ประเด็นต่อเนื่องจากกรณีการตั้งคำถามในหมู่นักลงทุนว่าการซื้อขายในตลาดหุ้นไทยในระยะหลังมีการทำ Naked Short Selling เกิดขึ้นหรือไม่นั้น ล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เตรียมที่จะเข้าไปตรวจสอบ ‘ระบบการตรวจสอบ Naked Short Selling ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย’ เพื่อให้มั่นใจว่าระบบที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมีความรัดกุมมากเพียงพอ
จอมขวัญ คงสกุล รองเลขาธิการ ก.ล.ต. เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่า เพื่อให้มั่นใจว่าระบบของตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ใช้ในการตรวจสอบ Naked Short Selling มีประสิทธิภาพและรัดกุมเพียงพอ ก.ล.ต. จะเข้าไปตรวจสอบระบบดังกล่าวอีกครั้งในเร็วๆ นี้ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมการและประสานไปยังตลาดหลักทรัพย์ฯ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ประเด็นร้อนหุ้นไทย Naked Short Selling! ทำไมความสงสัยไม่คลี่คลาย และรายย่อยที่กำลังล่มสลาย?
- ตลาดหลักทรัพย์ฯ เผยตัวเลขซื้อ-ขายผ่าน Program Trading เฉียด 40% ของมูลค่าทั้งวัน พร้อมแจงวิธีตรวจสอบ Naked Short Selling จาก Custodian
- ก.ล.ต. จับมือ ตลท. ยกระดับตรวจจับ Naked Short Sell ลุยสอบทุกธุรกรรมแบบเรียลไทม์ หากพบผิดพร้อมฟัน
นอกจากนี้ ก.ล.ต. ได้ทำหนังสือส่งไปยังตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งประกอบไปด้วย 2 ประเด็นสำคัญ ได้แก่
1. ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีอำนาจในการพิจารณาและตัดสินใจปรับเกณฑ์เกี่ยวกับการทำ Short Selling
ในส่วนนี้รองเลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่าการทำ Short Selling ในด้านหนึ่งเป็นประโยชน์ต่อตลาด เช่น กระบวนการ Price Discovery หรือการที่ช่วยให้ราคาหุ้นสะท้อนมูลค่าที่แท้จริง เป็นต้น
ทั้งนี้ ก.ล.ต. ได้ให้อำนาจกับตลาดหลักทรัพย์ฯ ไว้แล้ว เพื่อพิจารณาและปรับกฎเกณฑ์ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ได้ทันที
“ปัจจุบันเกณฑ์เรื่องการชอร์ตของตลาดเป็นแบบ Zero Plus Tick Rules แต่หากตลาดหลักทรัพย์ฯ จะพิจารณาใช้ Up Tick Rules ก็สามารถทำได้เลย เพราะ ก.ล.ต. ให้อำนาจไว้แล้ว แต่ทั้งนี้ไม่ได้เป็นการสั่งว่าให้ปรับเกณฑ์มาใช้ Up Tick Rules เพียงแต่ตลาดมีอำนาจในการเลือกใช้ได้ และหากยังมีข้อจำกัดใดๆ ก็ขอให้แจ้งมาทาง ก.ล.ต. เพื่อจะได้พิจารณาแก้ไขข้อบังคับให้เหมาะสม”
2. การตรวจสอบผู้ลงทุนที่แท้จริงเบื้องหลังบัญชี Custodian ที่ใช้ Program Trading ในการส่งคำสั่งซื้อขาย
จอมขวัญเปิดเผยว่า การซื้อขายหลักทรัพย์ผ่าน Program Trading เป็นธุรกรรมที่ ก.ล.ต. มองว่ามีความเสี่ยงสูง เนื่องจากธุรกรรมที่เกิดขึ้นผ่าน Program Trading มักมีต้นทุนต่ำมาก และมักใช้วิธีการขายทำกำไรด้วยส่วนต่างของราคา (Spread) ที่แคบ และใช้การซื้อขายด้วยปริมาณ (Volume) มาก จึงมีโอกาสที่จะส่งผลกระทบกับราคาตลาดของหลักทรัพย์ค่อนข้างสูง ประกอบกับความกังวลของ ก.ล.ต. ต่อประเด็นการทำ naked Short Selling
สิ่งที่ ก.ล.ต. ต้องการให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ตรวจสอบเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Program Trading คือการตรวจสอบว่าลูกค้าตัวจริงเป็นใคร ในกรณีที่ทำธุรกรรมผ่านบัญชี Custodian ซึ่งจะช่วยประเมินได้ว่าลูกค้ารายนั้นๆ มีความเสี่ยงที่จะทำ Naked Short Selling หรือไม่
ขณะเดียวกันต้องการให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ตรวจสอบว่าลูกค้าที่ใช้ Program Trading ในการส่งคำสั่งซื้อขาย แท้จริงแล้วเป็นนักลงทุนสถาบันหรือเป็นเพียงนักลงทุนบุคคล
“การที่โบรกเกอร์จะคิดค่าคอมมิชชันต่ำสำหรับลูกค้าสถาบันเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ แต่สำหรับ Program Trading ที่ไม่รู้ว่าเบื้องหลังเป็นลูกค้าสถาบันหรือเป็นเพียงมิสเตอร์ A เพราะฉะนั้นตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องดูแลให้เกิดความเป็นธรรม ไม่ใช่ว่ามิสเตอร์ A ซื้อขายผ่าน Program Trading จะถือเป็นสถาบันไปทั้งหมด”