ก่อนหน้านี้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้เปิดเผยข้อมูลสถิติการซื้อ-ขายผ่านเว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์ (set.or.th) เช่น มูลค่าการซื้อ-ขายตามกลุ่มนักลงทุน 4 กลุ่ม, ข้อมูลการซื้อ-ขายผ่าน NVDR รวมทั้งข้อมูลธุรกรรมขายชอร์ต (Short Selling) เป็นต้น
ล่าสุดตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เพิ่มข้อมูลการซื้อ-ขายในส่วนของ Program Trading เพื่อแสดงและเปรียบเทียบมูลค่าการซื้อ-ขายในตลาดแต่ละวันที่ดำเนินการผ่าน Program Trading และที่ไม่ใช่ Program Trading รวมทั้งจะมีการแสดงข้อมูลของหุ้นรายตัวบางส่วนที่ถูกซื้อ-ขายด้วย Program Trading และมีราคาเปลี่ยนแปลงเกิน 10%
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ประเด็นร้อนหุ้นไทย Naked Short Selling! ทำไมความสงสัยไม่คลี่คลาย และรายย่อยที่กำลังล่มสลาย?
- ก.ล.ต. จับมือ ตลท. ยกระดับตรวจจับ Naked Short Sell ลุยสอบทุกธุรกรรมแบบเรียลไทม์ หากพบผิดพร้อมฟัน
- ‘ตลท. – FETCO – สมาคมนักวิเคราะห์’ ประสานเสียงเชิงบวก หวังแก้ ‘วิกฤตศรัทธาหุ้นไทย’
- ‘ก.ล.ต.-ตลาดหลักทรัพย์ฯ’ ไม่ปรับเกณฑ์ Short Selling ยันไม่ใช่ตัวการทำหุ้นไทยร่วงหนักกว่าตลาดอื่น และไม่พบการทำ Naked Short
ทั้งนี้ ภัทรวสี สุวรรณศร รองผู้จัดการหัวหน้าสายงานบริหารการปฏิบัติการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า Program Trading ที่พูดถึงในที่นี้ หมายถึงการซื้อ-ขายผ่านชุดโปรแกรมที่เขียนคำสั่งไว้ล่วงหน้า และหากเข้าเงื่อนไขที่กำหนดไว้ โปรแกรมจะส่งคำสั่งซื้อ-ขายโดยอัตโนมัติ
จากข้อมูลที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ เปิดเผยเป็นวันแรกผ่านเว็บไซต์ คือข้อมูล ณ วันที่ 16 พฤศจิกายนที่ผ่านมา จากมูลค่าการซื้อ-ขายทั้งหมด 4.43 หมื่นล้านบาท มาจากการซื้อ-ขายผ่าน Program Trading ราว 39% หรือราว 1.74 หมื่นล้านบาท และเป็นการซื้อสุทธิ 352 ล้านบาท
ภัทรวสีกล่าวเพิ่มเติมว่า ข้อมูลในส่วนของหุ้นรายตัวที่ไม่มีการแสดงในวันแรกนี้เป็นเพราะตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้กำหนดเงื่อนไข 3 ข้อถึงจะมีการแสดงให้เห็น ได้แก่
- หุ้นที่มีราคาเปลี่ยนแปลงขึ้น-ลงเกิน 10%
- หุ้นที่มีมูลค่าการซื้อ-ขายมากกว่า 50 ล้านบาท
- หุ้นอยู่ใน SET และ mai
ซึ่งหุ้นที่จะแสดงให้เห็นจะต้องเข้าเงื่อนไขทั้ง 3 ข้อ นอกเหนือจากการถูกซื้อ-ขายได้ Program Trading แล้ว
อย่างไรก็ตาม ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะพิจารณาเพื่อปรับปรุงเงื่อนไขดังกล่าว หลังจากมีข้อสงสัยจากผู้สื่อข่าวว่า เงื่อนไขดังกล่าวอาจทำให้การเปิดเผยข้อมูลทำได้ไม่ละเอียดเพียงพอ
ด้าน พิเชษฐ สิทธิอำนวย นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย เปิดเผยว่า การใช้ Program Trading ในตลาดหุ้นไทยมีมาอย่างยาวนานและมีหลากหลายรูปแบบ เช่น ใช้ส่งคำสั่งซื้อ-ขายหุ้นแบ่งเป็นไม้ย่อยๆ โดยอาจจะกำหนดจากช่วงเวลา เช่น ซื้อหรือขายทุกๆ ครึ่งชั่วโมง หรือกำหนดจากปริมาณการซื้อ-ขายในแต่ละวัน
ใช้ส่งคำสั่งตามเงื่อนไขที่กำหนด เช่น เส้นค่าเฉลี่ยราคาตัดกัน หรือใช้ในการทำธุรกรรมของเครื่องมือทางการเงินต่างๆ เช่น DW หรือ DR รวมถึงลักษณะที่เป็น High Frequency Trading (HFT) เป็นการใช้คอมพิวเตอร์มาช่วยในเรื่องความเร็วและความถี่ในการส่งคำสั่ง
“ถามว่า Program Trading กระทบตลาดหรือไม่ ต้องบอกว่ากระทบต่อนักลงทุนบางกลุ่มที่ใช้กลยุทธ์เหมือนหรือคล้ายกับ Program Trading แต่จริงๆ แล้วเครื่องมือเหล่านี้มีในหลายตลาด ไม่ใช่แค่ตลาดหุ้นไทย ซึ่งก็ไม่ใช่ทุกตลาดจะซบเซาลง”
เช่นเดียวกับ Short Selling เป็นกติกาทั่วไปที่มีในทุกตลาด และโดยปกติแล้วตลาดหลักทรัพย์ฯ และสำนักงาน ก.ล.ต. ดำเนินการตรวจสอบโบรกเกอร์ต่างๆ เป็นประจำอยู่แล้ว และเคยมีกรณีที่พบการกระทำผิดเกิดขึ้น พร้อมกับมีบทลงโทษไปแล้ว
ส่วนประเด็นของ Naked Short Selling รองรักษ์ พนาปวุฒิกุล รองผู้จัดการหัวหน้าสายงานกฎหมาย และหัวหน้ากลุ่มงานเลขานุการองค์กรและกำกับองค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ให้การยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่ามีการตรวจสอบอย่างรัดกุม โดยเฉพาะการตรวจเช็กข้อมูลการทำธุรกรรมขายชอร์ตทั้งหมด รวมทั้งลำดับของการทำธุรกรรมในแต่ละขั้นตอน (Time Stamp)
“การทำ Short Selling จะมี Time Stamp ให้เห็นอยู่แล้วว่า ณ เวลาที่ส่งคำสั่งขายคุณมีหุ้นอยู่ในมือหรือไม่ และนักลงทุนมีหน้าที่จะต้องพิสูจน์ให้ได้”
ส่วนประเด็นที่ว่า หากเป็นต่างชาติที่ฝากหุ้นไว้กับ Custodian หรือผู้รับฝากหลักทรัพย์ที่อยู่ต่างประเทศ จะตรวจสอบได้อย่างไร
“โบรกเกอร์จะเป็นด่านแรกในการตรวจสอบว่ามีหุ้นตรงกับคำสั่งหรือไม่ หากลูกค้าทำ Naked Short โบรกเกอร์จะถูกลงโทษ”
หาก Custodian ให้ข้อมูลที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงจะตรวจสอบได้อย่างไร ในกรณีนี้รองรักษ์ชี้แจงว่า หากมีกรณีน่าสงสัย ตลาดหลักทรัพย์ฯ สามารถขอดู Time Stamp ของการทำธุรกรรมจากศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (TSD) เพื่อตรวจสอบได้ว่าข้อมูลที่ Custodian ให้มานั้นถูกต้องหรือไม่