ส.อ.ท. เผย ยอดผลิตรถยนต์เดือนพฤษภาคมลดลง 16.19% ยอดขายลดลงต่อเนื่องอีก 23.38% เป็นเดือนที่ 12 หลังคนไทยยังมีหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง บวกกับเศรษฐกิจที่ซบเซา โรงงานหลายแห่งลดเวลาทำงานลงและเลิกจ้างพนักงานหลายหมื่นคน ทำให้ขาดรายได้ รวมไปถึงข้าวของ ค่าเดินทาง และค่าน้ำมันที่แพง ประชาชนจึงรัดเข็มขัด โดยเฉพาะสถาบันการเงินที่ยังคงคุมเข้มการปล่อยสินเชื่อรถยนต์ ทำให้ตลาดรถยนต์นิ่ง อาจกำลังเป็นภาพสะท้อนบทเรียนคล้ายคลึงวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี 2539
สุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
วันที่ 25 มิถุนายน สุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สรุปยอดขายรถยนต์ภายในประเทศเดือนพฤษภาคม 2567 มีจำนวน 49,871 คัน เพิ่มขึ้น 6.70% จากเดือนเมษายน 2567 แต่ยังคงเป็นตัวเลขที่ลดลงจากเดือนพฤษภาคม 2566 ถึง 23.38% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- เกิดอะไรขึ้นกับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย? ครั้งนี้ไม่เหมือนยุค 1980 ปิกอัพไทยเสี่ยงล่มสลาย ถูกกินรวบจาก EV จีน
- ชวนวิเคราะห์ เหตุใดสินค้าจีนทะลัก ส่งออกเริ่มหมดแรง แบกเศรษฐกิจไทยไม่ไหว แม้แต่ ‘ข้าวไทย’ ยังเสี่ยงพ่ายแพ้ให้กับคู่แข่งเวียดนามและอินเดีย
- เกิดอะไรขึ้นกับโครงสร้างประชากรไทย เมื่อคุณภาพชีวิตหาย ผู้สูงวัยล้น มีรายได้แค่ 6,975 บาท/เดือน ต่ำกว่าเส้นความยากจน
เนื่องจากสถาบันการเงินเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อจากหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง รวมทั้งเศรษฐกิจในประเทศขยายตัวในอัตราต่ำจากการล่าช้าของงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ทำให้การลงทุนของภาครัฐลดลง บวกกับดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลงติดต่อกันมากกว่า 10 เดือน
“โรงงานหลายแห่งลดเวลาทำงานลงและมีการเลิกจ้างพนักงานหลายหมื่นคน ทำให้ขาดรายได้ ประชาชนจึงระมัดระวังการใช้จ่ายเพราะความไม่แน่นอนในเรื่องรายได้ รวมทั้งข้าวของ ค่าเดินทาง และพลังงานที่มีราคาสูงขึ้น”
แม้ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังปีนี้จากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567-2568 ที่กำลังพิจารณาในสภา หากเบิกจ่ายล่าช้าก็ย่อมมีผลต่อการลงทุน และคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจที่จะขยายตัวถึง 3% หรือไม่นั้น ก็ยังน่ากังวลอย่างมาก เนื่องจากหากดูจากยอดผลิตรถยนต์และขายรถยนต์ และขายอสังหาริมทรัพย์ ยังคงติดลบ เพราะทั้งสองอุตสาหกรรมมีอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องและแรงงานจำนวนมาก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
สุรพงษ์ฉายภาพสถานการณ์อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในขณะนี้กับ THE STANDARD WEALTH ว่า การคุมเข้มปล่อยสินเชื่อรถยนต์กำลังสะท้อนไปถึงบทเรียนวิกฤตต้มยำกุ้งช่วงปี 2539 “ผมมองว่าสถานการณ์อุตสาหกรรมยานยนต์ตอนนี้ เรียกได้ว่าน้องๆ ต้มยำกุ้งเมื่อปี 2539 โดยเฉพาะยอดขายในประเทศ หมายความว่ากรณีที่แบงก์ไม่ปล่อยกู้ไปนานๆ หรือไม่ปล่อยสินเชื่อรถยนต์เลย จะคล้ายๆ กับช่วงนั้นพอสมควร พอธนาคารไม่ปล่อยสินเชื่อ ตลาดจะเป็นอย่างไร ก็ต้องเอาเงินจากต่างประเทศเข้ามาเพิ่มทุน ซึ่งโดยทั่วไปเราควรมีเงินหมุนอยู่ในท้องตลาด
“สิ่งที่ตามมาคือ รถกระบะที่เมื่อก่อนผลิตได้มาก ยอดขายดี แต่ตอนนี้ยอดขายลดลง เมื่ออุตสาหกรรมนี้ล้วนพึ่งพา Local Content การผลิตลดลง ซัพพลายเชนก็น้อยลง ก็ลามไปถึงกลุ่มอุตสาหกรรมยางก็หายไป ผลิตยางล้อได้น้อยลง ซึ่งตรงนี้ก็สะท้อนชัดจากดัชนีอุตสาหกรรมที่ติดลบมา 10 เดือนแล้ว หรือยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น ซูซูกิ ซูบารุ ที่กำลังลดการผลิต ชิ้นส่วนอะไหล่ที่จะหยุดไปก็จะหายไปเช่นกัน” สุรพงษ์กล่าว
ยอดผลิตลดลงตามยอดขาย
หากดูยอดการผลิตรถยนต์ทั้งหมดในเดือนพฤษภาคม 2567 มีจำนวน 126,161 คัน ลดลง 16.19% จากเดือนพฤษภาคม 2566 จากที่เมื่อก่อนผลิตกว่า 4 แสนคัน
การผลิตที่ลดลงมาจากการผลิตรถกระบะขายในประเทศที่ลดลงถึง 54.66% และการผลิตรถยนต์นั่งขายในประเทศก็ลดลง 14.35% ตามยอดขายในประเทศที่ลดลงจากเศรษฐกิจในประเทศที่เติบโตในอัตราต่ำ และการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ยังไม่พร้อมเต็มที่ แต่เพิ่มขึ้น 20.54% จากเดือนเมษายน 2567 ขณะที่ช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้มีจำนวนรถยนต์ที่ผลิตได้ทั้งสิ้น 644,951 คัน ลดลง 16.88% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ส่งออกยังมีแนวโน้มที่ดี
ส่วนยอดการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปเดือนพฤษภาคม 2567 อยู่ที่ 89,284 คัน เพิ่มขึ้น 3.39% จากเดือนพฤษภาคม 2566 โดยมีมูลค่าส่งออก 83,754.09 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.93% จากเดือนพฤษภาคม 2566
ขณะที่ยอดส่งออกในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ (มกราคม-พฤษภาคม 2567) อยู่ที่ 429,969 คัน ลดลง 2.28% มูลค่ารวม 401,637.37 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.23% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การผลิตเพื่อส่งออกลดลง เพราะมีรถยนต์ที่ยังไม่ได้ส่งออกเดือนที่แล้วมาส่งออกเดือนนี้ จึงทำให้การส่งออกเพิ่มขึ้นในตลาดเอเชีย, ออสเตรเลีย, ตะวันออกกลาง, อเมริกาเหนือ, อเมริกากลาง และอเมริกาใต้
“อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์ภาพรวมทั้งยอดขายและยอดผลิตยังไม่ดี มูลค่าส่งออกปีนี้ยังไม่รู้ว่าจะถึง 1 ล้านล้านบาทหรือไม่ ต้องปรับเป้าในเดือนหน้าแน่นอน ต้องรอดูสถานการณ์” สุรพงษ์กล่าว
น้ำมันแพง รถ EV และไฮบริดแข่งกันทำราคา
สุรพงษ์บอกอีกว่า น่าสนใจว่ายอดขายไฮบริดของไทยเพิ่มขึ้น 2 เท่า เนื่องจากราคาไฮบริดถูกลง 7-8 แสนบาทต่อคัน ก็เป็นตัวเลือกที่ดีกว่า ราคาจับต้องได้ ซึ่งไม่ใช่แค่ตลาดเมืองไทย ตลาดต่างประเทศก็ใช้ไฮบริดมากขึ้น
โดยมียานยนต์ไฟฟ้าป้ายแดงประเภท HEV ในเดือนพฤษภาคม 2567 จดทะเบียนใหม่จำนวน 10,789 คัน สะสมรวม 59,317 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม-พฤษภาคมปีที่แล้ว 53.48%
ส่วนประเภท BEV ในเดือนพฤษภาคม 2567 มีจำนวน 8,166 คัน เพิ่มขึ้น 14.50% จากเดือนพฤษภาคม 2566 และช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้มียอดจดทะเบียนสะสมรวม 43,921 คัน เพิ่มขึ้น 31.64% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน นับถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2567 มียอดจดทะเบียนทั้งสิ้น 175,316 คัน เพิ่มขึ้น 168.34% จากปีก่อน
“ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าส่วนใหญ่ในขณะนี้เป็นรถที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ ส่วนที่ผลิตในประเทศคงทยอยเพิ่มขึ้นตามแผนที่แบรนด์จีนประกาศเริ่มสายการผลิตในปีนี้ ซึ่งยอดการผลิตในประเทศอยู่ที่ 865 คัน”
ต่อคำถามที่ว่า สถานการณ์การแข่งขันราคาของรถยนต์ไฟฟ้าในไทยร้อนแรงมากในขณะนี้ หลายๆ ค่ายต่างปรับลดราคาลง มีผลอย่างไรหรือไม่ สุรพงษ์มองว่า
“มีผลแน่นอน เพราะลูกค้าบางรายไม่ตัดสินใจซื้อในทันที หมายความว่าก็รอดูแบรนด์อื่นก่อน รอไปก่อนว่าจะลดตามหรือไม่ การตัดสินใจที่ช้าลงก็อาจมีผลต่อยอดขายที่ลดลงด้วย”
สุรพงษ์ทิ้งท้ายว่า ยืนยันว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยเรายังเป็นดีทรอยต์แห่งเอเชีย ไฮบริดยังไปได้ดี ซึ่งอนาคตไทยก็จะเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า แต่คงต้องดูสถานการณ์ว่าปีนี้การคุมเข้มปล่อยสินเชื่อจะทำให้ภาพรวมดีขึ้นมากน้อยแค่ไหน อย่างไร