ประเด็นสุขภาพถูกบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 28 หรือ COP28 ในขณะที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ที่ประชุม COP ควรหยิบยกประเด็นนี้มาหารือนานแล้ว เนื่องจากการไม่ดำเนินการใดๆ เพื่อแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศกำลังคร่าชีวิตผู้คนและบั่นทอนสุขภาพลงทุกวันๆ
โลกของเรามีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงขึ้นในแต่ละปี โดยปี 2023 จะเป็นปีที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ แผ่นน้ำแข็งกำลังละลายในอัตราที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ไฟป่าทำให้อากาศในบางภูมิภาคเป็นอันตราย ขณะที่ในบางพื้นที่นั้นน้ำท่วมเป็นสาเหตุให้น้ำดื่มปนเปื้อน
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้ภัยคุกคามด้านสุขภาพที่มีอยู่แล้วรุนแรงขึ้น ขณะเดียวกันก็สร้างความท้าทายใหม่ๆ ในวงการสาธารณสุข ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกคาดการณ์ว่า ทั่วโลกจะมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 250,000 รายต่อปีในทศวรรษหน้าอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
นพ.ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่ของ WHO กล่าวกับผู้เข้าร่วมประชุม COP28 ที่นครดูไบ เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (3 ธันวาคม) ว่า การอภิปรายเรื่องอนามัยสิ่งแวดล้อม (Environmental Health) ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น และธารน้ำแข็งที่กำลังละลาย เพื่อประเมินผลกระทบโดยตรงของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรง (Climate Shock) ที่มีต่อสุขภาพของมนุษย์นั้นควรจะเกิดขึ้นมานานแล้ว
‘Health Day’ ที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในระหว่างการประชุม COP โดยรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข สิ่งแวดล้อม และการคลัง ได้กล่าวปาฐกถาร่วมกับบุคคลสำคัญอย่าง บิล เกตส์ และทูตพิเศษด้านสภาพภูมิอากาศของสหรัฐอเมริกาอย่าง จอห์น แคร์รี ซึ่งมารวมตัวกันที่หอประชุม Al Waha ใน Expo City ของดูไบ เพื่อพิจารณาการดำเนินการในการแก้ไขผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีต่อสุขภาพของมนุษย์
“แม้วิกฤตสภาพภูมิอากาศจะเป็นเรื่องเดียวกับวิกฤตสุขภาพ แต่การประชุม COP ที่ผ่านมา 27 ครั้งกลับไม่เคยมีการหารือเกี่ยวกับประเด็นสุขภาพอย่างจริงจัง” ดร.ทีโดรส กล่าว พร้อมแสดงการขานรับของ WHO ต่อปฏิญญาฉบับใหม่ว่าด้วยการดำเนินการเร่งรัดเพื่อปกป้องประชาชนจากผลกระทบของสภาพภูมิอากาศที่เพิ่มขึ้น ซึ่งได้รับการรับรองระหว่างการประชุมสุดยอด World Climate Action Summit เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (2 ธันวาคม)
WHO ระบุว่า ผู้คนมากกว่า 3,000 ล้านคนอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งมีส่วนโดยตรงต่อภาวะฉุกเฉินด้านมนุษยธรรม
ผลกระทบจากคลื่นความร้อน ไฟป่า น้ำท่วม พายุโซนร้อน และพายุเฮอริเคน ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่คล้ายคลึงกันนั้น มีแต่จะเพิ่มขึ้นทั้งในแง่ของขนาด ความถี่ และความรุนแรง โดยมีการคาดการณ์ว่า ในระหว่างปี 2030-2050 การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะทำให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นหลายหมื่นคนต่อปีจากภาวะโภชนาการต่ำ มาลาเรีย ท้องเสีย และความเครียดจากความร้อน
ขณะที่ในการประชุมระดับรัฐมนตรีเมื่อเช้าวันเสาร์ที่ผ่านมา ดร.ทีโดรส ได้เน้นย้ำถึงองค์ประกอบสำคัญหลายประการที่มีบทบาทในการสร้างการตอบสนองที่มีประสิทธิภาพ เพื่อจัดการกับความท้าทายด้านสุขภาพและสภาพภูมิอากาศ
ผอ. WHO เน้นย้ำว่า การลงทุนจำนวนมากในด้านบริการด้านสุขภาพจะเป็นกุญแจสำคัญในการบรรลุเป้าหมายเหล่านี้
“เราไม่จำเป็นต้องเสียเวลาแก้ปัญหาเดิมๆ ด้วยวิธีการเดิมๆ” เขาเน้นย้ำ
ภาพ: Rula Rouhana / File Photo / REUTERS
อ้างอิง: