พูดให้เห็นภาพกว้างๆ หนังเรื่อง Tully ของผู้กำกับ เจสัน ไรต์แมน คือการต่อสู้กับอุปสรรคของสภาวะความเป็น ‘แม่’ ในแบบคล้ายๆ กับผลงานก่อนหน้าของเขา Juno (2007) เด็กสาวอายุ 16 ต้องตั้งครรภ์ในวัยเรียน หรือ Up in the Air (2009) การพูดถึงปัญหาชีวิตที่ถูกความซ้ำซากจำเจทำร้าย แต่ใน Tully มันเข้มข้นหนักหน่วงมากขึ้นกว่านั้น
ตัวหนังดำเนินเรื่องผ่าน มาร์โล (รับบทโดย ชาร์ลิซ เธอรอน) คุณแม่ลูกสองที่ใช้เวลาทั้งชีวิตหลังแต่งงานเพื่อดูแลลูกๆ ด้วยตัวคนเดียว เพราะสามีอย่าง ดรูว์ (รับบทโดย รอน ลิฟวิงสตัน) นอกจากการทำงานหนักแล้ว เขาแทบไม่มีบทบาทในการช่วยแบ่งเบาภาระเรื่องลูกแม้แต่นิดเดียว และทุกอย่างที่เธอเคยเจอก็ยิ่งเลวร้ายลงไปอีกเมื่อลูกคนที่ 3 ลืมตาดูโลก จนกระทั่ง ทัลลี (รับบทโดย แม็กเคนซี เดวิส) พี่เลี้ยงคนเก่งเดินเข้ามาในบ้าน สถานการณ์ต่างๆ จึงค่อยๆ คลี่คลาย
ความน่าสนใจอย่างแรกอยู่ที่ตัวดรูว์ผู้เป็นสามี ที่เป็นภาพสะท้อนของ ‘สามี’ ในระบบครอบครัวที่ผู้ชายเป็นช้างเท้าหน้าอย่างเต็มรูปแบบ เขาพยายามทำงานอย่างหนักเพื่อให้ทุกคนสุขสบาย (ถึงจะยังทำได้ไม่ดีเท่าไรก็เถอะ) แล้วยกหน้าที่ในบ้านให้ภรรยาเป็นผู้ดูแลทั้งหมด สิ่งที่เขาทำมีเพียงแค่สอนการบ้านให้ลูกในบางครั้ง และจูบลูกๆ ก่อนหรือหลังออกจากบ้านเท่านั้น ทันทีที่เข้าห้องนอนเขาก็สวมหูฟัง มือจับจอยเกมไล่ฆ่าซอมบี้จนหลับสนิทถึงเช้า แน่นอนว่าลืมเรื่องเซ็กซ์ไปได้เลย
นี่คือประเด็นสำคัญที่ผู้ชายทุกคนที่มีครอบครัว หรือแม้แต่ ‘คิด’ จะมีครอบครัวควรดูหนังเรื่องนี้ เพราะผลลัพธ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นตกไปอยู่กับภรรยาที่ต้องดูแลงานหลังบ้านทั้งหมดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ความน่าสนใจอย่างที่สองจึงตกมาอยู่ที่ตัวมาร์โล ภาพสะท้อนของคุณแม่อีกหลายคนที่ต้องรับภาระงานในบ้านทั้งหมด และหน้าที่หนักหน่วงนี้ก็ได้พรากเอาความสาวสะพรั่งในวัยเยาว์ที่เคยมีคนรักให้เลือกมากหน้าหลายตากลายเป็นคุณป้าแก้มตอบ ตาโหล พุงโย้ หน้าอกหย่อน และยังมีภาวะ ‘ซึมเศร้า’ จากการอดนอนและต้องทำภารกิจเดิมๆ ซ้ำๆ เป็นเวลานานมาเป็นของแถม ชนิดที่ปริญญาบัตรด้านวรรณคดีที่อุตส่าห์ร่ำเรียนมาช่วยอะไรไม่ได้แม้แต่น้อย
เธอต้องทิ้งความฝัน ความสวยงาม และความมีชีวิตชีวาเพื่อดูแลทุกคนในบ้านให้ดีที่สุด มีเพียงคนเดียวเท่านั้นที่ไม่ได้รับการเหลียวแลก็คือตัวของเธอเอง เธอลืมการแต่งหน้า ลืมการใส่เสื้อผ้าสวยๆ ลืมรักษารูปร่าง เพราะมัวแต่ปั๊มนมสำรองให้ลูก เธอลืมกระทั่งความสนุกในการเข้าครัว และอาหารประจำบ้านก็เหลือเพียงแค่พิซซ่าแช่เย็นที่เอามาอุ่นให้ร้อนเท่านั้น
สุดท้ายเธอตัดสินใจใช้บริการ ‘พี่เลี้ยงกลางคืน’ ให้มาช่วยเลี้ยงลูกคนสุดท้อง เพื่อให้เวลาในชีวิตที่เคยสูญเสียไปกลับคืนมาอีกครั้ง
ในด้านหนึ่ง ทัลลีคือผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลเด็กที่ทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์แบบ ส่วนอีกด้านหนึ่ง ทัลลีเป็นเหมือนกระจกสะท้อนชีวิตวัยรุ่นที่มาร์โลทำหล่นหายไประหว่างทาง เพราะฉะนั้นหน้าที่ของทัลลีจึงไม่ใช่แค่เลี้ยงดูลูกๆ ในตอนกลางคืน แต่คือการทำให้มาร์โลนึกถึงช่วงเวลาแห่งความสุขเหล่านั้นเพื่อเชื่อมรอยร้าวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในครอบครัวให้กลับมาประสานต่อกันอีกครั้ง
ซึ่งในฐานะ ‘แม่’ ที่ต้องเผชิญกับสภาวะทุกอย่าง ชาร์ลิซ เธอรอน ทำออกมาได้แทบไร้ที่ติ สิ่งที่เราประทับใจมากที่สุดนอกจากฝีมือการแสดงในซีนอารมณ์ที่คงไม่ต้องพูดถึงอีกต่อไปคือการยอมเล่นแบบไม่ห่วงสวย เธอต้องฝืนกินจังก์ฟู้ดที่เต็มไปด้วยแป้ง ไขมัน และน้ำตาล รวมทั้งน้ำหวานและน้ำอัดลม เพิ่มน้ำหนักขึ้นมา 22 กิโลกรัมในช่วงเวลาไม่กี่เดือนเพื่อแสดงภาพวิกฤตที่คนเป็นแม่ต้องเผชิญให้สมจริงที่สุด และมันก็สมจริงเสียจนฉากที่เธอทนไม่ไหวกับพฤติกรรมของลูกชายคนรองจนต้องถอดเสื้อโชว์หุ่นอ้วนเผละยังหดหู่และติดตาเราอยู่ ถึงแม้จะเดินออกจากโรงหนังมาหลายชั่วโมงแล้วก็ตาม
ความดีความชอบอีกส่วนหนึ่งของหนัง เรายกให้กับความสามารถในการคลี่คลายปมความสัมพันธ์ของผู้กำกับอย่าง เจสัน ไรต์แมน (บวกกับฝีมือเขียนบทของ เดียโบ โคดี ที่ร่วมงานกันในเรื่อง Juno) ในยุคที่เรามักจะชื่นชมและสะใจผู้กำกับที่ ‘ไม่ประนีประนอม’ ให้กับทุกๆ ตัวละครและทุกๆ ความสัมพันธ์ในเรื่อง แต่สำหรับเรา เจสัน ไรต์แมน คือเจ้าแห่งการประนีประนอม (เทียบกับหนังสร้างชื่อของเขา 2 เรื่องคือ Juno และ Up in the Air) ที่ไม่ยอมให้ตัวละครที่สร้างขึ้นมาต้องทนทุกข์ทรมานกับสถานการณ์ที่ต้องเจอมากนัก
อย่างเด็กสาว จูโน แม็กกัฟฟ์ (รับบทโดย เอลเลน เพจ) ก็ยังมีนิสัยมั่นใจในตัวเอง ไม่ยี่หระต่อสิ่งต่างๆ รอบข้าง เป็นเกราะป้องกันตัวเองจากสายตาคนรอบข้าง หรือไรอัน บิงแฮม (รับบทโดย จอร์จ คลูนีย์) ก็ยังมีสาวรุ่นน้องอย่าง นาตาลี (รับบทโดย แอนนา เคนดริก) ที่มาทำให้ชีวิตช่วง midlife-crisis ของเขาไม่เงียบเหงาจนเกินไปนัก
ใน Tully ก็เช่นเดียวกัน ถึงแม้ดรูว์จะเป็นสามีที่บกพร่องอยู่หลายส่วน แต่ก็ไม่ได้มีฉากไหนในหนังที่ขยี้เน้นให้คนดูเกลียดเขาแบบเข้าไส้ แถมยังหยอดฉากน่ารักๆ และความตั้งใจทำงานแบบไม่ออกนอกลู่นอกทางไว้อีกด้วย ตัวมาร์โลเองถึงแม้จะพบกับวิกฤตที่เลวร้ายขั้นสุดก็ยังมีทัลลีและความรักและความหวังดีที่มีต่อครอบครัวโอบอุ้มเอาไว้ให้เธอรอดพ้นกับสภาวะนั้นได้ในท้ายที่สุด
และสุดท้ายถึงแม้เราจะไม่ค่อยชอบวิธีการคลี่คลายปมในตอนจบเท่าไรนัก แต่อย่างน้อยหนังก็น่าสนใจที่ตัดสินใจให้ทั้งตัวมาร์โล ดรูว์ และลูกๆ เป็นคนเลือกที่จะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมดด้วยตัวของพวกเขาเอง เพราะจะมีใครอีกบ้างที่เข้าใจและมีความรักให้กับทุกคนได้มากเท่าคนที่ใช้ชีวิตร่วมกันในทุกๆ วันได้จริงๆ
แต่ยังมีเรื่องที่ทำให้เราเสียดายอยู่บ้างตรงที่หนังไปให้น้ำหนักกับการพูดถึงความสัมพันธ์ของมาร์โล ดรูว์ ทัลลี และลูกคนสุดท้องมากที่สุดจนไม่เหลือพื้นที่เหลือให้พูดถึงลูกอีกสองคนมากเท่าไร โดยเฉพาะ โจนาห์ ลูกชายคนรองที่มีปัญหาในการควบคุมอารมณ์และเข้าสังคม ตัวละครที่มีบทบาทเป็นหัวเชื้อขับให้สภาพอารมณ์ของมาร์โลกดดันถึงที่สุด เราจะได้เห็นภาพการแสดงความรักและความสัมพันธ์ระหว่างแม่ลูกเพียงไม่กี่ฉากเท่านั้น ไม่อย่างนั้นเชื่อเหลือเกินว่าการเลือกฉากจบเรื่องด้วยบทสนทนาเมื่อทั้งสองคนอยู่ด้วยกันเพียงลำพังจะทรงพลังและเรียกน้ำตาได้มากกว่านี้อย่างแน่นอน
- Juno เล่าเรื่องราวของเด็กสาววัย 16 ปีที่เผลอตั้งท้องกับเพื่อนสนิท หนังฉายภาพปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยเรียน การเรียนรู้โลกจากความมั่นใจในวัยเด็ก จนค่อยๆ เปลี่ยนแปลงและเติบโตขึ้นผ่านปัญหาต่างๆ ที่ค่อยๆ ผ่านเข้ามาในโลกแห่งความเป็นจริง
- Up in the Air เล่าเรื่องของ ไรอัน บิงแฮม ชายวัยกลางคนที่มีหน้าที่บินไปทั่วโลกเพื่อคอยไล่พนักงานในบริษัทออกในกรณีที่เจ้าของบริษัทไม่กล้าไล่พนักงานคนนั้นด้วยตัวเอง เขาไม่เคยอาศัยอยู่ที่ไหนเป็นเวลานาน ใช้ชีวิตอยู่บนเครื่องบินมากกว่าบ้าน และมีความสามารถพิเศษในการจัดกระเป๋าเดินทางให้เป็นระเบียบที่สุด
- Night Nanny หรือพี่เลี้ยงกลางคืน เป็นอาชีพที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในลอนดอนและเมืองแถบภาคใต้ของอังกฤษที่พบว่ามีจำนวนพี่เลี้ยงกลางคืนให้ใช้บริการมากถึง 200 คน โดยส่วนใหญ่จะเข้างานตั้งแต่เวลา 3 ทุ่มไปจนถึง 7 โมงเช้า หน้าที่หลักๆ คือดูแลเด็กทารกในตอนที่คุณแม่หลับ โดยจะปลุกคุณแม่เมื่อถึงเวลาให้นมเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ก็มีหลายคนที่คอยแนะนำและแก้ไขปัญหาความสัมพันธ์ในครอบครัวให้กับครอบครัวที่กำลังประสบปัญหาแบบในเรื่อง Tully ด้วยเหมือนกัน
- ชาร์ลิซ เธอรอน คือหนึ่งในนักแสดงหญิงที่ทุ่มเทในการยอมเปลี่ยนตัวเองเพื่อความสมจริงในบทบาทต่างๆ มากที่สุดในวงการฮอลลีวูด อย่างในเรื่อง Monster (2003) ที่เธอต้องเปลี่ยนตัวเองให้โทรมเหมือนคนแก่ และเพิ่มน้ำหนัก 13 กิโลกรัมเพื่อรับบทฆาตกรต่อเนื่อง จนได้รับรางวัลออสการ์สาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมในปี 2004 ไปครอง รวมทั้งบท ‘ฟูริโอซา’ หญิงสาวผมสั้นเกรียนที่ตัวเปื้อนเลือดและทรายตลอดเวลาในหนังเรื่อง Mad Max: Fury Road (2015) ก็คือเธอเช่นกัน