ในเวลานี้คงไม่มีใครไม่รู้จักเมืองโบราณศรีเทพที่จังหวัดเพชรบูรณ์ มีเหตุผลหลายประการที่ศรีเทพสมควรได้เป็นมรดกโลก ซึ่งคณะกรรมการที่ร่างข้อเสนอไปนั้นได้ให้เห็นผล 3 ประการหลัก และเป็นที่ยอมรับจากยูเนสโก แต่ในที่นี้ผมขอเสนอความเห็นของผมเพิ่มเติมเข้าไป เพื่อชี้ให้เห็นความสำคัญที่น่าสนใจ ดังนี้
ข้อที่ 1 เมืองศรีเทพมีการเลือกตั้งถิ่นฐานอย่างชาญฉลาด ซึ่งสะท้อนความเข้าใจระบบน้ำและพื้นที่ของที่ราบลุ่มป่าสัก ดังนั้น จึงมีการขุดคูเมืองขนาดใหญ่ อีกทั้งมีการสร้างคันดินบังคับน้ำทางด้านเหนือและตะวันออกของเมืองอีกด้วย อีกทั้งยังตั้งเมืองอยู่ในพื้นที่ระหว่างที่ราบภาคกลางและที่ราบสูงโคราช ทำให้กลายเป็นจุดเชื่อมต่อเส้นทางการค้า ในความเห็นผมแล้วคิดว่าไม่เพียงเท่านั้น แม่น้ำป่าสักยังเป็นเส้นทางการค้าระหว่างลุ่มน้ำโขงกับป่าสัก สอดคล้องกับชุมชนโบราณทวารวดีในเขตภูเรือและวังสะพุง
บทความที่เกี่ยวข้อง:
- ศรีเทพ เขาศักดิ์สิทธิ์ ด็อกเตอร์สเตรนจ์ และมณฑลจักรวาล (ตอนที่ 1)
-
ทำไมต้องคัดค้านแท่นขุดเจาะน้ำมันโบราณสถานเขาคลัง บทเรียนจากอเมริกาถึงเมืองศรีเทพ
ข้อที่ 2 ศรีเทพมีระบบการจัดการน้ำเพื่อให้เหมาะกับการอาศัยอยู่ในเขตพื้นที่แห้งแล้ง ดังนั้น ถ้าหากไปเมืองศรีเทพจะพบว่าในเขตเมืองในเต็มไปด้วยสระน้ำ หรือบารายขนาดเล็กใหญ่จำนวนประมาณ 70 สระ ส่วนเมืองนอกมีทั้งหมดประมาณ 30 แห่ง รวมถึงยังมีสระน้ำใหญ่เล็กนอกคูเมืองอีก การปรับตัวเข้ากับความแห้งแล้งนี้เองที่ทำให้เกิดการตั้งข้อสันนิษฐานว่า สาเหตุที่เมืองศรีเทพถูกทิ้งร้างไปอาจเกิดจากภัยแล้งที่รุนแรง (Megadroughts) ที่เกิดขึ้นหลัง ค.ศ. 1300 อย่างไรก็ตาม น่าแปลกใจว่าเมืองแห่งนี้กลับไม่พบร่องรอยงานก่อสร้างสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (ค.ศ. 1181-1218) ดังนั้น อาจเกิดการเปลี่ยนแปลงบางอย่างก่อนหน้ารัชกาลนี้ จนทำให้เกิดการทิ้งร้างเมืองศรีเทพไป ซึ่งน่าจะมีการวิจัยกันในอนาคต
ข้อที่ 3 เป็นศูนย์กลางวัฒนธรรมและศาสนาที่หลากหลาย ประกอบไปด้วยโบราณสถานในวัฒนธรรมทวารวดีกำหนดอายุในช่วงพุทธศตวรรษที่ 11-16 ได้แก่ เขาคลังใน เขาคลังนอก และโบราณสถานขนาดเล็กอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งโบราณสถานเหล่านี้สะท้อนศาสนาพุทธเถรวาทและมหายาน
ต่อมาในช่วงพุทธศตวรรษที่ 16 ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง พระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ยกกองทัพมาตีเมืองละโว้ (ลพบุรี) และเข้ายึดได้ราว พ.ศ. 1568 เป็นไปได้ว่ามีการยกกองทัพขึ้นมายังเมืองศรีเทพ ทำให้เมืองแห่งนี้เกิดการสร้างสถาปัตยกรรมแบบเขมรขึ้น ได้แก่ ปรางค์ศรีเทพ ปรางค์สองพี่น้อง และปรางค์กู่ฤๅษี โดยมีการรื้ออิฐเก่าของวัดสมัยทวารวดีมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของการก่อสร้างอาคารด้วย
ในช่วงเวลาดังกล่าวนี้ในยุคต้นๆ ของเมืองศรีเทพมีลัทธิการนับถือพระสุริยเทพ หรือ ลัทธิเสารยะ ซึ่งพระสุริยเทพแห่งเมืองศรีเทพนี้ถือว่าเจอมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีทั้งหมด 8 องค์ มีบางองค์ที่ทราบตำแหน่งชัดเจน เช่น มีองค์หนึ่งพบในทางเดิน/อาคารรูปกากบาทหน้าปรางค์สองพี่น้อง แสดงถึงการนับถือสืบเนื่องจากสมัยต้นๆ จนถึงในช่วงวัฒนธรรมเขมร
ข้อที่ 4 มีงานศิลปะที่เป็นเอกลักษณ์ เป็นสกุลช่างเฉพาะ ดังที่ศาสตราจารย์ฌอง บัวเซลิเยร์ (Jean Boisselie) นักโบราณคดีชาวฝรั่งเศสให้ความเห็นว่า ศิลปะของเมืองโบราณศรีเทพมีความโดดเด่นแตกต่างจากศิลปะประติมากรรมเขมรโบราณอย่างสิ้นเชิง
ข้อคิดเห็นของ ฌอง บัวเซลิเยร์ นั้น สังเกตได้จากพระพุทธรูปและเทวรูปหลายองค์ที่ยืนในลักษณะ ‘ตริภังค์’ คือการเอียงสามส่วน สังเกตได้ชัดจากการยืนเอียงให้สะโพกเอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง ซึ่งถือเป็นสุนทรียศาสตร์ความงามที่ได้รับอิทธิพลมาจากอินเดีย โดยเฉพาะพระวิษณุศรีเทพที่มีลักษณะการยืนเอียงคล้ายกันกับพระวิษณุที่โบราณสถานในเมืองมามัลลปุรัม (มหาพลีปุรัม) และสวมหมวกทรงกระบอก (กิรีฏมงกุฎ) ความคล้ายคลึงของศิลปะนี้เองที่ช่วยอธิบายได้ว่า ทำไมจึงพบการใช้ตัวอักษรปัลลวะและภาษาสันสกฤตที่เมืองศรีเทพ และเป็นไปได้ว่ามีพวกพราหมณ์จากอินเดียใต้มาอาศัยอยู่ที่เมืองนี้ด้วย
นอกจากนี้แล้ว ยังมีเทวรูปพระสุริยเทพดังที่กล่าวไปแล้วที่มีใบหน้า (พระพักตร์) ที่เป็นเอกลักษณ์ สะท้อนหน้าตาแบบคนเปอร์เซีย ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่เข้ามาตั้งการค้าเป็นชุมชนในอินเดียใต้สมัยโบราณ สอดคล้องกับการขุดพบเครื่องถ้วยสีเขียวแบบเปอร์เซีย (Basra ware) ที่เมืองศรีเทพ
ภาพวาดเทพเจ้าในศาสนาพุทธตามแนวคิดแบบมัณฑละ มีอายุในคริสต์ศตวรรษที่ 17 (อ้างอิง: https://en.wikipedia.org/wiki/Mandala)
ข้อที่ 5 เขาคลังนอกสะท้อนระบบความเชื่อมณฑลจักรวาล หรือ ‘มัณฑละ’ (Mandala) อย่างชัดเจน ความเชื่อนี้มีรากมาจากพุทธศาสนามหายานนิกายตันตระ ซึ่งเชื่อว่าอาณาจักรของพระพุทธเจ้าหรือเทพทางพุทธประทับอยู่ในพระราชวังหรือวิมานบนเขาพระสุเมรุ ลักษณะของพระราชวังนี้มีแผนผังเป็นสี่เหลี่ยม มีประตูทางเข้าสี่ด้าน ในแต่ละทิศมีเทพองค์รองคอยพิทักษ์ ด้วยเหตุนี้เอง จะเห็นได้ชัดว่าแผนผังของเขาคลังนอกมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมยกเก็จ เรียงซ้อนชั้นกันขึ้นไปเหมือนภูเขา ยอดสุดเป็นสถูปขนาดใหญ่ มีเจดีย์บริวารทั้งสี่มุม ทั้งหมดนี้แทนสัญลักษณ์ของเขาพระสุเมรุที่มีทวีปทั้งสี่ล้อมรอบ นอกจากนี้แล้ว ยังมีเจดีย์บริวาร 3 องค์ในแต่ละด้านที่ด้านหน้าทางเข้าทั้งสี่ทิศ ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับหลักตรีกาย (นิรมาณกาย สัมโภคกาย ธรรมกาย)
ต่อมาในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งอาจราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 ทางขึ้นทางทิศเหนือ ใต้ และตะวันออกถูกปิด ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับปัญหาทางโครงสร้าง แต่น่าจะเป็นเหตุผลจากการเข้ามาของลัทธิอมิตาภะ (Amitabha Cult) ที่เชื่อว่าดินแดนสุขาวดีของพระอมิตาภะอยู่ทางทิศตะวันตก ด้วยเหตุนี้ เมื่อมีการขุดค้นทางโบราณคดีเมื่อปี 2551 จึงมีการค้นพบพระพุทธรูปประทับยืนองค์หนึ่งติดกับฐานของสถูปทางด้านทิศตะวันตก คำถามคือดินแดนของสุขาวดีอยู่ที่ไหน ดินแดนนั้นอาจอยู่ที่เขาถมอรัตน์
เขาถมอรัตน์ ภูเขาศักดิ์สิทธิ์ของเมืองศรีเทพ
ข้อที่ 6 มีเขาถมอรัตน์เป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์ของเมือง เมื่อขึ้นไปบนเขาคลังนอกแล้วมองไปทางทิศตะวันตกจะเห็นเขาถมอรัตน์อย่างชัดเจน (ต้นไม้บังในบางมุม) ดังนั้น จึงอาจเป็นดินแดนสุขาวดี บนยอดเขาแห่งนี้มีถ้ำ ซึ่งสลักพระพุทธรูป พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร และพระโพธิสัตว์เมตไตรย (ศรีอาริย์) ดังนั้น พระพุทธรูปดังกล่าวนี้จึงอาจเป็นพระอมิตาภะ เพราะมีพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเป็นบริวารที่จะนำสรรพสัตว์ข้ามสังสารวัฏ
การจัดวางโบราณสถานต่างๆ ของเมืองศรีเทพนี้เหมือนจะให้ความสำคัญกับเขาถมอรัตน์เป็นพิเศษ เห็นได้จากปรางค์ศรีเทพและปรางค์สองพี่น้องล้วนหันหน้าไปทางทิศตะวันตก ซึ่งเป็นที่ตั้งของเขาถมอรัตน์ และยังมีปรางค์ฤๅษีที่อยู่ในแกนทิศตะวันตก-ตะวันออก แม้จะไม่ตรงกับเขาคลังนอกร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ก็ทำให้เห็นแนวคิดเรื่องแผนผังจักรวาล
ดังนั้น เมืองศรีเทพจึงเป็นเมืองที่สะท้อนถึงแนวคิดของคนโบราณที่ให้ความสำคัญกับภูมิวัฒนธรรม (Cultural Landscape) และทำให้เมืองศรีเทพกลายเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ (Sacred Space) ที่คนที่อยู่อาศัยเปรียบเสมือนกับอยู่ในเมืองของเทพ