McDonald’s กำลังเผชิญกับวิกฤตอาหารเป็นพิษอีกครั้ง หลังศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ (CDC) รายงานพบการระบาดของเชื้ออีโคไลที่เชื่อมโยงกับเบอร์เกอร์ Quarter Pounder ใน 10 รัฐ ส่งผลให้มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 10 คน และเสียชีวิต 1 คน
CDC ระบุว่า มีรายงานผู้ป่วย 49 คนใน 10 รัฐ ระหว่างวันที่ 27 กันยายน – 11 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยส่วนใหญ่อยู่ในโคโลราโดและเนแบรสกา โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่รายงานว่ารับประทาน Quarter Pounder ของ McDonald’s ก่อนที่จะมีอาการป่วย
McDonald’s กล่าวว่า บริษัทกำลังดำเนินการอย่างรวดเร็วและเด็ดขาดเพื่อแก้ไขปัญหานี้ โดยผลการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า การระบาดของเชื้ออีโคไลอาจเกี่ยวข้องกับหอมซอยที่ใช้ใน Quarter Pounder ซึ่งจัดหาโดยซัพพลายเออร์รายเดียวกัน ซึ่งให้บริการศูนย์กระจายสินค้า 3 แห่ง
McDonald’s ออกคำสั่งให้ร้านอาหารทุกสาขาในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบนำหอมซอยออกจากเมนู และระงับการจำหน่าย Quarter Pounder ชั่วคราวในหลายรัฐทางตะวันตก เช่น โคโลราโด, แคนซัส, ยูทาห์ และไวโอมิง รวมถึงบางส่วนของรัฐอื่นๆ ด้วย
ข่าวการระบาดของเชื้ออีโคไลส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นของ McDonald’s อย่างรุนแรง โดยราคาหุ้นร่วงลงมากถึง 9.6% หลังการประกาศของ CDC ทำให้มูลค่าตลาดหายไปกว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์ก่อนที่จะฟื้นตัวขึ้นเล็กน้อย
Quarter Pounder เป็นเมนูหลักของ McDonald’s ที่ทำรายได้หลายพันล้านดอลลาร์ต่อปี การระบาดของอีโคไลในครั้งนี้จึงสร้างความเสียหายต่อชื่อเสียงและยอดขายของ McDonald’s อย่างมาก
CDC เตือนว่า จำนวนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดอาจสูงกว่าที่รายงาน เนื่องจากหลายคนหายจากการติดเชื้ออีโคไลโดยไม่ได้รับการตรวจหรือการรักษาพยาบาล
อีโคไลเป็นแบคทีเรียที่พบในลำไส้ของคนและสัตว์ แต่บางสายพันธุ์อาจทำให้เกิดอาการเจ็บป่วย เช่น ปวดท้อง ท้องเสีย หรืออาเจียน หากรับประทานอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อน คนส่วนใหญ่หายเป็นปกติโดยไม่ต้องรักษาหลังจากป่วย 5-7 วัน
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ McDonald’s ประสบปัญหาอีโคไล ในปี 2022 มีรายงานว่า เด็กอย่างน้อย 6 คนมีอาการป่วยหลังรับประทาน Chicken McNuggets Happy Meal ของ McDonald’s ในแอละแบมา
แม้ว่ามาตรฐานความปลอดภัยของอาหารจะดีขึ้น แต่ CDC ประเมินว่า ยังคงมีชาวอเมริกันเกือบ 1 แสนคนป่วยจากเชื้ออีโคไลในแต่ละปี ส่งผลให้มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 3,270 คน และเสียชีวิต 30 คน
อ้างอิง: