วันนี้ (12 กันยายน) เวลา 13.00 น. ที่ลานตีระฆัง อาคารรัฐสภา กลุ่มที่เรียกตัวเองว่าแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ร่วมกับเครือข่ายองค์กรนิสิต-นักศึกษา 9 องค์กร ร่วมตีระฆังร้องทุกข์ และยื่นจดหมายเปิดผนึกทวงถามแนวทางนโยบายรัฐบาล ต่อการนิรโทษกรรมคดีทางการเมือง และการอำนวยความยุติธรรมให้แก่ผู้คนที่ถูกปราบปรามโดยรัฐ เนื่องในวันแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภาในวันแรก โดยมี วรวงศ์ วรปัญญา สส. ลพบุรี พรรคเพื่อไทย เป็นผู้แทนรับหนังสือ
สำหรับเนื้อหาในจดหมายเปิดผนึกมีความว่า ความขัดแย้ง ประวัติศาสตร์ทางการเมือง ตลอด 20 ปีที่ผ่านมาของไทย ที่ขัดแย้งกันมาตลอดตั้งแต่สมัยพันธมิตร, นปช., กปปส. และเครือข่ายคณะราษฎร มีจุดยืนที่แตกต่างไปจากบรรทัดฐานของรัฐ แล้วถูกปราบปรามด้วยกำลังอย่างรุนแรง เป็นเหตุให้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต และมีผู้ที่ได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมาก และปัญหานักโทษทางการเมือง
คดีความทางการเมืองเป็นปัญหาเร่งด่วนที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง และกังวลว่าในคำแถลงนโยบายของรัฐบาลไม่มีประเด็นนิรโทษกรรมคดีทางการเมือง รวมไปถึงมาตรา 112 และอำนวยความยุติธรรมจากผู้ที่ได้รับบาดเจ็บและญาติของผู้สูญเสียจากความรุนแรงทางการเมืองโดยรัฐ รวมถึงการแก้ไขมาตรา 112 และ 116
ทั้งนี้ในการหาเสียงของนายกรัฐมนตรีได้ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อมวลชนว่า กฎหมายต้องแก้ในสภา มาตรา 112 ในปัจจุบัน ตั้งแต่ 8 ปีที่ผ่านมา ผู้ที่ถูกฟ้องในคดีมาตรา 112 เพิ่มขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ มีจำนวนหลักร้อย ซึ่งสมัยก่อนไม่มี สุดท้ายมาตรา 112 จะกลายเป็นเกมทางการเมืองของคนที่ต้องการสาดสี ซึ่งไม่ควรเป็นอย่างนั้น
ดังนั้นเรื่องความชัดเจนและเป็นรูปธรรม แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมขอเรียกร้อง เนื่องจากในนโยบายของรัฐบาลไม่มีการนิรโทษกรรมคดีทางการเมือง รวมถึงมาตรา 112 เพื่ออำนวยความยุติธรรมแก่ผู้สูญเสียที่ถูกกระทำจากรัฐ รวมไปถึงปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ เชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมของประเทศ พร้อมขอให้มีการแก้กฎหมายใน 20 วัน
ในการยื่นหนังสือมีการนำเสนอโปสเตอร์ของ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ผู้อำนวยการพรรคเพื่อไทย ชัยเกษม นิติสิริ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย และ จาตุรนต์ ฉายแสง ที่เคยออกมาเรียกร้องให้ปล่อยนักโทษทางความคิด และข้อเรียกร้องของนักศึกษา
ขณะที่วรวงศ์กล่าวว่า เรื่องการแก้ไขกฎหมายต้องใช้เวลามากกว่า 20 วัน ต้องมีขั้นตอนการร่างและการประชุมวาระ ซึ่งจะนำข้อเสนอของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมเข้าไปเรียนกับผู้บริหาร พร้อมกับย้ำว่า ต้องใช้เวลา และอยากให้ร่วมกันทำงานดีกว่า
อย่างไรก็ตาม แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมต้องการมาตีระฆังร้องทุกข์ที่อาคารรัฐสภาเพื่อแสดงสัญลักษณ์ เหมือนในสมัยพ่อขุนรามคำแหง แต่ไม่สามารถทำได้ โดยทำได้เพียงตีเบาๆ เท่านั้น เนื่องจากระฆังดังกล่าวยังไม่ได้ส่งมอบอย่างเป็นทางการ โดยยังมีพลาสติกห่อหุ้ม