ธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ หรือ Swiss National Bank (SNB) สร้างความประหลาดใจให้กับตลาดด้วยการตัดสินใจที่จะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายหลักลง 0.25% เหลือ 1.50% เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (21 มีนาคม) โดยให้เหตุผลว่า อัตราเงินเฟ้อของประเทศมีแนวโน้มที่จะอยู่ต่ำกว่า 2% ในอนาคตอันใกล้นี้ ซึ่งการตัดสินใจดังกล่าวสวนทางกับการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์จากการสำรวจของสำนักข่าว Reuters ซึ่งประเมินว่า แบงก์ชาติสวิตเซอร์แลนด์จะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 1.75%
แถลงการณ์ของ SNB ระบุว่า เป็นเวลาหลายเดือนแล้วที่อัตราเงินเฟ้อของสวิตเซอร์แลนด์ปรับตัวลดลงกลับมาต่ำกว่า 2% ซึ่งเป็นเป้าอัตราเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ต้องการ พร้อมคาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มที่จะยังคงอยู่ในระดับนี้ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า โดยอัตราเงินเฟ้อของสวิตเซอร์แลนด์ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาจะอยู่ที่ 1.20%
ขณะเดียวกัน SNB ยังลดการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อประจำปีอีกด้วย โดยประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ที่ 1.40% ในปี 2024 และขยับลงมาอยู่ที่ 1.20% ในปี 2025 ซึ่งปรับลดลงจากประมาณการ 1.60% ก่อนหน้า ขณะที่การคาดการณ์ตัวเลขเงินเฟ้อสำหรับปี 2026 เฉลี่ยอยู่ที่ 1.10% โดยหลังจากการประกาศดังกล่าวนักวิเคราะห์จาก Capital Economics คาดว่า จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์อีก 2 ครั้งในช่วงปีนี้ ท่ามกลางธนาคารมีท่าทีผ่อนคลายมากขึ้น และอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มที่จะต่ำกว่าการคาดการณ์
“เราคิดว่าอัตราเงินเฟ้อจะมาต่ำกว่าที่ทาง SNB คาดการณ์ไว้ล่าสุด และยังคงอยู่ที่ระดับปัจจุบันที่ 1.20% ก่อนที่จะลดลงต่ำกว่า 1% ในปีหน้า ดังนั้นเราจึงคาดการณ์ว่า SNB จะลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนกันยายนและธันวาคม โดยให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 1% และเป็นอัตราที่เราคิดว่าจะคงอยู่ตลอดปี 2025 และ 2026” ทีมนักวิเคราะห์จาก Capital Economics ระบุ
ด้านแถลงการณ์ของธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ระบุว่า แนวทางการเติบโตทางเศรษฐกิจของสวิตเซอร์แลนด์ “มีแนวโน้มที่จะยังคงอยู่ในระดับปานกลางในไตรมาสต่อๆ ไป” โดย GDP มีแนวโน้มที่จะขยายตัวประมาณ 1% ในปี 2024 นี้ ก่อนชี้ว่า เศรษฐกิจของสวิตเซอร์แลนด์ในภาพรวมจะยังคงต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่ความเสี่ยงหลักคือกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอในต่างประเทศ ส่วนโมเมนตัมในตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยและอสังหาริมทรัพย์อ่อนตัวลงอย่างเห็นได้ชัดในไตรมาสล่าสุด
ในส่วนของเศรษฐกิจระดับมหภาค SNB ประเมินว่า การเติบโตของเศรษฐกิจโลกอยู่ในระดับ ‘ปานกลาง’ ในไตรมาสต่อๆ ไป พร้อมด้วยอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มลดลง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากกลยุทธ์นโยบายการเงินที่เข้มงวด กระนั้น ‘ความเสี่ยงที่สำคัญ’ อย่างความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ จะยังคงมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจภายในสวิตเซอร์แลนด์
ทั้งนี้ การประกาศหั่นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารแห่งชาติสวิตเซอร์แลนด์เกิดขึ้นก่อนที่ธนาคารกลางนอร์เวย์จะปฏิเสธการปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยของตนเอง และยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 4.50% พร้อมส่งสัญญาณว่า ธนาคารกลางนอร์เวย์มีแนวโน้มหั่นอัตราดอกเบี้ยในเดือนกันยายน
ความเคลื่อนไหวล่าสุดของแบงก์ชาติสวิตเซอร์แลนด์ยังเกิดขึ้นหลังจากที่ทางธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยตามคาดเมื่อวันพุธที่ผ่านมา (20 มีนาคม) พร้อมส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งภายในปีนี้ เช่นเดียวกันกับที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ยังคงรักษาอัตราดอกเบี้ยไว้ระดับเดิม พร้อมส่งสัญญาณเริ่มพิจารณาการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนมิถุนายน แต่ก็ย้ำว่า การตัดสินใจเปลี่ยนแปลงใดๆ จะขึ้นอยู่กับข้อมูลเศรษฐกิจในช่วงเวลานั้นเป็นสำคัญ
แบงก์ชาติอังกฤษคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 5.25%
คณะกรรมการนโยบายการเงิน (Monetary Policy Committee) ของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) เปิดเผยผลการประชุมเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (21 มีนาคม) ระบุว่า ที่ประชุมคณะกรรมการฯ ลงมติด้วยคะแนนเสียง 8-1 ในการคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25% ขณะที่คณะกรรมการฯ อีกหนึ่งคนโหวตให้ลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25%
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้ส่งสัญญาณบอกใบ้แนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยภายในปีนี้ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อลดลงเร็วกว่าที่คาดไว้
การตัดสินใจดังกล่าวสอดคล้องกับการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ก่อนหน้า โดยถือเป็นการตรึงอัตราดอกเบี้ยติดต่อกันเป็นครั้งที่ 5 หลังจากที่ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยติดต่อกัน 14 ครั้ง โดย BOE ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2021 จนถึงเดือนสิงหาคม 2022 เพื่อควบคุมเงินเฟ้อ โดยได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจากระดับ 0.10% สู่ระดับ 5.25% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบเกือบ 16 ปี
แอนดรูว์ เบลีย์ ผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษ ออกแถลงการณ์ระบุว่า การตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ เนื่องจาก BOE ต้องแน่ใจจริงๆ ว่าอัตราเงินเฟ้อจะลดลงสู่เป้าหมาย 2% และคงระดับนั้นไว้ แต่ขณะนี้ BOE ยังไปไม่ถึงจุดที่สามารถปรับลดอัตราดอกเบี้ยได้ แต่สิ่งต่างๆ กำลังดำเนินไปในทิศทางที่ถูกต้อง
ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของอังกฤษลดลงมากกว่าที่คาดไว้ที่ 3.40% ต่อปีในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2021 โดยทางธนาคารกลางอังกฤษคาดว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคจะกลับมาสู่เป้าหมาย 2% ในไตรมาสที่ 2 ปีนี้ เนื่องจากราคาพลังงานในครัวเรือนจะลดลงอีกครั้งในช่วงเดือนเมษายน
อ้างอิง: