×

ชอบพูดคนเดียว ว่างๆ ก็พูดกับตุ๊กตา เราไม่ได้เป็นบ้าใช่ไหม

01.05.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

Time index

01:14 พูดคนเดียวแปลกไหม

03:32 Self Talk คืออะไร

09:32 ฟัง ‘เนื้อหา’ ที่เราพูดกับตัวเอง

20:32 พูดกับสัตว์ ต้นไม้ และสิ่งไม่มีชีวิตประหลาดหรือเปล่า

27:49 พูดคนเดียวแบบไหนที่ต้องรักษา

หลายครั้งถ้าลองสังเกตเพื่อนที่อยู่ข้างๆ เราอาจพบว่าเขาคนนั้นกำลังบ่นพึมพำอะไรอยู่คนเดียวโดยที่ไม่ได้พูดกับเรา และทำให้เราสงสัยอยู่เสมอว่าเขาพูดกับใคร บางครั้งเพื่อนเราก็พูดกับสัตว์เลี้ยง ต้นไม้ หมอนข้าง เป็นเรื่องเป็นราว และก็มีเหมือนกันที่เพื่อนทำเสียงเล็กเสียงน้อยเล่นกับตุ๊กตาราวกับเด็กๆ

 

R U OK เอพิโสดนี้ ปอนด์ ยาคอปเซ่น และ ดุจดาว วัฒนปกรณ์ นักจิตบำบัดด้วยการเคลื่อนไหว จึงชวนกันมาหาคำตอบว่า พฤติกรรมการพูดคนเดียวที่ทั้งเราและเพื่อนรอบข้างทำกันอยู่บ่อยๆ นั้นมันโอเคไหม หรือว่ากำลังมีอาการทางจิตกันแน่

 


พูดคนเดียวมันโอเคไหม?

ฟันธงกันตั้งแต่ต้นเลยว่า การพูดคนเดียวเป็นสิ่งที่โอเคและดีต่อสุขภาพจิตมากๆ ไม่ใช่เรื่องผิดปกติหรือเป็นบ้าอย่างที่หลายๆ คนเข้าใจ ไม่ว่าจะเป็นการพูดคนเดียวตอนที่เราอยู่ในที่ส่วนตัว หรือว่าจะอยู่ในที่สาธารณะก็ตาม เพราะในความเป็นจริงแล้วคนเราพูดกับตัวเองอยู่ตลอดเวลา เราเรียกสิ่งนั้นว่า ‘Self Talk’

 

Self Talk คือการพูดกับตัวเองโดยที่จะเป็นเสียงที่อยู่ในใจโดยไม่เปล่งออกมา ซึ่งเสียงเหล่านี้เกิดขึ้นเป็นประจำโดยที่เราไม่ทันสังเกตว่าเป็นเสียงของใครหรือเนื้อหาสาระเป็นอย่างไร และบางครั้งเราก็สามารถ Self Talk โดยการเปล่งเสียงออกมาเลยทำให้คนอื่นเห็นว่าเรากำลังพูดคนเดียวอยู่

 

ทำไมเราถึงพูดคนเดียว

การพูดคนเดียวหรือ Self Talk เป็นกระบวนการที่ช่วยจัดการบางสิ่งบางอย่างในตัวเรา เช่น เรากำลังรู้สึกกังวล อยาก ระบาย เรื่องที่คั่งค้างอยู่ในความคิด เราเลยพูดมันออกมาเพื่อลดความรู้สึกกังวลนั้น บางครั้งกำลังสับสนเพราะต้องทำหลายอย่างในเวลาเดียวกัน เราเลยพูดมันออกมาเพื่อ ทบทวน ความคิดของเรา ให้เราทำงานได้เป็นระบบ รู้ว่าต้องทำอะไรก่อนหลังมากยิ่งขึ้น หรือบางครั้งก็เพื่อการ ประมวล สรุปในสิ่งที่ตัวเองทำ ให้เราทำได้ถูกต้องครบถ้วน และนอกจากนั้นการพูดคนเดียวยังช่วยเรื่อง ความจำ ให้เรามีความแม่นยำมากขึ้น เช่น ตอนที่เราจำเบอร์โทรศัพท์ บัญชีธนาคาร หรือตัวเลขบางอย่าง เราก็ใช้วิธีการเปล่งเสียงออกมาเพื่อให้เราไม่ลืม

ดังนั้นแล้วการพูดคนเดียวจึงเป็นการสื่อสารกับตัวเองเพื่อให้เราได้รับสารนั้นชัดเจนขึ้น เพราะตอนที่เราพูด ประสาทการได้ยินจะทำงานเพิ่ม แทนที่จะเป็นแค่ความคิดเพียงอย่างเดียว สารที่สื่อออกมาจึงมีประสิทธิภาพต่อความคิดและการกระทำ

เราจึงเห็นว่าก่อนการแข่งขัน นักกีฬาจะมีการตะโกนเพื่อเรียกกำลังใจตัวเองให้ชนะอย่างคำว่า ‘สู้โว้ย’ ‘เราทำได้’ หรือชื่อทีมของตัวเองเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับตัวเองว่าการแข่งขันครั้งนี้จะต้องสำเร็จ

 

เราพูดกับตัวเองเรื่องอะไรบ้าง

ในเมื่อสบายใจว่าการพูดคนเดียวไม่ใช่เรื่องผิดปกติ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการพูดคนเดียวนั้นไม่ใช่เรื่องสำคัญ เพราะสิ่งที่สำคัญคือ เนื้อหา ที่เรากำลังพูด ซึ่งถ้าเราลองสังเกตเนื้อหาของการพูดคนเดียวจะแบ่งออกได้คร่าวๆ ดังนี้

 

1. เนื้อหาที่เป็นบวกกับตัวเอง

ส่วนใหญ่เป็นคำพูดที่ให้กำลังใจเมื่อต้องทำภารกิจบางอย่างให้สำเร็จ หรือตอนที่ทำอะไรผิดพลาด เช่น ตอนที่เราทำแก้วหล่นแตกแล้วก็พูดกับตัวเองทำนองว่า “เฮ้ย ไม่เป็นไร เก็บๆ” หรือตอนที่เราสอบตกเราก็เปรยขึ้นมาว่า “ไม่เป็นไร ครั้งหน้าเอาใหม่นะ” ซึ่งถ้าลองสังเกตดีๆ เสียงที่อยู่ในหัวนั้นอาจเป็นเสียงของเราเอง เสียงของคนที่มีอิทธิพลกับเราอย่างคนในครอบครัวที่เก็บอยู่ในใจเรามานานก็ได้

 

2. เนื้อหาที่เป็นลักษณะการบรรยาย

เสียงนี้จะไม่บวกไม่ลบ แต่จะเป็นการบรรยายสิ่งต่างๆ ที่เรากำลังเห็นหรือกำลังทำอยู่ เช่น “วันนี้ร้อนจังเลยเนอะ งั้นวันนี้เราเดินเข้าห้างดีกว่า” หรือระหว่างทำงาน อยู่ๆ ก็เปรยขึ้นมาว่า “วันนี้งานเยอะจังเลย เราอาจจะต้องเริ่มจากการเปิดคอมฯ ก่อนแล้วค่อยเช็กอีเมล” หรือสำหรับบางคนเวลาขับรถก็อดไม่ได้ที่จะอ่านป้ายต่างๆ ที่อยู่ข้างทาง ก็ถือเป็นการ Self Talk รูปแบบหนึ่งเหมือนกัน

 

3. เนื้อหาที่เป็นลบต่อตัวเอง

เช่น การก่นด่าตัวเองเมื่อทำผิดพลาดอย่าง “อีโง่ อีบ้า ไม่ได้เรื่อง” แม้ว่าคนอื่นจะยังไม่ตัดสินใจว่าสิ่งที่เราทำเป็นสิ่งไม่ดีแต่เราก็รีบด่าตัวเองก่อน

 

การ Self Talk เป็นสิ่งที่สะท้อนมาจากจิตใต้สำนึก บางครั้งเรารู้ตัวและบางครั้งเราก็ไม่รู้ตัว เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญที่เราควรทำเมื่อพูดคนเดียวก็คือ การสังเกตตัวเอง ว่าเสียงนั้นเนื้อหาสาระเป็นอย่างไร ถ้าวันหนึ่งสัดส่วนของการพูดคนเดียวเป็นเรื่องลบมากกว่าเรื่องบวก ก็ไม่ต่างอะไรกับการที่เรามีอีกคนหนึ่งก่นด่าสิ่งที่เราทำผิดพลาดซ้ำๆ และถ้ายังเป็นอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ ก็อาจมีผลให้เราเป็นคนสุขภาพจิตไม่ดีในอนาคตได้

 

ถ้าเราสามารถสังเกตได้และตามความคิดตัวเองทัน เราลองยั้งตัวเองดูสักนิดก่อนที่เสียงด้านลบเหล่านั้นจะเปล่งออกมา ถามตัวเองง่ายๆ ว่ามันยุติธรรมไหมที่เราตัดสินตัวเองด้วยคำพูดด้านลบแบบนี้ และถ้าเรามีสติตามความคิดตัวเองมากขึ้น อาจจะลองค่อยๆ เปลี่ยนคำพูดร้ายๆ ที่คอยบั่นทอนตัวเองมาเป็นคำพูดที่ให้กำลังใจตัวเอง ฝึกชมตัวเองบ้างก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย และอาจช่วยให้เรามีสุขภาพจิตที่แข็งแรงขึ้นได้

 

พูดกับสัตว์เลี้ยง ต้นไม้ ตุ๊กตา โอเคหรือเปล่า

บางคนที่ชอบพูดคุยกับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่นอกเหนือจากมนุษย์ เช่น สัตว์เลี้ยง ต้นไม้ หลายคนมองว่าเป็นเรื่องประหลาด จริงๆ แล้วการพูดแบบนี้ ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ เพราะสิ่งมีชีวิตเหล่านั้นก็โต้ตอบเรา เพียงแค่ไม่ได้ตอบกลับมาเป็นคำพูด ต้นไม้ถึงจะเปล่งเสียงไม่ได้แต่ก็ตอบกลับมาด้วยภาษาที่เราอาจไม่เข้าใจเท่านั้นเอง

 

ส่วน การพูดกับสิ่งไม่มีชีวิตก็ไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวล เพราะการพูดคุยกับสิ่งไม่มีชีวิตเหล่านั้นช่วยสร้างทักษะในการปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์คนอื่น สร้างจินตนาการ นอกจากนั้นยังช่วยสะท้อนให้เราได้ยินเสียงตัวเองเวลาพูดคุยอีกด้วย เช่น การเล่นกับตุ๊กตา หลายคนอาจมองว่าเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ก็ไม่ควรเล่นอะไรเป็นเด็ก ยิ่งบางครั้งมีการทำเสียงเล็กเสียงน้อย ยิ่งดูประหลาดเข้าไปใหญ่ แต่ทางจิตวิทยาแล้วผู้ใหญ่ก็ยังมีสิทธิ์เล่นอะไรแบบนี้ได้ แถมดีต่อสุขภาพจิตด้วยซ้ำ เพราะเป็นการอนุญาตให้เสียงในใจได้เปล่งออกมา

สิ่งสำคัญคือต้องคอยตรวจสอบอยู่เสมอว่าเราปฏิบัติต่อสิ่งไม่มีชีวิตเหล่านั้นเทียบเท่ากับเป็นคนหนึ่งคนหรือเปล่า ถ้ารู้ตัวและเข้าข่ายอาการดังกล่าวก็ควรไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำการบำบัดรักษาต่อไป

แล้วในทีวีที่ตัวละครชอบพูดคนเดียว อย่างนั้นก็ปกติหรือ

จุดที่สังเกตได้ง่ายที่สุดของการพูดคนเดียวที่ไม่ปกติและควรพบแพทย์ คือการพูดกับคนอื่นที่ไม่มีใครมองเห็น เช่น เราเห็นเพื่อนกำลังพูดคนเดียว แต่เพื่อนยืนยันว่ามีบุคคลที่ 3 อยู่ตรงนั้นแต่เรามองไม่เห็น ซึ่งอาจเกิดขึ้นจากการมีภาพหลอน หูแว่ว เหล่านี้เป็นอาการของจิตเภทซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโรค เริ่มหลุดออกจากการอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง ถ้าเป็นแบบนี้แล้วก็ควรทำการรักษาโดยผู้เชี่ยวชาญโดยเร็วที่สุด

 


ฟังรายการ R U OK พอดแคสต์ โดยแอปฯ Podcasts (สำหรับผู้ใช้ iOS), Podbean และแอปฯ ประเภท Podcast Player ยี่ห้อใดก็ได้ (สำหรับผู้ใช้ Android) หรือฟังทาง SoundCloud และ YouTube ก็ได้เช่นกัน

 

 


Credits


The Hosts
ปอนด์ ยาคอปเซ่น, ดุจดาว วัฒนปกรณ์

 

Show Creator อธิษฐาน กาญจนะพงศ์

Episode Producer อธิษฐาน กาญจนะพงศ์

Episode Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Sound Designer & Engineer ศุภณัฐ เดชะอำไพ

Coordinator & Admin อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director อนงค์นาฎ วิวัฒนานนท์

Proofreader พรนภัส ชำนาญค้า

Webmaster จินตนา ประชุมพันธ์

Music Westonemusic.com

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising
X