กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ (DOJ) เปิดเผยว่า Boeing บริษัทผู้ผลิตเครื่องบินรายใหญ่ของโลก ตกลงที่จะรับสารภาพผิดในข้อหาสมรู้ร่วมคิดในการฉ้อโกง หลังจากที่รัฐบาลสหรัฐฯ พบว่า บริษัทละเมิดข้อตกลงที่มุ่งปรับปรุงความปลอดภัย หลังเกิดเหตุเครื่องบิน 737 MAX ตก 2 ครั้ง ทำให้ผู้โดยสารและลูกเรือเสียชีวิต 346 คน
DOJ ระบุว่า Boeing ยังตกลงที่จะจ่ายค่าปรับทางอาญาจำนวน 243.6 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 8.84 พันล้านบาท) อย่างไรก็ตาม ครอบครัวของผู้เสียชีวิตในเที่ยวบินเมื่อ 5 ปีก่อน วิพากษ์วิจารณ์ข้อตกลงนี้ว่าเป็น ‘ข้อตกลงที่เอื้อประโยชน์’ ซึ่งจะช่วยให้ Boeing หลีกเลี่ยงความรับผิดชอบอย่างเต็มที่ต่อการเสียชีวิต โดยมีผู้เรียกข้อตกลงนี้ว่าเป็น ‘สิ่งที่น่ารังเกียจอย่างร้ายแรง’
ข้อตกลงนี้จะต้องได้รับการอนุมัติจากผู้พิพากษาสหรัฐฯ ก่อน ขณะเดียวกันการยอมรับผิดของ Boeing จะช่วยให้บริษัทหลีกเลี่ยงการพิจารณาคดีอาญา ซึ่งเป็นสิ่งที่ครอบครัวของเหยื่อเรียกร้อง
บริษัทตกอยู่ในวิกฤตเกี่ยวกับประวัติความปลอดภัย นับตั้งแต่เกิดเหตุเครื่องบิน 737 MAX ตก 2 ครั้งในปี 2018 และ 2019 ซึ่งนำไปสู่การสั่งห้ามบินทั่วโลกนานกว่า 1 ปี
ในปี 2021 อัยการตั้งข้อหา Boeing ในข้อหาสมรู้ร่วมคิดเพื่อหลอกลวงหน่วยงานกำกับดูแล โดยกล่าวหาว่าบริษัทหลอกลวงองค์การบริหารการบินแห่งสหรัฐอเมริกา (FAA) เกี่ยวกับระบบควบคุมการบิน MCAS ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุทั้ง 2 ครั้ง
การตัดสินใจยอมรับข้อกล่าวหาของ Boeing ยังคงเป็นตราบาปที่สำคัญสำหรับบริษัท เนื่องจากหมายความว่าบริษัทซึ่งเป็นผู้รับเหมาทางทหารรายสำคัญของรัฐบาลสหรัฐฯ ขณะนี้มีประวัติอาชญากรรม
ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าประวัติอาชญากรรมจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจรับเหมาของบริษัทอย่างไร โดยปกติแล้วรัฐบาลจะห้ามหรือระงับบริษัทที่มีประวัติไม่ให้เข้าร่วมในการเสนอราคา แต่สามารถให้การยกเว้นได้เช่นกัน
“ข้อตกลงที่เอื้อประโยชน์นี้ เรียกได้ว่าละเลยข้อเท็จจริงที่ว่ามีผู้เสียชีวิต 346 คน เนื่องจากการสมรู้ร่วมคิดของ Boeing” Paul Cassell ทนายความที่เป็นตัวแทนของครอบครัวผู้เสียชีวิตบางส่วนในเที่ยวบินปี 2018 และ 2019 กล่าว “ด้วยการใช้กฎหมายอย่างชาญฉลาดระหว่าง Boeing และ DOJ ผลลัพธ์ที่ร้ายแรงของอาชญากรรมของ Boeing จึงถูกซ่อนไว้”
Ed Pierson ผู้อำนวยการบริหารของ The Foundation for Aviation Safety และอดีตผู้จัดการอาวุโสของ Boeing กล่าวว่า “คำสารภาพผิดนี้น่าผิดหวังอย่างมาก และเป็นข้อตกลงที่แย่มากสำหรับความยุติธรรม”
ในข้อตกลงปี 2021 Boeing ยังตกลงที่จะจ่ายเงิน 2.5 พันล้านดอลลาร์ (ประมาณ 9.1 หมื่นล้านบาท) เพื่อยุติเรื่องนี้ รวมถึงค่าปรับทางอาญา 243 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 8.81 พันล้านบาท) และ 500 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 1.81 หมื่นล้านบาท) สำหรับกองทุนช่วยเหลือเหยื่อ
ปัญหาเกี่ยวกับ MCAS ไม่ใช่ครั้งแรกที่ Boeing มีปัญหาในด้านกฎหมาย บริษัทยังจ่ายเงินหลายล้านดอลลาร์เป็นค่าปรับให้กับ FAA ตั้งแต่ปี 2015 เพื่อแก้ไขข้อเรียกร้องต่างๆ เกี่ยวกับการผลิตที่ไม่เหมาะสมและปัญหาอื่นๆ
นอกจากนี้ บริษัทยังคงเผชิญกับการสืบสวนและคดีความที่เกิดจากเหตุการณ์ในเที่ยวบิน Alaska Airlines ในเดือนมกราคม โดย FAA เพิ่งออกมาสั่งให้ตรวจสอบเครื่องบิน 737 จำนวน 2,600 ลำ เพื่อแก้ไขรายงานที่ว่าเครื่องกำเนิดออกซิเจนบนเครื่องบินกำลังเคลื่อนออกจากตำแหน่ง
FAA กล่าวว่า สถานการณ์นี้อาจทำให้หน้ากากออกซิเจนทำงานล้มเหลวในกรณีที่เครื่องบินสูญเสียแรงดัน
ภาพ: Miguel Lagoa / Shutterstock
อ้างอิง: