หลายๆ คนต้องเปลี่ยนงานอยู่บ่อยๆ ตลอดช่วงที่ทำงาน ทำให้เราอาจได้รับเชิญให้เข้าร่วมสัมภาษณ์ตอนลาออกจากงานอยู่บ้าง Exit Interview ไม่ได้จัดขึ้นในทุกองค์กรเสมอไป แต่หากคุณมีโอกาสได้เข้าร่วม ก็ถือเป็นช่องทางหนึ่งในการให้ข้อเสนอแนะที่มีประโยชน์ต่อองค์กร เพื่อพัฒนาสภาพแวดล้อมในการทำงานให้กับทั้งพนักงานปัจจุบันและเหล่าพนักงานใหม่ในอนาคต
ไม่ว่าคุณจะเปลี่ยนงานเพราะอยากคว้าโอกาสใหม่ อยากหนีหัวหน้าหรือเพื่อนร่วมงานที่ไม่โอเค ต้องการเวลาพักผ่อนให้ตัวเอง ได้งานที่เข้ากับไลฟ์สไตล์มากกว่า หรือเป็นเพราะทุกเหตุผลที่กล่าวมา สิ่งสำคัญคือไม่เปลี่ยนช่วง Exit Interview ให้เป็นเวทีระบายอารมณ์ ควรรักษาท่าทีสงบและเน้นให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ตรงไปตรงมา และเปิดเผย โดยครอบคลุมประเด็นดังต่อไปนี้
- เหตุผลที่คุณลาออก: อันนี้ไม่ซับซ้อนเท่าไร คุณอาจถูกทาบทามโดย Recruitment มีตำแหน่งใหม่ที่น่าสนใจกว่า ทั้งเงินและระดับงานดีกว่าเดิม หรือคุณอาจต้องการย้ายบ้านเพื่ออยู่ใกล้ครอบครัว หรือสนับสนุนเส้นทางอาชีพของคนรัก หรือสุดท้ายคือถึงจุดหมดไฟและต้องการเวลาพักเพื่อทบทวนสิ่งที่ต้องการจริงๆ ทั้งในแง่ชีวิตและการงาน การบอกเหตุผลเบื้องต้นนี้จะช่วยให้องค์กรซักถามข้อมูลเชิงลึกต่อไปในส่วนที่เกี่ยวข้องได้
- ความลงตัวของงานและการมีเครื่องมือที่พร้อม: งานที่คุณทำมีความหมายและกระตุ้นให้คุณอยากเติบโตแค่ไหน? หัวหน้าของคุณสร้างโอกาสให้คุณได้ใช้จุดแข็งในตัวคุณอย่างเต็มที่หรือเปล่า? นอกจากนี้ควรร่วมแชร์ข้อมูลว่าคุณรู้สึกว่าได้รับการสนับสนุนจากหัวหน้าในการทำงาน มีอุปสรรคที่ได้รับการแก้ไขจากหัวหน้าหรือไม่ และคุณมีทรัพยากรต่างๆ (งบประมาณ บุคลากร เครื่องมือหรือซอฟต์แวร์ต่างๆ) เพื่อช่วยให้ทำงานได้สะดวกครบครันหรือเปล่า?
- มีโอกาสเรียนรู้และเติบโตหรือไม่: จากงานวิจัย Gallup ระบุว่า 32% ของคนที่ลาออกเป็นเพราะมองไม่เห็นเส้นทางความก้าวหน้าทางอาชีพในองค์กร คุณควรบอกเล่าว่าคุณรู้สึกอย่างไรกับเส้นทางการเติบโตในองค์กรนี้ มีโอกาสได้พัฒนาทักษะใหม่ๆ หรือได้รับงานโปรเจกต์ใหญ่ที่ท้าทาย ให้คุณได้เติบโตมากขึ้นหรือเปล่า? การได้รับคำแนะนำและคำติชมที่มีประโยชน์จากหัวหน้าอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้คุณเรียนรู้และพัฒนาทักษะการทำงานได้อย่างต่อเนื่อง
- ความรู้สึกต่อหัวหน้าและผู้บริหารคนอื่นๆ นี่เป็นโอกาสให้คุณได้ชื่นชมหัวหน้าที่มีภาวะผู้นำที่ดี และบอกว่าอะไรที่ทำให้พวกเขาน่าร่วมงานด้วย หรือในทางกลับกันก็เป็นโอกาสแจ้งให้ทราบถึงหัวหน้าที่ไม่ส่งเสริมสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดี หรือเป็นตัวปัญหาที่ทำให้คุณตัดสินใจลาออก เช่น เป็นหัวหน้าที่ชอบบูลลี่ หรือสร้างความหวาดกลัว การที่ Exit Interview หลายๆ คนสะท้อนปัญหาเดียวกันจะช่วยจุดประกายให้องค์กรอยากลงมือแก้ไขจริงจัง อาจเป็นการจัดโค้ชชิ่งให้หัวหน้าคนนั้นเพื่อพัฒนาตนเอง ลดพฤติกรรมไม่สร้างสรรค์ หรือสอบสวนเพิ่มเติมที่อาจนำไปสู่บทลงโทษที่เหมาะสม ซึ่งทั้งหมดนี้จะเป็นการช่วยทั้งเพื่อนร่วมงานของคุณ รวมถึงพนักงานใหม่ในอนาคต
- สิ่งที่คุณประทับใจเกี่ยวกับงานและองค์กร อย่าลืมบอกองค์กรว่าอะไรที่คุณชอบและรู้สึกขอบคุณจากการทำงานที่นี่ อาจเป็นเรื่องเพื่อนร่วมทีมที่ดี วัฒนธรรมองค์กรที่โดนใจ สวัสดิการต่างๆ หรือการลงทุนพัฒนาบุคลากร องค์กรก็ต้องการคำชมเชยเช่นกัน เพื่อให้ทราบว่าอะไรคือสิ่งที่ควรทำต่อไป
- ข้อเสนอแนะหลักๆ ในการปรับปรุงองค์กร ลองระบุสัก 1-2 จุดที่มีความสำคัญที่สุดในการพัฒนาองค์กร ซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้คุณอยากทำงานต่อด้วยซ้ำถ้ามี อาทิ มีทางเลือกในการทำงานที่ยืดหยุ่นกว่านี้ มีค่าตอบแทนที่ดึงดูดกว่านี้ (พร้อมข้อมูลอ้างอิงด้วยถ้ามี) วัฒนธรรมองค์กรควรเปิดกว้างสำหรับความคิดเห็นที่แตกต่าง และการมีช่องทางให้พนักงานได้แสดงความคิดเห็นต่อผู้บริหาร
การใช้เวลาพูดคุยถึงประเด็นต่างๆ ข้างต้นอย่างสร้างสรรค์ จะช่วยให้องค์กรมีทิศทางพัฒนาที่ชัดเจนขึ้น ผู้นำที่ดีคือคนที่ทำให้ทุกอย่างดีขึ้นสำหรับคนอื่น ดังนั้น Exit Interview จึงถือเป็นอีกวิธีในการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงดีๆ นั่นเอง
อ้างอิง:
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ไม่มีเรา องค์กรก็อยู่ได้! 5 เหตุผลที่ การ ‘ลาออก’ ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด
- พบ 15 อาชีพในปี 2023 ที่คนหมดไฟจนอยาก ลาออก มากที่สุด แม้รายได้สูง