×

ความสำคัญของภูพระบาท ปัญหาของทวารวดีอีสาน และมรดกโลกที่ควรข้ามพรมแดนรัฐชาติ

27.07.2024
  • LOADING...

ภูพระบาท จังหวัดอุดรธานี เป็นแหล่งโบราณคดีอีกชื่อที่คนไทยหลายคนไม่ค่อยคุ้นเคย ไม่ต่างจากเมืองโบราณศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ ที่ได้รับมรดกโลกไปเมื่อไม่นานมานี้ เพราะทั้งสองแหล่งไม่อยู่ในเนื้อหาแกนหลักของประวัติศาสตร์ชาติไทย

 

อุดรธานีเป็นอู่อารยธรรมเก่าแก่สำคัญแห่งหนึ่งของไทยและโลก เชื่อว่าแทบไม่มีคนไทยคนไหนไม่รู้จักคือบ้านเชียง เพราะอยู่ในแบบเรียน และเห็นผ่านสื่อการท่องเที่ยวต่างๆ อีกมากมาย

 

เหตุผลที่ทำให้บ้านเชียงเป็นมรดกโลกได้นั้น เพราะในยุคหนึ่งเชื่อว่าบ้านเชียงเป็นแหล่งกำเนิดโลหกรรมเก่าแก่ที่สุดของโลก มีอายุราว 6,000 ปี อย่างไรก็ตาม ด้วยความก้าวหน้าของการกำหนดอายุทางวิทยาศาสตร์เมื่อไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา จึงทำให้ค่าอายุลดลงเหลือเพียง 2,100 ปีก่อนคริสตกาลเท่านั้น

 

ในส่วนของภูพระบาทนั้นมีเหตุผลหลายประการที่ควรเป็นมรดกโลก และต่อให้ไม่ได้มรดกโลก ภูพระบาทก็มีความสำคัญมากในแง่ของการเป็นสถานที่ที่สะท้อนความเชื่อทางศาสนาที่สืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ถึงประวัติศาสตร์เมื่อไม่กี่ร้อยปีมานี้ ซึ่งช่วยให้เข้าใจภูมิวัฒนธรรม (Cultural Landscape) ที่ดีมากแห่งหนึ่ง ในที่นี้ผมมีประเด็น 4 เรื่องที่คิดว่าควรกล่าวถึงและเสนอด้วยดังนี้

 

เรื่องแรก ภูพระบาทเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ก่อนรับพระพุทธศาสนา

 

ผมคิดว่าก่อนการเข้ามาของพระพุทธศาสนา คนในยุคนั้นคงมองว่าภูพระบาทเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ เหตุผลเพราะบนภูพระบาทมีหินทรายธรรมชาติที่ถูกกัดเซาะจนมีลักษณะเป็นแผ่นหินที่ซ้อนอยู่บนเสาหิน รูปทรงคล้ายกับโต๊ะหรือเห็ด ในที่นี้ขอเรียกว่า ‘เสาหินรูปโต๊ะ’ และ ‘โต๊ะหิน’ ความแปลกประหลาดนี้เองคงทำให้คนในยุคนั้นคิดว่าเสาหินพวกนี้สร้างขึ้นโดยผีสางเทวดาที่มีอำนาจ

 

เมื่อเป็นเช่นนั้นจึงทำให้หินรูปโต๊ะบางแห่งบนภูพระบาทมีภาพเขียนสีอยู่ด้วย ภาพเขียนสีพวกนี้ใช้สีแดงเป็นหลัก แบ่งภาพได้เป็น 2 กลุ่ม คือ ภาพวาดของสิ่งมีชีวิตเป็นภาพเหมือน และภาพวาดเชิงสัญลักษณ์

 

ภาพวาดในกลุ่มที่เป็นสิ่งมีชีวิตนี้มีภาพคน มือ และวัว ภาพมือและคนอาจบ่งบอกถึงการร่วมแรงกันทำงาน ภาพวัวอาจบ่งบอกถึงการล่าสัตว์ สังเกตได้ว่าภาพวัวที่พบที่ภูพระบาทนี้เป็นวัวแบบไม่มีหนอก แสดงว่าเป็นวัวพื้นเมือง (สายพันธุ์ทอรีน) ไม่ใช่วัวแบบอินเดีย อาจกำหนดอายุเบื้องต้นได้ว่าภาพวัวพวกนี้คงมีอายุก่อน 2,500-2,000 ปีมาแล้ว

 

ภาพเขียนสีรูปคนที่ถ้ำคน ภูพระบาท

(อ้างอิง: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), https://archaeology.sac.or.th/archaeology/502)

อีกกลุ่มคือภาพวาดเชิงสัญลักษณ์ ที่น่าสนใจคือกู่นางอุสาและโนนสาวเอ้ ซึ่งวาดเป็นภาพลายเส้นที่เราไม่สามารถเข้าใจความหมายได้ ข้อมูลทางชาติพันธุ์ของชาวแซน (San) ในแอฟริกาอธิบายว่า ภาพเขียนสีเป็นวิธีการจับพลังงานในอีกโลกหนึ่งที่อยู่หลังผนังหิน ซึ่งผู้ที่เห็นนั้นก็คือหมอผีที่จับสิ่งนั้นขึ้นมา แล้วเอาพลังที่กลายเป็นภาพนั้นมารักษาผู้ป่วย ขอฝน หรือล่าสัตว์

 

ภาพเขียนสีใกล้กับกู่นางอุสา

 

แต่ที่น่าสนใจด้วยคือ ภาพลายเส้นบนภูพระบาทที่กู่นางอุสาและโนนสาวเอ้นี้ ผมเชื่อว่าอาจมีความสัมพันธ์กับลวดลายสีแดงบนภาชนะดินเผาในวัฒนธรรมบ้านเชียง เพราะทำเป็นลายเส้นคดโค้งขนานกันไปมา ภาพพวกนี้จึงอาจสื่อถึงพลังงานบางอย่าง อาจเป็นขวัญ มิ่ง หรือแนน

 

ปรากฏการณ์วาดภาพเขียนสีบนเสาหินหรือโต๊ะหินคล้ายกันนี้พบได้หลายที่ เช่น ในอินเดีย จีน และอีกหลายประเทศ นอกจากเทคนิคการเขียนสียังพบเทคนิคการใช้หินกะเทาะลงไปให้เป็นรูปลอย (Petroglyph) ซึ่งเท่าที่เห็นในไทยอย่างหลังจะไม่นิยมสักเท่าไร เหตุผลของการวาดภาพลงบนหินพวกนี้ ถ้าดูจากข้อมูลชาติพันธุ์ของชนเผ่าในปัจจุบันก็อาจสอดคล้องกับแนวคิดของชาวแซนคือ ภาพวาดบนหินคือการดึงพลังจากอีกโลกหนึ่งมายังโลกปัจจุบัน

 

สำหรับปกติแล้วหินตั้งที่สร้างขึ้นโดยมนุษย์จะสร้างขึ้นด้วยหลายวัตถุประสงค์ ขึ้นอยู่กับการใช้งาน เช่น เป็นสถานที่ฝังศพผู้นำ หรือเป็นสถานที่รำลึกถึงบรรพบุรุษ ในกรณีของหินธรรมชาติที่มนุษย์ให้ความหมายใหม่นั้นเป็นเรื่องยากที่จะสันนิษฐาน แต่ก็อาจเกี่ยวข้องกับการรำลึกถึงบรรพบุรุษเช่นกัน กรณีของเสาหินหรือโต๊ะหินที่ภูพระบาทอาจถูกใช้สำหรับการรำลึกถึงบรรพบุรุษ (Memorial Place) หรือมองว่าเป็นวัตถุที่ใช้สื่อกับอีกโลกหนึ่ง

 

เรื่องที่สอง การผสมผสานความเชื่อเดิมเข้ากับพระพุทธศาสนา

 

ความเปลี่ยนแปลงได้เกิดขึ้นเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 12-13 เมื่อมีการรับศาสนาพุทธเข้ามา ส่งผลทำให้มีการสร้าง ‘เสมา’ หรือ ‘สีมา’ ขึ้น ตามความหมายเสมาคือเขตหรือแดนที่พระสงฆ์ใช้ทำสังฆกรรม ขนาดเล็กสุดต้องไม่น้อยกว่าพระสงฆ์ 21 รูปสำหรับนั่งทำพิธีได้ ซึ่งในพระวินัยปิฎกกำหนดให้เสมาเป็น ‘นิมิต’ (สัญลักษณ์) มี 8 อย่าง ได้แก่ ภูเขา ศิลา ป่าไม้ ต้นไม้ จอมปลวก หนทาง แม่น้ำ และน้ำนิ่ง

 

ใบเสมาจึงตรงกับนิมิตประเภทศิลา แต่จะเห็นได้ว่าในพระวินัยปิฎกก็ไม่ได้ระบุว่าต้องทำเป็นรูปร่างหน้าตาแบบใด แต่ปรากฏว่าในอีสานและเขตลุ่มน้ำโขงเช่นในเวียงจันทน์และสะหวันนะเขตนิยมทำเป็นรูปใบเสมารูปทรงคล้ายใบไม้แหลม ธรรมเนียมการทำใบเสมาแบบนี้ไม่พบในอินเดียและลังกา ดังนั้นจึงเป็นวัฒนธรรมท้องถิ่น

 

เท่าที่มีการสำรวจใบเสมาที่พบในเขตลุ่มน้ำชี มูล และโขง (พบมากที่สุดในลุ่มน้ำชี) พบว่าแบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลัก คือ แบบใบแหลม แบบแท่ง (มีทั้งทรงกระบอกกลมและทรงเหลี่ยม) และแบบหินธรรมชาติ

 

กลุ่มหินธรรมชาตินี้น่าสนใจ เพราะอาจมีความเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมหินตั้งที่เป็นความเชื่อดั้งเดิมในภูมิภาคนี้ เห็นได้จากในเขตเมืองซำเหนือ ประเทศลาว ซึ่งทำเป็นหินตั้งแผ่นแบนปลายแหลม ปัจจุบันคนพื้นเมืองในพื้นที่ยังบูชากันอยู่โดยถือว่าเป็นการบูชาเทพฮัตอัง (Hat Ang) ผู้มีหน้าที่ในการปกป้องผืนดิน (เจ้าที่)

 

หินตั้งที่เมืองซำเหนือ ประเทศลาว

(อ้างอิง: The Megalithic Portal, https://www.megalithic.co.uk/article.php?sid=46097)

 

ในไทยพบเช่นกันที่แหล่งโบราณคดีบ้านวังประจบ อำเภอเมือง จังหวัดตาก ที่ผู้เขียนขุดค้นและกำหนดอายุทางวิทยาศาสตร์ได้ 2,500 ปีมาแล้ว ก็พบหินบางก้อนที่ทำเป็นแผ่นปลายเกือบแหลมเช่นกัน ถึงอย่างนั้นยังไม่มีหลักฐานทางตรงที่บ่งบอกว่าใบเสมาพัฒนามาจากหินตั้งสมัยก่อนประวัติศาสตร์โดยตรง เพราะรูปแบบของหินตั้งในลาวและในไทยไม่วางในตำแหน่ง 8 ทิศ แต่ทั้งหมดวางเป็นกลุ่มเท่านั้น

 

หากต้องการเข้าใจความเชื่อเรื่องการทำแผ่นหินล้อมรอบแกนหินแล้ว ปัจจุบันยังมีกลุ่มชาติพันธุ์ที่ทำประเพณีแบบนี้อยู่ในลาวคือ กลุ่มชาติพันธุ์ ‘บรู’ พูดภาษาตระกูลออสโตรเอเชียติก (มอญ-เขมร) ที่แขวงสะหวันนะเขต ซึ่งอธิบายว่าหินตรงกลางคือแกนของใจบ้าน หรือก็คือแกนกลางของจักรวาล

 

การปักหินตั้งของชาวบรู

(อ้างอิง: บูร เที่ยงคำ / Facebook, https://www.facebook.com/100038449034718/posts/1069310354360589/?mibextid=oFDknk&rdid=arE4FDssJc4992Uz)

 

ดังนั้นด้วยการที่มีประเพณีการทำใบเสมาปักล้อมรอบเสาหินรูปโต๊ะอย่างเป็นระเบียบทั้ง 8 ทิศบนภูพระบาท ซึ่งพบที่หอนางอุสา กู่นางอุสา ถ้ำฤๅษี เพิงหินนกกระทา คอกม้าน้อย วัดลูกเขย ถ้ำพระ และลานหินมณฑลพิธี ย่อมสะท้อนความสำคัญอย่างยิ่งยวดของภูพระบาทในฐานะพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ และสะท้อนการผสมผสานความเชื่อใหม่เข้ากับความเชื่อเก่า ซึ่งทำให้นึกถึงสังคมไทยทุกวันนี้ที่มีแกนความเชื่อแบบ ‘พุทธปนผี’

 

เป็นไปได้ว่าเสาหินรูปโต๊ะนี้คือรูปแบบหนึ่งของเจดีย์ ดังเห็นได้จากโบราณสถานบางในเมืองวัฒนธรรมเสมา เช่น ที่พระธาตุยาคูที่เมืองฟ้าแดดสงยางที่กาฬสินธุ์ หรือเจดีย์บางองค์ที่เมืองเสมา นครราชสีมา ก็พบว่ามีการใช้ใบเสมาปักล้อมรอบ ดังนั้นเสาหินรูปโต๊ะจึงอาจเป็นการผสมความเชื่อเดิมแล้วสมมติให้กลายเป็นเจดีย์ภายใต้ความเชื่อแบบพุทธ

 

นอกเหนือไปจากใบเสมาที่ปักล้อมรอบเสาหินรูปโต๊ะแล้ว ยังพบว่าเพิงผาบางแห่งมีการแกะสลักรูปพระพุทธรูปทั้งประทับนั่งและยืน โดยเฉพาะประทับยืนที่ทำวิตรรกมุทราสองพระหัตถ์นั้นจะพบว่าเป็นรูปแบบร่วมกับพระพุทธรูปในศิลปะทวารวดีจากภาคกลาง อีกทั้งยังพบพระพุทธรูปศิลปะเขมร ล้านช้าง และสืบเนื่องมาจนถึงรัตนโกสินทร์อีกด้วย ซึ่งส่วนใหญ่ส่วนศีรษะจะหักหายไป หลักฐานนี้จึงสะท้อนความต่อเนื่องของการใช้พื้นที่ภูพระบาทในฐานะพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ได้เป็นอย่างดี

 

พระพุทธรูปแบบทวารวดีและเขมรที่แกะสลักอยู่บริเวณโขดหิน

 

เรื่องที่สาม ใบเสมาพวกนี้ไม่ใช่ ‘ทวารวดีอีสาน’

 

ใบเสมาพวกนี้เดิมทีเรียกว่า ‘ใบเสมาทวารวดีอีสาน’ เพราะเชื่อว่าเป็นของอิทธิพลทางศิลปะและการเมืองของอาณาจักรทวารวดีในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่ส่งขึ้นไปยังอีสาน เหตุผลที่คิดเช่นนั้นเพราะข้อจำกัดขององค์ความรู้ในยุคหนึ่งและเกิดจากมุมมองทางประวัติศาสตร์ที่ส่งผ่านจากยุคอาณานิคมที่ทำให้กำหนดลุ่มน้ำเจ้าพระยาเป็นแกนของอำนาจทางการเมือง วัฒนธรรม และศาสนา ดังนั้นเมื่อรูปแบบศิลปกรรมของเสมาพวกนี้คล้ายกับทวารวดีในภาคกลาง จึงนำไปสู่ชื่อเรียกเช่นนั้น

 

กู่นางอุสาจะเห็นใบเสมาล้อมรอบ

 

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลเอกสารท้องถิ่นและเอกสารจีน รวมถึงหลักฐานอื่นๆ ประกอบ พบว่าในเอกสารจีนสมัยราชวงศ์ถังระบุว่าพื้นที่บริเวณนี้เป็นรัฐชื่อ ‘เหวินตาน’ (文單) ซึ่งได้ส่งบรรณาการไปยังจีนใน ค.ศ. 656-661, 717, 753, 771 และ 798 สะท้อนว่าเหวินตานเป็นรัฐอิสระ ไม่ใช่ทวารวดีจากภาคกลาง

 

ดร.สตีเฟ่น เมอร์ฟีย์ จากมหาวิทยาลัยลอนดอน เสนอว่า เมืองศูนย์กลางของเหวินตานน่าจะเป็นเมืองฟ้าแดดสงยาง จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งนักประวัติศาสตร์ชาวญี่ปุ่น ทาซึโอะ โฮชิโน (Tatsuo Hoshino) ยืนยันว่าเหวินตานไม่ใช่เวียงจันทน์ตามที่เคยเชื่อกัน นักภาษาศาสตร์ชาวฝรั่งเศส มิเชล เฟอร์ลัส (Michel Ferlus) เสนอว่า ‘เหวินตาน’ มาจากสันสกฤตว่า ‘มลูตาละ’ แปลว่า เมืองน้ำตาลโตนด

 

ใบเสมาปักล้อมรอบเจดีย์ที่เมืองฟ้าแดดสงยาง จังหวัดกาฬสินธุ์

 

ในขณะที่ใบเสมาในกลุ่มภูพระบาทนั้น ดร.สตีเฟ่น เมอร์ฟีย์ เสนอว่าอาจเป็นกลุ่มเมืองที่ในเอกสารจีนเรียกว่า ‘เต้าหมิง’ (道明) ซึ่งอาจมาจากภาษาตระกูลไท/ไตว่า ‘ท้าวเมือง’ ได้หรือไม่ และในเอกสารจีนระบุว่าเต้าหมิงเป็นเมืองในเครือข่ายของเหวินตาน

 

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ต้องมีการศึกษาในเชิงภาษาศาสตร์เพิ่ม เพราะในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 7-8 คนที่พูดภาษาในตระกูลไท/ไตยังไม่เคลื่อนย้ายลงมา อีกทั้งในภาพใหญ่ในช่วงเวลาระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 7-12 ดังกล่าว พบเฉพาะจารึกภาษามอญโบราณ ภาษาเขมรโบราณ สันสกฤต และบาลีเท่านั้น

 

ถ้าข้อสันนิษฐานเรื่องตำแหน่งของเต้าหมิงถูกต้อง ภูพระบาทอาจเป็นศูนย์กลางของพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของอาณาจักรมลูตาละก็เป็นไปได้

 

ดังนั้นเราควรเรียกวัฒนธรรมการทำใบเสมานี้ว่า ‘วัฒนธรรมเสมา’ หรือ ‘วัฒนธรรมสีมา’ อาจจะมีความเหมาะสมกว่า หรืออาจมีคำบ่งบอกเชิงพื้นที่ เช่น ‘วัฒนธรรมเสมาอีสาน’ หรือ ‘วัฒนธรรมเสมาลุ่มน้ำโขง’ ซึ่งจะช่วยทำให้เรามองภาพที่ใหญ่ขึ้น

 

คำถามว่าทำไมวัฒนธรรมใบเสมาจึงแพร่กระจายในเขตลุ่มน้ำโขง-อีสาน เหตุผลหลักน่าจะเป็นเพราะบริเวณดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางการค้าทางบกที่เดินทางตัดจากจีนเข้าสู่เวียดนามแล้วผ่านภาคอีสาน จากนั้นผ่านลงไปในลุ่มน้ำเจ้าพระยาแล้วข้ามไปยังทะเลอันดามันนั่นเอง

 

เรื่องที่สี่ มรดกโลกมักถูกขีดขั้นด้วยเส้นพรมแดนของรัฐชาติสมัยใหม่

 

ความจริงแล้วนอกเหนือไปจากภูพระบาทยังมีแหล่งโบราณคดีที่คล้ายกันอีก 2 แห่งอยู่ในประเทศลาว ได้แก่ ด่านสูง ซึ่งอยู่ทางเหนือขึ้นไปจากภูพระบาทราว 45 กิโลเมตร และวังช้าง ซึ่งอยู่ทางเหนือของด่านสูงราว 35 กิโลเมตร ทั้งที่ด่านสูงและวังช้างต่างมีการสลักพระพุทธรูปในศิลปะแบบวัฒนธรรมเสมาหรือเรียกแบบเก่าคือแบบทวารวดีด้วยกันทั้งคู่ อาจกำหนดอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 16-17

 

พระพุทธรูปแกะสลักที่แหล่งโบราณคดีวังช้าง ประเทศลาว

(อ้างอิง: https://www.atlasobscura.com/places/vang-sang-buddhas)

 

ประเด็นของข้อมูลข้างต้นนี้ทำให้เห็นปัญหาของการเสนอมรดกโลกที่เส้นพรมแดนของรัฐชาติสมัยใหม่ได้กลายมาเป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งของการเข้าใจภาพกว้างของวัฒนธรรมเสมาและการสลักพระพุทธรูปหินบนเสาหินและโต๊ะหินบนภูเขาที่พบร่วมกันระหว่างประเทศไทยกับประเทศลาว (สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว)

 

จากการสนทนากับ ดร.สตีเฟ่น เมอร์ฟีย์ ก็มองว่าถ้าในเชิงอุดมคติแล้ว หากมีการเสนอร่วมกันระหว่างไทยกับลาวก็จะช่วยทำให้เราเห็นเครือข่ายของพระยุคโบราณที่เป็นพระป่าหรืออรัญวาสี และเข้าใจการแพร่กระจายของศาสนาพุทธยุคต้นที่เข้าไปยังพื้นที่ตอนในของแผ่นดินมากขึ้น

 

ในความเห็นของผู้เขียนคิดว่าแม้ว่าการเสนอมรดกโลกภายใต้แนวคิดที่เสนอร่วมกันระหว่างสองประเทศอาจจะเป็นเรื่องยากภายใต้เงื่อนไขหลายๆ อย่าง อย่างน้อยที่สุดถ้าหากมีการนำเสนอข้อมูลของทางฝั่งลาวไปพร้อมกันด้วยก็จะเป็นเรื่องดีที่ช่วยสร้างบรรยากาศความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับลาวให้ดีมากยิ่งขึ้น

 

คำอธิบายภาพเปิด: หอนางอุสา ภูพระบาท

อ้างอิง:

  • Ferlus, Michel. 2012. “Linguistic evidence of the trans-peninsular trade route from North Vietnam to the Gulf of Thailand (3rd-8th centuries),” Mon-Khmer Studies. 41, pp.10-19
  • Hoshino, Tatsuo. 1986. Pour une histoire medieval du Moyen Mekong. Bangkok: Duang Kamol.
  • Murphey, Stephen. 2010. The Buddhist boundary markers of northeast Thailand and central Laos, 7th-12th Centuries CE: towards an understanding of the archaeological, religious and artistic landscapes of the Khorat Plateau. PhD Thesis, SOAS, University of London.
  • กรมศิลปากร. 2533. ศิลปะถ้ำ “กลุ่มบ้านผือ” จังหวัดอุดรธานี. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร. 
  • พิพัฒน์ กระแจะจันทร์. 2550. รายงานการขุดค้นแหล่งโบราณคดีนายเสียน (เขาฝาง 2) บ.วังประจบ ต.วังประจบ อ.เมือง จ.ตาก. เสนอต่อองค์การบริหารส่วนตำบลวังประจบและสำนักงานศิลปากรที่ 6 สุโขทัย กรมศิลปากร.
  • พิพัฒน์ กระแจะจันทร์. 2559. “การเคลื่อนย้ายของวัฒนธรรมกับโลงหินและหินตั้งที่ตำบลวังประจบ จังหวัดตาก,” วารสารเมืองโบราณ. 42, 2 (เม.ย.-มิ.ย.), น.145-159.
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X