ค่าไฟอลหม่าน! ประชาชนเช็กบิลค่าไฟวุ่น ‘กกพ.’ เร่งหาทางออก นัดถกหน่วยงานพรุ่งนี้ (21 เมษายน) เพื่อทบทวนค่า Ft งวดหน้าเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม ห่วงหากอุ้มหนี้ กฟผ. 1.5 แสนล้านบาทต่อเพื่อยืดเวลาชำระคืน อาจจะกระทบประชาชนจ่ายค่าไฟแพงงวดถัดไปในท้ายที่สุด ด้านปลัดพลังงานชี้ ค่าไฟฟ้าเมืองไทยเป็นอัตราก้าวหน้าที่ ‘ยิ่งใช้หน่วยจำนวนมากก็ยิ่งจ่ายแพง’ ขณะที่ สอท. ออกโรงถาม! ก๊าซ LNG ถูกลงมากแล้ว แต่รัฐกลับห่วงโรงไฟฟ้าเอกชนมากเกินไป พร้อมระบุสิ่งที่ต้องกังวลคือเหตุใดสัดส่วนผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. จึงเหลือเพียง 31% ของทั้งประเทศ
คมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษก กล่าวว่า ในวันที่ 21 เมษายนนี้ คณะอนุกรรมการค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (Ft) จะพิจารณาเรื่องการปรับลดค่าไฟฟ้า Ft สำหรับงวดที่ 2/2566 (พฤษภาคม-สิงหาคม) ตามที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เสนอขอรับภาระยืดหนี้การชำระค่าไฟฟ้าที่รับภาระแทนประชาชนไปก่อนจาก 2 ปี เป็น 2 ปี 4 เดือน
โดยข้อเสนอนี้จะทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยงวดที่ 2 ของปีนี้ หรือเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม ลดลงจาก 4.77 บาทต่อหน่วย เป็น 4.70 บาทต่อหน่วย
ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการฯ จะมีตัวแทนจากกระทรวงการคลังที่ดูแลเรื่องวินัยการเงินการคลังและหนี้สินร่วมอยู่ด้วย หากได้รับความเห็นชอบก็จะประกาศลดค่าไฟฟ้าต่อไปได้
อย่างไรก็ตาม หนังสือที่ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ยื่นมานั้น ยังยืนยันจะยืดหนี้ โดยระบุว่าสำหรับงวดที่ 2/2566 “ยังสามารถจัดการสภาพคล่องได้” แต่สำหรับงวด 3/2566 (กันยายน-ธันวาคม) อาจจะเกิดปัญหาสภาพคล่องไม่สามารถที่จะยืดหนี้ได้อีก
ดังนั้น ระบบหรือประชาชนก็จะต้องคืนหนี้แก่ กฟผ. โดยหนี้วงเงินเต็มนั้นอยู่ที่ประมาณ 1.5 แสนล้านบาท แม้มีการคืนหนี้ในงวดที่ 1/2566 (มกราคม-เมษายน) ไปแล้ว วงเงินประมาณ 2 หมื่นล้านบาท
ด้าน กุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน และในฐานะประธานคณะกรรมการ กฟผ. เปิดเผยว่า กฟผ. ได้ทำหนังสือยืนยันไปยัง กกพ. และเชื่อว่า กกพ. จะเห็นชอบปรับลดค่าไฟฟ้า Ft งวดที่ 2 โดยต้องยอมรับว่าในขณะนี้อากาศร้อนจัด ประชาชนเปิดแอร์ดับร้อนกันเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของปีนี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2566 เวลา 20.44 น. ที่ 32,212.5 เมกะวัตต์
“ค่าไฟฟ้าเมืองไทยเป็นอัตราก้าวหน้า ยิ่งใช้หน่วยจำนวนมากก็ยิ่งจ่ายแพง ดังนั้นค่าไฟงวดนี้ (มกราคม-เมษายน) ค่าไฟฟ้าบ้านที่อยู่อาศัยเฉลี่ยที่ 4.72 บาทต่อหน่วย แต่ยังมีเงินช่วยเหลือจากรัฐลดพิเศษให้ผู้ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน”
ส่วนงวดที่ 2 ในขณะนี้กำลังพิจารณาว่าจะมีส่วนใดมาช่วยเหลือเพิ่มเติมได้หรือไม่ นอกเหนือจากการยืดหนี้ของ กฟผ. เพราะจากการหารือกับสำนักงบประมาณและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพบว่า ไม่มีงบประมาณเพียงพอในการอุดหนุนค่าไฟฟ้าที่คาดว่าจะใช้งบราว 8 พันล้านบาท รวมทั้งในขณะนี้ก็ได้มองไปถึงงวดถัดไป (งวด 3/2566 เดือนกันยายน-ธันวาคม) ว่าจะทำอย่างไรให้ต้นทุนต่ำที่สุด
โดยเบื้องต้นให้ บมจ.ปตท. เร่งนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่ขณะนี้ราคาต่ำลงมาอยู่ที่ 11-13 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียูมาสำรองไว้ได้หรือไม่ โดยต้องยอมรับว่างวดที่ 1/2566 ราคา LNG สูงมากอยู่ที่ประมาณ 47 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู
อิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ภาคเอกชนลุ้นให้ กกพ. ทบทวนสมมติฐานการคำนวณค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) งวดเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2566 จาก 2 มาตรการตามที่คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เสนอไป ดังนี้
- มาตรการที่ 1 ยืดหนี้ กฟผ. (เดิมงวด 1/2566 ใช้ 3 ปี แต่งวด 2/2566 กลับลดลงเหลือ 2 ปี คาดว่า กฟผ. เสนองวดการคืนหนี้มาที่ กกพ. จาก 2 ปี เป็น 7 งวด โดยไม่กระทบสถานะทางการเงินของ กฟผ. มากจนเกินไป ในช่วงต้นทุนพลังงานขาลงเช่นนี้
- มาตรการที่ 2 ปรับลดค่า LNG นำเข้า จาก 20 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ให้สอดคล้องกับราคาตลาดในปัจจุบันที่ต่ำกว่า 13 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู
“เอกชนรวมถึงประชาชนทั้งประเทศคงคาดหวังจากรัฐบาลปัจจุบันในการทบทวนราคา Ft โดยมองเป้าหมายค่าไฟฟ้างวด 2/2566 (พฤษภาคม-สิงหาคม) ที่ควรจะต่ำกว่า 4.40 บาทต่อหน่วย เพื่อลดภาระให้กับทั้งครัวเรือนที่มีภาระค่าครองชีพค่อนข้างสูง และภาคธุรกิจในช่วงที่ต้องแข่งขันในเวทีโลก อีกทั้งในภาวะตลาดส่งออกที่ชะลอตัวตามเศรษฐกิจของโลก
“ทั้งนี้ ถือเป็นการตัดสินใจครั้งสำคัญของรัฐบาลปัจจุบันต่อค่าไฟฟ้าในงวดเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2566 ที่ไม่จำเป็นต้องเป็นกังวลต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของโรงไฟฟ้าเอกชนมากจนเกินไป เพราะที่ควรต้องกังวลก็คือ ทำไมสัดส่วนในการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. จึงเหลือเพียงประมาณ 31% ของทั้งประเทศ” อิศเรศกล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- เฮ! กกพ. เคาะค่าไฟเดือนพฤษภาคม-สิงหาคมปีนี้ ‘ธุรกิจ-ครัวเรือน’ เหลือเท่ากันอัตราเดียว 4.77 บาทต่อหน่วย
- ชำแหละ 3 สูตร ค่าไฟงวด พ.ค.-ส.ค. เมื่อรัฐบาลต้อง ‘คืนหนี้ กฟผ.’ แลกหั่นราคาถูกสุด 4.77 บาท/หน่วย
- ฤดูร้อนมาพร้อมค่าไฟพุ่ง? เปิดปม ‘ใช้ไฟเท่าเดิม ทำไมค่าไฟแพงขึ้น’ ขณะที่ กกพ. ยัน คำนวณค่า Ft ตามต้นทุน