×

‘เศรษฐา’ พบ ‘นายแบงก์’ กำลังสะท้อนทิศทางของเศรษฐกิจไทยอย่างไร

25.04.2024
  • LOADING...

เมื่อวันที่ 23 เมษายนที่ผ่านมา เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เชิญผู้บริหารของ 4 ธนาคารใหญ่ของไทยมาพบที่ตึกไทยคู่ฟ้า ได้แก่ 

 

  • ขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย
  • ผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย
  • ชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) 
  • อาทิตย์ นันทวิทยา ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ 

 

ภายหลังการหารือกันด้วยเวลาประมาณ 30 นาที แม้จะยังไม่ได้มีข้อสรุปที่ออกมาอย่างเป็นรูปธรรม แต่ก็ทำให้เกิดแรงกระเพื่อมขึ้นในเศรษฐกิจไทย ที่เห็นได้ชัดที่สุดคือสมาคมธนาคารที่กำลังจะประชุมกันในวันนี้ (24 เมษายน) เพื่อหารือร่วมกันว่าจะสามารถตอบรับคำขอของนายกฯ ได้อย่างไรบ้าง 

 

ขณะเดียวกัน ก็ทำให้เกิดคำถามต่อทิศทางของเศรษฐกิจไทย การใช้นโยบายการเงิน การใช้นโยบายการคลัง ว่าจะเดินไปอย่างไรต่อจากนี้  

 

นายกฯ และแบงก์ชาติ เริ่มมองไปในทิศทางเดียวกัน

ปฏิเสธไม่ได้ว่าก่อนหน้านี้มุมมองของเศรษฐาซึ่งเป็นตัวแทนของฝั่งรัฐบาลกับมุมมองของแบงก์ชาติ ดูเหมือนจะไปกันคนละทิศ 

 

ที่ผ่านมา เราเห็นความพยายามจากรัฐบาลเพื่อโน้มน้าวให้แบงก์ชาติปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย หรือแม้แต่ในครั้งนี้เองที่เศรษฐาหารือกับผู้บริหารแบงก์โดยตรงเพื่อให้พิจารณาช่วยเหลือกลุ่มลูกค้าที่เปราะบางในเรื่องของดอกเบี้ย จนนำไปสู่การตั้งคำถามว่ารัฐบาลกำลังกดดันแบงก์ชาติทางอ้อมอยู่อีกหรือไม่ 

 

ในมุมมองของ ดร.ทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) เชื่อว่า การที่นายกฯ ขอให้แบงก์พาณิชย์ช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางเป็นแนวคิดที่ขยับเข้ามาใกล้เคียงกับแบงก์ชาติมากขึ้น คือการพุ่งเป้าความช่วยเหลือหรือนโยบายไปยังบางกลุ่มมากขึ้น  

 

“สิ่งที่นายกฯ ต้องการจากแบงก์พาณิชย์คือการให้ความช่วยเหลือเรื่องหนี้สำหรับกลุ่มเปราะบาง ซึ่งก็เป็นสิ่งที่แบงก์ชาติสื่อสารออกมาล่าสุด ขณะเดียวกันแบงก์ชาติก็เล็งเห็นว่าดอกเบี้ยสูงอาจกระทบกับบริษัทบางส่วนที่ไม่ใหญ่นักหรือไม่ได้เข้าถึงเงินทุนต้นทุนต่ำ” 

 

ส่วนความกังวลที่ว่า ความเชื่อมั่นต่อแบงก์ชาติกำลังถูกกระทบหรือไม่นั้น ดร.ทิม กล่าวว่า จากความชัดเจนที่แบงก์ชาติมีต่อนโยบายการเงิน และต่อนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล เป็นสิ่งที่ต่างชาติอยากเห็นอยู่แล้ว 

 

ส่วนสิ่งที่สะท้อนภาพเศรษฐกิจออกมาจากการหารือในครั้งนี้ คือความเสี่ยงจากกลุ่มเปราะบาง ซึ่งก็สะท้อนออกมาจากผลประกอบการแบงก์ล่าสุดเช่นกันว่าเป็นความเสี่ยงที่ต้องช่วยกันจับตามอง 

 

อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยยังไม่ได้เป็นลบมากนัก อาจต้องระมัดระวังช่วงไตรมาส 2 และไตรมาส 3 แต่หลังจากนั้นน่าจะฟื้นตัวได้ในไตรมาส 4 ส่วนปีหน้าจะเห็นการท่องเที่ยวเป็นตัวนำเศรษฐกิจ

 

เพิ่มรายได้ประชาชนคือนโยบายเร่งด่วน

ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า การที่รัฐบาลขอความร่วมมือหรือความช่วยเหลือจากภาคเอกชน ไม่ว่าจะเป็นแบงก์ บริษัทค้าปลีก หรือบริษัทพลังงาน เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง อย่างช่วงโควิดที่ผ่านมา หรือช่วงที่ราคาพลังงานสูง 

 

คำถามสำคัญที่ตามมาคือรัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ ควรจะทำอย่างไรเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไทยต่อจากนี้

 

ดร.อมรเทพ กล่าวว่า สิ่งที่อยากเห็นคือนโยบายที่มุ่งเน้นการสร้างรายได้ เพราะปัญหาสำคัญของเศรษฐกิจไทยเวลานี้คือ ‘รายได้โตไม่ทันกับรายจ่าย’ 

 

“ส่วนตัวอยากเห็นมาตรการทางการคลังเข้าช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจมากกว่า เพราะมาตรการทางการเงินกว่าจะเห็นผลต้องใช้เวลาอย่างน้อย 6 เดือน”

 

แต่ก็ใช่ว่ามาตรการทางการเงินจะไม่จำเป็น เพียงแต่ควรทำแบบพุ่งเป้า อย่างเรื่องของดิจิทัลวอลเล็ต ดร.อมรเทพ บอกว่า ชื่อโครงการเป็นสิ่งที่ใช่ แต่รายละเอียดควรเฉพาะเจาะจงมากกว่านั้น

 

ส่วนมาตรการทางการคลังที่ว่านี้อาจมีทั้งมาตรการระยะสั้นและระยะยาว ในระยะสั้นคือการเงินในกระเป๋าให้กับกลุ่มที่เปราะบาง หรือการลดค่าครองชีพและค่าใช้จ่ายสำหรับคนรายได้น้อย 

 

สำหรับระยะยาวต้องเน้นเรื่องของการจ้างงาน การสร้างรายได้ ซึ่งส่วนหนึ่งสามารถทำได้ผ่านการลงทุนภาครัฐในหลากหลายพื้นที่ รัฐบาลต้องเร่งเบิกจ่าย

 

“เศรษฐกิจไทยเวลานี้ไม่ได้ซึมหรือกระทบทุกภาคส่วน แต่เป็นการฟื้นตัวแบบไม่ทั่วถึง ส่วนตัวไม่ได้บอกว่าไทยไม่ควรลดดอกเบี้ย แต่ต้องเป็นไปตามกลไกตลาดและความเหมาะสม เพราะวันนี้สหรัฐฯ ยังยืนดอกเบี้ยสูงอยู่ ถ้าเราลดดอกเบี้ยก่อนอาจกระทบเงินทุนเคลื่อนย้าย และเงินบาทอาจอ่อนค่าไปมากกว่านี้” 

 

เศรษฐกิจไทยเข้าโลว์ซีซัน

ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ เปิดเผยว่า การหารือร่วมกับผู้บริหารแบงก์ที่เกิดขึ้นเป็นเหมือนกันเสาะหาหนทางในการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ๆ ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจไทยกำลังเข้าสู่ช่วงโลว์ซีซัน ซึ่งเป็นปกติของทุกปีที่ไตรมาส 2 และไตรมาส 3 จะชะลอตัวลง 

 

“เดิมทีเราคาดหวังงบประมาณรัฐเข้ามาช่วย แต่ล่าสุดยังไม่เห็นสัญญาณการเบิกจ่ายมากนัก ทำให้เศรษฐกิจที่ดูเหมือนจะผ่านสุญญากาศจากเรื่องการเมืองไปได้ก่อนหน้านี้ อาจกำลังตกหล่มและฟื้นตัวได้อย่างช้าๆ เพราะโมเมนตัมที่หายไป ตอนนี้เศรษฐกิจไทยเหมือนกลับมาสู่สุญญากาศเล็กๆ แต่ถ้าถามว่าวิกฤตหรือไม่ คงจะไม่ถึงขั้นนั้น”

 

ในมุมของการลงทุน ตลาดหุ้นไทยน่าจะชะลอไม่ต่างจากเศรษฐกิจ เงินบาทน่าจะยังอ่อนค่าต่อไป จากการที่นักลงทุนต่างชาติขนเงินปันผลออก ขณะที่การท่องเที่ยวเข้าสู่โลว์ซีซัน ส่วนราคาน้ำมันแพงกระทบต้นทุนการนำเข้า 

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X