กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ส่งสารเตือนถึงบรรดาธนาคารกลางของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชีย โดยระบุให้แบงก์ชาติเหล่านี้ไม่ควรยึดโยงกับนโยบายธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (Fed) มากเกินไป ในระหว่างที่กำลังกำหนดแนวนโยบายการเงินของตนเอง
ทั้งนี้ Krishna Srinivasan ผู้อำนวยการ IMF ประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก กล่าวว่า ขณะนี้ทาง IMF แนะนำให้เหล่าธนาคารกลางในภูมิภาคเอเชียทั้งหลายมุ่งเน้นไปที่อัตราเงินเฟ้อในประเทศ และหลีกเลี่ยงการตัดสินใจเชิงนโยบายที่ขึ้นอยู่กับการเคลื่อนไหวที่คาดการณ์ไว้ของ Fed มากจนเกินไป เนื่องจากหากธนาคารกลางเอเชียนั้นๆ ติดตาม Fed อย่างใกล้ชิดเกินไป ธนาคารกลางดังกล่าวก็อาจบ่อนทำลายเสถียรภาพด้านราคาในประเทศของตนเองได้
ความเห็นของ Srinivasan ครั้งนี้ระบุในแถลงการณ์ที่ทาง IMF เตรียมไว้สำหรับการแถลงข่าวเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (18 เมษายน) โดยก่อนหน้านั้นในวันเดียวกัน ทาง Kristalina Georgieva กรรมการผู้จัดการ IMF ได้ตั้งข้อสังเกตในระหว่างการให้สัมภาษณ์กับทาง Bloomberg TV ว่า “ทุกสายตาในขณะนี้กำลังจับจ้องมาที่สหรัฐฯ ท่ามกลางแนวโน้มที่ Fed มีโอกาสจะติดอยู่กับอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นไปอีกนาน”
ความคิดเห็นดังกล่าวมีขึ้นในช่วงเวลาที่ IMF กำลังมีการประชุมใหญ่ประจำปีในช่วงฤดูใบไม้ผลิของทุกปีที่กรุงวอชิงตันของสหรัฐฯ โดยในปีนี้ทาง IMF และ World Bank ตั้งใจที่จะเผยแพร่เนื้อหาในการประชุมครั้งนี้
ด้าน Srinivasan ชี้ว่า แท้จริงแล้วนโยบายการเงินของสหรัฐฯ มีความสำคัญต่อเอเชีย ดังนั้นการวิเคราะห์ของเจ้าหน้าที่ IMF รายนี้จึงกำลังแสดงให้เห็นว่าอัตราดอกเบี้ยของ Fed มีผลกระทบอย่างมากต่อสภาวะทางการเงินและอัตราแลกเปลี่ยนของเหล่าบรรดาธนาคารกลางในภูมิภาคเอเชีย
ในเวลาเดียวกัน Srinivasan ยังได้แนะให้ธนาคารกลางแต่ละแห่งในเอเชียควรจัดการกับการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยของตนเองตามข้อดีที่มีอยู่ และให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของแต่ละประเทศ โดยแนะว่า จุดยืนที่เข้มงวดมากขึ้นในระยะยาวเหมาะกับการใช้ในประเทศเศรษฐกิจที่อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น ในขณะที่การกำหนดนโยบายแบบผ่อนปรนควรนำไปใช้ในประเทศที่มีการซบเซาอย่างมาก
ปัจจุบันเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่แข็งแกร่ง และอัตราเงินเฟ้อที่ร้อนแรง ได้ลดโอกาสที่ Fed จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงหลายครั้ง และส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในเอเชีย โดยล่าสุดทางธนาคารกลางญี่ปุ่นและธนาคารกลางเกาหลีใต้ได้ออกมาแสดงความกังวลต่อสาธารณะเกี่ยวกับสกุลเงินเยนของญี่ปุ่นและสกุลเงินวอนของเกาหลีใต้ที่อ่อนค่าลงอย่างมาก
อ้างอิง: