วันนี้ (25 ธันวาคม) วิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย กล่าวถึงกรณีที่สมาชิกวุฒิสภา (สว.) จะหมดวาระในช่วงเดือนพฤษภาคม 2567 ว่า มี สว. ใหม่เข้ามา แต่มีบทบาทอีกแบบหนึ่งจึงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงในส่วนนี้ เพียงแต่อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งการร่างรัฐธรรมนูญจะยังไม่แล้วเสร็จ เพียงแต่เดินหน้าไปถึงจุดหนึ่ง ส่วนรัฐบาลปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือไม่ ตนก็ยังไม่ทราบและเรื่องนี้อยู่ที่นายกรัฐมนตรี จึงคิดว่าเป็นช่วงเวลาที่น่าจะมีการเปลี่ยนแปลง ขณะเดียวกันไม่ขอประเมินว่าสถานการณ์ทางการเมืองในปีหน้าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลง
เมื่อถามย้ำว่าหาก สว. หมดวาระวันที่ 11 พฤษภาคม 2567 ไม่มีอำนาจในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีใช่หรือไม่ วิษณุระบุว่าไม่มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี แต่ยังคงทำหน้าที่ สว. ต่อไปจนกว่าจะมีการประกาศ สว. ชุดใหม่ ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลา 2 เดือน จนกว่าจะประกาศใบเหลืองใบแดงแล้วเสร็จ
วิษณุยังกล่าวถึงกรณีที่หากร่าง พ.ร.บ.กู้เงินเพื่อใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตไม่ผ่านการพิจารณาจากสภาผู้แทนราษฎร เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี จะต้องรับผิดชอบด้วยการลาออกหรือไม่ว่า หากไม่ผ่านในวาระแรกก็เป็นความรับผิดชอบของรัฐบาล คือยุบสภาหรือลาออก เพราะถือว่าไม่ไว้ใจรัฐบาล โดยตามธรรมเนียมเป็นเช่นนั้น ซึ่งไม่ถือว่ากฎหมายบังคับ แต่หากไม่ผ่านในวาระ 2, 3 หรือไม่ผ่านในชั้นวุฒิสภานั้นไม่เป็นไร เพราะหากสภารับหลักการในวาระที่ 1 แล้ว กฎหมายนั้นก็จะเป็นของสภา ไม่เกี่ยวกับรัฐบาล
เมื่อถามย้ำว่าหากไม่ผ่านในวาระรับหลักการแล้วจะไม่ลาออกได้หรือไม่ วิษณุกล่าวว่ากรณีดังกล่าวเป็นธรรมเนียมประเพณี ไม่เช่นนั้นจะถูกตำหนิติเตียน พร้อมยกตัวอย่างในสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม เมื่อกฎหมายไม่ผ่านก็ลาออก ขณะที่ พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ เมื่อเสนอกฎหมายเข้าไปแล้วไม่ผ่านก็ประกาศยุบสภา และในประเทศอังกฤษและญี่ปุ่นก็เป็นเช่นนั้น ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ ส่วนการประเมินการทำงานของรัฐบาลเศรษฐาในรอบ 3 เดือนนั้น ตนไม่ขอประเมิน ต้องให้ความเป็นธรรมกับรัฐบาล จึงไม่สามารถที่จะพูดได้
ชี้ช่อง ‘ยิ่งลักษณ์’ หากจะถวายฎีกาต้องกลับมามอบตัวเป็นนักโทษก่อน
วิษณุยังกล่าวถึงกรณีหาก ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะขอพระราชทานอภัยโทษเหมือนกับ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้หรือไม่ว่า การขอพระราชทานอภัยโทษมีลำดับคือ
- ต้องกลับเข้ามาในประเทศ
- ต้องมามอบตัวเป็นนักโทษแล้วจึงจะถวายฎีกาได้ ถ้าหากยังไม่ได้รับโทษก็ยังถวายฎีกาไม่ได้ จะไม่เรียกว่าฎีกา เพราะฎีกานั้นคือสิ่งที่นักโทษเด็ดขาดเป็นผู้ถวายขึ้นไป
เมื่อถามว่าขั้นตอนจะเหมือนทักษิณหรือไม่ วิษณุกล่าวว่าตนไม่ทราบ ส่วนจะโปรดเกล้าฯ หรือไม่ แล้วแต่พระมหากรุณาฯ