ผู้ว่าแบงก์ชาติห่วงนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น-ประชานิยมบั่นทอนเสถียรภาพประเทศ ได้ผลแค่ชั่วคราวแต่สร้างผลข้างเคียง แนะรัฐบาลใหม่เน้นสร้างศักยภาพระยะยาว มุ่งเป้า ไม่หว่านแห ไม่สร้างแรงจูงใจผิดๆ
วันนี้ (24 เมษายน) เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้จัดงาน Meet the Press เพื่อพบปะแลกเปลี่ยนมุมมองกับสื่อมวลชน โดยในงานดังกล่าวผู้ว่า ธปท. ได้แสดงทัศนะถึงนโยบายเศรษฐกิจที่ประเทศไทยควรให้ความสำคัญในระยะข้างหน้าว่า ควรเป็นนโยบายที่เน้นไปที่การสร้างศักยภาพให้กับเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาวมากกว่ากระตุ้นระยะสั้น มีข้อมูลเรื่องความคุ้มค่าประกอบการตัดสินใจ และควรเป็นนโยบายที่มุ่งเป้า ไม่หว่านแห
เศรษฐพุฒิระบุว่า ภาพรวมของเศรษฐกิจไทยในเวลานี้ยังคงฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง โดยภาคการท่องเที่ยวคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาสูงถึง 28 ล้านราย ขณะที่จำนวนผู้ว่างงานและเสมือนว่างงานก็ปรับลดลง เช่นเดียวกับเงินเฟ้อที่มีเทรนด์ปรับลดลงจนล่าสุดกลับเข้ามาอยู่ในกรอบเป้าหมายแล้ว ส่วนการส่งออกแม้ว่าในช่วงครึ่งปีแรกมีแนวโน้มติดลบ 7.1% แต่เชื่อว่าในครึ่งปีหลังจะกลับมาขยายตัวได้ 4.3% ตามการฟื้นตัวของจีน ทำให้ ธปท. คาดว่า GDP ไทยในปีนี้จะขยายตัวได้ที่ 3.6%
“การฟื้นตัวของเราดูมีเสถียรภาพ และการขยายตัวของ GDP ที่ 3.6% เป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกับระดับศักยภาพการเติบโตในระยะยาวของเศรษฐกิจไทย บริบทเศรษฐกิจเราในตอนนี้จึงไม่ได้อยู่ในโหมดกระตุ้น แต่เป็นโหมดปรับนโยบายกลับสู่ภาวะปกติ หรือ Policy Normalization ต่างจากในช่วงโควิดที่ต้องจัดเต็มทั้งนโยบายการเงินและการคลัง เราไม่จำเป็นต้องกระตุ้นมากขนาดนั้น หากโตร้อนแรงเกินไปก็อาจส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อ” เศรษฐพุฒิกล่าว
ผู้ว่า ธปท. ระบุว่า ไม่เฉพาะแต่นโยบายการเงินที่ต้องปรับให้กลับสู่ภาวะปกติ แต่ฝั่งนโยบายการคลังก็ควรทยอยลดการขาดดุลลงเช่นกัน เนื่องจากการมีเสถียรภาพในด้านต่างๆ เช่น เสถียรภาพการคลัง เสถียรภาพราคาหรือเงินเฟ้อ เสถียรภาพของสถาบันการเงิน และเสถียรภาพด้านต่างประเทศ ถือเป็นเรื่องสำคัญ และเป็นสิ่งนักลงทุนต่างชาติและบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือให้น้ำหนักค่อนข้างมาก
“เสถียรภาพเหล่านี้เปรียบเหมือนสุขภาพของคนเรา เราจะไม่ค่อยให้ความสำคัญกับมันจนกว่าจะเกิดปัญหา โดยทั่วไปวิกฤตทางเศรษฐกิจมักจะเกิดจากเสถียรภาพที่หายไป ดังนั้นพวกนโยบายที่จะมากระทบหรือบั่นทอนเสถียรภาพจึงเป็นสิ่งที่ต้องจับตาดู” เศรษฐพุฒิกล่าว
โดยผู้ว่า ธปท. ได้ยกตัวอย่างถึงวิกฤตทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ เช่น กรณีการเกิด Hyperinflation ในซิมบับเว ที่มีต้นตอมาจากการมีปัญหาการคลัง รัฐบาลมีรายจ่ายแต่ไม่สามารถกู้ยืมได้ ต้องบังคับให้ธนาคารกลางซื้อบอนด์ ซึ่งขัดต่อหลักการที่นโยบายการเงินและการคลังควรจะมีอิสระต่อกัน กลายมาเป็นนโยบายการเงินต้องมาตอบสนองนโยบายการคลัง
นอกจากนี้ยังมีกรณีการออกนโยบายของรัฐบาลอังกฤษชุดก่อนหน้านี้ที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นจนนำไปสู่ปัญหา และกรณีของกรีซที่มีปัญหาด้านฐานะการคลัง รวมถึงกรณีการเกิดวิกฤตการเงินโลกครั้งใหญ่ในปี 2008
“ภาระการคลัง หนี้สาธารณะต่อ GDP และภาระหนี้ต่องบประมาณ ไม่ควรอยู่ในระดับที่สูงเกินไป นโยบายสไตล์ที่จะไปกระทบวินัย สร้างแรงจูงใจผิดให้กับลูกหนี้ก็ต้องระมัดระวัง ที่ผ่านมาเราทำกันมาเยอะแล้วพวกนโยบายกระตุ้นเชิงประชานิยม ท้ายที่สุดจะเห็นว่าได้ผลแค่ชั่วคราวและยังมีผลข้างเคียงที่ตามมา เช่น ภาระหนี้ต่างๆ ที่โตขึ้น” ผู้ว่า ธปท. กล่าว
เศรษฐพุฒิกล่าวอีกว่า การทำนโยบายเศรษฐกิจจะต้องมองให้ครบและรอบ ควรต้องเปรียบเทียบความคุ้มค่าในระยะสั้นกับระยะยาว และควรนำข้อมูลมาประกอบการตัดสินใจ เช่น การศึกษาในต่างประเทศพบว่า การใส่งบประมาณลงไปในกลุ่มเด็กเล็กจะมี Return on Spending หรือความคุ้มค่าสูงสุด นอกจากนี้นโยบายยังควรมีลักษณะ Targeted หรือมุ่งเป้า ไม่หว่านแห
“เราไม่ควรทำนโยบายในลักษณะเหวี่ยงแห เช่น การลดค่านู่นค่านี่ให้แบบถ้วนหน้า เพราะแม้ทุกคนจะได้ประโยชน์ แต่คนที่ไม่มีความจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือก็จะได้ด้วย ถ้าเอาเงินไปใส่ให้กลุ่มคนที่จำเป็นจริงๆ เช่น กลุ่มคนที่มีบัตรสวัสดิการ จะตรงเป้าและมีอิมแพ็กมากกว่า” ผู้ว่า ธปท. ระบุ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติยันไทยไม่ซ้ำรอย ‘วิกฤตต้มยำกุ้ง’ แม้บาทอ่อน เหตุทุนสำรองสูง-เงินทุนไหลเข้าสุทธิ
- ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ เผยพร้อม ‘ขึ้นดอกเบี้ยแรง’ หากเงินเฟ้อพื้นฐานไม่เป็นไปตามคาด พร้อมยันบาทอ่อนกระทบเงินเฟ้อไม่มาก
- ‘แบงก์กรุงเทพ’ ประเดิมขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก-เงินกู้ หลัง กนง. ขึ้นดอกเบี้ย หวังช่วยลดความเสี่ยงเงินเฟ้อ