×

ชิมลางตลาดปิ้งย่างไปแล้ว CRG แย้มยังขาดร้านชาบู-สุกี้ ปีนี้จ่อเปิด 2 แบรนด์ใหม่เป็น JV เลือกจากแบรนด์ที่มียอดขาย 500 ล้านขึ้น!

19.03.2024
  • LOADING...
CRG แย้ม ยังขาด ร้านชาบู-สุกี้

แม้ CRG เจ้าของธุรกิจร้านอาหารในเครือเซ็นทรัล จะมีร้านอาหารมากถึง 21 แบรนด์​แล้ว แต่ยังไม่พอ ยังขาดร้านชาบู-สุกี้ แย้มปีนี้จะเปิดตัว 2-3 แบรนด์ใหม่ ร่วมทุน Joint Venture แต่ต้องเป็นร้านยอดฮิตที่ทำยอดขายได้ถึง 500 ล้านบาทเท่านั้น ถึงจะได้มาอยู่บนพอร์ตโฟลิโอ 

 

ณัฐ วงศ์พานิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด (CRG) กล่าวว่า ความผันผวนของเศรษฐกิจโลกและหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น ล้วนเป็นความท้าทายของธุรกิจร้านอาหาร แต่ยังมีอานิสงส์ของการท่องเที่ยวที่คึกคักมากขึ้น ทำให้ธุรกิจร้านอาหารมูลค่า 4.8 แสนล้านบาท ในปี 2566 ที่ผ่านมาเติบโต 5-7% 

 

ยิ่งไปกว่านั้นการแข่งขันของธุรกิจร้านอาหารนับวันยิ่งสูงขึ้น เห็นได้จากปีที่ผ่านมา มีร้านอาหารเปิดใหม่ 1 แสนร้าน แต่ในทางกลับกันก็มีทั้งแบรนด์ที่สำเร็จและแบรนด์ที่ไปต่อไม่ไหวต้องปิดตัวไปตั้งแต่เปิดให้บริการปีแรก สะท้อนให้เห็นว่า ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการรายเล็กหรือรายใหญ่ก็ต้องเรียนรู้และพัฒนาไปเรื่อยๆ เพราะทุกปีมีความท้าทายแตกต่างกันไป 

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

เช่นเดียวกับ CRG ในปีที่ผ่านมาทำรายได้อยู่ที่ 1.46 หมื่นล้านบาท เติบโต 13% ส่วนใหญ่มาจากแบรนด์ฮีโร่อย่าง KFC, Mister Donut และ Shinkanzen Sushi ที่สร้างยอดขายผ่านการลอนช์เมนูใหม่ตามเทรนด์ความต้องการผู้บริโภค 

 

ที่สำคัญในปีที่ผ่านมาได้เปิดสาขาใหม่มากกว่า 140 สาขา ภายใต้ 21 แบรนด์กระจายกันไป พร้อมกับการนำเทคโนโลยีมาใช้จัดการร้านอาหาร ทั้งให้ผู้บริโภคสั่งอาหารผ่าน QR Code และนำเครื่องมือใช้วิเคราะห์พฤติกรรมลูกค้าทำให้เราสามารถตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าได้อย่างตรงจุด

 

และอีกหนึ่งใน Key Driver ที่ช่วยสร้างการเติบโต คือการขยายสาขาร้านอาหาร 2 แบรนด์ ได้แก่ นักล่าหมูกระทะ จนปัจจุบันทั้งหมด 6 สาขา รวมถึงร้านอาหารเกาหลีร่วมกับพาร์ตเนอร์ภายใต้แบรนด์คีอานิ ประเดิมเปิดสาขาแรกที่เซ็นทรัล พระราม 9 ที่พบว่ามีกระแสตอบรับอย่างมาก 

 

หัวเรือใหญ่ CRG ฉายภาพถึงทิศทางการเติบโตต่อจากนี้ สิ่งที่หยุดทำไม่ได้เลย คือการพัฒนาโปรดักต์ในทุกๆ แบรนด์ เริ่มตั้งแต่จัดเซ็ตเมนูมาขายเฉพาะช่วงเวลา เริ่มจาก KFC ที่เปิดตัวเมนูหนังไก่แซ่บ ต่อด้วยอานตี้ แอนส์ ได้เปิดตัวเมนูพรีเมียม พร้อมโฟกัสการลงทุนในแบรนด์ที่สร้างกำไรเท่านั้น 

 

โดยปีนี้วางแผนจะเปิดร้านไม่น้อยกว่า 100 สาขา ส่วนสาขาที่ไม่ทำกำไรอาจต้องพิจารณาปิดให้บริการ อย่าง ร้านอร่อยดี ปีที่แล้วปิดไป 30 สาขา เพราะเทรนด์เดลิเวอรีเริ่มไม่หวือหวาเหมือนช่วงโควิดแล้ว 

 

รวมถึงเดินหน้าขยายพอร์ตโฟลิโอ มองหาแบรนด์ใหม่เข้ามาเสริมธุรกิจ ในปี 2567 นี้เตรียมเปิดตัว 2-3 แบรนด์ใหม่ อาจเป็นไปได้ว่าจะเป็นร้านชาบูและสุกี้ร่วมทุนในรูปแบบ Joint Venture นำจุดแข็งและนำความเชี่ยวชาญมาสร้างโอกาสเติบโตไปพร้อมกัน หลังจาก 2-3 ปีที่ผ่านมา ได้เข้าไปร่วมลงทุนกับแบรนด์ Salad Factory, Brown ชานมไข่มุก, ส้มตำนัว และ Shinkanzen Sushi ซึ่งทุกๆ แบรนด์ก็เติบโตตามเป้าหมายที่วางไว้ และในปีนี้ตั้งเป้าขยายร้านของทุกๆ แบรนด์รวมกันมากกว่า 25 สาขา

 

จากกลยุทธ์ทั้งหมดจะช่วยให้สิ้นปี 2567 บริษัททำรายได้เติบโต 14% หรือประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาท ตามเป้าหมายที่วางไว้ แต่ก็ยังต้องบริหารจัดการต้นทุนให้มีประสิทธิภาพ ควบคู่กับบริหารกระแสเงินสดเพื่อให้การลงทุนมีความคล่องตัวเหมือนที่ผ่านมา

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X