บรรดาประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) เตรียมเข้าร่วมการประชุมสุดยอดที่จัดขึ้นที่กรุงบรัสเซลส์ เมืองหลวงของเบลเยียม ระหว่างวันที่ 14-15 ธันวาคมนี้ โดยหนึ่งในประเด็นสำคัญที่ได้รับการจับตามองเป็นพิเศษคือการผลักดันให้ยูเครนเข้าเป็นสมาชิกใหม่ของ EU และการอนุมัติงบประมาณช่วยเหลือยูเครน ทั้งทางการเงินและการทหาร
-
การเข้าเป็นสมาชิก EU สำคัญต่อยูเครนอย่างไร
การได้เป็นสมาชิกใหม่ EU จะทำให้ยูเครนมีความเข้มแข็งขึ้นอย่างมากในฐานะรัฐในยุโรป โดยยูเครนจะได้รับผลประโยชน์มากมาย โดยเฉพาะการสนับสนุนทางด้านการเงินและการทหาร ท่ามกลางการสู้รบกับกองทัพรัสเซียที่ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งยูเครนต้องการแหล่งเงินทุนและแรงสนับสนุนที่จะช่วยให้กองทัพสามารถรับมือกับสงครามที่ดูจะยืดเยื้อนี้ต่อไปได้
โดยประเทศที่เข้าเป็นสมาชิก EU โดยสมบูรณ์ จะได้รับความคุ้มครองภายใต้สนธิสัญญา EU ที่ระบุว่า หากประเทศสมาชิกตกเป็นเหยื่อของการถูกรุกรานโดยกองทัพติดอาวุธ ประเทศสมาชิกอื่นๆ มีหน้าที่ที่จะต้องให้ความช่วยเหลือประเทศนั้นในทุกวิถีทางที่ทำได้ แม้จะไม่ได้มีพันธะผูกพันเข้มแข็งอย่างมาตรา 5 ของกลุ่มประเทศสมาชิก NATO ก็ตาม
-
จุดยืนฮังการีเป็นอย่างไร ทำไมถึงคัดค้าน
วิกเตอร์ ออร์บาน นายกรัฐมนตรีฮังการี แสดงจุดยืนอย่างเด่นชัดในการคัดค้านการผลักดันให้ยูเครนเข้าเป็นสมาชิกใหม่ของ EU โดยออร์บานระบุว่า ทั้งปัจจัยด้านสงคราม การทุจริตคอร์รัปชัน การเป็นประเทศเกษตรกรรมขนาดใหญ่ รวมถึงการปฏิบัติต่อชนกลุ่มน้อยชาวฮังการีอย่างโหดร้าย เป็นเหตุผลสำคัญที่ฮังการีจะไม่สนับสนุนให้ยูเครนเข้าเป็นสมาชิกใหม่ EU ในเร็ววันนี้
โดยผู้นำฮังการีที่ใกล้ชิดกับ วลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย ยังได้เน้นย้ำอีกว่า การรับยูเครนเข้าเป็นสมาชิกใหม่ในช่วงเวลานี้นั้นไม่เป็นประโยชน์ต่อฮังการีหรือต่อประเทศสมาชิกทั้ง 27 ประเทศของ EU
-
จุดยืนประเทศสมาชิกอื่นๆ เป็นอย่างไร
ประเทศสมาชิกส่วนใหญ่ของ EU สนับสนุนการเข้าเป็นสมาชิกใหม่ของยูเครน โดย โดนัลด์ ทัสก์ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของโปแลนด์ แสดงจุดยืนว่า เขาสนับสนุนยูเครน พร้อมทั้งระบุว่า การเพิกเฉยต่อประเด็นของยูเครนถือเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ และเขาจะพยายามช่วยโน้มน้าวให้ประเทศต่างๆ สนับสนุนและส่งมอบความช่วยเหลือที่จำเป็นให้แก่ยูเครน
ขณะที่ โอลาฟ โชลซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ก็แสดงความเห็นว่า เขาต้องการให้การตัดสินใจในประเด็นสำคัญๆ ใน EU ยึดหลักเสียงข้างมากเป็นสำคัญ เพื่อป้องกันไม่ให้ประเทศใดประเทศหนึ่งมีสิทธิคัดค้านหรือยับยั้งในประเด็นต่างๆ อาทิ การเพิ่มขยายประเทศสมาชิก
- ขั้นตอนการเข้าเป็นสมาชิกใหม่ EU ของยูเครนหลังจากนี้เป็นอย่างไร
ประเทศสมาชิก EU มีมติรับยูเครนเข้าเป็นผู้สมัครสมาชิกของ EU แล้วตั้งแต่ช่วงกลางปี 2022 โดยทั่วไปแล้ว การที่ประเทศใดๆ สมัครเข้าเป็นสมาชิก EU นั้นอาจใช้ระยะเวลานานหลายปี เนื่องจากมีเงื่อนไขทางเศรษฐกิจและการเมืองที่ประเทศผู้สมัครจำเป็นต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด รวมถึงการตกลงที่จะปฏิบัติตามหลักนิติธรรมและระบอบประชาธิปไตยด้วย
หลังจากที่ยอมรับกฎหมายและกฎเกณฑ์ต่างๆ ของ EU แล้ว ท้ายที่สุดประเทศผู้สมัครต้องลงนามในสนธิสัญญา โดยประเทศสมาชิก EU ทุกประเทศต้องเห็นชอบและให้สัตยาบัน
โดยขณะนี้มีความพยายามที่ย่นระยะเวลาและเร่งผลักดันให้ยูเครนเข้าเป็นสมาชิกใหม่ EU โดยเร็ว แต่อย่างไรก็ตาม หากบทสรุปของการประชุมในครั้งนี้จบลงด้วยการยืนกรานของผู้นำฮังการีที่คัดค้านการเข้าเป็นสมาชิกใหม่ EU นักการทูตอาวุโสของ EU กล่าวว่า ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เราจะร่วมกันหาทางออกเพื่อส่งมอบความช่วยเหลือให้กับยูเครน รวมถึงผลักดันข้อตกลงที่เป็นไปได้ โดยอาศัยงบประมาณของประเทศสมาชิก EU อื่นๆ ที่อยู่นอกเหนืองบประมาณหลัก เพื่อที่ยูเครนจะได้มีแหล่งเงินทุนในการสู้รบและปกป้องอธิปไตยของตนเองต่อไปได้ หลังการเดินทางเยือนกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ของ โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน อาจไม่ประสบผลสำเร็จในการร้องของบประมาณเพิ่มเติมจากรัฐบาลสหรัฐฯ เนื่องจากถูกขัดขวางโดยพรรครีพับลิกันที่ครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ อยู่ในขณะนี้
ภาพ: Pier Marco Tacca / Getty Images
อ้างอิง: