วันนี้ (23 มิถุนายน) ที่โรงเรียนราชวินิตมัธยม เขตดุสิต สืบเนื่องจากเหตุการณ์ถังดับเพลิงระเบิดในระหว่างการซ้อมเผชิญเหตุภายในโรงเรียน จนทำให้มีนักเรียนเสียชีวิต 1 ราย
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า หลังจากเหตุการณ์เกิดขึ้นได้ส่งทีมนักจิตวิทยา กรุงเทพมหานคร เข้าไปดูแลสภาพจิตใจเด็กๆ เพราะหลายคนยังมีอาการตกใจ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นคนใกล้ชิดกับเหตุการณ์
สำหรับถังดับเพลิงในที่เกิดเหตุเบื้องต้นได้ตรวจสอบข้อมูลและพูดคุยกับเจ้าหน้าที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ซึ่งได้รับรายงานว่า ตามมาตรฐานระเบียบการดูแลรักษาจะมีการตรวจทุก 5 ปี ซึ่งการตรวจจะเป็นการฉีดแรงดันน้ำเข้าไปเพื่อตรวจสอบ แต่สำหรับชุดถังดับเพลิงที่นำมาสาธิตนั้นจะต้องไปตรวจสอบประวัติว่าได้มาตรฐานก่อนนำมาสาธิตหรือไม่
ขณะที่ พล.ต.ท. ธิติ แสงสว่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) กล่าวภายหลังเข้าตรวจสอบพื้นที่เกิดเหตุว่า เบื้องต้นได้มีการนำตัวผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ที่สาธิต 7 ราย ไปสอบปากคำแล้ว รวมถึงนำครูและบุคคลที่อยู่ในเหตุการณ์ไปแยกสอบปากคำเพื่อสอบถามถึงสถานการณ์
ส่วนอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในการสาธิตเมื่อช่วงเช้า ได้มีเจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐาน (พฐ.) ตรวจเก็บทั้งหมด เพื่อดูว่ามีถังดับเพลิงแบบใดบ้าง ทนแรงดันได้หรือไม่ หรือมีถังที่ถูกนำมาใช้ซ้ำหรือไม่ และต้องสอบการบรรจุแก๊สที่มาทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ผู้มีส่วนที่ต้องรับผิดชอบเบื้องต้น 3 ราย เป็นเจ้าหน้าที่ที่สาธิตการอัคคีภัยในที่เกิดเหตุ
ส่วนสภาพเหตุการณ์ พล.ต.ท. ธิติ กล่าวว่า นักเรียนที่เสียชีวิตไม่ได้ร่วมทดลองแต่นั่งชมการสาธิต แต่คนสาธิตอยู่ด้านหน้า ส่วนถังเเก๊สสาธิตอยู่หน้าคนสาธิต และตั้งอยู่กลางแดด ทำให้เกิดความร้อนขึ้น เมื่อถังระเบิดจึงปลิวไปถึงนักเรียนเข้าช่วงหน้าอก อย่างไรก็ตาม ช่วงระหว่างการสาธิตได้มีครูฝ่ายปกครองคอยดูแลนักเรียนซึ่งอยู่ชั้น ม.5-6 ทั้งนี้ สถานีตำรวจนครบาล (สน.) นางเลิ้ง จะเป็นเจ้าของคดีในการแจ้งข้อกล่าวหาและนำผู้เกี่ยวข้องไปสอบปากคำ
ด้าน ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้เยี่ยมและให้กำลังใจเด็กนักเรียนที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ดังกล่าว
ตรีนุชกล่าวว่า ส่วนใหญ่เด็กที่ได้รับบาดเจ็บจะมีอาการหูอื้อ เนื่องจากเสียงระเบิดที่ดังและได้รับสะเก็ดเพียงเล็กน้อย ซึ่งตนเองได้ให้ทางโรงพยาบาลดูแลจนอาการดีเป็นปกติ ส่วนการเยียวยาต่างๆ จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือ เด็กที่เสียชีวิตจะดูแลค่าทำศพต่างๆ การจัดงาน ส่วนเงินเยียวยาจะมีประกันชีวิตของนักเรียนเอง และเงินจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย และของโรงเรียน ส่วนกลุ่มเด็กที่ได้รับบาดเจ็บ จะมีการดูแลค่ารักษาพยาบาลให้ทั้งหมด
ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการเตรียมจัดหาเงินเยียวยาและช่วยเหลือผู้เสียชีวิต 20,000 บาท บาดเจ็บสาหัส 10,000 บาท ผู้บาดเจ็บ 5,000 บาท คาดว่าจะมอบให้ในวันจันทร์นี้ (26 มิถุนายน)
นอกจากการดูแลด้านร่างกายแล้ว กระทรวงศึกษาธิการได้ประสานไปยังกรมสุขภาพจิต กรมอนามัย เพื่อส่งนักจิตวิทยาไปดูแลสภาพจิตใจของเด็กนักเรียนคนอื่นๆ ที่อยู่ในที่เกิดเหตุ เพราะบางคนยังตกใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นประกอบกับมีการเสียชีวิตของเพื่อนไปอีกด้วย
ตรีนุชกล่าวต่อว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถือว่าเป็นบทเรียนและเป็นเหตุกาณ์ที่ไม่คาดคิด ซึ่งหลังจากนี้จะต้องไปดูรายละเอียดทุกการฝึกซ้อมต่างๆ ว่ามีความปลอดภัยหรือไม่ และได้กำชับให้ทุกการสาธิตหลังจากนี้จะต้องมีความปลอดภัยรัดกุมมากขึ้น
ในส่วนของคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล ได้มีการออกมาแถลงข้อมูลต่อสื่อมวลชน โดย ผศ.นพ.จักราวุธ มณีฤทธิ์ คณบดีแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล ระบุว่า ทางโรงพยาบาลวชิรพยาบาลได้รับผู้บาดเจ็บ 5 ราย ซึ่งเดินทางมาที่โรงพยาบาลช่วงเวลา 12.06 น. ผู้บาดเจ็บรายที่ 1 เป็นนักเรียนชายอายุ 16 ปี มาด้วยอาการปวดไหล่ขวา ผู้บาดเจ็บรายที่ 2 เป็นนักเรียนชายอายุ 17 ปี มาด้วยอาการเจ็บฝ่ามือขวาและถลอกหน้าแข้งขวา ผู้บาดเจ็บรายที่ 3 นักเรียนชายอายุ 18 ปี มาด้วยอาการปวดหู ผู้บาดเจ็บรายที่ 4 เป็นนักเรียนหญิงอายุ 13 ปี มาด้วยอาการปวดศีรษะ เจ็บคอร้าวไปที่แขนซ้าย และผู้บาดเจ็บรายที่ 5 เป็นนักเรียนหญิงอายุ 13 ปี มาด้วยอาการปวดหู
โดยขณะนี้ผู้บาดเจ็บทั้ง 5 รายได้รับการดูแลรักษาจากโรงพยาบาลวชิรพยาบาลแล้วและมีอาการคงที่ ซึ่งมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง และพยาบาลได้มีการดูแลอย่างใกล้ชิด โดยจำเป็นจะต้องสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด ขณะเดียวกันได้มีการพูดคุยกับทางผู้บาดเจ็บ บางส่วนเป็นเพื่อนของผู้เสียชีวิตก็ยังคงมีอาการตกใจ ทางทีมแพทย์ได้มีการส่งจิตแพทย์ ได้มีการเข้าไปพูดคุยและให้กำลังใจอย่างใกล้ชิด
ส่วนผู้เสียชีวิตเป็นนักเรียนชายอายุ 18 ปี เสียชีวิตที่เกิดเหตุทันที
ด้าน พ.ต.อ. รัฐธนนท์ เอกฐิติกุลพัทธ์ ผู้กำกับสถานีตำรวจนครบาล (สน.) นางเลิ้ง กล่าวถึงความคืบหน้าจากกรณีที่เกิดขึ้นว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.นางเลิ้ง ได้มีการนำตัวเจ้าหน้าที่ชุดสาธิตของสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เขตสามเสน จำนวน 8 ราย ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 7 ราย และหัวหน้าชุดปฏิบัติงาน 1 ราย โดยเบื้องต้นจะสอบปากคำในฐานะพยานก่อน เพื่อสอบถามถึงข้อเท็จจริง
เช่น ประเด็นบริษัทที่ทำหน้าที่ในการเติมถังแก๊สดับเพลิง อายุการใช้งานของถังดับเพลิง สภาพถังดับเพลิงว่ามีการใช้งานมาอย่างไร สภาพลักษณะถังดับเพลิงเป็นถังเก่าหรือใหม่ รวมถึงหลักการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ชุดสาธิตดับเพลิง เพราะในขณะที่มีการสาธิต บริเวณดังกล่าวมีแดดแรงและต้องดูว่าอาจเป็นความประมาทหรือไม่ที่นำถังดับเพลิงไปตั้งไว้เช่นนั้น
พ.ต.อ. รัฐธนนท์ ระบุว่า การสาธิตดับเพลิงดังกล่าวเป็นการขอความร่วมมือกันระหว่างสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เขตสามเสน กรุงเทพมหานคร และโรงเรียนราชวินิตมัธยม ไม่ใช่ในกรณีที่โรงเรียนส่งหนังสือขอความอนุเคราะห์ไปยัง ปภ.เขตสามเสน แต่อย่างใด ส่วนจะมีโรงเรียนอื่นๆ เพิ่มเติมในโครงการด้วยหรือไม่ ต้องให้กระทรวงศึกษาธิการชี้แจงรายละเอียด
พ.ต.อ. รัฐธนนท์ กล่าวต่อว่า ข้อหาเบื้องต้นที่พิจารณาไว้หากพบว่าใครมีส่วนเกี่ยวข้องอาจแจ้ง 2 ข้อหา ได้แก่ มาตรา 291 ผู้ใดกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และมาตรา 390 ผู้ใดกระทำโดยประมาทและการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส ส่วนการสอบปากคำบุคลากรคุณครู นักเรียนและบุคคลที่เกี่ยวข้องซึ่งอยู่ในพื้นที่เกิดเหตุ จะมีการสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งก่อน ระหว่าง และหลัง เพื่อพิจารณาประกอบกับคำให้การของเจ้าหน้าที่ชุดสาธิตดับเพลิงและพยานหลักฐานจากทางเจ้าหน้าที่ พฐ. ต่อไป