วันนี้ (5 มีนาคม) ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย พล.ต.อ. อดิศร์ งามจิตสุขศรี ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และคณะ ลงพื้นที่ตรวจสอบสิ่งผิดกฎหมายและความเรียบร้อยของการให้บริการสถานบริการและร้านอาหารในพื้นที่โซนถนนสุขุมวิท ซอย 3-11
ชัชชาติกล่าวว่า การลงพื้นที่ของคณะในวันนี้ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ของกลุ่ม LGBTQIA+ ระหว่างชาวไทยและชาวฟิลิปปินส์ที่ทะเลาะวิวาทกันที่สุขุมวิท ซอย 11 แต่เป็นการลงพื้นที่ตามวงรอบ เพื่อกำชับเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่เทศกิจที่อยู่ในสังกัดของ กทม. ให้กวดขันผู้ประกอบการในพื้นที่ให้ปฏิบัติตามกฎระเบียบของกรุงเทพฯ เพื่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว เช่น ความปลอดภัยเรื่องถังดับเพลิงในสถานบริการ ทางหนีไฟ
และเรื่องที่ กทม. ให้ความสำคัญมาโดยตลอดคือ เรื่องร้านขายกัญชา ซึ่งแม้จะเปิดได้ถูกต้องตามกฎหมายแล้ว แต่ก็มีความกังวลว่ามีเยาวชนสามารถเข้าถึงได้หรือไม่ ในเรื่องนี้เจ้าหน้าที่พยายามสุ่มตรวจมาโดยตลอด เพื่อป้องกันไม่ให้เยาวชนถูกมอมเมา และในขณะนี้ กทม. ยังเพิ่มความระมัดระวังในเรื่องการเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งถือว่าผิดกฎหมาย แต่กลับพบวางขายโดยทั่วไป ยิ่งโดยเฉพาะในพื้นที่ท่องเที่ยวของกรุงเทพมหานคร
ชัชชาติกล่าวต่อว่า การตรวจตราความเรียบร้อยของเจ้าหน้าที่มีการทำเป็นวงรอบสม่ำเสมอ เพื่อตอกย้ำความมั่นใจให้ชาวกรุงเทพฯ ว่า กทม. ไม่ได้นิ่งนอนใจกับความสุ่มเสี่ยงใดๆ
เมื่อถามถึงกรณีที่เกิดขึ้นที่สุขุมวิท ซอย 11 ชัชชาติกล่าวว่า เรื่องการจัดการหรือดูแลชาวต่างประเทศที่เข้ามาประกอบธุรกิจและทำงานในประเทศไทย ต้องยอมรับว่าไม่ใช่หน้างานโดยตรงของกรุงเทพมหานคร เจ้าหน้าที่ไม่ได้มีอำนาจในการจัดการโดยเฉพาะ เพียงแต่ถ้าพบเจอก็จะต้องส่งต่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ตำรวจหรือเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง
แต่ในฐานะเจ้าบ้านยอมรับว่า ปัญหาของชาวต่างชาติเบียดเบียนพื้นที่ทำกินของชาวไทยกระจายอยู่ในหลายพื้นที่ ในหลายรูปแบบ ที่พบมากคือ กลุ่มเพื่อนบ้าน เช่น กัมพูชาและเมียนมาที่ขายน้ำผลไม้ตามสถานที่ท่องเที่ยว ในส่วนนี้เจ้าหน้าที่เทศกิจเมื่อพบเจอก็จะต้องแจ้งเรื่องให้ตำรวจในพื้นที่รับช่วงต่อจัดการ แต่เทศกิจก็จะหาแนวทางป้องกันในฐานะผู้ดูแลเรื่องหาบเร่แผงลอย
ส่วนประเด็นการค้าบริการทางเพศ ส่วนนี้กรุงเทพมหานครก็ไม่สามารถจัดการได้โดยตรงเช่นกัน แต่หวังว่าในอนาคตจะได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยกันแก้ปัญหานี้ ในเบื้องต้นกรุงเทพมหานครทำได้เพียงเป็นทางเลือกให้กลุ่มคนที่ทำงานในลักษณะดังกล่าวได้ประกอบอาชีพอื่นๆ เพราะหลายคนที่ทำอาชีพนี้เขาอาจไม่มีทางเลือก กทม. ยินดีที่จะหยิบยื่นโอกาสให้
ช่วงหนึ่งของการลงพื้นที่ ชัชชาติพร้อมคณะเข้าไปในซอย 11/1 ซึ่งเป็นจุดเกิดเหตุการกระทบกระทั่งกัน ชัชชาติได้พูดคุยกับผู้ประกอบการที่อยู่ในซอยที่เกิดเหตุ ซึ่งผู้ประกอบการเปิดเผยว่า ที่ผ่านมากลุ่มสาวๆ ที่ผ่านไปมาหน้าร้านเป็นประจำอยู่กันอย่างสงบสุข ไม่เคยเกิดเหตุการณ์แบบเมื่อคืนนี้ ซึ่งมีการตะลุมบอนมาจนถึงหน้าร้านของเธอ ทำให้ข้าวของเสียหาย เช่น โต๊ะ เก้าอี้ ป้ายร้าน และพัดลม อย่างไรก็ตาม หลังเกิดเหตุมีชาวไทยโอนเงินมาให้จากสหรัฐอเมริกาจำนวน 10,000 บาท เพื่อชดใช้ค่าเสียหาย พร้อมระบุว่า “ขอโทษแทนน้องกะเทย” แล้ว
ด้าน พ.ต.อ. ยิ่งยศ สุวรรณโณ ผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาล (สน.) ลุมพินี ที่ลงพื้นที่ร่วมด้วย ยืนยันว่า ได้แจ้งข้อหากับชาวฟิลิปปินส์แล้วทั้งหมด 4 คน ส่วนที่มีรายงานว่าบางส่วนหลบหนีและคุมตัวได้ที่สนามบิน ยังไม่ได้รับรายงานเรื่องนี้ การตรวจสอบเบื้องต้น ชาวฟิลิปปินส์เข้ามาประเทศด้วยวีซ่าท่องเที่ยว ส่วนระยะเวลาการพักอาศัยยังอยู่ในเวลาที่อนุญาต ส่วนก่อนหน้านี้เคยเข้ามากี่ครั้งและลักลอบทำงานหรือไม่ อยู่ระหว่างการตรวจสอบ
เมื่อถามถึงกรณีคนในพื้นที่ให้ข้อมูลว่า ในซอยที่เกิดเหตุมีชาวฟิลิปปินส์และชาวต่างชาติเข้ามาขายบริการโดยแย่งพื้นที่กับคนไทย ประเด็นนี้ พ.ต.อ. ยิ่งยศ กล่าวว่า ที่ผ่านมายังไม่เคยได้รับรายงาน และจากการสอบปากคำชาวไทยที่อยู่ในเหตุการณ์ ยังไม่มีใครเปิดเผยประเด็นนี้