×

คลับของรัสเซีย-จีน กับบทบาท ‘ผู้สร้างเสถียรภาพโลก’ แต่ NATO กังขา

08.07.2024
  • LOADING...

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีนได้เดินทางไปร่วมประชุมองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ หรือ SCO ครั้งที่ 24 ที่กรุงอัสตานาของคาซัคสถาน ท่ามกลางสายตาของหลายฝ่าย โดยเฉพาะตะวันตกที่มองว่าจีนและรัสเซียจับมือกันแน่นขึ้นและพยายามจะสร้างระเบียบโลกใหม่

 

แถลงการณ์จากที่ประชุม SCO มีข้อเรียกร้องที่ชัดเจนคือ ‘โลกควรมีหลายขั้วอำนาจ’ เพื่อจัดการกับความเสี่ยงและความท้าทายด้านความมั่นคงที่โลกเผชิญในปัจจุบัน

 

SCO คืออะไร การประชุมที่เกิดขึ้นมีอะไรน่าจับตา

 

SCO คืออะไร มีที่มาจากอะไร

 

รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม เคยให้ข้อมูลกับ THE STANDARD ว่า จุดเริ่มต้นของ SCO มาจากการพัฒนาต่อยอดจากความห่วงกังวลของจีนในพื้นที่เปราะบางทางตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งก็คือเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ ที่มีพรมแดนติดต่อกับประเทศในภูมิภาคเอเชียกลาง ซึ่งเดิมเคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต โดยเฉพาะในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่าน ภายหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี 1991 ที่อิทธิพลของสหรัฐอเมริกากำลังแทรกเข้าในภูมิภาคเอเชียกลาง ซึ่งเป็นปัญหาในลักษณะเดียวกันกับกรณีรัสเซีย ยุโรปตะวันออก และการขยายอิทธิพลขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO)

 

ดังนั้นจีน ภายใต้การสนับสนุนของรัสเซีย ที่ไม่ต้องการเห็นสหรัฐฯ เข้ามาแทรกแซงกิจการในพื้นที่ซึ่งเคยเป็นเสมือนสนามหลังบ้านของตน จึงสร้างเวทีในการเจรจาการปักปันเขตแดนและเขตปลอดทหารขึ้นระหว่างจีน รัสเซีย คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน และทาจิกิสถาน ต่อมาในปี 1996 เวทีการเจรจานี้ได้ยกระดับขึ้นเป็นการรวมกลุ่มเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารด้านความมั่นคงระหว่างประเทศภาคี ภายใต้ชื่อกลุ่มว่า Shanghai Five

 

พัฒนาการสำคัญของกลุ่ม Shanghai Five เกิดขึ้นอีกครั้งในปี 2001-2002 เมื่ออุซเบกิสถานเข้าร่วมเป็นสมาชิกลำดับที่ 6 ทำให้ทั้งกลุ่มเปลี่ยนชื่อเป็น ‘องค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้’ ที่เน้นการสร้างความร่วมมือที่ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้นในมิติการเมืองและเศรษฐกิจ ซึ่งมุ่งเน้นไปที่เอเชียกลาง

 

ปี 2017 SCO รับอินเดียและปากีสถานเข้าเป็นประเทศภาคีสมาชิกอย่างเป็นทางการ ก่อนที่ในปี 2023 อิหร่านจะเข้ามาเป็นสมาชิกอีกรายหนึ่ง และล่าสุดเมื่อวันพฤหัสบดีที่แล้ว เบลารุสก็ได้สมาชิกใหม่อย่างเป็นทางการ

 

โดยสรุปแล้ว ปัจจุบันสมาชิก SCO มีอยู่ 10 ประเทศด้วยกัน ได้แก่ อินเดีย อิหร่าน คาซัคสถาน จีน คีร์กีซสถาน รัสเซีย ปากีสถาน ทาจิกิสถาน อุซเบกิสถาน และเบลารุส ส่งผลให้ SCO กลายเป็นกรอบความร่วมมือที่ใหญ่ที่สุดกรอบหนึ่งของโลก มีสัดส่วนประชากรมากกว่า 40% ของโลก มีพลังอำนาจทางเศรษฐกิจราว 1 ใน 4 ของโลก และถือครองสัดส่วนน้ำมันสำรองราว 20% ของโลก

 

บทบาท ‘ผู้สร้างเสถียรภาพโลก’

 

“เราควรประสานความร่วมมือเพื่อต่อต้านการแทรกแซงจากภายนอก…เอื้อมมือคว้าอนาคตและโชคชะตาของเราเองอย่างมั่นคง เฉกเช่นเดียวกับสันติภาพและการพัฒนาในภูมิภาค ที่เราจะสร้างด้วยมือของเราเอง”

 

นี่คือถ้อยแถลงจากสี ที่เรียกร้องให้ผู้นำจากนานาประเทศต่อต้าน ‘การแทรกแซงจากภายนอก’ โดยชาติตะวันตกมองว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ จีนและรัสเซียซึ่งเป็นชาติสมาชิกใหญ่พยายามปรับบทบาทของ SCO จากเดิมที่เป็นกลุ่มความมั่นคงในภูมิภาคซึ่งเน้นไปที่เอเชียกลาง สู่การเป็นองค์กรด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่มีไว้คานอำนาจกับสถาบันของโลกตะวันตกที่นำโดยสหรัฐฯ และพันธมิตร

 

ปัจจุบันกลุ่ม SCO ขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ จึงถูกมองว่าเป็นคลับหรือสโมสรที่นำโดยจีนและรัสเซีย และกำลังมีอิทธิพลมากขึ้นเรื่อยๆ ในภูมิรัฐศาสตร์

 

นอกจากนี้ การพบปะกันของสีและ วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ในช่วงก่อนเปิดการประชุมก็เป็นที่จับตาด้วยเช่นกัน โดยปูตินได้กล่าวชื่นชมความสัมพันธ์ระหว่างสองชาติว่า กำลังเข้าสู่ช่วงที่ ‘ดีที่สุดในประวัติศาสตร์’ ซึ่งควรได้รับการพิจารณาให้เป็น ‘พลังที่สร้างเสถียรภาพ’ ให้กับเวทีระหว่างประเทศ ซึ่งรัสเซียและจีนจะเดินหน้ายกระดับความร่วมมือเช่นนี้ต่อไป

 

ปูตินยังกล่าวด้วยว่า ท่ามกลางการเติบโตของ SCO ที่มีสมาชิกเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ “บทบาทของ SCO จึงเติบโตขึ้น ในฐานะหนึ่งในเสาหลักสำคัญที่ค้ำจุนระเบียบโลกหลายขั้วอำนาจ”

 

ด้าน นาฟจูวอนอฟ อับดุลโล ชานบีวิช (Navjuvonov Abdullo Shanbievich) อดีตหัวหน้ากรมกระทรวงกิจการภายในประจำเขตซักฮัญ์ (Sughd) ของทาจิกิสถาน ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ Global Times ว่า เป้าหมายหลักของ SCO คือความร่วมมือในด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม โดยเน้นไปที่การแก้ไขข้อขัดแย้ง การต่อสู้กับการก่อการร้าย และการรักษาเสถียรภาพ ในภูมิภาคเอเชียกลางและที่อื่นๆ อีกทั้งยังเป็นเวทีที่ชาติต่างๆ มุ่งมั่นสร้างความร่วมมือและแก้ไขข้อขัดแย้ง โดยยึดหลักความเสมอภาคและการเคารพซึ่งกันและกัน

 

“SCO เป็นเวทีสำหรับการพัฒนาความสัมพันธ์ทางการค้าและเศรษฐกิจ การขยายโครงการโครงสร้างพื้นฐาน และการจัดการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่สมดุล พูดตามตรงนะครับ SCO ไม่เหมือนกับ NATO เพราะ SCO เลือกไม่เผชิญหน้าอย่างเปิดเผยกับใครเลย และไม่กระตุ้นให้ใครมีความขัดแย้งต่อกันด้วย

 

“NATO มุ่งไปที่การป้องกันโดยรวมของชาติสมาชิกและการปฏิบัติการทางทหาร เพื่อรับรองความปลอดภัยของสมาชิกทั้งหมด…รัสเซียมักแสดงความกังวลเกี่ยวกับการขยายตัวไปทางตะวันออกของ NATO และการเพิ่มกำลังทางทหารใกล้เขตชายแดน ซึ่งรวมถึงการวางโครงสร้างพื้นฐานทางทหารและการฝึกซ้อมทางทหาร สิ่งนี้ถูกมองว่าเป็นปัจจัยที่บั่นทอนความมั่นคงในภูมิภาค ซึ่งทุกๆ การกระทำล้วนมีส่วนทำให้โลกเข้าใกล้ความขัดแย้งมากขึ้น” ชานบีวิชกล่าว

 

ตะวันตกมองต่าง SCO คือภัยคุกคาม

 

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า สิ่งที่เป็นไฮไลต์สำคัญของการประชุมปีนี้คือ SCO ได้รับเบลารุสเข้าเป็นสมาชิกรายที่ 10 ท่ามกลางการจับตาจากโลกตะวันตก เพราะเบลารุสเป็นมหามิตรของรัสเซีย และเป็นชาติที่เปิดทางให้รัสเซียเดินทัพเข้ารุกรานยูเครนเมื่อปี 2022 ด้วย

 

สำนักข่าว CNN สัมภาษณ์ เอวา ไซเวิร์ต (Eva Seiwert) ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายต่างประเทศของจีนประจำสถาบัน Mercator Institue for China Studies (MERICS) ของกรุงเบอร์ลิน เธอมองว่าการเข้ามาของเบลารุสนั้นตอกย้ำให้เห็นชัดเจนว่าภารกิจของ SCO เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

 

“กรณีของเบลารุสแตกต่างจากตอนที่รับอิหร่านเข้ามาเป็นสมาชิก เพราะ SCO ไม่ได้รับความร่วมมือทางเศรษฐกิจหรือความมั่นคงมากนักจากเบลารุส นั่นเป็นเหตุผลที่ดิฉันมั่นใจว่ามันเป็นการเคลื่อนไหวทางภูมิรัฐศาสตร์มากกว่า” ไซเวิร์ตกล่าว

 

นอกจากนี้ เธอเสริมด้วยว่า ท่ามกลางสงครามระหว่างยูเครนและรัสเซียที่กินเวลาล่วงเลยสู่ปีที่ 3 SCO ได้กลายเป็นช่องทางทางการทูตที่สำคัญสำหรับปูติน อีกทั้งยังเป็นเวทีให้ปูตินได้มีโอกาสแสดงให้โลกเห็นว่ารัสเซียไม่ได้โดดเดี่ยวในสายตาประชาคมโลก

 

ขณะเดียวกัน ในช่วงเวลาที่ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ อ่อนแอลงเช่นนี้ ไซเวิร์ตจึงมองว่าจีนอาจไม่วิตกกังวลมากนักหาก SCO จะถูกมองว่าเป็นองค์กรต่อต้านตะวันตก “พวกเขาต้องการให้โลกมองว่า SCO คือองค์กรหลักที่ไม่อาจเพิกเฉยได้อีกต่อไป…จีนและรัสเซียต้องการแสดงออกว่าพวกเขามีประเทศอีกมากมายที่พร้อมยืนเคียงข้างในเวทีโลก”

 

ขณะที่ เบตส์ กิลล์ (Bates Gill) นักวิจัยอาวุโสของสำนักงานการวิจัยเอเชียแห่งชาติ (The National Bureau of Asian Research) กล่าวว่า การที่ SCO รับเบลารุสเข้าเป็นสมาชิกอาจก่อให้เกิดคำถามกับประชาคมโลก

 

“การรับเบลารุสเข้ามาเป็นสมาชิกทำให้เกิดการตั้งคำถามเกี่ยวกับชื่อเสียง ความชอบธรรม และอำนาจหน้าที่ของ SCO เมื่ออิงจากธรรมชาติของระบอบการปกครองเบลารุส รวมถึงกรณีที่เบลารุสสนับสนุนการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ รวมทั้งสนับสนุนการรุกรานยูเครนของรัสเซียอย่างโจ่งแจ้ง” กิลล์กล่าว

 

ขณะเดียวกัน สื่อตะวันตกยังมองด้วยว่า การที่กลุ่ม SCO มีท่าทีเสมือนเป็นองค์กรที่ต่อต้านชาติตะวันตกมากขึ้นเรื่อยๆ จากการรับทั้งอิหร่านและเบลารุสเข้าเป็นสมาชิก อาจสร้างความลำบากใจต่อสมาชิกชาติอื่นๆ ที่อยากจะรักษาความสัมพันธ์อันดีกับตะวันตก รวมถึงอดีตประเทศที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียตในเอเชียกลาง

 

“ในบางมิติ สิ่งนี้ทำให้ประเทศในเอเชียกลางตกอยู่ในสถานะที่น่าอึดอัดใจ” กิลล์กล่าว “พวกเขาแสวงหาการทูตแบบหลายวิถี (Multi-trajectory Diplomacy) พวกเขาไม่ต้องการผูกติดอยู่กับมหาอำนาจสำคัญเพียงประเทศเดียว เช่น รัสเซียหรือจีน”

 

ภาพ: Sergei GUNEYEV / POOL / AFP

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising