หลังจากที่มีกระแสข่าวว่า บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ผู้ชนะการประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ไฮสปีดเทรน) มูลค่าการลงทุนกว่า 2.2 แสนล้านบาท ไม่ได้ดำเนินการยื่นขอออกบัตรส่งเสริมจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ตามวันและเวลาที่กำหนด 23 พฤษภาคมที่ผ่านมา
ส่งผลให้บอร์ดการรถไฟมีการพิจารณาให้ปรับเงื่อนไขที่ต้องขอบีโอไอออกไปก่อน พร้อมทั้งให้บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด วางหนังสือค้ำประกัน ซึ่งเป็นหลักประกันทางการเงิน (Bank Guarantee) 2 ส่วน วงเงินรวมประมาณ 1.28 แสนล้านบาท เพื่อเป็นการการันตีว่าเอรา วัน จะยังคงเดินหน้าโครงการแน่นอนนั้น
ล่าสุดวันนี้ (10 มิถุนายน) บอร์ด EEC ได้ออกมาเปิดเผยความคืบหน้า 4 โครงการเมกะโปรเจกต์ภาคตะวันออก EEC ไม่ว่าจะเป็นสนามบินอู่ตะเภา-มาบตาพุด เฟส 3 และท่าเรือแหลมฉบัง F1 ที่มีความคืบหน้าต่อเนื่อง คาดว่าจะพร้อมเปิดให้บริการภายในปี 2570-2572
โดยอีกหนึ่งโครงการสำคัญ ที่ประชุมได้รับทราบแก้ไขสัญญารถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินตามที่ ร.ฟ.ท. เสนอ พร้อมขยับไทม์ไลน์ก่อสร้างออกไปปลายปี
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- BOI เคลียร์ปม ‘รถไฟไฮสปีด’ เชื่อม 3 สนามบิน
- ส่องเมกะโปรเจกต์ EEC ในรัฐบาลเศรษฐา ขอเวลา 4 ปี รถไฟไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบินและอู่ตะเภา ต้องเกิด
จุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้รับทราบความก้าวหน้าโครงสร้างพื้นฐานหลักในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยเฉพาะโครงการรถไฟความเร็วสูง หรือไฮสปีดเทรน เชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ล่าสุดมีการเจรจาแก้ไขสัญญาแล้ว และในการประชุม กพอ. ครั้งหน้า จะหารือถึงผลการเจรจาอีกครั้ง
โดยโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ปัจจุบัน รฟท. และเอกชนคู่สัญญา ตกลงรับมอบพื้นที่ก่อสร้างแล้วเสร็จและเจรจาหลักการแก้ไขปัญหาโครงการจากผลกระทบโควิด-19 และสงครามรัสเซีย-ยูเครน ได้ข้อยุติแล้ว
ดังนั้นจึงอยู่ระหว่างเตรียมนำเสนอ กพอ. พิจารณา เพื่อเสนอให้ ครม. ทบทวนหลักการ PPP ตามมติ ครม. ที่อนุมัติโครงการไว้เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2561
ทั้งนี้ คาดว่าจะเสนอ ครม. ได้ภายในเดือนกรกฎาคม 2567 หลังจากนั้น รฟท. และเอกชนคู่สัญญา จะเจรจาร่างสัญญาแก้ไขเพื่อส่งให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจ และส่ง กพอ. และ ครม. เห็นชอบ และเริ่มงานก่อสร้างภายในธันวาคม 2567
อย่างไรก็ตาม หลักการแก้ไขปัญหาจะอยู่บนพื้นฐานความเป็นหุ้นส่วนระหว่างรัฐและเอกชน เป็นธรรมต่อคู่สัญญา รัฐไม่เสียประโยชน์ และเอกชนไม่ได้ประโยชน์เกินควร มีหลักการที่สำคัญ ได้แก่ การแก้ไขวิธีชำระเงินที่รัฐร่วมลงทุนในโครงการฯ (PIC) โดยรัฐจะเริ่มลงทุนเร็วขึ้นตามระยะเวลาความแล้วเสร็จของงาน และเอกชนตกลงวางหลักประกัน (Bank Guarantee) เต็มจำนวนค่าก่อสร้าง และการแก้ไขวิธีการชำระค่าสิทธิโครงการแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ (ARL) เอกชนแบ่งชำระ 7 งวด โดย รฟท. ยังคงได้รับค่าสิทธิครบจำนวน 10,671.09 ล้านบาท เอกชนรับภาระดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม และค่าใช้จ่ายทางการเงินส่วนที่เกินทั้งสิ้น
ย้อนไทม์ไลน์ไฮสปีดเทรน เมกะโปรเจกต์ EEC
หากย้อนดูไทม์ไลน์ โครงการนี้เริ่มตั้งไข่ตั้งแต่ปี 2560 จนกระทั่งเปิดการประมูลในปี 2561 ซึ่งผู้ชนะการประมูลคือ บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด หรือกลุ่มซีพี ปัจจุบันยังไม่มีการลงทุนแต่อย่างใดนอกจากเวนคืน ปรับปรุง และเคลียร์พื้นที่
โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มีมูลค่าการลงทุน 224,544.36 ล้านบาท มีรูปแบบการลงทุนแบบร่วมรัฐและเอกชน (PPP) เป็น 1 ใน 4 เมกะโปรเจกต์ มหานครการบิน ท่าเรือมาบตาพุด เฟส 3 และโครงการ MRO ของการบินไทย หรือ THAI
แต่ด้วยหลายปัจจัยที่ผ่านมา มีการขอแก้ไขสัญญา ผลกระทบจากโควิด-19 และผู้โดยสารน้อยลง ทำให้โครงการชะงักและล่าช้า
ทว่า หากโครงการแล้วเสร็จและมองถึงผลประโยชน์ที่คนไทยจะได้รับนอกจากแนวเส้นทางโครงการจะผ่านพื้นที่ 5 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ใช้แนวเส้นทางระบบขนส่งมวลชนทางรางของโครงการเดิม และมีการออกแบบใหม่เฉพาะบริเวณเชื่อมต่อเข้าสนามบินสุวรรณภูมิ (ขาออก) และสนามบินอู่ตะเภา (ขาเข้า)
โดยในจำนวนที่ลงทุนกว่า 2 แสนล้านจะแบ่งเป็น
- ระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา 168,718 ล้านบาท
- การพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟ 45,155.27 ล้านบาท
- สิทธิการเดินรถไฟแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ 10,671.09 ล้านบาท
ส่วนระยะเวลาดำเนินโครงการ 50 ปี ตั้งเป้ามีปริมาณผู้โดยสาร 147,200 คนต่อเที่ยวต่อวัน
นอกจากเป็นการต่อเชื่อมระบบโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่สำคัญเข้าด้วยกันแล้ว รัฐบาลยังคาดหวังว่าการพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จะเป็นจุดเริ่มของการพัฒนาเมืองโดยรอบสถานี นำความเจริญมาสู่ชุมชน ตลอดจนเกิดการกระจายรายได้ให้ประชาชนในพื้นที่ได้มีที่ค้าขาย เกิดผลตอบแทนทางเศรษฐกิจประมาณ 650,000 ล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างงานในช่วงก่อสร้างมากถึง 16,000 อัตรา และการจ้างงานในธุรกิจเกี่ยวเนื่องมากกว่า 100,000 อัตรา