ถ้าดวงตาไม่อาจมองเห็นดวงดาวได้ การศึกษาดาราศาสตร์จะเป็นไปได้เช่นไร?
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ หรือ NARIT เปิดท้องฟ้าจำลองและพื้นที่อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร จัดกิจกรรมค่ายส่งเสริมโอกาสการเรียนรู้ดาราศาสตร์สำหรับผู้บกพร่องทางการมองเห็น ให้กับนักเรียนจากโรงเรียนสอนคนตาบอดภาคเหนือในพระบรมราชินูปถัมภ์ จังหวัดเชียงใหม่
โดยกิจกรรมดังกล่าวได้มีการออกแบบมาเป็นพิเศษ เพื่อให้ผู้บกพร่องทางการมองเห็นสามารถใช้ประสาทสัมผัสส่วนอื่นในการศึกษาอวกาศได้ อาทิ การศึกษาท้องฟ้าจำลอง โดยปกติจะจำลองวัตถุบนท้องฟ้าขึ้นฉายบนหน้าจอโดมขนาดใหญ่ ได้ถูกปรับเป็นครึ่งทรงกลมท้องฟ้าขนาดมือถือที่ถูกพิมพ์นูนเพื่อให้ใช้มือรับรู้ตำแหน่งของดาวฤกษ์ กาแล็กซี และกลุ่มดาวต่างๆ บนท้องฟ้าได้ โดยมีเจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ร่วมให้ความรู้
นอกจากกิจกรรมในท้องฟ้าจำลอง ยังมีการเรียนรู้พื้นฐานของดาราศาสตร์ การเกิดกลางวัน-กลางคืน ส่วนประกอบของระบบสุริยะ ขนาดและระยะห่างของวัตถุต่างๆ ในระบบสุริยะ โดยจากการสังเกตผ่านประสาทสัมผัสที่แตกต่างกัน ทำให้นักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมมีจินตนาการถึงวัตถุทางดาราศาสตร์ที่แตกต่างไป เช่น กลุ่มดาวนายพราน ที่ถูกเรียกเป็นกลุ่มดาวโบว์โดยน้องๆ ผู้บกพร่องทางการมองเห็น
การเปิดกว้างของวงการดาราศาสตร์ให้เข้าถึงผู้คนทุกกลุ่มเป็นประเด็นที่ได้รับการถกเถียงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ภารกิจสำรวจอวกาศกำลังมุ่งหน้าสู่การท่องเที่ยวนอกโลก จนถึงการตั้งถิ่นฐานบนดวงจันทร์และดาวอังคารในอนาคต โดยเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2022 องค์การอวกาศยุโรป หรือ ESA ได้เปิดตัว จอห์น แมคฟอล นักบินอวกาศผู้บกพร่องทางการเคลื่อนไหวคนแรกของโลก ซึ่งมีโอกาสเป็นส่วนร่วมในโครงการอาร์ทีมิสที่กำลังจะเกิดขึ้นในทศวรรษนี้
ด้าน NARIT ระบุว่ามีแผนที่จะพัฒนาและผลิตต้นแบบสื่อการเรียนรู้ดาราศาสตร์สำหรับผู้บกพร่องทางการมองเห็น และกลุ่มบุคคลที่ต้องการความช่วยเหลือพิเศษอื่นๆ เพื่อส่งเสริม สนับสนุน และกระตุ้นให้สามารถสร้างจินตนาการ และเรียนรู้ดาราศาสตร์ได้ทัดเทียมกับบุคคลทั่วไป เพราะดาราศาสตร์เป็นเรื่องของทุกคน
สำหรับสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ มีหอดูดาวพร้อมศูนย์การเรียนรู้ดาราศาสตร์กระจายอยู่ตามภูมิภาคต่างๆ ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ นครราชสีมา ฉะเชิงเทรา และสงขลา โดยในช่วงปลายปีนี้ มีกำหนดเปิดหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา จังหวัดขอนแก่น เพิ่มอีกหนึ่งแห่ง
ภาพ: NARIT
อ้างอิง: