×

‘แลนด์บริดจ์’ กับโอกาสของไทยในฐานะสะพานเชื่อมโยงภูมิภาค เป็นไปได้หรือไม่

22.01.2024
  • LOADING...

รัฐบาลไทยยังคงเดินหน้าผลักดันและจัดโรดโชว์ ‘โครงการแลนด์บริดจ์’ (Land Bridge) หรือ ‘โครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมทะเลอ่าวไทย-อันดามัน’ อย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งหวังที่จะดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศให้เข้ามาช่วยขับเคลื่อนเมกะโปรเจกต์ที่มีมูลค่าสูงกว่า 1 ล้านล้านบาทนี้

 

ท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์ รัฐบาลมองเห็นถึงโอกาสของไทยในการเป็นสะพานเชื่อมโยงส่วนต่างๆ ภายในภูมิภาคเข้าด้วยกัน โดยเฉพาะข้อได้เปรียบด้านปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์ที่จะมีส่วนช่วยให้ไทยพัฒนาไปสู่การเป็นศูนย์กลางทางด้านการค้าการลงทุน รวมถึงการขนส่งทั้งของภูมิภาคและของโลกในอนาคต 

 

หนึ่งในพื้นที่ที่จะเป็นโอกาสของโครงการแลนด์บริดจ์ไทยในสายตารัฐบาลคือ กลุ่มประเทศสมาชิกความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (BIMSTEC)

 

โอกาสของแลนด์บริดจ์ไทยใน BIMSTEC

 

BIMSTEC ถือเป็นองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของ 7 ประเทศสมาชิกในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งประกอบไปด้วย บังกลาเทศ ภูฏาน อินเดีย เมียนมา เนปาล ศรีลังกา และไทย ครอบคลุมประชากรกว่า 1.73 พันล้านคน และมีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศกลุ่มสมาชิกรวมกัน 5.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (2023)

 

นอกจากนี้ ตลาดการค้าการลงทุนบริเวณอ่าวเบงกอลนี้ยังถือว่าเป็นตลาดที่มีลักษณะเป็น ‘Blue Ocean’ คือมีจำนวนประชากรผู้มีอำนาจซื้อสูงมาก อีกทั้งเงื่อนไขการค้าการลงทุน รวมถึงการแข่งขันกันยังอยู่ในระดับความเข้มข้นต่ำ เมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ 

 

THE STANDARD ถามความเห็นจาก รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและนักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง ถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับโครงการแลนด์บริดจ์และโอกาสของไทยในฐานะสะพานเชื่อมโยงภูมิภาค

 

รศ.ดร.สมชาย ชี้ว่า “ถ้าโครงการแลนด์บริดจ์นี้เกิดขึ้นจริงและเกิดขึ้นอย่างดีแบบที่ไร้ปัญหา แน่นอนว่าแลนด์บริดจ์นี้ก็คงจะทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมเอเชียใต้เข้ากับพื้นที่ฝั่งอ่าวไทย และสร้างประโยชน์ให้กับบรรดาประเทศสมาชิก BIMSTEC ไม่น้อย” 

 

โดย รศ.ดร.สมชาย ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของ ‘อินเดีย’ ประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก และกำลังพุ่งทะยานขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในมิติการพัฒนาประเทศ การค้าการลงทุนและอวกาศ จนเราอาจกล่าวได้ว่า ปัจจุบันถือเป็นยุคทองของอินเดีย 

 

ตั้งแต่ทศวรรษ 1990 ที่อินเดียพยายามเปิดประเทศและผลักดันนโยบาย Look East ซึ่งมุ่งเน้นความร่วมมือกับประเทศทางตะวันออกอย่างญี่ปุ่น รวมถึงประเทศในแถบอาเซียน ก่อนที่ นเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดียคนปัจจุบันจะก้าวขึ้นสู่อำนาจในปี 2014 และพัฒนานโยบายดังกล่าวมาสู่นโยบาย Act East ที่นอกจากจะเน้นเรื่องการค้าการลงทุนแล้ว ยังให้ความสำคัญกับเรื่องความมั่นคงอีกด้วย ซึ่งอินเดียจะมีบทบาทอย่างมากในการเสริมความแข็งแกร่งให้กับความร่วมมือต่างๆ ภายในภูมิภาคนี้

 

ขณะที่ รศ.ดร.สมพงษ์ ศิริโสภณศิลป์ อ.พิเศษ หลักสูตรสหสาขาวิชาการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นกับ THE STANDARD ในประเด็นนี้ว่า “ก่อนอื่นอาจจะต้องตั้งคำถามว่า BIMSTEC พูดกันมากี่ปีแล้ว พูดกันมานานมาก BIMSTEC ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น อีกทั้งตอนที่สร้างท่าเรือระนองก็อ้างเหตุผลเรื่องการเชื่อมต่อกับ BIMSTEC เหมือนกัน เราอาจจะยังประเมินถึงผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นในประเด็นนี้ไม่ได้ เพราะมีหลายอย่างที่ยังไม่มีความชัดเจน

 

เราจะทำเรื่องอะไร ทำไมต้องใช้แลนด์บริดจ์ ท่าเรือระนองที่ใช้อยู่เพียงพอไหม ท่าเรือระนองที่เมื่อ 10 กว่าปีก่อนก็อ้างเหตุผลเดียวกันนี้ แต่ทำไมถึงไม่มีเรือเข้ามาเลย”

 

แลนด์บริดจ์กับยุทธศาสตร์จีน

 

รศ.ดร.สมชาย มองว่า ถ้าโครงการแลนด์บริดจ์ได้รับการผลักดันจนเกิดขึ้นได้จริง จีนในฐานะประเทศมหาอำนาจที่น่าจะได้รับประโยชน์มากที่สุด อาจเชื่อมแลนด์บริดจ์ไทยเข้ากับยุทธศาสตร์ที่สำคัญของจีน 

 

“จีนอาจใช้กรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ที่มีสมาชิกทั้งหมด 15 ประเทศ ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มเขตการค้าเสรี (FTA) ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ครอบคลุม 30% ของประชากรโลก และครอง 30% ของ GDP โลก เพื่อเป็นตัวเชื่อม บวกกับข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative: BRI) ซึ่งจะยิ่งทำให้จีนได้เปรียบอย่างมากในเรื่องของห่วงโซ่อุปทานและการค้าการลงทุน”

 

รศ.ดร.สมชาย ยังเน้นย้ำว่า ปัจจุบันนี้เป็นยุคของ ‘เอเชีย-แปซิฟิก’ โดยมีแกนนำคือ RCEP และมีจีนเป็นสมาชิกสำคัญ โดยความร่วมมือนี้เป็นเหตุผลหนึ่งที่บังคับให้จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ซึ่งมักจะมีความเห็นที่แตกต่างกันในด้านภูมิรัฐศาสตร์ จำเป็นที่จะต้องร่วมมือกันในทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยังคาดการณ์ว่าอินเดียอาจจะเข้ามาเชื่อมกับ RCEP ในอนาคต เพราะในขณะนี้สองประเทศสมาชิก BIMSTEC อย่างศรีลังกากับบังกลาเทศก็กำลังขอสมัครเข้าเป็นสมาชิก RCEP อยู่ในขณะนี้

 

นอกจากนี้ รศ.ดร.สมชาย ยังมองว่า “ถ้าคุณเป็นประเทศสมาชิกของ BRI ในมิตินี้ก็แปลว่าคุณเป็นส่วนหนึ่งของเขาอยู่แล้ว ขึ้นอยู่ที่ว่า BRI จะมาช่วยลงทุนในแลนด์บริดจ์ของไทยเราหรือไม่

 

“ยุทธศาสตร์ของจีนกำลังเผชิญปัญหาสองด้าน ด้านหนึ่งคือการสร้างประเด็นปัญหาอย่าง ‘กับดักหนี้’ (Debt Trap) ที่ทำให้ประเทศผู้กู้ เช่น ศรีลังกา ติดกับดักหนี้ และจีนต้องเข้ามาช่วยเหลือและแบกรับภาระหนี้ ประกอบกับอีกด้านหนึ่งที่เศรษฐกิจจีนอยู่ในช่วงขาลง ทำให้จำนวนเม็ดเงินที่จะมาร่วมลงทุนในกรอบ BRI ก็ลดน้อยลงไป

 

พูดง่ายๆ คือ BRI ของจีนกำลังอยู่ในช่วงปรับตัวเรื่องทรัพยากร โดยเฉพาะมิติการลงทุน เขาจะเอาเงินมาช่วยลงทุนในเมกะโปรเจกต์ 1 ล้านล้านบาทนี้หรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ที่แน่ๆ คนที่น่าจะได้ประโยชน์มากที่สุดจากโครงการแลนด์บริดจ์นี้ก็คือจีน” 

 

แม้ดูเหมือนว่าไทยพอจะมีโอกาสในการเป็นสะพานเชื่อมโยงภูมิภาค หากโครงการแลนด์บริดจ์นี้เกิดขึ้นได้จริง แต่ รศ.ดร.สมชายได้กล่าวทิ้งท้ายว่า “ในมิติด้านความมั่นคง โครงการแลนด์บริดจ์นี้ก็อาจนำไปสู่ประเด็นปัญหาในอนาคต ทั้งประเด็นเรื่องความมั่นคง รวมถึงการไปกระทบกับภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา และอาจนำไปสู่ความตึงเครียดกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนที่ได้ประโยชน์จากช่องแคบมะละกา เช่น สิงคโปร์ แม้ว่าเรามักจะได้ยินประโยคปลอบใจว่า ‘อย่างไรก็ไม่กระทบกับเพื่อนบ้าน’ อยู่บ่อยครั้งก็ตาม”

 

แฟ้มภาพ: Sema Srinouljan / Shutterstock

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising