หลังรัฐประหารปี 2557 รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างระบบการเมืองให้เป็นรัฐราชการซึ่งเป็นตัวแสดงในกระบวนการด้านการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ รวมทั้งใช้รัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) หรือกฎหมายเป็นเครื่องมือผนวกรัฐราชการให้อยู่ภายใต้อำนาจโครงสร้างระบบสถาบันทางการเมืองไทย และใช้อำนาจรัฐบาลฝ่ายทหารควบคุมระบบการเมืองไทย ผ่านตัวแสดงทางการเมืองจากกองทัพที่ลงมาดำรงตำแหน่งในฐานะหัวหน้าของส่วนราชการต่างๆ เพื่อต้องการเสริมสร้างปรับระบบรัฐราชการให้เป็นฝ่ายสนับสนุนในช่วงเวลาดังกล่าว ต่อเนื่องจนถึงการครองอำนาจของรัฐบาลประยุทธ์ ผ่านการเลือกตั้งปี 2562 จนถึงปัจจุบัน (2566) นับเป็นเวลา 9 ปีกว่า
ต่อกรณีในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ การสถาปนาอำนาจพิเศษในการบริหารจัดการรัฐ ตั้งแต่การมีองค์กรรัฐแบบพิเศษ อย่างเช่น ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ กฎอัยการศึก พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 และมาตรา 44 ของรัฐบาลประยุทธ์ การอ้างเหตุผลในการหยิบยกสภาวะยกเว้นมาใช้คือ ‘ความมั่นคงของชาติ’ ที่ทำให้พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้กลายเป็นสภาวะยกเว้นอันปกติถาวร
คำสั่ง คสช. และนายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้
หลังจากยึดอำนาจและการประกาศรัฐธรรมนูญชั่วคราว โดยมีกฎหมายอาญาสิทธิ์ ม.44 ในการบริหารควบคุมประเทศ ต่อปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ คสช. ได้ออกคำสั่งภายใต้คำสั่งที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งหมด 4 ฉบับ และคำสั่งจากนายกรัฐมนตรีอีก 2 ฉบับ
- คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 98/2557 เรื่อง การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยการแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เรียกโดยย่อว่า ‘คปต.’
- คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 96/2557 เรื่อง การแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้
- คำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 259/2558 เรื่อง แต่งตั้งหัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้
- คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 57/2559 เรื่อง การปรับปรุงการบริหารเพื่อแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้
- คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 14/2559 เรื่อง คณะกรรมการที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และการกำหนดอำนาจหน้าที่ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร
- คำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 327/2561 เรื่อง ปรับปรุงกลไกขับเคลื่อนกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้
โดยพิจารณาบุคคลที่เข้ามาเกี่ยวกับคำสั่งข้างต้นเป็นบุคลากรจากกองทัพแทบทั้งหมด และแม้บางคนเป็นพลเรือนแต่ก็มีความใกล้ชิดกับกองทัพและคณะรัฐประหารทั้งหมด
การสร้างรัฐราชการภายใต้ระบอบประยุทธ์ถือเป็นแกนกลางของการบริหารราชการแผ่นดินภายใต้พื้นที่ความขัดแย้งที่รุนแรง มันคือแหล่งอ้างอิงของรัฐราชการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของทุกหน่วยงานที่มาในนามของข้าราชการทั้งถือปืนและไม่ถือปืน เพื่อการปฏิบัติการพิทักษ์ดินแดนและสถาปนาความสันติสุข (ไม่ใช่สันติภาพ) ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้ระบอบประยุทธ์
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ศอ.บต. จึงอยู่ภายใต้การกำกับ ควบคุม ภายใต้แนวทางของหน่วยงานความมั่นคงเป็นหลัก ทำให้บทบาทของ ศอ.บต. ที่ก่อนหน้านี้เป็นความหวังในการช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ กลับกลายเป็นหน่วยงานที่ถูกตั้งคำถามจากประชาชนมากที่สุด กระทั่งถึงกับมีข้อเสนอให้ยุบ ศอ.บต. จากนโยบายพรรคการเมืองในช่วงการเลือกตั้งที่ผ่านมา คำถามจึงมีอยู่ว่า บทบาท ศอ.บต. ในระยะเปลี่ยนผ่านควรเป็นอย่างไร
คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘เลขาธิการ’ คือตำแหน่งที่ถูกจับตามากที่สุด เพราะที่ผ่านมาตำแหน่งนี้ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงในแง่ของความไว้วางใจให้แก่ประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะช่วงที่ พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง ได้มารับตำแหน่งเลขาธิการ ศอ.บต. ที่ได้รับการยอมรับจากประชาชนในพื้นที่อย่างกว้างขวางจากผลงานทั้งหมด
รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ได้มีมติแต่งตั้งเลขาธิการ ศอ.บต. คนใหม่คือ พ.ต.ท. วรรณพงษ์ คชรักษ์ อดีตรองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ อดีตผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และอธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม พูดให้ชัดคืออยู่ภายใต้กระทรวงยุติธรรมมาโดยตลอด
สิ่งที่ท้าทายอย่างยิ่งสำหรับเลขาธิการ ศอ.บต. คนใหม่ คือการรื้อฟื้นความไว้วางใจระหว่างรัฐและประชาชนในพื้นที่ ถือว่าเป็นภารกิจแรกที่สำคัญต่อการดำเนินนโยบายต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตข้างหน้า เช่น
สร้าง ‘พื้นที่ปลอดภัย’ ให้ประชาชนในพื้นที่ได้แสดงความคิดเห็น ความต้องการของตัวเองอย่างเปิดเผย แม้ว่าจะเป็นความคิดเห็นที่แตกต่างจากรัฐก็ตาม
สร้าง ‘การพัฒนาเพื่อประชาชน’ โครงการพัฒนาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่จำเป็นต้องให้ประชาชนเป็นสมการหลักของการดำเนินการโครงการพัฒนา ไม่ใช่เป็นโครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคงของกองทัพและนายทุน ที่ผ่านมาโครงการพัฒนาที่เกิดขึ้นไม่ได้ถูกประเมินอย่างรอบด้าน
สร้าง ‘ทรัพยากรมนุษย์’ ผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนในพื้นที่จากหน่วยงานต่างๆ ตอกย้ำให้เห็นถึงปัญหาเรื่องการศึกษาที่ตกต่ำอย่างรุนแรงและภาวะโภชนาการที่ต่ำ (Undernutrition) ที่มักมีสาเหตุหลักจากเรื่องความยากจน เด็กและเยาวชนในพื้นที่จะเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญ สภาพการณ์ที่เป็นอยู่สะท้อนให้เห็นความล่มสลายของทรัพยากรมนุษย์ สวนทางกับงบประมาณมหาศาลที่ใช้ไปในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้
สร้าง ‘ความยุติธรรม’ ปัญหาใจกลางของจังหวัดชายแดนภาคใต้คือความยุติธรรม คำถามคือ ความยุติธรรมปลายทางอยู่ตรงไหน ซึ่งเป็นคำตอบที่ตอบได้ แต่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน คือการปกป้องไม่ให้เกิดความรู้สึกและการกระทำที่สร้างเงื่อนไขใหม่ๆ โดยเฉพาะที่เกิดขึ้นจากหน่วยงานรัฐ ไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐฝ่ายพลเรือนเป็นอุปสรรคต่อการสร้างความยุติธรรม
ในระยะเปลี่ยนผ่านจากรัฐราชการแบบกองทัพควบคุม ตลอด 9 ปีที่ผ่านมา สู่การได้มาของรัฐบาลพลเรือน จึงเป็นความท้าทายอย่างยิ่งต่อการกำกับดูแลนโยบายในพื้นที่ความขัดแย้ง ความรุนแรงเกือบสองทศวรรษ โดยเฉพาะหลักคิด ‘การเมืองนำการทหาร’ เพราะหาก ศอ.บต. ยังคงเป็นรูปแบบเดิม ทำงานแบบเดิม ก็ยากยิ่งที่จะตอบคำถามว่า ศอ.บต. มีไว้ทำไม?