×

‘ทองคำ’ ทำผลตอบแทนสูงสุด Year to Date พุ่งกว่า 20% แรงหนุนผวาภาวะสงคราม ด้านธนาคารทั่วโลกแห่ซื้อตุนเป็นทุนสำรองฯ

21.08.2024
  • LOADING...

SCB CIO ประเมินปัจจัยสนับสนุนทองคำ Year to Date ให้ผลตอบแทนสูงสุด พบ 3 ปัจจัยหลักช่วยดัน ทั้งแบงก์ชาติทั่วโลกแห่ซื้อ, ผวา Geopolitical Risk และ Fed เริ่มหั่นดอกเบี้ย

 

สกลฉัฐฐ์ เชาวน์เลิศเสรี CFA นักวิเคราะห์การลงทุน SCB Chief Investment Office ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB CIO) ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ Morning Wealth ว่า ภาพรวมการเคลื่อนไหวของราคาทองคำในตลาดโลกตั้งแต่ต้นปี 2024 จนถึงปัจจุบัน (Year to Date) ทองคำสามารถให้ผลตอบแทนอยู่ที่ประมาณ 22.4% เป็นสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงสุดในกลุ่ม Traditional Asset Classes

 

สำหรับปัจจัยที่สนับสนุนต่อราคาทองคำหลักมี 3 ปัจจัย ดังนี้

 

2. ธนาคารกลางต่างๆ เริ่มเข้ามาเป็นผู้ซื้อหลักในตลาดทองคำ ซึ่งเดิมธนาคารกลางๆ เป็นผู้ซื้อหลักในตลาดทองคำสัดส่วนประมาณ 15-20% แต่ภายหลังสถานการณ์โควิดแพร่ระบาด ธนาคารกลางต่างๆ ได้หันมาซื้อทองคำเพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วนประมาณ 30% ส่งผลให้ธนาคารกลางต่างๆ ขึ้นมาเป็นผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดทองคำ เพื่อนำมาใช้เป็นทุนสำรองระหว่างประเทศ

 

ทั้งนี้ หากแบ่งเป็นรายประเทศจะพบว่า ธนาคารกลางจีน (PBOC) ได้กลายเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ของตลาดทองคำ อีกทั้งมีธนาคารกลางของประเทศอื่นๆ เช่น ธนาคารกลางสิงคโปร์และธนาคารกลางญี่ปุ่น เข้ามาเป็นผู้ซื้อทองรายใหญ่อีกด้วย

 

2. ความเสี่ยงเหตุการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical Risk) ที่กลับมาสูงขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ย 20 ปีย้อนหลัง ส่งผลให้มีความต้องการทองคำเพิ่มมากขึ้นหลังจากโควิดแพร่ระบาด อีกทั้งเกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งใหญ่จำนวน 2 ครั้ง คือ กรณีที่รัสเซียบุกยูเครน รวมถึงกรณีที่อิสราเอลมีการทำสงครามกับกลุ่มฮามาส จึงเป็นปัจจัยกระตุ้นให้มีความต้องการทองคำเพิ่มสูงขึ้น

 

โดยจากกรณีที่สหรัฐฯ มีการกู้ยืมเงินในต่างประเทศสูง ส่งผลกระทบให้มีระดับหนี้สาธารณะที่ค่อนข้างสูง ทั้งนี้ หากไปดูข้อมูลทุนสำรองระหว่างประเทศของธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลกจะพบว่า มีการถือพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่สูง ขณะที่แนวโน้มหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ มีทิศทางปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว 

 

ดังนั้นหากธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลกต้องการรักษาคุณภาพพอร์ตทุนสำรองระหว่างประเทศ การถือพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เป็นหลักจึงเป็นความเสี่ยง ส่งผลให้หลังจากสถานการณ์โควิด ธนาคารกลางต่างๆ เริ่มมีการขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ออกมาบางส่วน โดยหันมาซื้อถือทองคำแทน

 

ทั้งนี้ จากข้อมูลปัจจุบัน ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีการถือทองคำที่อยู่ในพอร์ตเงินทุนสำรองระหว่างประเทศค่อนข้างสูง ขณะที่ธนาคารกลางของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา อาทิ จีน ยังคงมีการถือครองทองคำในพอร์ตทุนสำรองระหว่างประเทศในส่วนที่ต่ำกว่า 10% โดยยังคงถือพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ในสัดส่วนที่สูง จึงมีโอกาสที่ในอนาคตธนาคารกลางของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาจะหันมาถือทองคำ เพื่อใช้เป็นเงินทุนสำรองระหว่างประเทศในสัดส่วนที่เพิ่มมากขึ้น

 

3. นอกเหนือจากประเด็น Geopolitical Risk ยังมีแรงหนุนจากปัจจัยพื้นฐาน ดังนี้

 

สกลฉัฐฐ์กล่าวต่อว่า ล่าสุดอุปสงค์ของทองคำในตลาดโลกได้ทำจุดสูงสุดใหม่ในไตรมาส 1 และ 2 ปีนี้ หลังจากมีผู้เล่นหลักรายใหม่เข้ามาในตลาดคือ กลุ่มธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลกที่กลายมาเป็นผู้ซื้อหลัก ซึ่งรูปแบบการซื้อจะไม่ใช่การเก็งกำไร อีกทั้งมีการซื้อที่ต่อเนื่องและสม่ำเสมอ 

 

อีกทั้งประเด็นสำคัญคือ กองทุน ETF มีการทยอยซื้อทองคำอย่างต่อเนื่องในไตรมาส 2/24 เพื่อเตรียมรองรับสำหรับการออกเสนอขายหน่วยลงทุน ถือเป็นปัจจัยสนับสนุนที่ต่อราคาทองคำ รวมถึงมีดีมานด์ที่มีความเสถียรขึ้นและมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อได้

 

Fed เริ่มหั่นดอกเบี้ยเป็นบวกกับทองคำ

 

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยที่คาดว่า Fed จะเริ่มลดดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งแรก โดยหากเปรียบเทียบสถิติย้อนหลัง 7 ครั้งล่าสุดที่มีการลดดอกเบี้ยของ Fed พบว่า มีสัดส่วน 3 ใน 4 ที่ราคาทองคำมีโอกาสจะปรับตัวเพิ่มขึ้นหลังจากที่ Fed เริ่มปรับตัวลดลงครั้งแรก ซึ่งมีโอกาสที่ราคาทองคำจะเพิ่มขึ้นในระดับ 20-30% แต่ถ้าหากราคาทองคำไม่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ราคาจะเคลื่อนไหวในกรอบแคบ ซึ่งอาจจะติดลบในระดับประมาณ 3-5% ดังนั้นจึงประเมินว่าอัตราผลตอบแทนต่อความเสี่ยง (Risk-Reward Ratio) มีความคุ้มค่า

 

แนะกลยุทธ์ลงทุนทองคำ

 

ทั้งนี้ จากปัจจัยที่มีผลต่อราคาทองคำที่ได้กล่าวมาข้างต้นนั้นเป็นปัจจัยในระยะกลาง จึงยังไม่เหมาะที่จะเป็นประเด็นที่จะเข้าเก็งกำไรในระยะสั้น ขณะที่ SCB CIO มีคำแนะนำจัดพอร์ตของการลงทุนสำหรับนักลงทุนที่สามารถแบกรับความเสี่ยงในระดับกลางถึงสูงได้ โดยมีคำแนะนำให้ซื้อทองคำในระดับสัดส่วน 4-5% ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่สูงของพอร์ตเมื่อเทียบกับพอร์ตลงทุนปกติ โดยแนะนำการลงทุนในระยะยาว เพื่อรองรับความผันผวนที่มีโอกาสเกิดขึ้นจากสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising