×

ดิเรกฤทธิ์ลาออกจาก กมธ.การพัฒนาการเมืองฯ หลังถูกเพื่อน สว. ตำหนิ ปมยื่นถอดถอนเศรษฐา-พิชิต

โดย THE STANDARD TEAM
22.05.2024
  • LOADING...

วันนี้ (22 พฤษภาคม) ดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ได้ทำหนังสือลาออกจากรองประธานกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ที่มี เสรี สุวรรณภานนท์ เป็นประธานคณะกรรมาธิการฯ เมื่อวันอังคารที่ 21 พฤษภาคม 2567 โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากตนไม่สะดวกใจในการปฏิบัติหน้าที่ในคณะกรรมาธิการฯ บางประเด็น จึงขอลาออกจากคณะกรรมาธิการฯ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป 

 

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากฝ่ายเลขาธิการและคณะเจ้าหน้าที่ได้ช่วยปฏิบัติงานและให้ความร่วมมือด้วยดีมาตลอดระยะเวลาประมาณ 5 ปีที่ผ่านมา จึงขอขอบคุณอย่างสูงมา ณ ที่นี้ด้วย จึงเรียนมาเพื่อทราบ

 

การลาออกครั้งนี้ของดิเรกฤทธิ์เกิดขึ้นภายหลังจากเขาในฐานะ 1 ใน 40 สว. ที่ร่วมลงชื่อยื่นคำร้องผ่าน พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เพื่อขอให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ผู้ถูกร้องที่ 1 และ พิชิต ชื่นบาน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้ถูกร้องที่ 2 สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) (5) หรือไม่ 

 

เนื่องจากเห็นว่าเศรษฐาใช้อำนาจนายกรัฐมนตรีในการแต่งตั้งพิชิตเป็นรัฐมนตรี ทั้งที่รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญที่เคยรับโทษจำคุกมาก่อนจากกรณีที่ถือถุงขนมใส่เงินสด 2 ล้านบาทมอบให้เจ้าหน้าที่ธุรการศาล ต่อมาถูกเพื่อนสมาชิกวุฒิสภาตำหนิติเตียนการทำหน้าที่ครั้งนี้ 

 

ขณะที่ พิชิต ชื่นบาน ในฐานะผู้ถูกร้องที่ 2 ได้ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีถึงนายกรัฐมนตรี หลังการโปรดเกล้าฯ ครม. ชุดใหม่ เมื่อวันที่ 28 เมษายนที่ผ่านมา ทำให้เขาทำหน้าที่ได้เพียง 23 วันเท่านั้น โดยให้มีผลวันที่ 21 พฤษภาคม 2567 เป็นต้นไป

 

หนังสือลาออกของพิชิตระบุตอนหนึ่งว่า “แม้ว่าข้าพเจ้าได้ตรวจสอบและเชื่อมั่นโดยสุจริตแล้วว่า ข้าพเจ้ามีคุณสมบัติครบถ้วนตามกฎหมายทุกประการก็ตาม แต่เรื่องนี้ได้มีการพาดพิงไปถึงท่านนายกรัฐมนตรี หัวหน้าผู้บริหารราชการแผ่นดิน ต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้และไม่กระทบต่อการบริหารราชการแผ่นดินของนายกรัฐมนตรีที่มีความจำเป็นต้องเดินหน้าด้วยความต่อเนื่อง ข้าพเจ้าจึงไม่ยึดติดกับตำแหน่ง ในลักษณะยึดถือประโยชน์ส่วนตนยิ่งกว่าประโยชน์ส่วนรวม”

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising