หลายคนคงเหนื่อยล้ากับการทำงานเดิมๆ เป็นกิจวัตรมาตลอดปีจนสะสมความเครียดความล้ามากขึ้นจนจิตใจห่อเหี่ยว จึงเริ่มมองหากิจกรรมใหม่ๆ เพื่อให้ได้พักผ่อนและเพิ่มความสดชื่นให้ชีวิตก่อนที่จะหมดไฟในการทำงาน การไปเที่ยวเชิงธรรมชาติก็เป็นหนึ่งในตัวเลือกที่น่าสนใจ เพราะนอกจากจะได้ออกจากสภาพแวดล้อมเดิมๆ ที่น่าเบื่อแล้ว ยังได้ไปสูดอากาศบริสุทธิ์ท่ามกลางธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่ มีธรรมชาติรายล้อม ทำให้ใจสงบและสดชื่นมากขึ้นได้อย่างดี
กิจกรรมที่น่าสนุกและท้าทายของหลายๆ คนคือการไป Trekking ซึ่งหมายถึง
‘การเดินป่าระยะไกล’ ทำให้ใกล้ชิดกับธรรมชาติได้เต็มที่ โดยอาจมีการค้างแรมตั้งแคมป์ในป่าเป็นระยะเวลาหนึ่งด้วยก็ได้ ดังนั้นการไป Trekking จึงต้องมีการวางแผนเพื่อให้เดินทางไปให้สนุกที่สุด และไม่ทำให้เหนื่อยล้ากว่าเดิมไปอีก
ถ้าเราตั้งใจจะไป Trekking แล้วเราต้องเตรียมตัวอย่างไรกันบ้างนะ?
ก่อนอื่นให้ศึกษาลักษณะทางภูมิศาสตร์ของป่าที่จะไป Trekking โดยทั่วไป ป่าหรืออุทยานที่เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าไปเดินศึกษาธรรมชาตินั้นจะมีลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่แตกต่างกันไป ทำให้เกิดความยากความง่ายของเส้นทางซึ่งถือเป็นเสน่ห์ในการท่องเที่ยวรูปแบบนี้ ตามปกติเจ้าของเส้นทางและอุทยานต่างๆ จะมีข้อมูลต่างๆ เพื่อให้นักเดินทางได้ศึกษาเพื่อตัดสินใจ และวางแผนเตรียมตัวก่อนมาท่องเที่ยว เพื่อให้สนุกและมีความปลอดภัยมากที่สุด ตัวอย่างของข้อมูลดังกล่าวที่น่าสนใจมีดังนี้
ศึกษาระยะทาง
ระยะทางทั้งหมดที่จะต้องเดินเท้า โดยมีระยะเวลามาเกี่ยวข้อง เช่น หากเป็นเส้นทางการเดินป่าระยะสั้นอาจใช้เวลาไม่กี่ชั่วโมงในการเดิน หากระยะไกลมากขึ้นอาจใช้เวลาเช้าจรดเย็น หรือหลายวัน ซึ่งทำให้ต้องวางแผนเรื่องน้ำและอาหาร และสัมภาระที่ต้องพกพาไปด้วย
เข้าใจเรื่องความสูงชัน
ความสูงสะสม (Elevation Gain) หมายถึง ความสูงจากพื้นราบจุดเริ่มต้นไปยังจุดสุดท้ายรวมแล้วเป็นระยะกี่เมตร ซึ่งจะบ่งบอกถึงความชันของเขานั้นๆ ที่จะต้องไต่ตลอดเส้นทาง เนื่องจากป่าและธรรมชาติที่สวยงามมักตั้งอยู่บนเขาสูง การเดินเท้าเข้าไปย่อมต้องมีการไต่ระดับจากพื้นราบขึ้นไปตามทางลาดชัน หากเส้นทางที่ต้องการไปมีระดับความสูงสะสมยิ่งมากเมื่อเทียบกับระยะทางที่สั้น ก็จะบ่งบอกถึงความยากที่มากขึ้น จำเป็นต้องเตรียมร่างกายให้แข็งแรงพอ หรือเตรียมอุปกรณ์บางอย่าง เช่น ไม้เท้าเดินป่า (Trekking Pole) เพื่อไปพิชิตเส้นทางนี้ให้ได้
ความสูงของยอดเขาเหนือระดับน้ำทะเล (Altitude Level) หากยอดสูงสุดของเส้นทางสูงจากระดับน้ำทะเลมากกว่าระดับ 2,400 เมตรขึ้นไป จะถือว่าเป็น High-Altitude Level ที่มีสภาพอากาศเบาบาง มีความเสี่ยงต่อภาวะ AMS (Acute Mountain Sickness) หรือ Altitude Sickness ที่ในไทยเรียกกันว่า ‘อาการแพ้ความสูง’ ที่ทำให้มีอาการเวียนหัว คลื่นไส้อาเจียน มีน้ำในปอด ไปจนถึงสมองบวมได้ ทั้งนี้ ในประเทศไทยยังไม่มีรายงานยอดเขาสูงถึงระดับนี้ แต่หากวางแผนไปเดิน Trekking ที่ต่างประเทศก็มีความจำเป็นต้องหาข้อมูลนี้ไว้เพื่อเตรียมตัวให้ดีที่สุด
ศึกษาสภาพอากาศ
สภาพอากาศและการพยากรณ์อากาศในช่วงที่เดินทางไปท่องเที่ยว เพื่อให้สามารถจัดเตรียมเครื่องแต่งกายได้เหมาะสม เช่น หากอากาศร้อนชื้นจะเหมาะกับเสื้อผ้าที่บางเบาระบายเหงื่อได้ดี แต่หากอากาศหนาวก็ควรเตรียมอุปกรณ์กันหนาวที่เหมาะกับอุณหภูมิในพื้นที่ รวมถึงถุงมือและหมวกกันหนาว เป็นต้น ทั้งนี้ แนะนำให้เตรียมเสื้อผ้าและอุปกรณ์ที่กันแสง UV ได้ดีไม่ว่าสภาพอากาศจะเป็นอย่างไร เนื่องจากอาจต้องเดินท่ามกลางแสงแดดอยู่หลายชั่วโมงนั่นเอง
ข้อมูลอื่นๆ ที่ควรศึกษาเพื่อการ Trekking ที่สนุกและปลอดภัยที่สุด
นอกเหนือจากลักษณะทางภูมิศาสตร์แล้ว ข้อมูลอื่นๆ ที่ป่าและอุทยาน หรือแม้แต่โปรแกรมทัวร์เดินป่าจะให้กับนักท่องเที่ยวก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้การเตรียมตัวของเราทำได้ง่ายขึ้น เช่น ลักษณะการพักแรม ซึ่งบางครั้งการ Trekking จะต้องมีการพักแรมในเส้นทาง บางเส้นทางจะเป็นแบบนอนเต็นท์ บางเส้นทางจะมีบ้านพักตามจุดบริการกลางทาง ซึ่งจะทำให้มีความแตกต่างกันทั้งความสะดวกสบาย และการเข้าห้องน้ำที่ไม่คุ้นเคย จึงเป็นอีกหนึ่งในข้อมูลเพื่อการตัดสินใจและเตรียมตัว
เตรียมพร้อมเรื่องอาหารและเครื่องดื่ม
ลักษณะอาหารและน้ำดื่มในการเดินทาง โดยนับรวมถึงมื้ออาหารที่ผู้นำเส้นทางเตรียมไว้ และอาหารพลังงานที่เราต้องจัดเตรียมไปเอง เช่น Energy Snack หรือน้ำเกลือแร่ ฯลฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่แพ้อาหาร จำเป็นต้องรู้ข้อมูลส่วนนี้เพื่อความปลอดภัยในการเดินทาง
เตรียมพร้อมเรื่องความปลอดภัย
ระบบการรักษาความปลอดภัยหากเกิดเหตุฉุกเฉิน ซึ่งตามปกติอุทยานหรือสถานที่ท่องเที่ยวจะมีจัดระบบความปลอดภัยไว้ให้นักท่องเที่ยว แต่ก็เป็นการดีไม่น้อยหากทำการศึกษาไป และเตรียมตัวเองหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน จะได้ออกจากเส้นทางไปโรงพยาบาลได้อย่างเร็วที่สุด
อย่าลืมประเมินตนเองเพื่อวางแผนเตรียมร่างกายให้สามารถไป Trekking ได้อย่างมีความสุข ที่สำคัญที่สุด หากเราอยากไป Trekking ได้สนุกสนาน ไม่เหนื่อยล้าจนเกินไป และปลอดภัยกลับมาใช้ชีวิตประจำวันตามปกติได้ ก็ต้องมีการประเมินร่างกายของตัวเอง และเตรียมตัวออกกำลังกายเพื่อให้แข็งแรงพอสำหรับเส้นทางที่จะไปพิชิต
และอย่าลืมเช็กว่าตนเองมีโรคประจำตัวอะไรบ้าง เป็นโรคประจำตัวที่สามารถเดินทางไกลได้หรือไม่ มีอาการเหนื่อยง่ายจนเป็นอันตรายหรือไม่ เป็นต้น หากมีปัญหาเหล่านี้ควรแจ้งผู้ร่วมเดินทาง หรือปรึกษาไปยังอุทยานและผู้ชำนาญพื้นที่เสมอ และในวันเดินทางต้องนำยาประจำตัวพกติดตัวไปด้วยทุกครั้ง เพื่อนำมาใช้ได้ทันทีหากเกิดเหตุฉุกเฉิน
ความแข็งแรงของร่างกาย หากไม่เคยออกกำลังกายมาก่อนและมีแผนไปเดินป่าในระยะไกล ควรหันกลับมาเริ่มออกกำลังกายเพื่อเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อแกนกลางลำตัว สะโพก และขา รวมถึงออกกำลังกายเพื่อให้มีระบบหัวใจแข็งแรงคงทน ซึ่งหมายถึง การเวตเทรนนิ่งและออกกำลังกายคาร์ดิโอ/แอโรบิกอย่างสม่ำเสมอนั่นเอง ทั้งนี้ หากมีเวลาเตรียมตัวออกกำลังกายมากกว่า 3 เดือนขึ้นไป จะได้ผลลัพธ์ที่ชัดเจนแน่นอน
การเตรียมความพร้อมหากต้องไปยังยอดเขาในระดับ High Altitude หรือยอดเขาที่อยู่เหนือระดับน้ำทะเลมากกว่า 2,400 เมตรขึ้นไป ก็ยิ่งต้องมีการออกกำลังกายเพื่อให้ร่างกายแข็งแรงและมีความอึดให้พร้อมที่สุด รวมถึงวางแผนการเดินทางให้มีการพักผ่อน มีอาหารและน้ำดื่มที่เพียงพอ และที่สำคัญแผนการเดินทางต้องไม่รีบร้อนในการเพิ่มระดับความสูงในเส้นทางเร็วเกินไป ที่จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิด AMS ได้ หากมีความไม่แน่ใจในเรื่องสุขภาพของตนเอง หรือมีความกังวลในการเกิด AMS สามารถนำแผนการเดินทางไปปรึกษาแพทย์ประจำตัว หรือแพทย์เวชศาสตร์การท่องเที่ยวได้ ทั้งนี้ การเตรียมยาเพื่อป้องกันการเกิด AMS ควรอยู่ในการดูแลของแพทย์ เพื่อให้ใช้ยาได้ถูกต้องและปลอดภัยนั่นเอง
เมื่อรู้แบบนี้แล้วการเตรียมตัวไป Trekking ก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป เพียงแค่ต้องหาข้อมูลและเตรียมตัวเองให้เหมาะกับพื้นที่ที่จะเดินทางไปให้มากที่สุด หากเราเตรียมได้ดีแล้วการเดินทางครั้งนี้ก็จะสร้างความประทับใจ และได้รีเฟรชร่างกายกับจิตใจให้สดชื่นได้อย่างแน่นอน
Trekking คือ ‘การเดินป่าระยะไกล’ ทำให้ได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติเต็มที่ อาจมีการค้างแรมตั้งแคมป์ในป่าเป็นระยะเวลาหนึ่งด้วย
ก่อนไป Trekking ควรศึกษาเส้นทางและหาข้อมูล เพื่อให้นักเดินทางได้ศึกษาและวางแผนเตรียมตัวก่อนมาท่องเที่ยว จะได้สนุกและมีความปลอดภัยมากที่สุด
ระยะทางทั้งหมดที่จะต้องเดินเท้า โดยมีระยะเวลามาเกี่ยวข้อง หากเดินป่าระยะไกลอาจใช้เวลาเช้าจรดเย็นหรือหลายวัน จึงต้องวางแผนเรื่องน้ำ อาหาร และสัมภาระให้เพียงพอเหมาะสม
เตรียมร่างกายให้แข็งแรงพอ หรือเตรียมอุปกรณ์บางอย่าง เช่น ไม้เท้าเดินป่า (Trekking Pole) เพื่อไปพิชิตเส้นทางที่แตกต่างเรื่องความสูงชันในแต่ละพื้นที่ให้สำเร็จ
ศึกษาสภาพอากาศและการพยากรณ์อากาศในช่วงที่เดินทาง เพื่อจัดเตรียมเครื่องแต่งกายได้อย่างเหมาะสม เช่น เสื้อผ้า อุปกรณ์กันแดด กันฝน หรือกันหนาว
เตรียมพร้อมเรื่องความปลอดภัยหากเกิดเหตุฉุกเฉิน ซึ่งตามปกติอุทยานหรือสถานที่ท่องเที่ยวจะมีการจัดระบบความปลอดภัยไว้ให้นักท่องเที่ยวอยู่แล้ว แต่ควรศึกษาไว้เพิ่มเติม หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันจะได้ออกจากเส้นทางไปโรงพยาบาลได้อย่างเร็วที่สุด
ประเมินร่างกายของตัวเอง และเตรียมตัวออกกำลังกายเพื่อให้แข็งแรงพอสำหรับเส้นทางที่จะไปพิชิต
อย่าลืมเช็กว่าตนเองมีโรคประจำตัวอะไรบ้าง เป็นโรคประจำตัวที่สามารถเดินทางไกลได้หรือไม่ มีอาการเหนื่อยง่ายจนเป็นอันตรายหรือไม่ ในวันเดินทางต้องนำยาประจำตัวพกติดตัวไปด้วยทุกครั้ง เพื่อนำมาใช้ได้ทันทีหากเกิดเหตุฉุกเฉิน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: