×

เปลี่ยนงานเพื่ออัพเงินเดือนดีไหม? คนมาใหม่ทำไมเงินเดือนเยอะกว่าเรา? เมื่อลูกน้องขอขึ้นเงินเดือน เจ้านายควรทำอย่างไร?

23.04.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

Time index

01:10 ควรเปลี่ยนงานไปเรื่อยๆ เพื่ออัพเงินเดือนไหม

11:41 ทำไมคนที่เพิ่งเข้ามาใหม่ได้เงินเดือนเยอะกว่าเรา

20:40 ขู่ลาออกดีไหม เผื่อบริษัทรั้งเราไว้ด้วยการขึ้นเงินเดือนให้

23:04 บอกเจ้านายอย่างไรดี ถ้าอยากขอขึ้นเงินเดือน

เงินเดือน คือสิ่งหนึ่งที่เป็นปัญหากับมนุษย์ออฟฟิศอยู่เสมอ หลายคนอาจคิดว่าปัญหาเหล่านี้จะไม่เกิดหากได้ตกลงกับฝ่ายบุคคลจนได้ตัวเลขจนเป็นที่พอใจทั้งสองฝ่ายตั้งแต่แรก แต่ในความเป็นจริง พอทำงานไปได้สักพักอาจเกิดคำถามว่าเงินเดือนที่ได้นั้นยังคุ้มอยู่ไหม นี่เราเหนื่อยเกินไปหรือเปล่า หรือลองเปลี่ยนงานเพื่อเพิ่มเงินเดือนจะดีไหม แล้วทำไมแอบรู้มาว่าคนที่เข้ามาใหม่ในตำแหน่งงานเดียวกันได้เงินเดือนเยอะกว่าเรา จะเห็นได้ว่าปัญหาเรื่องเงินเดือนสามารถงอกขึ้นมากวนใจได้ไม่จบสิ้น

 

I HATE MY JOB พอดแคสต์ในสัปดาห์นี้ บองเต่า และ ท้อฟฟี่ แบรดชอว์ ชวนกันสุมหัวคุยเรื่องเงินๆ ทองๆ อีกครั้ง เผื่อใครกำลังเผชิญปัญหาเหล่านี้จะได้พอมีแนวทางหาคำตอบให้กับตัวเอง

 


เปลี่ยนงานเพื่ออัพเงินเดือน เป็นสิ่งที่ควรทำไหม

บางคนใช้วิธีเปลี่ยนงานไปเรื่อยๆ เพื่ออัพเงินเดือนตัวเอง เพราะคิดว่าเมื่อประสบการณ์การทำงานเพิ่มขึ้น เงินเดือนก็ควรจะขึ้นตามไปด้วย แต่ถ้าไม่สามารถเรียกค่าตอบแทนที่สูงขึ้นจากบริษัทปัจจุบัน เนื่องจากมีข้อจำกัดเรื่องโครงสร้างเงินเดือนหรืออัตราการเพิ่มเงินเดือน ก็เปลี่ยนที่ทำงานเสียเลยแล้วกัน

 

การเปลี่ยนงานไปเรื่อยๆ หรือ Job Hopping นั้นไม่ใช่สิ่งผิด และแน่นอนว่าจะได้เงินเดือนเพิ่มขึ้น แต่ลองถามตัวเองง่ายๆ ก่อนการย้ายงานแต่ละครั้งดังนี้

 

1. เงินเดือนคือเหตุผลเดียวในการเปลี่ยนงานใช่หรือไม่

เมื่อไรที่เราเปลี่ยนงานเพียงเพราะอยากได้เงินเดือนมากขึ้น โดยไม่ทันได้คิดว่าเราควรมีความสามารถหรือประสบการณ์ที่เหมาะสมกับค่าตอบแทนที่สูงขึ้นด้วย ผนวกความคาดหวังจากผู้คนในองค์กรใหม่ (ที่อาจคิดว่า ‘อุตส่าห์ซื้อตัวมาตั้งแพง’) เมื่อนั้นเราอาจเดือดร้อนจากการย้ายงานไปเรื่อยๆ เพราะทักษะที่แท้จริงยังไม่ถึง ทั้งหมดนี้อาจส่งผลต่อ Performace และประวัติในการทำงานระยะยาว

 

2. แน่ใจนะว่าอยากให้ประวัติการเปลี่ยนงานไปเรื่อยๆ ฟ้องอยู่ในเรซูเม

เมื่อทุกอย่างถูกบันทึกไว้ในเรซูเม ฝ่ายบุคคลหรือผู้ที่พิจารณาเข้าทำงานย่อมเห็น และพฤติกรรมแบบนี้ของเราอาจถูกตีความว่า ‘ไม่มีความจงรักภักดีต่อองค์กร’ เขาอาจคิดต่อไปว่าหากจ้างคนแบบนี้เข้ามา อยู่ได้ไม่นานก็คงออกไปทำงานที่อื่นอีก หรือไม่ก็คงมีบุคลิกลักษณะบางอย่างที่ทำงานร่วมกับผู้อื่นไม่ได้

 

3. เรายังมีโอกาสได้เงินเดือนเพิ่มขึ้นที่องค์กรเดิมอยู่หรือเปล่า

คนที่ทำงานบริษัทเดิมนานๆ แน่นอนว่าเงินเดือนจะเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไปตามโครงสร้างเงินเดือนของบริษัท ซึ่งอาจรู้สึกไม่ทันใจ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามันต้องเป็นอย่างนั้นเสมอไป เพราะเมื่อไรที่เราแสดงให้เห็นว่ามีความสามารถเกินหน้าที่รับผิดชอบจนกลายเป็น ‘ผู้เล่นทรงคุณค่า’ ที่บริษัทอยากรักษาไว้ หรือจำเป็นต้องรักษาไว้ให้ได้ สุดท้ายแล้วเราก็มีโอกาสจะได้สิ่งตอบแทนที่สมน้ำสมเนื้อกับความสามารถอันแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นเงินเดือน (และตำแหน่ง) ให้โดยที่เราไม่ต้องร้องขอ หรือการขึ้นค่าตอบแทนให้ในอัตราก้าวกระโดด

 

ในขณะเดียวกัน หัวหน้าเองก็สามารถชิงตอบแทนลูกน้องก่อนได้โดยไม่ต้องรอให้เขาเอ่ยปากขอ เพราะการที่ลูกน้องไม่ได้ขอก็ไม่ได้หมายความว่าเขาพอใจกับเงินที่เขาได้แล้ว เมื่อไรที่หัวหน้าหรือผู้บริหารเห็นว่าพนักงานคนไหนมีความสามารถมากพอและอยากรักษาเอาไว้ให้เติบโตไปพร้อมกันก็ควรจะรีบตอบแทนเขา อย่าปล่อยให้ความซื่อสัตย์ที่พนักงานมีให้กับองค์กรเป็นสิ่งที่ไม่มีราคา ไม่อย่างนั้นพนักงานที่จงรักภักดีจะรู้สึกหมดค่าและเสียความรู้สึกในที่สุด

 

4. ความเสี่ยงของการเปลี่ยนงานครั้งนี้คืออะไร

ทุกความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับเราคือความเสี่ยง โดยเฉพาะการเปลี่ยนงานที่ล้วนเต็มไปด้วยเรื่องที่คาดไม่ถึง และหลายคนประเมินความเสี่ยงตรงนี้ต่ำเกินไป เราอาจได้เงินเดือนมากขึ้นก็จริง แต่ก็ต้องแลกมาด้วยวิธีการทำงานที่ไม่คุ้นและต้องปรับตัวอย่างหนัก ทีมงานใหม่ไม่คลิกกันเหมือนทีมที่ออฟฟิศเก่า หรือเจ้านายใหม่ที่ไม่ยอมฟังความคิดเห็นลูกน้องจนทำให้คิดถึงเจ้านายเก่าเป็นอย่างมาก

 

เหล่านี้เป็นเรื่องที่เราควรคำนึงถึงในการเปลี่ยนงานเช่นกัน เพราะแน่นอนว่าตอนไปสัมภาษณ์งานใหม่ ทุกอย่างจะดูสวยงามไปหมด แต่เราต้องเผื่อใจถึงด้านมืดของมันด้วย

 

คำถามทั้ง 4 ข้อข้างต้นน่าจะช่วยให้เราชั่งน้ำหนักดูได้ว่าคุ้มไหมที่จะเปลี่ยนงาน ยอมรับได้ไหมกับความเสี่ยงที่เราจะต้องเจอทั้งสภาพแวดล้อมและวิธีการทำงานที่ต้องเปลี่ยนไป ความรับผิดชอบที่ต้องเพิ่มขึ้น (ตามเงินเดือนที่เราขอไปและเข้ายอมให้)

 

ทำไมคนที่มาใหม่ในตำแหน่งเดียวกันได้เงินเดือนเยอะกว่าเรา

แม้เงินเดือนควรเป็นความลับ แต่สุดท้ายเราก็มักได้แอบรู้เงินเดือนกันอยู่เสมอ และจะปวดใจที่สุดตอนได้รู้ว่าพนักงานใหม่ที่ตำแหน่งหน้าที่เดียวกันทุกอย่างได้เงินเดือนเยอะกว่าเราที่อยู่มาก่อนตั้งนาน เราอุตส่าห์จงรักภักดีกับบริษัท ไม่เคยคิดจะย้ายไปไหน แล้วทำไม Job Hopper พวกนี้กลับได้ค่าตอบแทนมากกว่า ไม่ยุติธรรมเลย

 

ถ้ากำลังเผชิญสถานการณ์แบบนี้ ลองใช้วิธีเหล่านี้ในการรับมือ

 

1. ถือเป็นโอกาสในการพิจารณาตัวเอง

ก่อนจะตีโพยตีพาย ให้ลองย้อนมาพิจารณาตัวเองว่าประสิทธิภาพในการทำงานของเราเป็นอย่างไร เต็มที่และดีพอหรือยัง เพราะการที่คนมาใหม่ได้เงินเดือนเยอะกว่าอาจเป็นเพราะเขามีความสามารถหรือประสบการณ์บางอย่างที่เราไม่มี อาจเป็นตัวเราเองที่ควรต้องสร้างทักษะใหม่ๆ เพิ่มเติม และสุดท้ายเมื่อเราเก่งขึ้นและตั้งใจทำงานมากขึ้น ผลงานที่ออกมาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ให้ทุกคนได้เห็นเอง

 

2. ลองคุยกับเจ้านายตรงๆ

การขอคุยกับหัวหน้างานไม่ใช่วิธีที่จะทำให้ได้ขึ้นเงินเดือนเสมอไป แต่มันอาจนำไปสู่ความเข้าใจกันของทั้งสองฝ่าย เช่น ฝั่งเราได้เห็นว่าตำแหน่งและระดับความสามารถของเรานั้นเหมาะสมกับเงินเดือนที่ได้รับอยู่แล้วจริงๆ หรือฝั่งเจ้านายอาจได้เห็นและเข้าใจว่างานที่เราทำอยู่นั้นหนักเกินเงินเดือนอยู่มาก ซึ่งถึงเขาจะไม่สามารถขึ้นเงินเดือนให้เราได้ในทันที เพราะโครงสร้างของบริษัทบังคับอยู่ แต่ก็อาจช่วยปรับให้งานหนักน้อยลงหรือหาคนมาช่วยได้ เรียกว่าคุยเพื่อหาทางออกร่วมกันมากกว่า

 

ส่วนในมุมของเจ้านายและฝ่ายบุคคล สิ่งที่ควรทำเป็นอันดับแรกเมื่อพนักงานมาปรึกษาคือยอมรับและเข้าใจว่ามันเป็นปัญหา และมันส่งผลกระทบกับความรู้สึกของพนักงานจริงๆ สิ่งที่ควรดูกันต่อไปเพื่อแก้ไขให้ถูกจุดก็คือพนักงานคนนี้อยู่ในกลุ่มหรือเกรดไหน กลุ่มคุณภาพที่บริษัทต้องรักษาไว้ กลุ่มกลางๆ ที่แค่ทำงานได้ตามมอบหมาย หรือกลุ่มด้อยคุณภาพ แล้วค่อยจัดการไปตามความเหมาะสม

 

ฉะนั้นในฐานะพนักงาน เราจึงควรพยายามย้ายตัวเองไปอยู่ในกลุ่มที่องค์กรอยากรักษาเอาไว้ให้ได้ แล้วเมื่อนั้นอำนาจการต่อรองเรื่องเงินและเรื่องต่างๆ จะมากขึ้นตามไปด้วย

 

ขู่ว่าจะลาออกดีไหม เผื่อเขาขึ้นเงินเดือนให้

คิดภาพว่าเขาน่าจะรั้งเราเอาไว้ด้วยการรีบขึ้นเงินเดือนให้ เพราะกลัวจะเสียเราไป ซึ่งต่อให้บริษัทยอมจ่าย แต่ปัญหาแท้จริงอาจยังไม่ถูกแก้ไขอย่างตรงจุด เพราะส่วนใหญ่ปัญหาเหล่านี้ใช้เงินอย่างเดียวแก้ไขไม่ได้ หรือบางคนบริษัทก็ไม่รั้งอะไรเลย กะจะลาออกแบบขู่ๆ เลยกลายเป็นต้องออกไปจริงๆ

เราควรถามตัวเองว่าสาเหตุของการอยากลาออกจริงๆ คืออะไร เพราะไม่ชอบงานนี้ งานไม่ท้าทาย ตำแหน่งไม่เติบโต แต่ถ้าสาเหตุเป็นเรื่องเงินก็ควรเข้าไปคุยกับฝ่ายบุคคลหรือเจ้านายก่อนขู่ว่าจะลาออกด้วยซ้ำ

คุยกับเจ้านายอย่างไรเมื่ออยากขอขึ้นเงินเดือน

1. หาเหตุผลอันสมควรที่แท้จริงให้เจอเสียก่อน

ตอบคำถามตัวเองให้ได้ก่อนว่าการที่เรารู้สึกว่าได้เงินน้อยนั้น เราวัดจากอะไร ถ้าเกิดจากการเทียบกับคนอื่นในสาขาวิชาชีพเดียวกัน เพราะไปสำรวจมาแล้วพบว่าเงินเดือนเราน้อยกว่ามากและมั่นใจว่าเราทำงานเต็มที่แล้ว อย่างนี้ก็นับเป็นเหตุผลสมควรแก่การเข้าไปขอคุย หรือเกิดจากการวัดความรู้สึกของตัวเองแล้วพบว่างานเยอะจนเริ่มเสียสมดุลชีวิต ไม่มีเวลาพักผ่อน นี่ก็เป็นอีกเหตุผลที่ควรขอคุยเช่นกัน

 

2. อย่าเริ่มต้นด้วยการขอขึ้นเงินเดือน

อย่าเพิ่งบุ่มบ่ามเข้าไปด้วยการตั้งธงว่าวันนี้จะขอขึ้นเงินเดือน แต่ให้คุยในประเด็นปัญหาที่เราประสบอยู่จริงๆ เช่น รู้สึกว่าเสียสมดุลชีวิต เพราะงานหนักเกินไป หรือคุยเรื่องเป้าหมายร่วมของเรากับบริษัท เช่น เรามองว่าอยากเติบโตที่บริษัทนี้ไปอีกกี่ปี สิ่งที่เราจะทำให้บริษัทได้มีอะไรบ้าง เราอยากเรียนรู้เรื่องอะไรเพิ่มเติม อยากเติบโตในสายงานไหน และสุดท้ายเมื่อเราวางตัวชี้วัด (KPI) ร่วมกันได้แล้ว โอกาสที่จะได้ขึ้นเงินเดือนหรือค่าตอบแทนที่สมน้ำสมเนื้อในอนาคตจะตามมาเอง

 

เจ้านายควรทำอย่างไรเมื่อลูกน้องมาขอขึ้นเงินเดือน

เรื่องความรู้สึกว่าค่าตอบแทนไม่ยุติธรรมตรงนี้ แท้จริงแล้วอาจมีเรื่องอื่นที่มากกว่าเงินซ่อนอยู่

 

1. หาสาเหตุแท้จริงให้เจอ ชวนลูกน้องคุยว่าตอนนี้สิ่งที่กำลังรู้สึกหรือสิ่งที่เขากำลังคิดว่าเป็นปัญหานั้นคืออะไร เช่น รู้สึกว่างานเยอะมากจนรู้สึกว่าไม่คุ้มที่จะทำอีกต่อไป หรือรู้สึกว่าต้องเสียสละสิ่งมีค่าในชีวิตเพื่องานมากเกินไป เช่น การเดินทาง วันหยุด หรือเวลาการทำงานที่เป็นระบบ เมื่อเราไล่จนเจอว่าปัญหาจริงๆ คืออะไร เราจะได้หาต่อว่าทางออกคืออะไรกันแน่ และคำตอบอาจไม่ใช่การขึ้นเงินเดือนเสมอไป

 

2. รับรู้ว่าเป็นปัญหาและลงมือแก้ไข การที่ลูกน้องถึงกับออกปากเรื่องพูดยากอย่างนี้ย่อมแสดงว่ามันไม่ใช่เรื่องเล็กสำหรับเขา เจ้านายควรรับรู้และเป็นตัวกลางในการแก้ปัญหา ถ้าไม่สามารถตัดสินใจหรือลงมือได้ด้วยตนเองก็ควรแจ้งปัญหาให้ฝ่ายบุคคลรับรู้เพื่อวางแผนและร่วมกันหาทางออกต่อไปในอนาคต

 

3. คอยสอดส่องดูแลลูกน้องอยู่เรื่อยๆ ถ้าเจ้านายคอยจับตามองและเห็นว่าใครกำลังมีปัญหา การเข้าหาลูกน้องก่อนก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย ลองหาโอกาสเหมาะๆ อย่างตอนนั่งรถไปด้วยกัน ตอนกินอาหารร่วมกัน ลองชวนคุย เปิดโอกาสให้เขาได้ปรึกษาอย่างรู้สึกวางใจ อาจทำให้ปัญหาได้รับการแก้ไขก่อนบานปลายจนกลายเป็นไม่ต้องคุยกันเรื่องเงินเดือนให้หนักใจกันเลยด้วยซ้ำ

เมื่อเกิดปัญหาเรื่องเงินเดือน สิ่งสำคัญคือการสื่อสารกัน และควรมองว่าเราจะให้อะไรกับบริษัทได้บ้างก่อนที่เราจะเรียกร้องอะไร


ฟังรายการ I HATE MY JOB พอดแคสต์ โดยแอปฯ Podcasts (สำหรับผู้ใช้ iOS), Podbean และแอปฯ ประเภท Podcast Player ยี่ห้อใดก็ได้ (สำหรับผู้ใช้ Android) หรือฟังทาง SoundCloud และ YouTube ก็ได้เช่นกัน

 

 


Credit


The Host
ท้อฟฟี่ แบรดชอว์, ไชยณัฐ สัจจะปรเมษฐ์

 

Show Creator ภูมิชาย บุญสินสุข

Show Producer อธิษฐาน กาญจนะพงศ์

Show Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Sound Designer & Engineer ศุภณัฐ เดชะอำไพ

Coordinator & Admin อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director อนงค์นาฎ วิวัฒนานนท์

Proofreader ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

Webmaster จินตนา ประชุมพันธ์

Music Westonemusic

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising
X