รายงานล่าสุดของกลุ่มนักคิดและผู้เชี่ยวชาญด้านกลาโหมระบุว่า ค่าใช้จ่ายด้านการทหารโลก ปี 2022 ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 2.24 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 77 ล้านล้านบาท)
โดยสถาบันวิจัยด้านสันติภาพระหว่างประเทศแห่งสตอกโฮล์ม (SIPRI) ในสวีเดน เผยว่า ค่าใช้จ่ายด้านการทหารโลกมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเป็นปีที่ 8 ติดต่อกัน โดยเฉพาะประเทศในแถบยุโรปที่มีค่าใช้จ่ายด้านการทหารเพิ่มสูงขึ้น 13% ซึ่งสูงที่สุดในรอบ 30 ปี โดยสาเหตุสำคัญมาจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่กระตุ้นให้หลายประเทศแถบยุโรปทุ่มงบประมาณด้านการทหาร เพื่อตอบสนองต่อภัยคุกคามนั้น รวมถึงเสริมความมั่นคงให้กับประเทศของตนเอง รวมถึงบรรดาประเทศพันธมิตร
ทางด้าน หนาน เทียน นักวิจัยอาวุโสประจำ SIPRI ระบุว่า “ค่าใช้จ่ายทางทหารทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเป็นสัญญาณว่า เรากำลังอยู่ในโลกที่ไม่ปลอดภัยมากขึ้นเรื่อยๆ รัฐต่างๆ กำลังเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับกำลังทางทหารของตน เพื่อตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมด้านความมั่นคงที่ทรุดโทรมลง ซึ่งพวกเขามองว่า สภาพแวดล้อมเหล่านี้จะไม่ดีขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้”
ฟินแลนด์ หนึ่งในประเทศเพื่อนบ้านของรัสเซียที่มีพรมแดนประเทศติดกับรัสเซียเป็นระยะทางกว่า 1,340 กิโลเมตร ได้มติรับรองจากบรรดาสมาชิก NATO ทั้งหมดให้ฟินแลนด์เข้าเป็นสมาชิกประเทศที่ 31 ของ NATO เมื่อช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา หลังยอมละทิ้งหลักการเป็นกลางทางด้านการทหารที่ฟินแลนด์ยึดถือมานานกว่า 200 ปี และเพิ่มงบค่าใช้จ่ายทางด้านการทหาร 36% ในปีที่ผ่านมา โดยมีสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ปะทุขึ้นช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2022 เป็นปัจจัยกระตุ้นที่สำคัญ
ในขณะที่ค่าใช้จ่ายทางทหารของยูเครนเพิ่มสูงขึ้นเกือบ 6 เท่า เป็น 4.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.5 แสนล้านบาท) ในปี 2022 ถือเป็นการเพิ่มงบค่าใช้จ่ายทางด้านการทหารที่สูงที่สุดภายในปีเดียวนับตั้งแต่ SIPRI เก็บสถิติในประเด็นนี้มานานหลายปี โดยค่าใช้จ่ายด้านการทหารคิดเป็น 34% เมื่อคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) เมื่อปี 2022
ส่วนค่าใช้จ่ายในกองทัพรัสเซียเองก็เพิ่มสูงขึ้น 9.2% มาอยู่ที่ 8.64 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3 ล้านล้านบาท) หรือคิดเป็น 4.1% ของ GDP รัสเซียเมื่อปี 2022 เพิ่มขึ้นจาก 3.7% ในปี 2021
ทางด้านสหรัฐอเมริกายังคงเป็นประเทศที่ใช้จ่ายเงินทางทหารมากที่สุดในโลก เพิ่มขึ้น 0.7% มาอยู่ที่ 8.77 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 30 ล้านล้านบาท) ในปี 2022 ซึ่งคิดเป็น 39% ของค่าใช้จ่ายด้านการทหารทั้งหมดทั่วโลก โดยมีปัจจัยกระตุ้นที่สำคัญจากการส่งมอบความช่วยเหลือให้แก่กองกำลังยูเครนถึง 1.99 หมื่นล้านบาท (ราว 6.83 แสนล้านบาท)
ขณะที่จีนยังอยู่ในอันดับ 2 มีค่าใช้จ่ายทางทหาร 2.92 แสนล้านดอลลาร์ (ราว 10 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากปี 2021 ถึง 4.2%
นอกจากนี้รายงานยังระบุอีกว่า ความตึงเครียดและปัญหาความขัดแย้งบริเวณช่องแคบไต้หวันและทะเลจีนใต้ อาจมีส่วนสำคัญที่ทำให้ค่าใช้จ่ายด้านการทหาร โดยเฉพาะประเทศในเอเชีย มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอีกในอนาคต
ภาพ: Anelo / Shutterstock
อ้างอิง:
- https://www.sipri.org/news/press-release/2023/world-military-expenditure-reaches-new-record-high-european-spending-surges
- https://www.aljazeera.com/news/2023/4/24/world-military-spending-reaches-all-time-high-of-2-24-trillion
- https://www.japantimes.co.jp/news/2023/04/24/world/world-military-spending-record-insecurity/