์ชีวิตในวัยเด็กของเอ็ดเวิร์ด ย้อนไปในไทเปช่วงต้นยุค 60s หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อญี่ปุ่นแพ้สงคราม ถอนกำลังออกไปจากพื้นที่ และชาวจีนแผ่นดินใหญ่จำนวนหนึ่งหนีปัญหาการเมืองมาตั้งรกรากที่ไต้หวัน


ในภาพยนตร์ไม่ได้สะท้อนเรื่องราวเชิงประวัติศาสตร์เป็นแกนหลัก แต่เต็มไปด้วยรายละเอียดที่ทำให้ดูภาพยนตร์จบแล้วต้องรื้อหนังสือประวัติศาสตร์มาอ่านใหม่ด้วยความสนใจ โดยตัวละครหลักของเรื่องคือเด็กหนุ่มวัย 14 ปี ลูกชายของครอบครัวชนชั้นกลางที่อพยพมาจากเซี่ยงไฮ้ ผ่านพบปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เกิดขึ้น เด็กหนุ่มคนนี้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับแก๊งคู่อริสองกลุ่ม และสิ่งที่เรียกว่า ‘รักครั้งแรก’ ก็ส่งผลกระทบต่อชีวิตเขาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  

 

 

องค์ประกอบภาพในแต่ละฉาก แสง เงา สีสัน การแช่กล้องนิ่งๆ ปล่อยให้ตัวละครมีชีวิตในแต่ละเฟรมนั้นเป็นความรู้สึกงดงามที่ได้เฝ้ามองเรื่องราวที่ดำเนินไปอย่างเป็นธรรมชาติ และด้วยความที่เลือกจับภาพจากในระยะไกล ทำให้หลายครั้งที่กล้องจับภาพนักแสดงระยะใกล้ๆ จะเกิดความรู้สึกบางอย่างร่วมไปกับตัวละครนั้นๆ และหลายๆ ครั้งเป็นฉากที่เกิดการพลิกผันของเรื่องราวอยู่ด้วย


เอ็ดเวิร์ดเคยให้สัมภาษณ์กับ IndieWire.com โดยอธิบายการเลือกภาพกว้างในหนังซึ่งกลายเป็นเอกลักษณ์ในผลงานภาพยนตร์ของเขา “เมื่อหนังฉายบนจอ มันทำให้เราได้เห็นสิ่งแวดล้อมของมนุษย์ มีข้อมูลมากมายปรากฏอยู่ และคนดูจะรู้สึกได้เมื่อมองเห็นทุกสิ่งมากกว่าการได้มองเห็นเฉพาะส่วน ในขณะเดียวกัน ฉากโคลสอัพกลับให้ประสิทธิภาพน้อยกว่า เพราะมันให้คุณได้แค่การแสดงออกผ่านสีหน้า ส่วนการเคลื่อนไหวมือ ร่างกาย ท่าทาง หรือกระทั่งการเดินของตัวละคร มันให้อะไรได้มากกว่านั้น”

 

ตลอดเวลา 4 ชั่วโมง ไม่นานเลยเมื่อเราได้เข้าไปอยู่ในงานศิลปะที่เคลื่อนไหวได้ และเมื่อดูจบแล้วในระยะเวลาหนึ่ง เรื่องราวของหนังจะทำหน้าที่ของมันในการรื้อฟื้นความทรงจำแต่หนหลังของผู้ดู เชื่อมโยงไปถึงวัยเด็ก ความรักครั้งแรก ซึ่งแตกต่างกันไปตามประสบการณ์ชีวิตของแต่ละคน

 

 

หังหัง (Hung Hung) ผู้อยู่เบื้องหลังงานภาพยนตร์ ทั้งยังเคยร่วมงานใกล้ชิดกับเอ็ดเวิร์ด และเป็นผู้เขียนบท 1 ใน 4 คนของภาพยนตร์ A Brighter Summer Day เขาเคยให้สัมภาษณ์กับ Criterion.com เกี่ยวกับหนังเรื่องนี้ไว้ว่า

 

“คนเขียนบทเรื่องนี้มี ไหล่หมิงถัง (Lai Ming-tang) และเอ็ดเวิร์ด หยาง ส่วนผมกับ หยางชุนชิน (Yang Shunqing) เข้ามาในทีมทีหลัง เพราะเอ็ดเวิร์ดต้องการคนเขียนบทรุ่นใหม่มาทำงานด้วย บทเขียนขึ้นจากพล็อตและตัวละครที่เอ็ดเวิร์ดวางไว้ พวกเราถกเถียงกันหนักในรายละเอียดทุกๆ ฉาก ใช้เวลาราว 1 ปีที่พวกเราไปบ้านเอ็ดเวิร์ดสัปดาห์ละ 2-3 ครั้งเพื่อเขียนบท หนังไม่ได้มาจากประสบการณ์ชีวิตของเอ็ดเวิร์ดอย่างเดียว แต่มาจากสิ่งที่พวกเราสังเกตเห็นในการใช้ชีวิตของเขา ครอบครัว เพื่อนๆ ของเขาด้วย รวมถึงข่าวฆาตกรรมของวัยรุ่นที่เกิดขึ้นในไทเป และท้ายที่สุด 2-3 สัปดาห์ก่อนถ่ายทำ เอ็ดเวิร์ดเป็นคนเขียนบทดราฟต์สุดท้ายขึ้นมา


“ในช่วงแรก ทางผู้จัดจำหน่ายไม่อยากให้หนังยาวถึง 4 ชั่วโมง เอ็ดเวิร์ดจึงต้องตัดหนังในเวอร์ชัน 3 ชั่วโมงขึ้นมา ซึ่งเขาก็ไม่เคยชอบใจเลย เวอร์ชันนี้ฉายในไต้หวันเป็นครั้งแรกๆ และมีฟีดแบ็กกลับมาพอสมควรว่าหนังมีปัญหาในการเล่าเรื่อง แต่ในตอนท้ายเมื่อหนังชนะรางวัลจากเวทีระดับชาติและกลับมาฉายยาว 4 ชั่วโมงเต็มในไต้หวันอีกครั้ง เสียงตอบรับก็ดูดีกว่าเวอร์ชัน 3 ชั่วโมง”

 

 

เอ็ดเวิร์ด หยาง เกิดที่เซี่ยงไฮ้ในปี 1947 แต่เติบโตที่ไทเป หลังจบปริญญาตรีที่ไต้หวัน เขาเข้าศึกษาต่อปริญญาโทที่ University of Florida ในสาขาวิศวกรรมไฟฟ้า ทั้งที่โดยส่วนตัวเป็นคนสนใจเรื่องหนังมาตั้งแต่เด็ก ในภายหลังเอ็ดเวิร์ดย้ายไปทำงานที่ซีแอตเทิล ที่นี่เองที่ทำให้เขาเริ่มก้าวเท้าสู่วงการภาพยนตร์


ในปี 1981 เขากลับมาไต้หวันเพื่อเขียนและกำกับซีรีส์ฮ่องกง The Winter of 1905 และในปีถัดมา เขามีผลงานภาพยนตร์สั้น In Our Time (1982) ที่มี 4 ผู้กำกับคลื่นลูกใหม่ของไต้หวันในขณะนั้นมาร่วมงานกัน ภาพยนตร์ตอนของเขามีชื่อว่า Desires


มิถุนายน ปี 2007 เอ็ดเวิร์ด หยาง สิ้นลมหายใจที่บ้านของเขาในเบเวอร์ลีฮิลส์ หลังจากต่อสู้กับโรคมะเร็งลำไส้มาถึง 7 ปี โดยมี Yi Yi (2000) เป็นผลงานภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายที่กลายเป็นผลงานอมตะประดับวงการ ภาพยนตร์ความยาว 2.53 ชั่วโมงเรื่องนี้ทำให้เขาได้รับรางวัลผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ รวมทั้งรางวัลจากเวทีต่างๆ ในช่วงปีนั้น และยังได้รับเลือกให้เป็นภาพยนตร์แห่งปีจากสมาคมและการจัดอันดับโดยนิตยสารต่างๆ อย่างถล่มทลาย


ตัวอย่างภาพยนตร์ A Brighter Summer Day

 

 

อ้างอิง:

FYI
  • A Brighter Summer Day ไม่มีเพลงประกอบในภาพยนตร์ ทุกครั้งจะเป็นเสียงที่เกิดขึ้นจากเรื่องที่ดำเนินอยู่ เช่น ตัวละครเปิดแผ่นเสียง หรือเสียงจากวิทยุ ซึ่งทุกครั้งอีกเช่นกันที่บทเพลงเหล่านี้กลายเป็นจังหวะที่ลงตัวกับหนัง รวมทั้งความรู้สึกในขณะนั้น
  • เทศกาลภาพยนตร์ไต้หวันจัดขึ้นตั้งแต่วันนี้ถึง 23 มกราคม 2561 ณ โรงภาพยนตร์ควอเทียร์ ซีเนอาร์ต ศูนย์การค้าเอ็มควอเทียร์ บัตรราคา 160 บาท ยกเว้นภาพยนตร์เรื่อง A Brighter Summer Day จำหน่ายในราคา 250 บาท เนื่องจากภาพยนตร์มีความยาวถึง 4 ชั่วโมง ภาพยนตร์ไต้หวันทุกเรื่องจัดฉายพร้อมคำบรรยายภาษาอังกฤษและภาษาไทย ข้อมูลเพิ่มเติม www.majorcineplex.com’

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising