×

SCB EIC เผยผล Survey คาดผู้ได้สิทธิ Digital Wallet 10,000 บาท หลังได้เงินจากโครงการนี้จะใช้เงินส่วนตัวลดลง

29.04.2024
  • LOADING...
ผู้ได้สิทธิ Digital Wallet

SCB EIC ชี้ ผลสำรวจคนส่วนใหญ่จำนวน 60% ของคนที่ได้ดิจิทัลวอลเล็ต (Digital Wallet) 10,000 บาท จะทยอยใช้เงินซื้อสินค้าหมดภายใน 6 เดือนหลังเริ่มโครงการนี้ ส่วนธุรกิจที่ได้อานิสงส์โครงการนี้สูงสุดอันดับแรกคือ Grocery, กลุ่มสุขภาพ และร้านอาหาร

 

นพมาศ ฮวบเจริญ นักวิเคราะห์อาวุโส ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC) ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ Morning Wealth ว่า จากการผลการทำ Survey เกี่ยวกับพฤติกรรมของผู้บริโภคในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2566 จากกลุ่มตัวอย่างประมาณ 2,000 ราย ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 40% โดยคาดว่ามีแนวโน้มจะได้รับสิทธิในการรับเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทภายใต้เงื่อนไขที่มีรายได้ต่ำกว่า 70,000 บาทต่อเดือน และมีเงินฝากในธนาคารน้อยกว่า 500,000 บาท จากผลสำรวจพบประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้จ่ายอยู่ 3 ประเด็น ดังนี้

 

  1. ผู้ตอบแบบสอบถามมีสัดส่วนประมาณ 60% ของผู้มีสิทธิได้รับเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทจะทยอยใช้จ่ายในช่วง 6 เดือนแรกของโครงการนี้ โดยเฉพาะในกลุ่มของวัยทำงานที่ระบุว่า พฤติกรรมการใช้จ่ายจะมีการทยอยใช้เงิน โดยมีสัดส่วนประมาณ 10% ที่จะใช้จ่ายในครั้งเดียวหมด ส่วนที่เหลืออีกสัดส่วน 30% จะทยอยใช้จ่ายจนสิ้นอายุของโครงการคือในเดือนเมษายน ปี 2570  

 

  1. ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่สัดส่วนประมาณ 80% จะมีการลดการใช้จ่ายเงินส่วนตัวของตัวเองลงบ้างหรือเท่ากับจำนวนเงินที่รับสิทธิจากโครงการนี้ เพื่อเก็บออมไว้ไม่นำออกมาใช้ โดยนำเงินที่ได้จากเงินดิจิทัลวอลเล็ตมาใช้ทดแทนเงินส่วนตัว โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่มีสัดส่วนที่สูง โดยมีสัดส่วนอีกประมาณ 20% ที่ให้ข้อมูลว่า จะยังใช้จ่ายจากเงินส่วนตัวเท่าเดิมหรือมีบางส่วนที่มีแนวโน้มจะใช้เพิ่มสูงขึ้น 

 

ดังนั้นข้อมูลดังกล่าวบ่งชี้ว่า เม็ดเงินจากโครงการดิจิทัลวอลเล็ตที่จะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอาจไม่ได้มีจำนวนเต็มที่มาก เพราะกลุ่มคนส่วนใหญ่ที่ได้รับสิทธิจะลดการใช้เงินส่วนตัวที่เคยใช้จ่าย หันมาเก็บออมเงินไว้มากขึ้น

 

  1. กรณีที่ผู้ตอบแบบสอบถามจะมีการเก็บออมเงินส่วนตัวมากขึ้น อีกด้านอาจมีการนำเงินบางส่วนออกมาใช้จ่ายเข้าไปสู่ระบบเศรษฐกิจได้ด้วย เพราะผู้ตอบแบบสำรวจที่จะเก็บเงินส่วนตัวไว้มากขึ้นหลังจากได้รับเงินดิจิทัลวอลเล็ตให้ข้อมูลว่า มีประมาณสัดส่วนราว 10-20% จะนำเงินไปให้ญาติใช้จ่ายหรือนำเงินไปลงทุนต่อ ซึ่งมีโอกาสที่เม็ดเงินเหล่านี้จะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้เพิ่มเติม

 

ทั้งนี้ หากประเมินปัจจัยดังกล่าวที่เข้าไปรวมกับโครงการที่เข้าไปด้วยแล้ว คาดว่าจะมีสัดส่วนประมาณ 30% มีแนวโน้มจะใช้เงินเพิ่มเติมหรือใช้จ่ายเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 10,000 บาทต่อราย

 

อย่างไรก็ดี ประเมินว่าภาพรวมของจำนวนเงินที่จะเข้ามาเพิ่มเติมจากโครงการนี้อาจจะทำได้ไม่เต็มที่ แต่ก็เป็นตัวช่วยในการบรรเทาภาระให้กับกลุ่มผู้มีสิทธิได้รับเงิน เพราะเงินส่วนตัวที่ออมไว้จะถูกนำมาออมหรือลงทุนต่อ รวมถึงใช้ชำระเงินคืนเงินกู้ ซึ่งจะเป็นข้อดีในการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางที่รัฐบาลมองว่าควรจะได้รับสิทธิในการใช้จ่ายเงินส่วนนี้ในช่วงที่ปัจจุบันเศรษฐกิจอยู่ในช่วงภาวะเปราะบาง

 

สำหรับกลุ่มที่คาดว่าจะได้อานิสงส์โดยมีเม็ดเงินจากโครงการดิจิทัลวอลเล็ตสูงสุดเป็นอันดับ 1 หรือมีสัดส่วนประมาณ 40% ของเม็ดเงินของทั้งโครงการ จะถูกนำมาใช้จ่ายสินค้าซื้อกลุ่มสินค้าของชำ (Grocery) ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน

 

โดยกลุ่มสินค้าที่จะได้อานิสงส์เป็นอันดับ 2 คือ สินค้ากลุ่มสุขภาพและร้านอาหาร ซึ่งจะมีเม็ดเงินมาใช้จ่ายสัดส่วนเฉลี่ยประมาณ 10-15% ต่อกลุ่ม 

 

ขณะที่ข้อมูลจากการสำรวจพบว่า กลุ่มสินค้าคงทนมีโอกาสจะได้รับอานิสงส์จากโครงการนี้ด้วย ซึ่งติดอันดับ 3 ที่จะมีเม็ดเงินนำมาใช้จ่ายซื้อสินค้าในกลุ่มนี้ โดยเฉพาะกลุ่ม Gen Z  ที่ต้องการใช้จ่ายซื้อโทรศัพท์มือถือ อีกทั้งกลุ่มสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและสินค้าตกแต่งบ้านก็ยังมีโอกาสได้รับอานิสงส์จากโครงการนี้ด้วย

 

อีกทั้งยังมีโอกาสนำเงินส่วนตัวออกมาใช้เพิ่มเติมสำหรับใช้ซื้อกลุ่มสินค้าคงทน ซึ่งจะกระจุกตัวอยู่ในกลุ่ม Gen Y และ Gen Z รวมถึงกลุ่มที่มีรายได้ค่อนข้างสูงหรือกลุ่มที่มีรายได้ 15,000 บาทต่อเดือนขึ้นไป

 

นอกจากนี้ผลสำรวจยังพบด้วยว่า ผู้มีสิทธิได้รับเงินดิจิทัลวอลเล็ตจะนำเงินไปใช้ในร้านค้าท้องถิ่นสูงสุดเป็นอันดับ 1 สัดส่วนประมาณ 40% อันดับ 2 เป็นร้านค้าที่ได้ประโยชน์คือกลุ่มร้านค้าสะดวกซื้อ เช่น ซีเจ ซึ่งสอดรับกับสินค้าที่จะซื้อคือกลุ่ม Grocery ส่วนกลุ่มที่ได้ประโยชน์เพิ่มเติมเข้ามาบางส่วนคือกลุ่มยานยนต์กับอุปกรณ์สินค้าการเกษตร

 

สำหรับเงื่อนไขหรืออุปสรรคที่ผู้ตอบแบบสอบถามมีความกังวลคือ การกำหนดรัศมีการใช้จ่ายในพื้นที่ที่อยู่อาศัยตามทะเบียนราษฎร์ โดยเฉพาะกลุ่มวัยทำงานที่มาใช้ชีวิตทำงานในเขตกรุงเทพฯ หรือในหัวเมือง พบว่า สัดส่วน 70% มีความเห็นว่า การกำหนดให้มีการใช้เงินในรัศมีตามทะเบียนบ้านถือเป็นอุปสรรคต่อการใช้จ่ายของคนกลุ่มนี้อยู่พอสมควร

 

เนื่องจากส่วนใหญ่ไม่ได้มีการใช้ชีวิตอยู่ในเขตพื้นที่ตามทะเบียนราษฎร์ แต่มีการย้ายมาใช้ชีวิตการทำงานอยู่ในเขตเมือง อีกทั้งยังกังวลว่าอาจจะไม่มีร้านค้าที่จำหน่ายสินค้าตรงกับความต้องการสินค้าในเขตพื้นที่ตามทะเบียนราษฎร์ พร้อมทั้งต้องติดตามต่อไปว่า ร้านค้าที่จะเข้าร่วมโครงการจะมีจำนวนมากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะร้านค้าท้องถิ่น เพราะจากเงื่อนไขที่รัฐบาลกำหนดล่าสุดในการเบิกรับเงินสด จะต้องมีการใช้จ่ายผ่านแอปพลิเคชันหรือซื้อสินค้ากับร้านค้าประเภทอื่นก่อนจำนวนหนึ่งครั้ง จึงจะสามารถเบิกเงินสดออกมาได้ ทำให้กลุ่มร้านค้าขนาดเล็กจะระมัดระวังในการเข้าร่วมโครงการ

 

โดยเฉพาะร้านค้าขนาดเล็กที่มีเงินทุนหมุนเวียนค่อนข้างต่ำ ต้องพิจารณาว่าการเข้าร่วมโครงการนี้จะมีความคุ้มค่าเพียงพอหรือติดอุปสรรคในด้านใด แม้รัฐบาลจะไม่ได้กำหนดเงื่อนไขให้กับร้านค้าเฉพาะที่เข้าระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปถึงกลุ่มอื่นๆ เช่น กลุ่มร้านค้าที่เข้าระบบภาษีนิติบุคคลหรือบุคคลธรรมดา ก็สามารถเข้าได้ในโครงการนี้

 

อีกทั้งประเด็นสำคัญคือ การที่ร้านค้าที่เข้าโครงการจะสามารถนำเงินสดออกมาได้หรือไม่ ทำให้ร้านค้าขนาดเล็กมีความกังวลในประเด็นเหล่านี้ ซึ่งอาจนำมาสู่การตัดสินใจไม่เข้าร่วมโครงการ และนำไปสู่การมีจำนวนร้านค้าไม่มากเพียงพอที่จะมีผลให้ผู้บริโภคนำเงินมาใช้จ่ายหรือไม่ ซึ่งถือเป็นอุปสรรคสำคัญที่จะต้องติดตามต่อไปในช่วงไตรมาส 3/67 ที่จะเปิดให้ร้านค้าเข้าร่วมโครงการจะมีจำนวนมากตามที่รัฐบาลคาดหวังไว้หรือไม่

 

“เม็ดเงินที่จะเข้ามาใช้จ่ายในช่วง 6 เดือนแรกของโครงการอาจไม่เข้าระบบมากนัก กลุ่มที่ได้ประโยชน์หลักจากโครงการนี้คือกลุ่มค้าปลีกและร้านอาหาร โดยคาดว่ากลุ่มธุรกิจค้าปลีกและร้านอาหารในปีนี้จะโต 6.8% แต่หากมีดิจิทัลวอลเล็ตมาช่วยการเติบโตก็จะเพิ่มขึ้นอีก 0.9% บนสมมติฐานที่ว่าโครงการสามารถเริ่มใช้ได้ในไตรมาส 4 ปีนี้ ซึ่งถือเป็นการส่งผลบวกแต่ไม่ได้สูงมาก เพราะเทียบในปี 2566 กลุ่มธุรกิจค้าปลีกและร้านอาหารมีการเติบโต 9.1% แม้จะมีโครงการดิจิทัลวอลเล็ตมาช่วย แต่ก็ถือว่ามีการเติบโตที่จะชะลอลงจากปี 2566 อยู่ดี” 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X