สบน. เตรียมลดการออกบอนด์อายุยาว เพื่อบรรเทาความกังวลนักลงทุน และเตรียมขายพันธบัตรอายุสั้นมากขึ้น หลังเห็นความต้องการที่เพิ่มขึ้น ท่ามกลางอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลที่เพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบหลายเดือน
Bloomberg รายงานว่า สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กระทรวงการคลัง เตรียมลดปริมาณการออกพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว และหันมาออกพันธบัตรระยะสั้นมากขึ้น เพื่อบรรเทาความกังวลของนักลงทุน หลังรัฐบาลเผยแผนกู้เงินในปีงบประมาณ 2567 (ซึ่งจะเริ่มในเดือนตุลาคม 2566) รวม 2.43 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 3 ปี ตั้งแต่ปี 2563-2564 ที่เป็นช่วงที่เกิดโควิด ซึ่งรัฐบาลได้ประกาศมาตรการพยุงเศรษฐกิจและมีการออก พ.ร.ก.กู้เงินฉุกเฉินเสียอีก
ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือนสิงหาคม หรือหลัง เศรษฐา ทวีสิน ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี พันธบัตรรัฐบาลไทยถูกนักลงทุนต่างชาติเทขายมากกว่า 2 หมื่นล้านบาทแล้ว โดยเพิ่มขึ้นกว่า 40 bps แตะระดับสูงสุดในรอบ 11 เดือน
ด้าน แพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กล่าวกับ Bloomberg ว่า “คิดว่าตลาดสามารถรองรับ (Absorb) อุปทานพันธบัตรที่วางแผนไว้ได้ และ สบน. พูดคุยกับตลาดตลอดเวลา”
โดย สบน. วางแผนที่จะลดความกังวลของนักลงทุน โดยการลดสัดส่วนการออกพันธบัตรอายุยาว 10 ปีและมากกว่านั้นลงเหลือ 48% ของการออกทั้งหมด จาก 54% ที่วางแผนไว้ก่อนหน้านี้
Standard Chartered คาดว่า นักลงทุนต่างชาติจะยังคงหลีกเลี่ยงการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลไทยต่อไป เนื่องจากอุปทานเพิ่มเติม ความต้องการไปลงทุนในพันธบัตรตลาดเกิดใหม่อื่นๆ ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า และการอ่อนค่าของเงินบาท
โดยแพตริเซียยังกล่าวอีกว่า ปัจจุบันผู้ถือครองพันธบัตรรัฐบาลไทยส่วนใหญ่คือ บริษัทประกันภัยท้องถิ่น กองทุนบำเหน็จบำนาญ และกองทุนรวมต่างๆ ขณะที่นักลงทุนต่างชาติถือครองพันธบัตรรัฐบาลเพียงประมาณ 5% เท่านั้น
พร้อมทั้งระบุว่า ไม่ได้กังวลมากนักเกี่ยวกับอันดับเครดิตของไทย เนื่องจากตัวชี้วัดต่างๆ ยังอยู่ระดับใกล้เคียงกับประเทศที่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือระดับเดียวกัน
อ้างอิง: