สถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) หรือ Deposit Protection Agency (DPA) รายงานสถิติเงินฝากที่ได้รับความคุ้มครอง ณ สิ้นปี 2566 มีจำนวน 16.09 ล้านล้านบาท ครอบคลุมผู้ฝาก 94.75 ล้านราย เร่งเดินหน้าภารกิจคุ้มครองเงินฝาก ด้วยวิสัยทัศน์การเป็นองค์กรคุ้มครองเงินฝากที่น่าเชื่อถือและทันสมัย สร้างความมั่นใจให้ผู้ฝากและประชาชน ตามแผนยุทธศาสตร์ระยะที่ 4 (ปี 2566-2570) โดยครอบคลุมผู้ฝากกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา หรือ Virtual Bank ที่กำลังจะเกิดขึ้น
จากรายงานสถิติเงินฝาก ณ สิ้นปี 2566 พบว่า มีจำนวนผู้ฝากที่ได้รับความคุ้มครองทั้งหมด 94.75 ล้านราย เพิ่มขึ้นจำนวน 4.33 ล้านราย หรือคิดเป็นการเติบโต +4.79%YoY โดยเกือบทั้งหมดเป็นผู้ฝากรายย่อยที่มีเงินฝากไม่เกิน 1 ล้านบาท
ในขณะที่จำนวนเงินฝากที่ได้รับความคุ้มครองลดลงจากปี 2565 มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 16.09 ล้านล้านบาท ลดลง 8.04 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นการลดลงที่ -0.5%YoY
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ชาวญี่ปุ่นมีเงินออมสูงถึง 1 พันล้านล้านเยน ผลสำรวจเผยสินทรัพย์ทางการเงินในครัวเรือนญี่ปุ่นเป็นเงินสด 52%
- เผยเคล็ดไม่ลับการบริหารเงินเพื่อคน Gen Z ในยุคค่าครองชีพพุ่ง เงินออมลดฮวบ
- “คนเราไม่ได้ถูกสร้างมาเพื่อการออม” สมองสั่งให้โฟกัสปัจจุบัน การเก็บเงินจึงขัดสัญชาตญาณของมนุษย์
ทั้งนี้ หากพิจารณาเงินฝากที่ได้รับความคุ้มครองในระดับเงินฝากต่างๆ เมื่อเปรียบเทียบกับสิ้นปี 2565 พบว่า เงินฝากหดตัว หรือเพิ่มขึ้นในอัตราชะลอตัวเกือบทุกระดับวงเงินฝาก โดยเฉพาะเงินฝากรายย่อยในระดับเงินฝากน้อยกว่า 1 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 1.66 โดยหดตัวต่อเนื่องจากปี 2565 เช่นเดียวกับการหดตัวในเงินฝากของผู้ฝากรายใหญ่ที่เงินฝากอยู่ในระดับมากกว่า 25 ล้านบาท ที่มีสัดส่วนสูงและเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนการเติบโตของเงินฝาก ทำให้ภาพรวมการเติบโตของเงินฝากที่ได้รับความคุ้มครองในปี 2566 ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสิ้นปี 2565
ปัจจุบันวงเงินคุ้มครองเงินฝากตามที่กฎหมายกำหนด 1 ล้านบาท สามารถคุ้มครองผู้ฝากเงินได้เต็มจำนวน ครอบคลุมผู้ฝากเงินรายย่อยส่วนใหญ่ของประเทศ คิดเป็นสัดส่วน 98.11% ของผู้ฝากเงินที่ได้รับความคุ้มครองทั้งระบบ ขณะที่กองทุนคุ้มครองเงินฝากมีเงินกองทุนสะสมอยู่ที่ 141,888.53 ล้านบาท (ข้อมูล ณ กุมภาพันธ์ 2567)
นอกจากนี้ เพื่อรองรับการจัดตั้งสถาบันการเงินในรูปแบบธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต สคฝ. จะมีการพัฒนาสัญลักษณ์การคุ้มครองเงินฝากเพื่อสื่อสารบนช่องทางบริการทางการเงินดิจิทัล เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ฝากและประชาชนมั่นใจในการใช้บริการกับสถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้ความคุ้มครองของ สคฝ.
ทั้งนี้ สคฝ. ได้เร่งเดินหน้าขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ระยะที่ 4 (ปี 2566-2570) ในหลายมิติอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอกย้ำวิสัยทัศน์การเป็นองค์กรคุ้มครองเงินฝากที่น่าเชื่อถือและทันสมัย พร้อมสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนและผู้ฝากเงิน ครอบคลุมเป้าหมายในการพัฒนาความพร้อมด้านการจ่ายเงิน การชำระบัญชี และการบริหารสินทรัพย์ เพื่อให้ผู้ฝากได้รับการคุ้มครองดูแลและได้รับเงินคืนถูกต้อง ครบถ้วน ตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด นอกจากนี้ ยังร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ให้ความรู้พื้นฐานทางการเงินและการคุ้มครองเงินฝาก เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสุขภาวะทางการเงินที่ดีให้กับประชาชน