×

หมดไฟลามทุ่ง! 80% องค์กรทั่วโลกสั่นคลอน วิกฤตซ้อนวิกฤตทำพนักงาน Burnout ฉุดธุรกิจดิ่งเหว

21.05.2024
  • LOADING...

ท่ามกลางวงจรวิกฤตที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อินเตอร์เนชั่นแนล เอสโอเอส (International SOS) นำเสนอข้อมูลเชิงลึกจากรายงานประเมินแนวโน้มความเสี่ยง ประจำปี 2567 (The Risk Outlook 2024) ซึ่งชี้ให้เห็นว่าภาวะหมดไฟของพนักงานที่เกิดขึ้นจากวิกฤตการณ์ซ้ำแล้วซ้ำเล่ากลายเป็นปัญหาที่สำคัญซึ่งองค์กรต้องเผชิญ

 

โดย 80% ของผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการความเสี่ยงที่มีส่วนร่วมในการสำรวจความคิดเห็น เชื่อว่าความเครียดและภาวะหมดไฟมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อธุรกิจและพนักงานในปีนี้ นอกจากนี้ 72% เชื่อว่าปัญหาสุขภาพจิตก็มีแนวโน้มจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจและพนักงานอย่างมากเช่นกัน

 

ข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า ปัจจุบันภาวะหมดไฟในการทำงานและปัญหาสุขภาพจิตเริ่มถูกจับตามองมากขึ้นในแวดวงธุรกิจ และถูกมองว่าเป็นหน้าที่ขององค์กรที่จะต้องเข้ามาจัดการแก้ไข ผู้คนมีความคาดหวังเกี่ยวกับการดูแลพนักงานมากขึ้นกว่าเดิม ดังจะเห็นได้จาก 75% ของผู้ตอบแบบสำรวจที่มีความเห็นไปในทิศทางนี้

 

ดังนั้น องค์กรควรตระหนักและเตรียมรับมือกับปัญหาภาวะหมดไฟและสุขภาพจิตของพนักงานอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อลดผลกระทบด้านลบที่จะเกิดขึ้น

 

ผลกระทบสะสมที่เกิดขึ้นจากวิกฤตการณ์ต่างๆ รวมทั้งปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเครียดส่วนบุคคล เช่น ค่าครองชีพที่สูงขึ้น ความวิตกกังวลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และการแบ่งขั้วทางการเมือง ส่งผลกระทบอย่างมากต่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของแต่ละบุคคล

 

วิกฤตที่ทับซ้อนกันเหล่านี้ยิ่งผลักดันให้เกิดภาวะวิกฤตซ้อนวิกฤต (Permacrisis) ซึ่งเป็นวงจรของสถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนและมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ

 

การเผชิญกับวิกฤตเป็นเวลานานมีส่วนทำให้อาการหมดไฟของพนักงานเพิ่มสูงขึ้น โดยภาวะหมดไฟนี้สามารถจำแนกได้จากความรู้สึกเหนื่อยล้าทางอารมณ์ และประสิทธิภาพการทำงานที่ลดลง นอกจากนี้ ยังมีแนวโน้มที่จะเกิดภาวะเหล่านี้ขึ้นมากกว่าเดิมในอนาคตอีกด้วย

 

นายจ้างจึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนวิธีการจัดการกับวิกฤตเหล่านี้ โดยหันมาใช้วิธีการเชิงรุกในการป้องกันปัญหา แทนที่จะรอจัดการแบบเชิงรับเมื่อเกิดวิกฤตขึ้นแล้วเท่านั้น ด้วยการเตรียมพร้อมป้องกันไว้ก่อน จะช่วยลดผลกระทบเชิงลบจากทั้งภาวะวิกฤตซ้ำซ้อนและภาวะหมดไฟภายในที่ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

นพ.จามร เงินจารี ผู้อำนวยการด้านการแพทย์ บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล เอสโอเอส ให้ความเห็นว่า “สถานการณ์ในปัจจุบันแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มที่น่ากังวลเกี่ยวกับภาวะหมดไฟที่เกิดขึ้นในที่ทำงานทั่วโลก เราพบเห็นปัจจัยต่างๆ ที่ทับซ้อนกันซึ่งครอบคลุมถึงปริมาณงานที่มากขึ้น การขาดสมดุลระหว่างการทำงานและชีวิตส่วนตัว และสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องและคาดเดาไม่ได้ ภาวะหมดไฟในการทำงานเป็นปัญหาที่แพร่หลายในหลายองค์กร จนถึงจุดที่องค์กรต้องหันมาใส่ใจและหาวิธีแก้ไขอย่างเร่งด่วน”

 

อินเตอร์เนชั่นแนล เอสโอเอส นำเสนอคำแนะนำ 5 ข้อเพื่อให้องค์กรนำไปปฏิบัติในการจัดการกับภาวะหมดไฟของพนักงาน ได้แก่

 

  1. ส่องสัญญาณภาวะหมดไฟ: จัดให้มีการพูดคุยกับพนักงานอย่างสม่ำเสมอ เพื่อประเมินสุขภาวะและค้นหาสัญญาณเริ่มต้นของภาวะหมดไฟในการทำงานตั้งแต่เนิ่นๆ รวมถึงฝึกอบรมผู้จัดการให้สามารถแยกแยะสัญญาณของภาวะหมดไฟ ตลอดจนจัดหาทรัพยากรที่จำเป็นสำหรับการสนับสนุนทีมงานอย่างมีประสิทธิภาพ  

 

  1. ใช้มาตรการเชิงรุก: ใช้มาตรการเชิงรุกเพื่อจัดการกับภาวะหมดไฟด้วยโครงการที่ช่วยสนับสนุนด้านสุขภาพจิต ซึ่งรวมถึงบริการให้คำปรึกษา หรือโครงการช่วยเหลือพนักงาน

 

  1. ส่งเสริมความยืดหยุ่นในองค์กร: เสริมสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ให้ความสำคัญกับความยืดหยุ่น ด้วยการส่งเสริมให้พนักงานสามารถรักษาสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัว พร้อมทั้งจัดหาสิ่งสนับสนุนที่จำเป็นให้กับพนักงานที่ต้องการความช่วยเหลือ

 

  1. วางแผนกลยุทธ์: จัดทำแผนการจัดการภาวะวิกฤตอย่างครอบคลุม ซึ่งมุ่งเน้นการแก้ไขปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเครียดโดยเฉพาะ รวมถึงกำหนดมาตรการในการจัดสรรงานในช่วงที่มีความกดดันสูง และจัดตั้งกลไกเพื่อเฝ้าติดตามและดูแลสุขภาวะของพนักงาน

 

  1. ผนึกกำลังร่วมมือกัน: สนับสนุนการทำงานร่วมกันระหว่างผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกกับองค์กร เพื่อนำความรู้ความชำนาญเหล่านั้นมาประยุกต์ใช้รับมือกับความเครียด และเสริมสร้างสุขภาวะของพนักงาน

 

ภาวะหมดไฟเป็นปัญหาที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นในหลายองค์กรทั่วโลก ท่ามกลางช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนและวิกฤตที่เผชิญอยู่ในปัจจุบัน การป้องกันและจัดการกับภาวะหมดไฟของพนักงานจึงเป็นความจำเป็นเร่งด่วนที่องค์กรต้องให้ความสำคัญ เพื่อลดผลกระทบด้านลบให้เหลือน้อยที่สุด และสร้างความยั่งยืนให้กับทั้งตัวพนักงานและองค์กรในระยะยาว

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X