×

‘สิ่งที่ชอบ’ กับ ‘ความรับผิดชอบ’ จำเป็นต้องเลือกไหม และจัดสมดุลอย่างไรให้มีความสุข

05.06.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • ถ้าเราจะมีความสุขกับชีวิตได้ เราต้องเริ่มต้นจากเปลี่ยนทัศนคติกับสิ่งที่เรารับผิดชอบให้ได้ก่อน ถ้าเรามองว่างานคือสิ่งที่ทำแล้วทรมาน อยากทำให้จบๆ ไป ชีวิตเราน่าจะเศร้ามาก แต่ถ้าเรามองว่านี่คือสิ่งที่มันไม่ได้ ‘สนุก’ แต่มัน ‘ท้าทาย’ เราจะทำอย่างไรให้ดีที่สุดให้ได้
  • เราไม่จำเป็นต้องชอบงานที่เราทำ บางทีเราก็ไม่ได้ทำงานในฝันของเรา แต่เรามีหน้าที่รับผิดชอบทำให้มันดีที่สุดเสมอ ไม่ใช่เพราะเงิน ไม่ใช่เพราะผลตอบแทน แต่เพราะคุณภาพของงานมันบอกคุณภาพความเป็นมนุษย์ของเรา
  • ถ้าทัศนคติเราถูกต้อง ความสมดุลจะเกิดขึ้นเองระหว่างสิ่งที่ ‘ชอบ’ กับ ‘ความรับผิดชอบ’ ของเรา ถ้าเราเห็นว่าทุกอย่างเกี่ยวข้องกัน เราจะพบว่าเราไม่ต้องได้อย่างเสียอย่าง แต่เราสามารถทำทั้งความรับผิดชอบของเราควบคู่ไปกับเรื่องที่เราชอบได้อย่างสบายและมีความสุขด้วย

เมื่อวานได้อินบ็อกซ์มาจากน้องคนหนึ่ง ชื่อน้องฝ้ายครับ ผมเห็นว่าน่าสนใจดี เลยขอก๊อบปี้คำถามมาให้ดูกัน

 

“รบกวนขอฝากหัวข้อไว้ เผื่อถ้าพี่พอมีข้อมูล ได้พูดหรือเล่าให้ฟังถึงประเด็นนี้จะขอบคุณมากๆ เลยค่ะ

 

“เราจะจัดสมดุลระหว่างสิ่งที่รับผิดชอบกับสิ่งที่ชอบยังไงให้ลงตัวได้บ้างคะ… เท่าที่ฟังเรื่องของพี่รวิศมา พี่คือคนหนึ่งที่งานเยอะมาก แต่ก็แบ่งเวลาและมีวินัยกับตัวเองดีมากเช่นกัน… ฝ้ายเคยได้อ่านหนังสือเล่มหนึ่ง จำไม่ได้ว่าชื่อเรื่องว่าอะไร แต่ไปเจอข้อความนี้แล้วชอบ เขาบอกว่าเราควรหาจุดสมดุลระหว่างสิ่งที่รับผิดชอบกับสิ่งที่เราชอบให้เจอแล้วจะทำให้ชีวิตมีความสุขได้มากขึ้น (ประมาณนี้นะคะ จำทั้งหมดไม่ได้) อ่านแล้วชอบ แต่เอาจริงๆ ก็อยากรู้ว่าเราจะทำแบบนั้นได้ยังไง เคยพยายามจัด แต่บางทีงานก็มากวนเวลาชีวิตเราไปเยอะเหมือนกันค่ะ แม้จะชอบงานที่ทำ แต่พอมากเกินเราก็เหนื่อยจนบางทีก็หมดพลังได้… เลยกวนปรึกษาพี่รวิศนะคะ ถ้าพอมีคำแนะนำเรื่องนี้ น้องจะขอบคุณมากๆ เลยค่ะ”

 

ก่อนอื่นต้องขอบคุณสำหรับกำลังใจและขอบคุณที่ติดตามนะครับ

 

เรื่องนี้น่าสนใจมากครับ เพราะผมเจอทุกวัน และผมก็ถามตัวเองอยู่เรื่อยๆ เหมือนกัน ตอนนี้บางทีก็ถามอยู่เหมือนกัน เอาเป็นว่าเท่าที่ผมได้ข้อสรุปมาถึงวันนี้ ขอย้ำว่าถึงวันนี้ เพราะพรุ่งนี้อาจจะได้อะไรเพิ่มก็ได้ ข้อสรุปมันเป็นประมาณนี้ครับ

 

สิ่งที่เรา ‘ชอบ’ กับสิ่งที่เรา ‘รับผิดชอบ’ ถ้าดูแบบผิวเผินมันมี 2 จำพวก

 

หนึ่งคือ สิ่งที่มีความเกี่ยวข้องกัน

 

สองคือ สิ่งที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกัน

 

แต่ในความเป็นจริง ถ้าพิจารณาดูดีๆ แล้วคุณจะพบว่าจำพวกที่สอง ‘ไม่มี’ ครับ เพราะทุกอย่างเกี่ยวข้องกันหมด

 

อันนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวนะครับ หลายท่านอาจจะไม่เห็นด้วย ไม่เป็นไรครับ

 

ก่อนจะลงรายละเอียดเรื่องนั้น ผมอยากเล่าอะไรให้ฟังครับ ปีนี้ผมได้มีโอกาสใช้ชีวิตและใช้เวลาละเอียดขึ้นเยอะมาก ผมพบว่าทุกการกระทำเล็กๆ ของเราส่งผลต่อชีวิตด้านอื่นของเราเยอะมาก

 

เรียกได้ว่าทุกเรื่องต่อเนื่องกันไปหมด และจากจุดเล็กๆ ของแอ็กชันในชีวิตที่เราอาจจะไม่ได้ใส่ใจมากมันช่างส่งผลต่อเนื่องให้เกิดเรื่องอะไรได้เต็มไปหมด ทั้งเรื่องเล็กๆ และเรื่องใหญ่มากๆ

 

นี่ล่ะมั้งครับที่เขาเรียกว่า Butterfly Effect

 

การใช้ชีวิตแบบละเอียดนั้น จริงๆ คือการใส่ใจกับเรื่องที่ทำอยู่ และนึกถึงผลกระทบของมัน แค่นี้ล่ะครับ

 

จริงอยู่ เราไม่สามารถควบคุมผลลัพธ์ของทุกเรื่องได้ นั่งกินข้าวอยู่ อาจจะมีรถเบรกแตกมาชนร้านอาหารที่เรากินอยู่ก็ได้

 

แต่ความจริงเรื่องพวกนั้นเกิดขึ้นได้น้อยครับ แล้วเรื่องที่เราควบคุมไม่ได้ เราก็ไม่ต้องสนใจมันหรอกครับ เพราะเรื่องส่วนใหญ่ในชีวิตเรามาจากผลกระทบตรงๆ จากการกระทำของเรานี่ล่ะ

 

มีผู้ใหญ่ท่านหนึ่งเคยสอนผมไว้ว่า

 

“ไม่ต้องกังวลกับเรื่องที่เราควบคุมไม่ได้ แต่ให้เรานำพลังงานทั้งหมดมาใช้กับเรื่องที่เราควบคุมได้ คือการทำปัจจุบันขณะให้ดีที่สุด สิ่งที่เราทำตอนนี้ และคนที่อยู่หน้าเราตอนนี้คือสิ่งสำคัญที่สุดแล้ว”

 

ตอนแรกที่ผมฟัง ผมไม่รู้เรื่องเลยครับ แต่ผมค่อยๆ ถอดรหัสเรื่องนี้ทีละน้อยจนคิดว่าผมเข้าใจประมาณหนึ่งแล้ว

 

ไม่มีอะไรสำคัญกว่าสิ่งที่เราทำตอนนี้ คนที่เราอยู่ด้วยตอนนี้ ให้ใช้พลังงานกับมันมากที่สุด

 

เรื่องนี้ขอบอกว่ายากมาก แต่ถ้าทำได้ คุณจะได้ชีวิตที่มีพลัง มีความสุข และเต็มไปด้วยจุดหมายครับ

 

คำว่า ‘ใช้ชีวิตไปวันๆ’ จะไม่มีอยู่ในสารบบของคุณอีกเลย

 

การใส่ใจกับรายละเอียดมันทำงานแบบนี้ครับ

 

คุณไม่ยอมใช้ไหมขัดฟัน ทั้งๆ ที่รู้อยู่แล้วว่าควรใช้ หมอฟันก็บอกไม่รู้เท่าไรแล้ว แต่ก่อนนอนมัน ‘ขี้เกียจ’ ใช่ไหม ขัดฟันแค่นาทีเดียวก็ไม่ได้ เรื่องเล็กๆ นี้พาคุณทุกข์ทรมานอยู่ในคลินิกหมอฟันวันนี้

 

คุณไม่ยอมทำเรื่องเล็กๆ อย่างเก็บเงินแค่ 10% ของรายได้ทุกเดือน ผ่านไปจนอายุ 60 คุณเฝ้าถามตัวเองว่าทำไมฉันมีชีวิตที่ตกยากขนาดนี้ ทำไมเพื่อนอีกคนรายได้ก็พอๆ กัน ทำไมเขาดูสุขสบาย โลกนี้ช่างไม่ยุติธรรม

 

คุณไม่ยอมทำเรื่องเล็กๆ อย่างสละเวลาอ่านหนังสือสัปดาห์ละเล่ม แต่เลือกดูทีวีแทน เพราะทำงานมาทั้งวันมัน ‘เหนื่อย’ แล้ว จะให้อ่านหนังสืออีก บ้าหรือเปล่า ผ่านไป 5 ปี เพื่อนของคุณได้เลื่อนตำแหน่งเป็น C-level ในขณะที่คุณยังแทบไม่ขยับจากตำแหน่งเดิม คุณด่าผู้บริหารว่าไม่ยุติธรรม เพื่อนคุณคนนี้จบที่เดียวกับคุณ เกรดก็พอๆ กัน ทำไมถึงได้ตำแหน่งใหญ่ขนาดนี้ได้

 

คุณไม่ยอมทำเรื่องเล็กๆ เช่น เก็บอารมณ์ความเกรี้ยวกราดแล้วตวาดคนอื่นต่อหน้าลูกอายุ 6 ขวบของคุณไป อีก 10 ปีต่อมาลูกของคุณก็เกรี้ยวกราดใส่คุณ ขว้างของใส่คุณ คุณสงสัยมากว่าทำไมลูกโตมาเป็นแบบนี้ได้ ทั้งๆ ที่คุณพร่ำสอนมาตลอดให้ลูกของคุณมารยาทดี เคารพนบนอบผู้ใหญ่

 

คุณไม่ยอมทำเรื่องเล็กๆ อย่างออกกำลังกายสม่ำเสมอ เรื่องเล็กๆ นี้อีกหลายสิบปีต่อมาพาคุณมานอนผ่าตัดหัวใจอยู่บนเตียงที่โรงพยาบาล คนที่มาเฝ้าคุณอยู่คือเพื่อนนักวิ่งมาราธอนที่เป็นเพื่อนสนิทรุ่นเดียวกับคุณ แต่ดูเด็กกว่าคุณ 10 ปี ในขณะที่คุณกำลังต่อสู้กับมัจจุราชที่กำลังมายื้อชีวิตของคุณอย่างสุดกำลัง เพื่อนคุณกำลังจะไปแข่งมาราธอนที่บอสตันสัปดาห์หน้า คุณมองหน้าครอบครัวแล้วคิดว่าโลกนี้ไม่ยุติธรรม ทำไมร่างกายเพื่อนเราแข็งแรง แต่ร่างกายเราอ่อนแอขนาดนี้

 

อ้อมเรื่องที่จะพูดไปเสียไกล กลับเข้ามาที่คำถาม

 

เราจะจัดสมดุลระหว่างสิ่งที่รับผิดชอบกับสิ่งที่ชอบให้ลงตัวได้อย่างไรบ้าง

 

เช่นเคย คำตอบของผมเป็นความคิดเห็นส่วนตัวมากๆ นะครับ

 

ผมเชื่อว่าเราจะมีความสุขกับชีวิตได้ เราต้องเริ่มต้นจากเปลี่ยนทัศนคติกับสิ่งที่เรารับผิดชอบให้ได้ก่อน

 

ถ้าเรามองว่างานคือสิ่งที่ทำแล้วทรมาน อยากทำให้จบๆ ไป ชีวิตเราน่าจะเศร้ามากนะครับ แต่ถ้าเรามองว่านี่คือสิ่งที่แน่นอน มันไม่ได้ ‘สนุก’ แต่มัน ‘ท้าทาย’ เราจะทำอย่างไรให้ดีที่สุดให้ได้

 

ไม่ใช่ทำพอผ่านๆ ไป

 

ณ เวลานี้ ปัจจุบันนี้ เราต้องรับผิดชอบทำงาน มีประโยชน์อะไรที่จะทำแบบขอไปที เราขอทำให้ดีที่สุดเลยได้ไหม

 

ผมมีเรื่องหนึ่งจะเล่าให้ฟังครับ

 

ผมเคยคุยกับเพื่อนนักเรียนไทยคนหนึ่งที่ทำงานเสิร์ฟตอนสมัยที่ผมไปเรียนที่อเมริกา ร้านนี้เป็นร้านอาหารไทยที่เจ้าของชอบของสวยๆ งามๆ ของในร้านเลยสวยไปด้วย เพื่อนผมคนนี้เวลาเตรียมร้านก่อนทำงานเขาจะจัดวางช้อนส้อมโดยมีการเล็งระยะเสมอครับ จานที่ออกมาวางเป็น decoration (ซึ่งมันมีลายของร้าน) จะถูกจัดแบบตรงเป๊ะทุกจาน เขาเสิร์ฟอาหารอย่างพิถีพิถันมาก พูดจายิ้มแย้มตลอดไม่ว่าลูกค้าจะกวนประสาทหรืออารมณ์เสียแค่ไหนก็ตาม เจอเพื่อนผมคนนี้แป๊บเดียว อารมณ์ดีทุกคนครับ และแน่นอนว่าแผนกของเพื่อนผมนี่ได้ทิปส์เยอะสุด

 

คืนหนึ่งเราออกไปเที่ยวกันครับ ผมบอกว่าเขาดูรักงานที่ทำมากเลยนะ

 

เขาตอบผมว่าไม่เลย จริงๆ งานมันโคตรน่าเบื่อเลย แต่เขาเคารพตัวเอง ไม่ว่างานอะไรผ่านมือเขา มันจะต้อง ‘ดีที่สุดที่ฝีมือเขาจะทำได้’ ไม่อย่างนั้นมันเท่ากับดูถูกตัวเอง

 

เรื่องนี้ติดอยู่ในหัวผมเสมอมา

 

เราไม่จำเป็นต้องชอบงานที่เราทำ บางทีเราก็ไม่ได้ทำงานในฝันของเรา

 

แต่เรามีหน้าที่รับผิดชอบและทำให้มันดีที่สุดเสมอ ไม่ใช่เพราะเงิน ไม่ใช่เพราะผลตอบแทน แต่เพราะคุณภาพของงานมันบอกคุณภาพความเป็นมนุษย์ของเรา

 

ความเจ๋งมันอยู่ตรงนี้ครับ ถ้าเราทำแบบนี้จนเป็นนิสัย ไม่ว่างานหรือความรับผิดชอบมันจะน่าเบื่อหรือยากแค่ไหน แต่ ‘ความภูมิใจ’ ที่ได้เห็นงานออกมาดี มันจะหล่อเลี้ยงชีวิตเราครับ

 

ส่วนสิ่งที่เราชอบ อันนี้เราทำได้โดยไม่ต้องออกแรงอะไรมาก แต่มันจะเริ่มยากตอนที่เราต้องเลือกระหว่าง ‘ความรับผิดชอบ’ กับ ‘สิ่งที่เราชอบ’ ถ้าเรามีเวลาแค่อย่างเดียว เราจะทำอะไรดี

 

ผมขอเล่าเรื่อง โรเบิร์ต แลง ให้ฟังอีกรอบครับ

 

ในวัยเด็ก โรเบิร์ต แลง มีงานอดิเรกที่เขาชอบมากคือการพับกระดาษ หรือที่เราคุ้นเคยกันในชื่อโอริกามิ อันเป็นศาสตร์อันเก่าแก่ของญี่ปุ่น

 

โรเบิร์ตเป็นคนที่ตั้งใจเรียนสุดๆ และเป็นคนที่เรียนหนังสือได้ดีมากด้วย เขาเรียนวิศวกรรมไฟฟ้าที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด จบปริญญาเอกจากแคลเทค ทั้งสองมหาวิทยาลัยคือมหาวิทยาลัยที่เข้ายากและเรียนยากที่สุดลำดับต้นๆ ของโลก

 

หลังจากจบปริญญาเอก โรเบิร์ตก็เป็นนักวิจัยด้านไฟเบอร์ออปติก แต่เขาไม่เคยทิ้งความหลงใหลในโอริกามิแม้แต่น้อย

 

เขามีอาชีพการงานในวงการวิจัยด้านฟิสิกส์ที่ซับซ้อนและเทคนิคัลเอามากๆ ครับ

 

แต่เขายังคงพับโอริกามิต่อไป รูปแบบต่างๆ ในการพับนั้นถูกรังสรรค์ออกมาอย่างน่าอัศจรรย์ด้วยอัตราการพับเฉลี่ยต่อแผ่นเพิ่มขึ้นจาก 30 ทบเป็นร้อยกว่าทบ ซึ่งมากกว่าที่สุดที่เคยมีการบันทึกเป็นสถิติไว้ ทำให้งานของเขาออกมาดูยังไงก็ไม่เป็นกระดาษแผ่นเดียวเลยครับ

 

สิ่งที่เขาเห็นคือ ‘รูปแบบ’ ของโอริกามิ เมื่อมาผนวกกับความรู้ด้านคณิตศาสตร์ที่เขามีอยู่นั้น เขาก็พบว่าจริงๆ แล้วรูปแบบของการพับทั้งหมดนั้นสามารถคำนวณออกมาได้เป็นแบบแผนอยู่ไม่กี่แบบ เขาจึงได้ทำโปรแกรมที่จะช่วยให้การพับกระดาษต่างๆ ที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยทำได้สามารถทำได้ขึ้นมา

 

โรเบิร์ตปฏิวัติวงการโอริกามิด้วยการผนวก ‘ศิลปะ’ เข้ากับ ‘คณิตศาสตร์’

 

ในที่สุดเมื่ออายุครบ 40 ปี โรเบิร์ตก็ตัดสินใจทิ้งอาชีพนักวิจัยที่กำลังรุ่งโรจน์ของเขา ซึ่งในตอนที่เขาเลิกทำงาน เขามีสิทธิบัตรด้านออปโตอิเล็กทรอนิกส์ (Optoelectronics) อยู่ถึง 46 สิทธิบัตร เพื่อมาศึกษาเรื่องโอริกามิอย่างจริงจัง โรเบิร์ตบอกว่า

 

“มีคนทำงานด้านเลเซอร์กับไฟเบอร์ออปติกเยอะแล้ว แต่สิ่งที่ผมจะทำกับโอริกามิ ถ้าผมไม่ทำ อาจจะไม่มีใครทำสำเร็จ”

 

และดูเหมือนเขาจะพูดถูกเสียด้วย ปรากฏว่างานอดิเรกด้านโอริกามิของเขาได้ถูกนำมาใช้พัฒนาในศาสตร์ด้านอื่นอย่างไม่น่าเชื่อ ยกตัวอย่างเช่น ตอนนาซาจะส่งเลนส์ของกล้องส่องทางไกลซึ่งมีขนาดใหญ่มากๆ ขึ้นไปบนอวกาศ มันต้องถูก ‘พับ’ ให้มีขนาดเล็กเพื่อใส่ลงไปในจรวดให้ได้ก่อนที่จะไปกางออกอีกทีในอวกาศ นาซาก็ได้โรเบิร์ตเป็นที่ปรึกษาในการออกแบบเลนส์เพื่อให้สามารถอยู่ในรูปแบบที่ถูกพับได้และเล็กพอที่จะเก็บในจรวดได้

 

เมื่อผู้ผลิตแอร์แบ็กของเยอรมนีต้องการ ‘พับ’ แอร์แบ็กเข้าไปในตัวรถยนต์ และให้การกางของแอร์แบ็กเมื่อรถเกิดอุบัติเหตุมีประสิทธิภาพมากที่สุด พวกเขามาขอความช่วยเหลือจากโรเบิร์ต เมื่อผู้ผลิตอุปกรณ์ขยายหลอดเลือดต้องการเครื่องมือขยายหลอดเลือดที่เมื่อตอนเดินทางอยู่ในหลอดเลือดนั้นมีขนาดเล็ก แต่ขยายขนาดใหญ่ขึ้นได้เมื่อถึงเป้าหมาย พวกเขาก็มาหาโรเบิร์ต

 

ความเชี่ยวชาญด้านโอริกามิของโรเบิร์ตช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ทางวิศวกรรมได้อย่างไม่น่าเชื่อ

 

สิ่งที่ผมพยายามจะบอกก็คือ ถ้าเรามองดีๆ เกือบทุกเรื่องมันต่อเนื่องกันหมดครับ บางทีเราอาจจะไม่ต้องเลือกระหว่างความรับผิดชอบกับสิ่งที่ชอบก็ได้ครับ ถ้าเรามองเห็นความเชื่อมโยงที่ว่า

 

ผมยกตัวอย่างตัวเองด้วยแล้วกัน สิ่งที่ผม ‘ชอบ’ ทำมากตอนนี้คือออกกำลังกายกับทำพอดแคสต์ การออกกำลังกายทำให้ผมตื่นเช้า ทำให้ผมทำสิ่งที่ผมรับผิดชอบคืองานที่ศรีจันทร์ได้เช้าขึ้น มีเวลาทำงานเยอะขึ้น และมีสมาธิดีขึ้นด้วย รวมถึงการออกกำลังกายทำให้ผมแทบไม่ป่วยเลย ไม่ต้องมี downtime เลยมีเวลาทำสิ่งที่ ‘รับผิดชอบ’ ได้เยอะขึ้น

 

ส่วนสิ่งที่ ‘ชอบ’ อีกอย่างคือการทำพอดแคสต์ แต่จะทำพอดแคสต์มันก็ต้องมีเรื่องมาทำใช่ไหม ก็ต้องอ่านหนังสือ หาข้อมูลเยอะขึ้น ซึ่งเรื่องที่ผมมาทำพอดแคสต์ ผมก็สามารถเอามาใช้บริหารองค์กรได้ด้วย เท็มเพลตหลายๆ อย่างที่ใช้อยู่ที่ศรีจันทร์ตอนนี้ก็ถูกปั้นมาจากการหาข้อมูลมาทำพอดแคสต์ของผมนี้ล่ะครับ

 

การอ่านหนังสือและหาข้อมูลเยอะๆ ยังส่งผลให้ผมมีวัตถุดิบไปทำ ‘ความรับผิดชอบ’ อีกอย่างของผมคืออาชีพนักเขียนและนักพูดอีกด้วยครับ

 

นี่แค่ตัวอย่าง แต่จริงๆ แล้วมันต่อเนื่องไปถึงเวลาที่ให้ครอบครัว เวลาที่ช่วยพัฒนาสังคมรอบตัว ฯลฯ

 

ทั้งหมดคือคำตอบแบบยาวๆ ของคำถามนี้ครับ

 

ถ้าทัศนคติเราถูกต้อง ความสมดุลจะเกิดขึ้นเองระหว่างสิ่งที่ ‘ชอบ’ กับ ‘ความรับผิดชอบ’ ของเรา

 

ถ้าเราเห็นว่าทุกอย่างเกี่ยวข้องกัน เราจะพบว่าเราไม่ต้องได้อย่างเสียอย่าง แต่เราสามารถทำทั้งความรับผิดชอบของเราควบคู่ไปกับเรื่องที่ชอบได้อย่างสบายและมีความสุขด้วยครับ

 

ขอแค่เราเข้าใจคำว่าทำตอนนี้ให้ดีที่สุดก็พอแล้ว

 

เหมือนที่ เอคาร์ต ทอลเลอ เคยกล่าวไว้ครับว่า

 

“Don’t wait to be successful at some future point. Have a successful relationship with the present moment and be fully present in whatever you are doing.”

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X