Mid Year Sale หรือเทศกาลลดราคากลางปี เป็นมากกว่าแค่ช่วงเวลาแห่งการจับจ่ายสำหรับผู้บริโภค สำหรับธุรกิจค้าปลีก นี่คือกลยุทธ์สำคัญที่มีผลกระทบต่อยอดขายและการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ แต่เหตุผลเบื้องหลังการจัด Mid Year Sale นั้นลึกซึ้งกว่าที่คิด
โดยจากการศึกษาของ National Retail Federation (NRF) พบว่า ช่วง Mid Year Sale สามารถเพิ่มยอดขายได้เฉลี่ย 15-20% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาปกติ ขณะที่งานวิจัยของ Criteo ระบุว่า Mid Year Sale ช่วยเพิ่มจำนวนลูกค้าใหม่ได้ถึง 10% เนื่องจากเป็นโอกาสในการดึงดูดผู้บริโภคที่กำลังมองหาข้อเสนอที่ดี
นอกจากนี้สำหรับธุรกิจค้าปลีก Mid Year Sale เป็นช่วงเวลาสำคัญในการระบายสินค้าค้างสต็อก เตรียมพื้นที่สำหรับสินค้าใหม่ในช่วงปลายปี จากข้อมูลของ McKinsey พบว่า Mid Year Sale ช่วยลดสินค้าคงคลังได้เฉลี่ย 25-30% อีกทั้ง Salesforce รายงานว่า Mid Year Sale ช่วยเพิ่มการมีส่วนร่วมของลูกค้า (Customer Engagement) ได้ถึง 15% ผ่านกิจกรรมส่งเสริมการขายและโปรโมชันต่างๆ
ขณะเดียวกันในแง่พฤติกรรมผู้บริโภคนั้น ช่วงกลางปีเป็นช่วงเวลาที่ผู้บริโภคมีแนวโน้มจะจับจ่ายมากขึ้น เนื่องจากได้รับเงินโบนัสหรือมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นหลังจากผ่านช่วงต้นปี
หนึ่งในผู้ที่ออกมาประกาศทุ่มกับการจัด ‘Mid Year Sale’ คือ เซ็นทรัลพัฒนา หรือ CPN ที่ได้ผนึกกำลังกลุ่มเซ็นทรัลและพันธมิตรใช้งบกว่า 1 พันล้านบาท กับการจัด The Greatest Grand Sales 2024
ดร.ณัฐกิตติ์ ตั้งพูลสินธนา กรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาด บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา เปิดเผยว่า กลยุทธ์ Mid Year Sale ถูกจัดขึ้นเพื่อกระตุ้นการจับจ่ายของผู้บริโภคและเพิ่มยอดขายในช่วงกลางปี ซึ่งถือเป็นช่วงโลว์ซีซันของธุรกิจค้าปลีก โดยแคมเปญ The Greatest Grand Sales 2024 ที่จัดขึ้นในช่วงวันที่ 7 มิถุนายน – 31 กรกฎาคม 2567 เซ็นทรัลพัฒนาได้ร่วมมือกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนกว่า 25,000 แบรนด์จาก 12,000 ร้านค้า มอบส่วนลดสูงสุด 80% พร้อมของรางวัลมูลค่ากว่า 15 ล้านบาท เพื่อช่วยกระตุ้นกำลังซื้อและเพิ่มเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ
“การจัดแคมเปญครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นหมุดหมายการช้อปปิ้งลดราคาสำหรับนักท่องเที่ยวทั่วเอเชีย โดยในอดีตตลาดหลักอย่างฮ่องกงและสิงคโปร์เป็นจุดหมายยอดนิยม แต่ด้วยเครือข่ายที่ครอบคลุมทั่วประเทศของเซ็นทรัล กรุ๊ป ทำให้มั่นใจว่าจะสามารถดึงดูดทั้งนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติได้เป็นอย่างดี”
อีกทั้งยังสนับสนุนแคมเปญ Amazing Thailand Grand Sale ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) อีกด้วย ซึ่งปัจจุบันนักท่องเที่ยวไทยไม่จำเป็นต้องเดินทางไปต่างประเทศเพื่อช้อปปิ้งสินค้าราคาพิเศษเหมือนแต่ก่อน เพราะสามารถซื้อสินค้าในราคาที่แข่งขันได้แล้วภายในประเทศ
นอกจากนี้ ดร.ณัฐกิตติ์ ยังชี้ให้เห็นถึงปัญหาเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ลดลง เนื่องจากการฟื้นตัวที่ยังไม่เต็มที่จากการที่ภาครัฐยังไม่สามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้ตามแผน ประกอบกับภาระค่าครองชีพและหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น
ดังนั้นแคมเปญใหญ่กลางปีนี้ที่มีทั้งจำนวนสาขาและแบรนด์ที่เข้าร่วมมากขึ้น จะช่วยให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงสินค้าและบริการในราคาที่ดีที่สุด ช่วยบรรเทาความกังวลในด้านกำลังซื้อของประชาชนได้ในระดับหนึ่ง
ด้าน ปิยวรรณ ลีละสมภพ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ฝ่ายการตลาด บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ไตรมาส 1 ปีนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 40% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยรัสเซีย จีน และตะวันออกกลาง เป็น 3 ตลาดหลักที่มีกำลังซื้อสูง
“นี่เองที่ทำให้เรามั่นใจว่าไตรมาส 2 เซ็นทรัล รีเทล จะเติบโตได้อย่างน้อย 20% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วจากกำลังซื้อที่หลั่งไหลเข้ามา โดยเฉพาะกลุ่มตะวันออกกลางที่จะเข้าสู่ช่วงวันอีดิลอัฎฮา (วันสำคัญทางศาสนาอิสลามที่มีการฉลองใหญ่ทั่วโลก)”
สำหรับทิศทางธุรกิจค้าปลีก ดร.ณัฐกิตติ์ วิเคราะห์ว่า แม้ช่องทางออนไลน์จะเติบโตขึ้นเป็น 19% แต่การซื้อสินค้าที่หน้าร้านยังครองสัดส่วนสูงถึง 81% โดยสินค้าที่มีแนวโน้มขายดีที่สุดในช่วงแคมเปญ ได้แก่ สินค้าแฟชั่น อาหาร และสินค้าตกแต่งบ้าน ตามลำดับ ซึ่งต่างจากช่วงปกติที่สินค้าแฟชั่นจะอยู่อันดับ 3 รองจากอาหารและสินค้าอุปโภคบริโภค
ดร.ณัฐกิตติ์ ยังให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายว่า หากภาครัฐพิจารณาลดอัตราภาษีสินค้าหรูหราจากปัจจุบันที่ 30% ลงมาเหลือครึ่งหนึ่ง จะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เข้ามาช้อปปิ้งสินค้าไฮเอนด์ในไทยเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะสนับสนุนเป้าหมายของ ททท. ในการดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยให้ได้ 38 ล้านคนในปีนี้