ข่าวการประกาศเลิกกิจการของบริษัท ฮุนได มอเตอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด จากการรายงานของบริษัท อาปิโก ไฮเทค จำกัด (มหาชน) หรือ AH ต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งสร้างความตกใจว่าอยู่ดีๆ เกิดอะไรขึ้น ฮุนไดจึงเลิกกิจการในไทย ทั้งที่ก่อนหน้าไม่นานเพิ่งจะมีการเปิดตัวรถรุ่นใหม่พร้อมกับบริษัทใหม่ของฮุนได
ลำดับแรกต้องทำความเข้าใจกันให้ถูกต้องก่อนว่า ฮุนไดยังไม่ได้เลิกกิจการในประเทศไทย แต่ที่เลิกไปตามรายงานข่าวนั้นเป็นเพียงบริษัทที่เคยดูด้านการจัดจำหน่ายรถยนต์ฮุนไดในประเทศไทยดังรายละเอียดต่อไปนี้
ย้อนความกลับไปในช่วงปี 2550 ฮุนไดได้แต่งตั้งกลุ่มโซจิซึจากประเทศญี่ปุ่นให้เป็นผู้จัดจำหน่าย (Distributor) รถยนต์ฮุนไดในประเทศไทยต่อจากกลุ่มพระนคร ยนตรการ ที่สิ้นสุดการได้สิทธิ์จำหน่ายในไทยไป ซึ่งกลุ่มโซจิซึได้มีการร่วมทุนกับพันธมิตรหลายรายรวมถึงอาปิโก ไฮเทค ด้วย โดยมีการจัดตั้งบริษัทชื่อว่า ‘บริษัท ฮุนได มอเตอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด’ ทำการจำหน่ายและขายส่งรถยนต์ฮุนไดในประเทศไทย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- Hyundai บุก EV ไทยเต็มสูบ! หวังเสริมภาพ Tech Mobility พร้อมเปิดตัวรุ่นใหม่ ‘Hyundai Stargazer’ เริ่มต้น 7.6 แสนบาท
- รถยนต์ไฟฟ้าที่ร้อนแรงที่สุดในตลาดสหรัฐฯ ไม่ได้มาจาก Tesla แต่ตอนนี้ทุกสายตาจับจ้องไปที่ Ioniq 5 ของ Hyundai และ Kia EV6
- จับตา Hyundai กับการก้าวขึ้นจากรถยนต์ราคาประหยัด สู่ความท้าทายของ Tesla ในสนามประลองยานยนต์ไฟฟ้า
กิจการดำเนินไปด้วยดีตลอดมา จนกระทั่งในปี 2565 ทางบริษัทแม่คือ ฮุนได มอเตอร์ จากประเทศเกาหลีใต้ เห็นว่าตลาดของประเทศไทยมีศักยภาพที่ดีและน่าจะสร้างยอดขายได้เป็นกอบเป็นกำมากกว่าที่กลุ่มโซจิซึทำได้ ดังนั้นฮุนได มอเตอร์ จึงได้ตัดสินใจเข้ามาทำตลาดในไทยด้วยตัวเอง มีการจัดตั้ง ‘บริษัท ฮุนได โมบิลิตี้ (ประเทศไทย) จำกัด’ ขึ้น
ถึงตรงนี้นึกภาพให้ดี ในประเทศไทยมีบริษัทสองแห่งที่คล้ายกันคือบริษัท ฮุนได มอเตอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด ที่มีผู้ถือหุ้นคือกลุ่มโซจิซึของญี่ปุ่น พร้อมพันธมิตร กับบริษัท ฮุนได โมบิลิตี้ (ประเทศไทย) จำกัด ที่มีผู้ถือหุ้นคือฮุนได มอเตอร์ ของเกาหลีใต้ และประกอบกิจการเหมือนกันคือขายรถยนต์ฮุนได
โดยบริษัท ฮุนได โมบิลิตี้ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งดำเนินกิจการโดยฮุนได มอเตอร์ ของเกาหลีใต้ ได้เข้าซื้อสินทรัพย์ส่วนใหญ่ของบริษัท ฮุนได มอเตอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด เช่น อาคารสำนักงาน สต๊อกอะไหล่ และสิทธิ์ต่างๆ (เช่นคำว่า ฮุนได ประเทศไทย) รวมถึงรับพนักงานบางส่วนมาด้วย โดยไม่ได้ซื้อบริษัท ฮุนได มอเตอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด แต่อย่างใด
สำหรับการเปลี่ยนผ่านดังระหว่างสองบริษัทมีขึ้นในช่วงรอยต่อระหว่างเดือนมีนาคมและเมษายน กิจการทุกอย่างในทางปฏิบัติของฮุนได มอเตอร์ (ไทยแลนด์) สิ้นสุดเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2566 และฮุนได โมบิลิตี้ (ประเทศไทย) เข้ามาดำเนินการเริ่มต้นใหม่ในวันที่ 1 เมษายน 2566 เป็นการเปลี่ยนผ่านที่ราบรื่น เพื่อไม่ให้ลูกค้าต้องสูญเสียความเชื่อมั่น
ลักษณะดังกล่าวนี้มีความคล้ายคลึงกับการที่กลุ่มยนตรกิจต้องอำลาจากการขายรถยนต์บีเอ็มดับเบิลยู และกลุ่มธนบุรีประกอบรถยนต์ต้องปล่อยมือจากเมอร์เซเดส-เบนซ์ ซึ่งลดบทบาทจากผู้จัดจำหน่าย (Distributor) เหลือเพียงการเป็นตัวแทนจำหน่าย (Dealer) รายหนึ่งเท่านั้น
ดังนั้นเมื่อข่าวดังกล่าวมีการถูกนำเสนอในลักษณะที่พาดหัวเพื่อดึงดูดความสนใจ ส่งผลให้บริษัท ฮุนได โมบิลิตี้ (ประเทศไทย) จำกัด ต้องส่งจดหมายชี้แจงต่อสื่อมวลชนว่า รถยนต์ฮุนไดยังคงดำเนินกิจการอยู่ตามปกติ ซึ่งการกระทำดังกล่าวอาจจะมาจาก ‘ความไม่รู้’ ข้อเท็จจริงของกรณีนี้ หรือเข้าใจผิด แต่หากรู้แล้วแต่ตั้งใจสร้างกระแสเพื่อเรียกยอดการเข้าดู ลักษณะนี้มักจะถูกเรียกว่าคลิกเบต (Clickbait)
ภาพ: Peerapon Boonyakiat / SOPA Images / LightRocket via Getty Images