×

สมาคมแบงก์ไทยประกาศลดดอกเบี้ย สวนสัญญาณแบงก์ชาติหรือไม่? ส่งผลดี-เสียอย่างไร

25.04.2024
  • LOADING...
สมาคมธนาคารไทย ลดดอกเบี้ย

ประเมินผลกระทบหลัง ‘สมาคมธนาคารไทย’ ประกาศลดดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยลง 0.25% เพื่อช่วยลูกค้ากลุ่มเปราะบางเป็นเวลา 6 เดือน หลังนายกรัฐมนตรีเรียกผู้บริหารธนาคารใหญ่เข้าพบ ด้านผู้เชี่ยวชาญมอง แม้มาตรการนี้คาดว่าจะช่วยลดภาระลูกหนี้กลุ่มเปราะบางได้ในระยะสั้น แต่ต่างชาติอาจตั้งคำถามต่อการบริหารงานของรัฐบาลไทย พร้อมจับตาว่า การเคลื่อนไหวครั้งนี้จะช่วยแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยในระยะยาวได้แค่ไหน?

 

วันนี้ (25 เมษายน) ผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า วานนี้ (24 เมษายน) ที่ประชุมคณะกรรมการสมาคมธนาคารไทยได้ตระหนัก และเห็นถึงความจำเป็นในการออกมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมสำหรับลูกค้ากลุ่มเปราะบาง ในระหว่างที่เศรษฐกิจยังฟื้นตัวไม่เต็มที่และไม่ทั่วถึง จึงประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) ลง 0.25% สำหรับลูกค้ากลุ่มเปราะบาง ทั้งลูกค้าบุคคลและ SMEs เป็นเวลา 6 เดือน

 

โดยในแถลงการณ์ยังระบุด้วยว่า ธนาคารสมาชิกแต่ละแห่งจะเร่งพิจารณาดำเนินการตามหลักการดังกล่าว และเตรียมความพร้อมของระบบงาน เพื่อตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มเปราะบางของแต่ละธนาคารตามบริบทที่เหมาะสมโดยเร็วที่สุด ซึ่งหมายความว่า ขึ้นอยู่กับแต่ละแบงก์ว่าจะให้มีผลเมื่อไรหรือครอบคลุมสินเชื่อใดบ้าง

 

การเคลื่อนไหวครั้งนี้ยังเกิดขึ้นหลังจากเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2567 เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เรียกผู้บริหาร 4 ธนาคารใหญ่ หลังจากประสบความล้มเหลวในการร้องขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับลดดอกเบี้ย

 

โดยในการประชุมครั้งล่าสุด (10 เมษายน) คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ยังมีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.50% ต่อปี เนื่องจากเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยกำลังกลับเข้าสู่ระดับศักยภาพ เงินเฟ้อจ่อเข้ากรอบ และห่วงว่าการลดดอกเบี้ยจะกระทบต่อกระบวนการปรับลดสัดส่วนหนี้ต่อรายได้ (Debt Deleveraging) 

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง: 


 

แบงก์ลดดอกเบี้ยสวนสัญญาณแบงก์ชาติปกติหรือไม่ 

 

ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และอดีตรองผู้ว่าการ  สายเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (​ธปท.) ระบุว่า มีบ่อยครั้งที่แบงก์พาณิชย์เลือกลดอัตราดอกเบี้ยไม่ได้สัมพันธ์กับแบงก์ชาติ

 

อย่างไรก็ดี ความพิเศษของการเคลื่อนไหววันนี้คือ เกิดขึ้นหลังจากนายกรัฐมนตรีเข้าไปพูดคุยกับผู้บริหาร 4 แบงก์

 

สอดคล้องกับ ดร.กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการฝ่ายการวิจัยความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวในรายการ Morning Wealth ว่า ในเชิงหลักการ แบงก์พาณิชย์สามารถปรับขึ้นและลงดอกเบี้ยได้อยู่แล้วตาม Business Model ของธนาคารแต่ละแห่ง

 

อย่างไรก็ดี ดร.กิริฎา มองว่า โดยปกติแล้วการพูดคุยกับแบงก์พาณิชย์จะเป็นหน้าที่ของแบงก์ชาติ แต่การพูดคุยของผู้นำรัฐบาลไม่ใช่ว่าจะไม่เคยเห็น เช่น ช่วงที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ก็เคยเรียกภาคเอกชนมาพูดคุย

 

กระนั้นเหตุการณ์ที่ผู้นำประเทศขอร้องธนาคารพาณิชย์ให้ลดอัตราดอกเบี้ยโดยตรงโดยไม่ผ่านธนาคารกลาง ธีระชัยระบุว่า เป็นเหตุการณ์ที่ “ผมไม่เคยเห็นเลย”

 

การประชุมของสมาคมธนาคารไทยครั้งนี้ยังเกิดขึ้นหลังจากแจ้งผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 1/67 ของธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ซึ่งพบว่า มีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่ยังคงขยายตัวในภาพรวม

 

โดย ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ ก็มองอีกว่า “แบงก์พาณิชย์ขณะนี้กำไรเยอะอยู่ ถ้าจะลดดอกเบี้ยสามารถทำได้อยู่แล้ว และเดิมผมก็คิดอยู่ว่าควรมีมาตรการที่มีประสิทธิภาพ เพื่อลดส่วนต่างดอกเบี้ยลงมา”

 

พร้อมทั้งแนะว่า รัฐบาลควรหาทางแก้ปัญหาลูกหนี้ที่มีปัญหาค้างชำระ หรือไม่มีกระแสเงินสดมากพอ โดยมองไกลมากกว่าการแก้ปัญหาชั่วคราวแค่ 6 เดือน โดยต้องหาวิธีแก้ที่ยั่งยืน ครบวงจร เป็นรูปธรรม และมองในหลายมิติ ไม่ใช่แค่ในดอกเบี้ยมิติเดียว แต่ควรสร้างรายได้เพิ่มให้แก่ประชาชนควบคู่ไปด้วย

 

เหตุการณ์นายกฯ วอนแบงก์ลดดอกเบี้ยโดยตรงสะท้อนอะไร?

 

ธีระชัยยังมองว่าสถานการณ์ปัจจุบันเป็นการสะท้อนให้เห็นว่า นายกรัฐมนตรี ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ไม่สามารถพูดคุยให้แบงก์ชาติเชื่อในแนวคิดของท่านได้ (ต้องการให้ลดดอกเบี้ย) ท่านจึงใช้วิธีทางอ้อมด้วยการไปคุยกับแบงก์พาณิชย์แทน

 

“เป็นการสะท้อนให้นักลงทุนต่างชาติเห็นว่า การบริหารงานในประเทศมีปัญหาอยู่ ไม่ได้ราบเรียบปราศจากปัญหา” ธีระชัยกล่าว

 

สอดคล้องกับ ดร.กิริฎา ที่กล่าวว่า ความเป็นอิสระของธนาคารกลางเป็นสิ่งที่นักลงทุนให้ความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากหากธนาคารกลางขาดความอิสระ รัฐบาลสามารถสั่งการได้ ก็จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ เช่น ภาวะฟองสบู่ และเงินเฟ้อรุนแรงอย่างที่เกิดขึ้นในประเทศแทบลาตินอเมริกา

 

แบงก์ลดดอกเบี้ยสวนแบงก์ชาติ กระทบบทบาทนโยบายการเงิน?

 

ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย หรือ CIMBT มองว่า การเคลื่อนไหวของสมาคมแบงก์วันนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อความสำคัญของนโยบายการเงิน เนื่องจากเป็นการลดอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) ซึ่งมีผลต่อคนกลุ่มเดียวเท่านั้น

 

นอกจากนี้ดอกเบี้ยนโยบายแบงก์ชาติยังคงมีความสำคัญอยู่และมีผลต่อการดำเนินการหลายอย่าง เช่น เป็นอัตราอ้างอิงกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรบ้าง มีผลต่อการกำหนดสภาพคล่องในประเทศ และนโยบายอื่นๆ

 

สำหรับผลกระทบของเงินเฟ้อ ต้องติดตามว่าการลดดอกเบี้ยของแบงก์จะนำไปสู่การเร่งการกู้ยืมและจะไปกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจขนาดไหน รวมทั้งจะช่วยลดภาระลูกค้ารายย่อยหรือกลุ่มที่ฟื้นตัวช้าได้อย่างไร

 

แบงก์พาณิชย์ลดดอกเบี้ย 0.25% เท่ากับแบงก์ชาติลดดอกเบี้ย 2 ครั้ง

 

ดร.อมรเทพ ยังตั้งข้อสังเกตว่า หากธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ดำเนินการตามมติที่ประชุมสมาคมธนาคารไทยคือ ลดอัตราดอกเบี้ย MRR 0.25% จะพอๆ กับการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของแบงก์ชาติประมาณ 2 ครั้ง (ครั้งละ 0.25%) เนื่องจากโดยปกติแล้วการส่งผ่านอัตราดอกเบี้ย (Transmission Rate) จะอยู่ที่ราว 50%

 

จึงมองว่า การช่วยเหลือครั้งนี้เป็นการช่วยเหลือที่มีนัยสำคัญและน่าชื่นชม เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีปัญหาและโตช้า รวมทั้งโตกระจุกมานาน

 

ประเมินผลลัพธ์ต่อสถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทย-เศรษฐกิจ

 

ขณะที่ ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจและการลงทุน มองว่า มติสมาคมธนาคารไทยดังกล่าวจะไม่ได้ช่วยลดปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างมีนัยสำคัญนัก เนื่องจากเป็นการลดเพียง 0.25% เท่านั้น และไม่น่าจะทำให้เกิดการเบี้ยวหนี้ลดลง

 

เช่นเดียวกับผลกระทบในเชิงการกระตุ้นเศรษฐกิจก็คาดว่าจะไม่ได้มีผลสูงมาก เมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ย MLR ที่ให้กับลูกค้าที่เป็นธุรกิจและผู้ประกอบการ โดยกลุ่มลูกค้ารายย่อย MRR ก็มีสัดส่วนไม่เยอะมาก ‘ไม่ถึงครึ่ง’ ของสินเชื่อดอกเบี้ยลอยตัว (Floated) ทั้งระบบ

 

ส่วนผลกระทบต่อผลกำไรแบงก์ ดร.จิติพล ประเมินว่า แทบจะไม่มีผลกระทบต่อกำไรสุทธิ (Bottom Line) เนื่องจากมองว่า หากทุกแบงก์ลดพร้อมกันหมด น่าจะเห็นการเติบโตของสินเชื่อ (Loan Growth)

 

ขณะที่ผลกระทบต่อบทบาทนโยบายการเงินก็น่าจะมีน้อยมากเช่นกัน เนื่องจาก “ปัจจุบันดอกเบี้ยนโยบายส่งผลกระทบต่อธนาคารพาณิชย์น้อยอยู่แล้ว เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่ไม่ได้กู้หรือทำธุรกรรมกับแบงก์ชาติเพื่อสร้างสภาพคล่อง เนื่องจากมีเงินฝากอยู่แล้ว

 

โดยแบงก์ชาติสามารถควบคุมธนาคารพาณิชย์ได้ตามกฎเกณฑ์ต่างๆ และขอความร่วมมือได้ตามความศักดิ์สิทธิ์ แต่ไม่สามารถสั่งให้แบงก์พาณิชย์ขยับดอกเบี้ยตามได้” ดร.จิติพล กล่าว

 

ทั้งนี้ ตามข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทยเคยเปิดเผยว่า ในการขึ้นดอกเบี้ยรอบที่ผ่านมา อัตราการส่งผ่านอัตราดอกเบี้ย (Transmission Rate) ของไทยอยู่ที่ราว 50% เท่านั้น นับว่ายังต่ำกว่าหลายประเทศ ตัวอย่างเช่น สหรัฐฯ ที่ส่งผ่าน 100%, มาเลเซียที่ 80% และสหภาพยุโรป 61%

 

TDRI มอง ดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบันยัง ‘เหมาะสม’

 

ดร.กิริฎา ยังมองว่า ระดับดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.5% นั้นเหมาะสม เนื่องจากยังต้องรอดูท่าทีของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ว่าจะปรับขึ้นหรือลดดอกเบี้ยหรือไม่ โดยหาก ธปท. ปรับลดอัตราดอกเบี้ยก่อน Fed จะทำให้ส่วนต่างผลตอบแทนกว้างขึ้น ก็อาจส่งผลกระทบต่อกระแสเงินทุนและอัตราแลกเปลี่ยนได้

 

นอกจากนี้ ธปท. อาจคงอัตราดอกเบี้ยไว้ก่อนเพื่อรอดูสถานการณ์ เนื่องจากตามหลักการแล้วอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจราว 6 เดือนข้างหน้า ดังนั้นหากในช่วง 6 เดือนข้างหน้าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัว การลดอัตราดอกเบี้ยตอนนี้อาจไม่เกิดประโยชน์อะไร 

 

ดร.กิริฎา ยังชี้ให้เห็นด้วยว่า อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Real Interest) ของไทยเมื่อเทียบกับภูมิภาคยังถือว่าต่ำ ดังนั้นหากแบงก์ชาติกดอัตราดอกเบี้ยลงไปต่ำกว่านี้ หากเกิดวิกฤตหรือความจำเป็นที่จะต้องลดดอกเบี้ยเพิ่มเติม อาจไม่เหลือพื้นที่ (Room) มากพอ

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X