×

สว. 67 : รอวันกลับบ้าน! ฉากชีวิตถัดไปของ ‘กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ’ สว. ตัวตึง ทายาท คสช.

01.06.2024
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สว. ตัวตึงเข้าสู่สนามการเมือง เริ่มต้นจากการเป็นสมาชิก สนช. โควตาเกษตร สู่สมาชิกวุฒิสภาสายตรงของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา
  • เขาแจ้งเกิดทางการเมือง เป็นที่รู้จักต่อคนไทยทั้งประเทศ ด้วยการสร้างตำนาน ‘ชี้นิ้ว’ ในห้องประชุมรัฐสภา ระหว่างการแถลงนโยบายรัฐบาลของ พล.อ. ประยุทธ์ หลังถูกกล่าวหาว่า ‘เข้าสภาได้’ เพราะ ‘เลียรองเท้าทหาร’ 
  • เขาไม่ปฏิเสธว่า ‘สว. 250’ ถือกำเนิดมาจาก คสช. และตลอด 5 ปีที่ผ่านมาก็ภูมิใจที่ได้ตอบแทนแผ่นดินอย่างเต็มความสามารถ 
  • ฉากชีวิตถัดไป คือนับวันรอวันกลับบ้านหลังได้ สว. ชุดใหม่ ย้ำอยู่กับการเมืองเกือบทั้งชีวิต ยังไม่ได้ปิดโอกาสตัวเอง ฝันอยากเป็น สส. จังหวัดพิจิตร และเริ่มมีหลายพรรคการเมืองชักชวนเข้าพรรค

ภาพจำของประชาชนคนไทยทั้งประเทศที่มีต่อ ‘สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดที่ 12’ ทั้ง 250 คน เป็น สว. ที่มาจากแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2562 ซึ่งมีวาระการดำรงตำแหน่งทั้งสิ้น 5 ปี และไม่สามารถกลับมาเป็น สว. ได้อีก 

 

สว. ทั้ง 250 คนเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ต่อในฐานะสภาสูง และอำนาจตามบทเฉพาะกาล เช่น การเลือกนายก​​รัฐมนตรี ร่วมกับ สส. ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่กำหนดอนาคตของประเทศ รวมถึงมีอำนาจลงมติร่วมกับ สส. เพื่อพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปประเทศ หรือแม้แต่การมีอำนาจลงมติด้วยเสียง 1 ใน 3 เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

 

ปัจจุบันแม้ สว. ชุดที่ 12 ได้หมดวาระลงไปแล้ว แต่ สว. ชุดนี้ยังคงปฏิบัติหน้าที่รักษาการจนกว่าจะได้ สว. ชุดใหม่ จำนวน 200 คน ก่อนที่ สว. ชุดพิเศษนี้จะลาจากการเมืองไทย THE STANDARD ขอนำเสนอโปรเจกต์การสนทนาพิเศษกับบรรดา สว. ผู้ทรงเกียรติ ถึงผลงาน 5 ปีที่ผ่านมา และก้าวต่อไปหลังเข้าสู่ช่วงพ้นวาระ 

 

ประเดิมคนแรกด้วย ‘กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ’ สว. ตัวตึง ผู้สร้างภาพจำด้วยการสร้างตำนาน ‘ชี้นิ้ว’ ระหว่างการแถลงนโยบายรัฐบาลของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต่อที่ประชุมรัฐสภา เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2562 หลังถูกกล่าวหาว่า ‘เข้าสภาได้’ เพราะ ‘เลียรองเท้าทหาร’ 

 


 

กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ นั่งอยู่บนรถยนต์กระบะโตโยต้าวีโก้ตอนเดียวคู่ใจ

พร้อมชี้นิ้วย้อนรำลึกตำนานที่ได้สร้างภาพจำภายในห้องประชุมสภา

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 


 

‘กิตติศักดิ์’ เดินทางด้วยรถยนต์กระบะโตโยต้าวีโก้ตอนเดียวคู่ใจ เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในฐานะสมาชิกวุฒิสภาที่อาคารสัปปายะสภาสถาน พร้อมเปิดห้องทำงานส่วนตัวบนชั้น 5 ภายในอาคารรัฐสภา พูดคุยถึงเส้นทางชีวิตที่ไม่ง่าย จากเกษตรกรคนธรรมดาสู่ สว. สายตรงของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา 

 

จากเกษตรกรคนธรรมดาสู่ สว. ทายาท คสช. 

 

‘กิตติศักดิ์’ เริ่มต้นบทสนทนาว่า ชีวิตของเขานั้นสุดแสนธรรมดา เป็นคนบ้านนอก และอยู่ในพื้นที่กันดารมาทั้งชีวิต เกิดที่จังหวัดกำแพงเพชร แต่ไปเติบโตและพบรักกับภรรยา จนได้สร้างครอบครัวที่จังหวัดพิจิตร 

 

เมื่อมีลูกสาวก็ตัดสินใจขายทุกอย่าง (เหลือที่ดิน 10 ไร่) ย้ายสำมะโนครัวเข้ามาอยู่กรุงเทพฯ เพื่อให้ลูกสาวได้รับการศึกษาที่ดี และเมื่อลูกสาวเรียนจบก็ตัดสินใจกลับไปอยู่จังหวัดพิจิตรอีกครั้ง

 

“ผมเป็นคนบ้านนอก แล้วก็คิดว่ากรุงเทพฯ ไม่ใช่ถิ่นที่เราจะอยู่อาศัย กรุงเทพฯ​ เป็นเมืองที่วุ่นวาย และมีรายได้เดือนชนเดือน จึงตัดสินใจกลับบ้าน” กิตติศักดิ์เล่าชีวิตตัวเอง 

 


 

กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ยืนอยู่บริเวณหน้าประตูห้องทำงานส่วนตัว ชั้น 5

ภายในอาคารรัฐสภา

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร 

 


 

เมื่อกลับไปจังหวัดพิจิตร ก็กลับไปทำมาหากินจากที่ดินที่เหลืออยู่ และอาศัยความรู้เรื่องเกษตรที่ตนเองมีไปช่วยเหลือเกษตรกรที่เดือดร้อน โดยเฉพาะชาวนาที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากนโยบายประกันรายได้ในรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งเป็นรอยต่อก่อนที่จะเข้าสู่ยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร 

 

กิตติศักดิ์เล่าว่า ตนเองเป็นส่วนหนึ่งในการนำม็อบชาวนามาเรียกร้องที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อเจรจาให้รัฐบาลจ่ายเงินทดแทนประกันรายได้แก่ชาวนาทั่วประเทศที่ยังค้างอยู่เป็นจำนวนเงินกว่า 7 พันล้านบาท ทำให้จากนั้นเริ่มมีชื่อเสียงในกลุ่มชาวนามากยิ่งขึ้น จนถูกเลือกให้เป็นประธานชาวนาภาคเหนือ 

 

หลังจากนั้น 1 ปี โครงการจำนำข้าวก็ถือกำเนิดขึ้น โดยผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตรได้เลือกตนเองให้เป็นคณะกรรมการตรวจสอบในโครงการจำนำข้าวด้วย ก่อนจะเข้าสู่ช่วงวิกฤตจากโครงการจำนำข้าวของรัฐบาล ชาวนาเรียกร้องให้รัฐบาลจ่ายเงินจากการซื้อข้าวไป 

 

“เราเริ่มต้นเรียกร้องในจังหวัดพิจิตรก่อนด้วยจำนวนคนหลักร้อย เมื่อการเรียกร้องไม่เป็นผลจึงได้ขยับมาเรียกร้องที่กระทรวงพาณิชย์ และมาพร้อมกับชาวนาหลักหมื่นคน”

 


 

กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ นั่งบนโซฟากลางห้องทำงานส่วนตัว ชั้น 5

ภายในอาคารรัฐสภา ระหว่างให้สัมภาษณ์พิเศษกับ THE STANDARD

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 


 

กิตติศักดิ์กล่าวอธิบายว่า กลุ่มชาวนาผู้เรียกร้องเหล่านี้เรียกร้องเฉพาะในส่วนของโครงการจำนำข้าวเท่านั้น ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องการเรียกร้องของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ที่นำโดย สุเทพ เทือกสุบรรณ แต่อย่างใด 

 

“ชาวนาที่เดือดร้อนจากโครงการจำนำข้าวมีจำนวนมาก และสิ่งที่สะเทือนใจมากที่สุดคือการเห็นชาวนาเริ่มฆ่าตัวตาย ผมก็ได้เรียกร้องไปยังรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ ว่าควรที่จะหาเงินมาจ่ายให้แก่ชาวนา เมื่อเอาข้าวเขาไปแล้ว ก็ควรที่จะต้องจ่ายเงินให้กับเขา จนกระทั่งถึงวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 คสช. ได้ยึดอำนาจทำการรัฐประหารและเปลี่ยนแปลงอำนาจ ม็อบชาวนาได้สลายตัว ผมก็กลับบ้าน”

 

เสียงปลายสาย… “นายเรียกให้มารายงานตัวกรุงเทพฯ ด่วน”

 

2 สัปดาห์ผ่านไป มีสายโทรศัพท์เข้า ปลายสายรายงานตัวว่าเป็นนายทหารยศพันโท พร้อมแจ้งว่า “นายสั่งให้ท่านเข้ากรุงเทพฯ ไปสโมสรทหารบกด่วน” 

 

กิตติศักดิ์บอกว่า การที่มีนายทหารโทรศัพท์หา แล้วบอกว่าให้เขาเดินทางไปที่สโมสรทหารบก ซึ่งเป็นสถานที่ที่ คสช. ประกาศยึดอำนาจรัฐบาล โดยไม่ทราบว่าให้ไปทำไม เป็นสิ่งที่ทำให้เขารู้สึกใจตุ๊มๆ ต่อมๆ ไม่น้อยทีเดียว 

 

“ตอนนั้นยังไม่รู้ว่าจะได้รับการทาบทามให้เข้ามาดำรงตำแหน่งอะไร กังวลเพียงว่าการที่เรียกเราไปต้องรายงานตัวที่สโมสรทหารบกเราจะโดนกี่คดี และมารู้ทีหลังว่าได้รับการทาบทามให้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในโควตาเกษตรกร”  

 

กิตติศักดิ์เล่าต่อว่า บุคคลที่จะได้เป็นสมาชิก สนช. ได้บุคคลนั้นจะต้องได้รับโค้ดทั้งสิ้น 3 ครั้ง ซึ่งโค้ดนั้นมีลักษณะเป็นรหัสอะไรสักอย่าง หากได้โค้ดไม่ครบ 3 ครั้ง เตรียมใจได้เลยนั่นหมายความว่า บุคคลนั้นอาจไม่ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิก สนช. 

 

สำหรับกระบวนการได้โค้ดนั้น ครั้งแรกคือ เรียกเข้าพบ ครั้งที่สองคือ การตรวจสอบประวัติการศึกษา ตรวจสอบคดีต่างๆ เกี่ยวข้องกับยาเสพติดหรือไม่ ครั้งที่ 3 เป็นการยืนยันว่า เราจะเป็นสมาชิก สนช. อย่างแน่นอน 

 

มีเกร็ดที่ตลกอย่างหนึ่ง แม่บ้านของผมไปบนใหญ่เลย ขอให้ได้ตำแหน่ง บน 3 ที่ หัวหมูที่ละ 5 หัว ผมจึงเล่าติดตลกให้เพื่อน สว. ฟังว่า ผมไม่ได้มาด้วยความสามารถนะ แต่มาด้วยแรงบนทั้ง 3 ที่

 


 

กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ เท้าสะเอว

ก่อนขึ้นรถยนต์กระบะคู่ใจเพื่อเดินทางกลับจังหวัดพิจิตร 

ภายหลังเสร็จสิ้นการสัมภาษณ์พิเศษ กับ THE STANDARD 

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 


 

กิตติศักดิ์เล่าต่อว่า เขาเดินทางจากจังหวัดพิจิตรมาถึงกรุงเทพฯ ใช้เวลาทั้งสิ้น 4 ชั่วโมงด้วยกระบะวีโก้คันเดิม เข้ารายงานตัวเป็นสมาชิก สนช. ที่รัฐสภา ตอนนั้นก็แต่งตัวธรรมดา จน รปภ. ต้องเอ่ยถามว่ามาทำอะไร “ลุงมาทำอะไร” ก็อมยิ้ม ไม่ได้ตอบอะไร แล้วอาศัยห้องน้ำสภาแต่งตัวเสียใหม่ 

 

ในวันนั้นได้พบและพูดคุยกับ ‘ครูหยุย-วัลลภ ตังคณานุรักษ์’ หนึ่งในบุคคลที่ได้รับเลือกให้เป็นสมาชิก สนช. และได้เป็น สว. เป็นครั้งแรก และถูกชักชวนให้เข้าร่วมกลุ่มไปทำงานด้วยกันตลอด 10 ปีที่ผ่านมา 

 

“การเป็น สนช. และ สว. ในชุดนี้ผ่านการโปรดเกล้าฯ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่การเลือก สว. ใหม่นี้จะเป็นโดยการรับรองของ กกต. ซึ่งมีความต่างกัน จากวันนั้นที่ได้รายงานตัว และไม่มีอะไรติดตัวเลย วันนี้เป็นมงคลชีวิตสูงสุดที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสายสะพาย สายที่ 3 นับเป็นมงคลสูงสุดในชีวิต” กิตติศักดิ์กล่าว

 


 

กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ในชุดข้าราชการ ยกมือวันทยหัตถ์ทักทาย 

เจ้าหน้าที่ชุดตรวจเก็บกู้วัตถุระเบิด วัตถุต้องสงสัย 

ก่อนการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี 

เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 


 

5 ปี สว. ‘ภูมิใจ’ ที่ได้ตอบแทนแผ่นดินอย่างเต็มความสามารถ

 

“5 ปีที่ผ่านมาเป็นอย่างไรบ้าง เล่าให้ฟังหน่อย” THE STANDARD ถาม 

 

กิตติศักดิ์ตอบว่า ‘ไม่สนุกเอาเสียเลย’ เมื่อได้รับเลือกให้เป็น สว. ได้จัดตั้งโครงการ สว. พบประชาชนในทั่วทุกภูมิภาค หลังเสร็จสิ้นภารกิจการประชุมที่รัฐสภาเราก็จะลงพื้นที่ไปพบประชาชนทันที ทำให้เราเห็นว่าหลายพื้นที่ในประเทศประเทศไทยยังไม่มีถนน ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีน้ำใช้ โดยเฉพาะประชาชนที่อยู่บนเขา 

 

“เชื่อไหม บางหมู่บ้านตั้งหมู่บ้านมาแล้วกว่า 70 ปี แต่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ เรื่องนี้ไม่ใช่ความผิดของใคร แต่เพราะประชาชนเหล่านั้นอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนหรืออยู่ในพื้นที่อุทยาน ผมศึกษากฎระเบียบเกี่ยวกับกฎหมายป่าไม้ กฎหมายของอุทยาน ว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชนเหล่านั้นมีสาธารณูปโภคเบื้องต้นได้”

 


 

กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ยืนข้างโต๊ะทำงาน ภายในห้องทำงานส่วนตัว ชั้น 5

อาคารรัฐสภา ระหว่างให้สัมภาษณ์พิเศษกับ THE STANDARD

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 


 

กิตติศักดิ์บอกว่า แนวทางการทำงานของเขานั้นเป็นการทำงานปิดทองหลังพระ ไม่ได้โฆษณาว่าตัวเองทำงานอย่างไร ช่วยเหลือประชาชนอย่างไร ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา เมื่อทำสำเร็จก็ไม่อนุญาตให้ติดชื่อตนเองในฐานะผู้ที่เกี่ยวข้องแต่อย่างใด เพราะทุกอย่างที่ทำนั้นเป็นความต้องการของประชาชน ขณะเดียวกันเงินงบประมาณที่ใช้นั้นก็เป็นภาษีของประชาชน

 

หรืออีกตัวอย่างที่สำคัญคือ การพัฒนาบึงสีไฟที่จังหวัดพิจิตร จากบ่อน้ำทิ้งร้างใช้ประโยชน์ไม่ได้ แต่ตนเองเป็นส่วนหนึ่งที่สามารถพัฒนาสำเร็จได้ ทุกวันนี้บึงสีไฟมีความงดงาม และรู้สึกภาคภูมิใจที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์สร้างสนามจักรยานรอบบึงสีไฟให้ชาวจังหวัดพิจิตรและจังหวัดใกล้เคียงได้มีสถานที่ออกกำลังกาย ทำให้ ณ เวลานี้ บึงสีไฟเป็นบึงที่มีความงดงาม และเป็นเมืองที่ได้รับความกรุณาจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระราชินีด้วย 

 

“สิ่งที่ภูมิใจที่สุดคือ ได้ตอบแทนแผ่นดิน ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ อย่างเต็มที่ เต็มความสามารถ โดยไม่มีเรื่องทุจริตและคอร์รัปชัน” กิตติศักดิ์ตอบหลังถูกถามว่า 5 ปีที่ผ่านมา อะไรคือความภาคภูมิใจในการเป็น สว. 

 

กิตติศักดิ์อธิบายเพิ่มเติมว่า ตนเองภูมิใจทุกตำแหน่งที่ได้ทำ โดยมีหลักการทำงานคือจะไม่ทำเรื่องทุจริต จะทำแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์เป็นคุณต่อประเทศ และ 3 สถาบันหลักเท่านั้น

 

กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ นั่งบนโซฟากลางห้องทำงานส่วนตัว ชั้น 5

ภายในอาคารรัฐสภา ระหว่างให้สัมภาษณ์พิเศษกับ THE STANDARD

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 


 

แต่หากให้ยกตัวอย่างผลงานที่ภาคภูมิใจ คือการเป็นส่วนหนึ่งที่ได้พัฒนาถนน 4 เลนจากกำแพงเพชรมาถึงถนนสายเอเชียด้วยระยะทาง 60 กิโลเมตร ซึ่งปัจจุบันใกล้จะเสร็จแล้ว รู้สึกภูมิใจเวลาที่ขับรถผ่านไป 

 

หน้าที่ในสภาผมทำเต็มที่ 100% และลาน้อยมาก หลายคนไม่รู้ สว. มีส่วนช่วยพัฒนาประเทศ สว. เป็นผู้ปิดทองหลังพระ จนสร้างความหมั่นไส้ให้แก่ใครหลายคน จนเกิดคำที่ว่า สว. มีไว้ทำไม

 

สว. เลือกเกิดไม่ได้ 

 

กิตติศักดิ์กล่าวถึงความรู้สึกของตนเอง กรณีที่ประชาชนตั้งคำถามต่อการมีอยู่ของ สว. ว่า ตนเองได้พูดคุยกับพี่น้อง สว. มาตลอดว่า เมื่อเรามาอยู่ตรงนี้ แม้เราจะกำเนิดมาจาก คสช. เราเลือกเกิดไม่ได้ และอย่าปฏิเสธเลย เราควรยอมรับ และเราควรทำวิกฤตให้เป็นโอกาสจะเป็นการดีกว่า 

 

“สว. หลายคนทำใจได้ และ สว. หลายคนก็ทำใจไม่ได้ แต่สำหรับผม ผมเป็นนักกีฬาเก่า เป็นสุภาพบุรุษ ถ้ารับการติชมไม่ได้ก็อย่ามาเป็น สว. เลย อย่ามาอยู่ตรงนี้เลย แต่สิ่งที่เราทำได้คือเราต้องปฏิบัติหน้าที่ ทั้งในสภาและนอกสภาอย่างเต็มที่ โดยคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง

 

“ในช่วงที่ผ่านมา สว. ถูกวิพากษ์วิจารณ์กันบนโซเชียลมีเดีย (ทัวร์ลง) อย่างหนักมาโดยตลอด ตั้งรับอย่างไร” THE STANDARD ถามต่อ 

 

กิตติศักดิ์ตอบว่า ถ้าทัวร์ลงมากๆ ก็จะไม่อ่านคอมเมนต์ในโซเชียลมีเดีย แม้จะมีความรู้น้อย แต่ตนเองเป็นคนที่เขียนหนังสือ ทำให้รับรู้กระแสตนเองตลอด และเป็นคนที่ทบทวนสิ่งที่ตัวเองทำเสมอ ไม่ว่าจะเกิดเมื่อวาน เมื่อเดือนที่แล้ว หรือเมื่อปีที่แล้ว 

 

“ไม่ว่ากิตติศักดิ์จะทำดีที่สุดแค่ไหน คนที่เขาไม่ชอบก็คือไม่ชอบ แต่หากมองอีกมุมผมก็มีแฟนคลับจำนวนมากนะ อย่างการไปร่วมงานสันนิบาตเมื่อเดือนที่แล้วก็มีคนเข้ามาให้กำลังใจจำนวนมาก มีนายทหารตั้งแต่ยศ ‘ผู้พัน’ ถึง ‘นายพล’ จำนวนมากเข้ามาให้กำลังใจ”

 


 

กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ยืนระหว่างทางเชื่อมชั้น 5 ภายในอาคารรัฐสภา

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 


 

กิตติศักดิ์อธิบายตัวตนที่แท้จริงของตัวเองว่า ตัวจริงเป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตน โดยเฉพาะเมื่อพบกับประชาชน ประชาชนจะเกลียดน้อยมาก เพราะเป็นคนติดดิน ส่วนบทบาทในสภานั้นที่อาจรุนแรงและก้าวร้าวไปบ้าง เพราะนั่นคือการปฏิบัติหน้าที่ แม้สังคมจะมองว่ากิตติศักดิ์ดูก้าวร้าว ชี้นิ้วครั้งเดียวจากการโดนโจมตีอย่างหนัก ตอนนั้นเรารู้สึกว่า สว. ถูก สส. ด่า และโจมตีหนัก จึงคิดว่านี่เป็นสิทธิที่เราจะโต้ตอบในฐานะส่วนหนึ่งของ สว. ไม่ใช่แค่กิตติศักดิ์คนเดียว

 

แต่สุดท้ายเมื่อการประชุมจบ ทุกอย่างก็จบ คู่กรณีเข้าก็มายกมือไหว้ตอนหลัง และมีการพูดคุยกัน ขอโทษและขออภัยกันไป ผมเป็นนักกีฬาเก่าผมจึงมีสปิริตในเรื่องนี้

 

ไร้กังวล บ้านเมืองเป็นของทุกคน

 

กิตติศักดิ์กล่าวขอบคุณด้วยใจ หลังจากที่สื่อมวลชนและประชาชนยกให้ตนเองเป็น ‘สว. ตัวตึง’ ยืนยันว่าไม่ได้สนใจว่าคนจะมองตนเองในแง่ไหน อยู่ตรงนี้อยู่มา 10 ปี หลายคนค่อนข้างคุ้นเคย หลายคนก็บอกว่าอย่าเปลี่ยนลุคเปลี่ยนสไตล์ ไม่อย่างนั้นไม่ใช่ตัวตนของเรา อย่างการทำงานในห้องประชุม แม้ไม่ใช่คนที่พูดกฎหมายเป๊ะปัง แต่เป็นคนที่พูดโดยไม่มีโพย เพราะทำการบ้านมาอย่างดี 

 

ตัวอย่างเวลาลุกขึ้นประท้วงเราไม่เคยพลาดสักครั้ง เพราะทุกคนต้องแม่นข้อบังคับ เพราะทุกการประชุม ไม่ว่าจะเป็นการประชุม สส. การประชุม สว. หรือการประชุมร่วมของ สส. และ สว. ล้วนมีความแตกต่างกัน ดังนั้นเราต้องทำการบ้านให้ดี ซึ่งที่ผ่านมาก็มีหลายคนต้องพบกับความผิดพลาด เพราะทำการบ้านน้อยไป

 


 

กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ พา THE STANDARD ทัวร์อาคารรัฐสภา

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 


 

 “ตอนนี้กังวลต่อสถานการณ์บ้านเมืองอย่างไรบ้าง” THE STADARD ถาม

 

กิตติศักดิ์ตอบว่า ส่วนตัว ณ​ ตอนนี้ไม่ได้กังวลอะไร เราได้ทำหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสามารถแล้ว เมื่อเราหมดวาระไปแล้วเราไม่จำเป็นต้องกังวลอะไรอีก เพราะบ้านเมืองเป็นของทุกคน 

 

แต่คนที่จะเข้ามาไม่ว่าจะเป็น สส. หรือ สว. ขอให้รู้ไว้เลยว่า ท่านเป็นหนึ่งในองค์กรหลักของประเทศเรา การทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ ท่านได้รับเกียรติสูงสุดแล้ว สิ่งที่อยากจะฝากไว้คือ ทุกท่านต้องรักและเทิดทูนชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และประชาชน ท่านจะเจริญรุ่งเรือง 

 

“การเลือก สว. ครั้งใหม่ กฎระเบียบการเลือกซับซ้อนมากๆ กังวลหรือไม่ หากได้ สว. ชุดใหม่ช้ากว่าที่กำหนดจนต้องรักษาการยาว” THE STADARD ถาม

 

กิตติศักดิ์ตอบว่า ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 109 ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า สว. ชุดเดิมแม้จะพ้นวาระไปแล้ว แต่ว่ายังต้องปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะได้ สว. ชุดใหม่ ซึ่งตามเงื่อนไขการเลือกจะต้องได้ครบ 200 ครั้งในครั้งเดียว โดยไม่สามารถขาดได้แม้แต่คนเดียว ซึ่งตามไทม์ไลน์ภายใน 2 กรกฎาคมนี้ ก็ขอให้กำลังใจ

 

‘เราก็จะได้กลับบ้าน’

 


 

กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ กำลังเดินไปที่รถส่วนตัวเพื่อเดินทางกลับจังหวัดพิจิตร 

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร 

 


 

“สว. ส่วนใหญ่อยากให้การเลือก สว. ชุดใหม่ผ่านไปได้ด้วยดีและจบได้ด้วยดี เพราะหากต้องลากไปก็ไม่มีประโยชน์ คนที่ลากไม่ใช่ สว. ดังนั้นอย่ามาโทษ สว. เราทุกคนพร้อมที่จะกลับบ้าน แต่หากกระบวนการเลือกไม่สำเร็จก็อย่ามาโทษกลุ่ม สว. เราต้องอยู่ไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ขอให้เข้าใจในส่วนนี้ด้วย เราอยู่ไปก็มีแต่เสีย” 

 

ยังรักการเมือง ลุ้นอีก 2 ปีข้างหน้า 

 

กิตติศักดิ์กล่าวถึงแผนในอนาคตของเขาว่า กิตติศักดิ์อยู่ในการเมืองมาแทบตลอดชีวิต ไม่ว่าจะเป็นคนเบื้องหลังหรือคนเบื้องหน้า มีพรรคพวกเป็นนักการเมือง และชีวิตจิตใจก็ชื่นชอบการเมืองและรักการเมือง แต่ไม่มีปัญญาและไม่มีทรัพย์สินที่จะไปสมัคร สส. 

 

ตอนนี้มีพรรคการเมืองหลายพรรคการเมืองที่เข้ามาติดต่อชักชวนให้เข้าร่วมพรรคการเมือง ยกเว้นพรรคก้าวไกล มีหลายพรรคการเมืองพูดคุยและชักชวน แต่ ณ ตอนนี้ขอทำหน้าที่ตรงนี้ก่อน ยังไม่ได้คิดไปไกล หากมีโอกาสก็อยากรับใช้บ้านเมือง แต่หากไม่มีก็กลับบ้าน เลี้ยงสุนัข เลี้ยงแมว

 


 

กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ยืนบนลานกลางแจ้งบริเวณด้านหน้าอาคารรัฐสภา 

โดยมีเมฆขาวและท้องฟ้าเป็นแบ็กกราวด์ 

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 


 

ส่วนโอกาสจะลงเล่นการเมือง สมัคร สส. หรือไม่นั้น ขอให้รอติดตามในอนาคต ตอนนี้กำลังเรียนปริญญาอยู่ และอีก 2 ปีจะเรียนจบ มีคุณสมบัติครบ สามารถลงสมัคร สส. ได้ โดยปรารถนาที่จะลง สส. เขต มากกว่า สส. แบบบัญชีรายชื่อ โดยมองว่า สส. แบบบัญชีรายชื่อ ของแต่ละพรรคนั้นล้วนเป็นนักการเมืองที่มีบารมี เป็นนักการเมืองบ้านใหญ่หรือเป็นนายทุนทั้งนั้น 

 

“อยากแสดงความสามารถด้วยการลงเขตมากกว่า การชนะหรือแพ้ไม่ใช่เรื่องสำคัญ และถ้าได้ลงก็อยากลงสมัครให้กับจังหวัดพิจิตร แม้จะเกิดที่จังหวัดกำแพงเพชร แต่ผูกพันกับจังหวัดพิจิตรมากกว่า”

 

ถึงประชาชน “กราบขออภัย หากทำให้ไม่สบอารมณ์” 

 

“มีสิ่งที่อยากจะฝากถึงประชาชนคนไทยก่อนที่จะพ้นตำแหน่งหรือไม่” THE STANDARD ถาม 

 

“ต้องกราบขออภัยด้วยความเคารพ ที่อาจทำให้พี่น้องประชาชนไม่สบอารมณ์ไปบ้าง หรือไม่พอใจต่อที่มาของ สว. ชุดนี้ไปบ้าง หรือ สว. ชุดนี้ได้กระทำสิ่งใดที่สร้างความไม่พอใจให้กับพี่น้องประชาชน ต้องกราบขอโทษไว้ ณ โอกาสนี้ แต่สิ่งที่ สว. ชุดนี้ได้ตั้งใจทำและปฏิบัติตัวด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” กิตติศักดิ์กล่าวทิ้งท้าย และจบการสนทนากับ THE STANDARD

 

กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ โบกมือลาและลงลิฟต์ ก่อนเดินไปยังที่จอดรถยนต์ส่วนตัว 

เพื่อเดินทางกลับจังหวัดพิจิตร 

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X